วัดน้ำรอบ (จังหวัดสุราษฎร์ธานี)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดน้ำรอบ
แผนที่
ที่ตั้งตำบลน้ำรอบ อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดน้ำรอบ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลน้ำรอบ อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ประวัติ[แก้]

กรมการศาสนาระบุว่าวัดน้ำรอบตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 1890 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 1901 ส่วนขอมูลจากหนังสือ บุดวัดน้ำรอบ ระบุว่าสร้างมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา มีตำนานเล่าว่าได้สร้างวัดน้ำรอบพร้อมกับวัดเขาพระอานนท์ วัดถ้ำสิงขร และเคยเป็นวัดหลวงมาก่อนแต่ถูกทิ้งร้างไปจนกระทั่งถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หลวงวิจารธาวุธ กรมพระกลาโหมเป็นแม่กองเดินสำรวจรังวัดหัวเมืองปักษ์ใต้ จะยกพระพุทธศาสนาขึ้นหลวงวิจารธาวุธเป็นแม่กอง สืบถามเถ้าแก่ผู้ใหญ่บ้านให้รู้ว่าสมเด็จพระมหากษัตริย์แต่ก่อนสืบมาทรงพระราชศรัทธาอุทิศถวายที่ดินเป็นวัดปู่ย่าตายายได้บอกเล่าต่อ ๆ กันมาว่าเดิมวัดชื่อ วัดหัววังน้ำรอบ มีราชาคณะพระครูหาได้ขึ้นแก่ราชาคณะวัดหัวเมืองไชยาไม่แต่ขึ้นแก่ราชาคณะเมืองนครศรีธรรมราช พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระพุทธรูปหล่อทรงเครื่องให้แก่วัดน้ำรอบ 2 องค์ คือ พระพุทธรูปเงินสูง 2 ศอกหล่อหนักห้าชั่ง กับพระมณฑปสองยอดทรงกัลปนาที่ดินแก่วัดพร้อมถวายข้าพระ 500 คน[1] บริเวณใกล้เคียงวัดเป็นที่ราบต่ำในฤดูฝนน้ำมักท่วมจึงเรียกว่า วัดน้ำรอบ[2]

อาคารเสนาสนะ[แก้]

อาคารเสนาสนะที่สำคัญ ได้แก่ อุโบสถสร้างด้วยไม้ตำเสาเป็นอาคารทรงไทยหลังคาจั่วมีช่อฟ้าใบระกาและปีกนกรองรับ 2 ชั้น ส่วนของหลังคามีลักษณะแอ่นโค้งคล้ายท้องสำเภา ผนังโบสถ์เป็นผนังเตี้ย ๆ ก่ออิฐฉาบปูนตำอิฐก่อขึ้นมาจากพื้นไม่มีฐานบัวรองรับเหมือนโบสถ์ทั่วไป ช่องรับแสงวางระหว่างหน้าบันกับผนังโบสถ์ซึ่งเปิดโล่งมีผนังทุกด้านเจาะช่องปูนปั้นประดับมองคล้ายเป็นซี่กรง ผนังด้านสกัดมีปูนปั้นรูปเทวดา เป็นซี่กรงส่วนผนังด้านข้างมีปูนปั้นเป็นรูปลายดอกไม้สี่กลีบ หน้าบันอุโบสถแกะสลักไม้หน้าบันด้านทิศตะวันออกแกะสลักเป็นรูปลายพันธ์ุพฤกษาตอนล่างแกะเป็นรูปหน้าอสูร (คงเลียนแบบมาจากลายหน้ากาล) อุโบสถเคยซ่อมบูรณะครั้งใหญ่ เมื่อ พ.ศ. 2493

เจดีย์รายอยู่ทางด้านหน้าอุโบสถทางทิศตะวันออกมีเจดีย์ก่ออิฐ 2 องค์ องค์องค์ซ้ายมือเป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองขนาดเล็กประกอบด้วยฐานเขียง 1 ชั้น รองรับฐานสิงห์และองค์ระฆังปล้องไฉนและปลียอดหักหายไป องค์ขวามือเป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ประกอบด้วยฐานเขียง 1 ชั้นถัดขึ้นไปเป็นฐานสิงห์ที่ท้องไม้คาดลูกแก้วอกไก่รองรับองค์ระฆัง ส่วนยอดเป็นบัวถลาถัดขึ้นไปเป็นปล้องไฉนปลียอดและเม็ดน้ำค้างศิลปะอยุธยาตอนปลาย

วัดยังมีศิลาจารึกทำจากหินชนวนขนาดกว้าง 53 เซนติเมตรยาว 111 เซนติเมตรหนา 4.5 เซนติเมตร จารึกอักษรไทยภาษาไทย ใน พ.ศ. 2371 เล่าถึงประวัติวัด ปัจจุบันศิลาจารึกตั้งอยู่ด้านหน้าพระประธานในอุโบสถซึ่งเป็นพระพุทธรูปศิลาทรายแดง นอกจากนี้ภายในวัดยังเก็บรักษาพระโมคลานะแบบกษัตริย์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องประทับยืนปางประทานอภัยฉลองพระองค์แบบกษัตริย์ตกแต่งลวดลายไทยประดับกระจกสี ส่วนพระพุทธรูปเงินทางวัดน้ำรอบได้ให้วัดวิหารหมู่ 4 ตำบลน้ำรอบยืมไป[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดน้ำรอบ". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.
  2. "วัดน้ำรอบ". แหล่งศิลปกรรมอันควรอนุรักษ์ - สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม.
  3. "วัดน้ำรอบ". ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม.