วัดบ้านทุ่งเสรี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดบ้านทุ่งเสรี
แผนที่
ชื่อสามัญวัดบ้านทุ่งเสรี, วัดบ้านทุ่ง, วัดทุ่งเสรี, วัดทุ่งกระแจะแม้นเขียน
ที่ตั้งแขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดบ้านทุ่งเสรี เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในแขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร

วัดบ้านทุ่งเสรี หรือ วัดบ้านทุ่ง หรือ วัดทุ่งเสรี ตั้งวัดเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2528 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2529[1] แต่เดิมชื่อว่า วัดทุ่งกระแจะแม้นเขียน ที่ดินซึ่งอยู่ตามแนวคลองลาว มาบรรจบกับคลองกระจะฝั่งเหนือจนถึงริมคลองแสนแสบ บางตอนเป็นที่ดินพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าแม้นเขียน พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระองค์เจ้าแม้นเขียนทรงเป็นมีน้ำพระทัยเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ่ง ทรงเห็นว่า ขณะนั้นมีบรรดาข้าทาสบริพารตลอดจนประชาชนชาวพุทธอยู่อาศัยใกล้ ๆ กับบริเวณที่นาของพระองค์เป็นจำนวนมากแต่บริเวณที่ใกล้เคียงแถวนั้นกลับไม่มีวัด จึงดำริสร้างวัดขึ้น ในที่ดิน อันเป็นราชทรัพย์ส่วนพระองค์ระหว่างคลองลาว บรรจบกับคลองกระจะรวมเป็นเนื้อที่ประมาณ 9 ไร่เศษ และได้ขนานนามวัดนี้ว่า "วัดบ้านทุ่งกระแจะแม้นเขียน" ซึ่งชาวบ้านทั่วไปพากันเรียกสั้นๆว่า "วัดบ้านทุ่ง"

วัดบ้านทุ่งแม้นเขียนในสมัยนั้นเป็นวัดที่มีถาวรวัตถุมั่นคงมีอุโบสถ กุฏิพระภิกษุสามเณร ศาลาการเปรียญและเจดีย์องค์ใหญ่ประดิษฐาน วัตถุมงคลหน้าอุโบสถ 1 องค์ มีสระน้ำขนาดใหญ่สำหรับใช้สอย 1 สระ มีกำแพงอิฐโดยรอบทั้ง 4 ด้านมีพระภิกษุและสามเณรอยู่ปฏิบัติศาสนกิจ เป็นจำนวนมาก มีการปกครองที่จัดแบ่งออกเป็น 2 คณะ เรียกว่า คณะบน และคณะล่าง แต่วัดบ้านทุ่งกระแจะแม้นเขียนก็มาถึงคราวเสื่อมโทรมลงไปภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงประกาศเลิกทาส บรรดาพวกทาสไพร่หลวงทั้งหลาย ทั้งทาสไพร่หลวงเชื้อสายลาวตตลอดจนทาสใต้เรือนเบี้ยอื่น ๆ ต่างก็ได้รับความเป็นไท มีอิสระเสรีภาพโดยทั่วกัน จึงได้อพยพโยกย้ายกลับบ้านเดิมของตน พระภิกษุก็ได้ย้ายสำนักไปด้วย เมื่อพระองค์หาพระชนม์ไม่ แล้ววัดบ้านทุ่งแม้นเขียนก็คงจะหาผู้อุปการะเกื้อหนุนได้ยาก เพราะชาวไทยพุทธที่อยู่อาศัยใกล้กับวัดมีอยู่น้อย และคงจะต้องประสบกับความเดือดร้อนอย่างแน่นอน จึงได้ทรงอุทิศที่ดินทุ่งนาซึ่งเป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์อีกจำนวน 2 แปลงประทานให้แก่วัดเพื่อเก็บผลประโยชน์ไว้ทำนุบำรุงรักษาวัดนี้ต่อไป ที่ดินที่ประทานนี้คือที่ดินจากริมคลองกระจะฝั่งเหนือตรงข้ามกับวัดยาว ไปจรดริมคลองแสนแสบ มีเนื้อที่ประมาณ 80 ไร่เศษ อนึ่ง หลักฐานจากหอสมุดแห่งชาติ ปรากฏว่าเดิม วัดนี้มีที่ดินธรณีสงฆ์ ตามโฉนดเลขที่ 1913 เนื้อที่ 51 ไร่ 1 งาน 80 วา กับโฉนดเลขที่ 1917 เนื้อที่ 33 ไร่ 2 งาน 80 วา รวมเป็นเนื้อที่ทั้งสิ้น 85 ไร่ งาน 60 วา หรือ 34,060 ตารางวา มีหลวงปู่นวม เจ้าอาวาสวัดบ้านทุ่งแม้นเขียนรูปสุดท้าย ภายหลังหลังมรณภาพของหลวงพ่อนวมแล้ว วัดบ้านทุ่งแม้นเขียนจึงว่างพระสงฆ์และได้กลายเป็นวัดร้างมาตั้งแต่บัดนั้น

จนกระทั่ง พระครูปลัดเสนอ ศิษย์เอกของหลวงพ่อคล้ายวาจาสิทธิ์ อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้พัฒนาสร้างขึ้นใหม่[2] และตั้งเป็นวัดและตั้งชื่อตามหมู่บ้านบริเวณใกล้เคียง ปูชนียวัตถุที่สำคัญภายในวัด ได้แก่ รูปเหมือนพ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด เจ้าแม่กวนอิม องค์พ่อจตุคามรามเทพ และครูบาอาจารย์อีกหลายรูป

อ้างอิง[แก้]

  1. "รายงานทะเบียนวัดจังหวัดกรุงเทพมหานคร".
  2. "วัดบ้านทุ่งเสรี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-07-26. สืบค้นเมื่อ 2021-07-26.