วัดตานีนรสโมสร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดตานีนรสโมสร
แผนที่
ชื่อสามัญวัดตานีนรสโมสร, วัดบางน้ำจืด, วัดกลาง
ที่ตั้งตำบลอาเนาะรู อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี
ประเภทพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระสิริจริยาลังการ (ชรัช อุชุจาโร)
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดตานีนรสโมสร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ คณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำปัตตานีฝั่งตลาดเก่า ในตำบลอาเนาะรู อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี

ประวัติ[แก้]

วัดตานีนรสโมสร เดิมชื่อว่า วัดบางน้ำจืด แต่ประชาชนทั่วไปเรียกว่า วัดกลาง สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. 2395 แต่เดิมย้ายจากบริเวณเมืองเก่าที่บ้านนา ตำบลกรือเซะ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี สีตะวันกรมการเมืองปัตตานี สร้างขึ้นเป็นที่ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาประจำมณฑลปัตตานี

ในระยะแรกของการเริ่มสร้างวัดไม่มีถาวรวัตถุที่มั่นคง จนถึงปี พ.ศ. 2430 ทางคณะสงฆ์ได้มอบหมายให้พระครูธรรมโมลีวัดมัชฌิมาวาส จังหวัดสงขลา และคณะเดินทางมาจัดการปกครอง ซึ่งขณะนั้นเจ้าอธิการสุขเป็นเจ้าอาวาส ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสแหลมมลายู ทรงเห็นวัดนี้ทรุดโทรมมาก จึงทรงสละพระราชทรัพย์บูรณะปฏิสังขรณ์ตลอดจนพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูพิพัฒน์สมณกิจและในปีนี้พระครูพิพัฒน์สมณกิจกับนางละนง แซ่เล่า ได้จัดสร้างพระอุโบสถเป็นศิลปะแบบจีน สถาปนาขึ้นเป็นวัดประจำเมือง มีชื่อใหม่ว่า "วัดตานีนรสโมสร" มีรูปตราพระเกี้ยวน้อยติดอยู่กับอุโบสถและศาลากลางหลังเก่า ซึ่งได้บูรณะใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2480[1]

วัดตานีนรสโมสรตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2413 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2479 ได้รับยกฐานะเป็นพระอารามหลวงตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2509[2]

อาคารเสนาสนะ[แก้]

อาคารเสนาสนะที่สำคัญ ได้แก่ พระอุโบสถกว้าง 9 เมตร ยาว 17 เมตร หน้าบันมีตราพระเกี้ยวกระหนกล้อมรอบ หน้าพระอุโบสถมีซุ้มประดิษฐานพุทธรูปปางมารวิชัย (ขนมต้ม) ศิลปะนครศรีธรรมราช หน้าตักกว้าง 50 เซนติเมต ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสมัยสุโขทัยหน้าตักกว้าง 1 เมตร มีพระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติ ศิลปะสมัยอยุธยาหรือศิลปะลพบุรี สูง 2 เมตรและมีพระพุทธรูปยืนปางห้ามสมุทร ศิลปะทวารวดี สูง 2 เมตร และศาลาการเปรียญ กว้าง 16 เมตร ยาว 36 เมตร มีการบูรณะเมื่อ พ.ศ. 2554 หอระฆังศิลปะไทย กว้าง 4 เมตร สูง 1 เมตร ระฆังเป็นศิลปะอิสลาม[3]

รายนามเจ้าอาวาส[แก้]

  • พระครูพิพัฒน์สมณกิจ (สุข) พ.ศ. 2430–2446
  • พระครูพิพัฒน์สมณกิจ (เมิน) พ.ศ. 2446–2453
  • พระครูพิพัฒน์สมณกิจ (บุญ ปุญญลาโภ) พ.ศ. 2453–2460
  • พระครูสโมสรสิทธิการ (แก้ว) พ.ศ. 2460–2477
  • พระธรรมโมลี (เกตุ ติสฺสโร) พ.ศ. 2477–2540
  • พระครูศรีปัญญาวุธ (จรินทร์ ปญญธโร) พ.ศ. 2541–2554
  • พระสิริจริยาลังการ (ชรัช อุชุจาโร) พ.ศ. 2554–

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดตานีนรสโมสร". ศาลากลางจังหวัดปัตตานี.
  2. "วัดตานีนรสโมสร". ฐานข้อมูลการท่องเที่ยว 5 จังหวัดชายแดนใต้.
  3. "วัดตานีนรสโมสร (ชุมชนอาเนาะรู)". ชุมชนคุณธรรม.