วัดตลิ่งชัน (กรุงเทพมหานคร)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดตลิ่งชัน
แผนที่
ที่ตั้งเลขที่ 300 ซอยชักพระ 17 ถนนชักพระ แขวงคลองชักพระ เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร 10170
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระมหาธวัช โพธิเสวี ป.ธ.๘
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดตลิ่งชัน เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในแขวงคลองชักพระ เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร

ประวัติ[แก้]

วัดตลิ่งชันสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย ประมาณ พ.ศ. 2310 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ 18 พฤษภาคม 2525 ไม่ปรากฏหลักฐานว่าผู้ใดสร้าง รากฐานอุโบสถเก่าซ้อนอยู่ใต้อุโบสถหลังปัจจุบัน และใต้ฐานชุกชีลงไปใต้ดินก็มีฐานชุกชีเก่าอยู่ ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ เมื่อปี พ.ศ. 2460, 2507 และ 2519 ยังเชื่อว่ามีการปฏิสังขรณ์ในช่วงรัชกาลที่ 3 เพราะจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถมีการใช้พื้นหลังเป็นสีน้ำเงินที่เป็นที่นิยมในช่วงสมัยนั้น[1]

จากหลักฐานทางสถาปัตยกรรมพบว่าใบเสมาเก่าที่ทำขึ้นจากหินทรายแดงและพระพุทธรูปองค์ประธานทรงเครื่องใหญ่ตามแบบนิยมในสมัยอยุธยาตอนปลาย ส่วนพระพุทธรูปยืนบนฐานชุกชี 2 องค์ เป็นพระพุทธรูปศิลปะอยุธยาตอนกลาง

ในปี พ.ศ. 2548 ค้นพบพระเครื่อง คือ พระสมเด็จ บรรจุอยู่ภายในตุ่มที่ฝังอยู่รอบอุโบสถ นอกจากนั้นในปี พ.ศ. 2550 ก็ค้นพบพระสมเด็จในลักษณะเดียวกันระหว่างเคลื่อนย้ายซุ้มพระหน้าโรงเรียน

อาคารเสนาสนะและโบราณวัตถุ[แก้]

พระประธานปางมารวิชัย

อุโบสถเป็นคนดั้งเดิม มีการบูรณะหลายครั้ง เช่น ในสมัยรัชกาลที่ 1 รัชกาลที่ 3 ครั้งพระครูทิวากรคุณ (กลีบ พุทฺธรกฺขิโต) เป็นเจ้าอาวาสเมื่อ พ.ศ. 2460 และบูรณะครั้งใหญ่สมัยพระครูปลัดสุวัฒนสุตคุณ (ศิริชัย สิริจนฺโท) ระหว่าง พ.ศ. 2519–2532 เช่นการประดับเครื่องลายครามและเครื่องถ้วยเบญจรงค์ที่หน้าบัน ภายในอุโบสถระหว่างหน้าต่างมีภาพประดับมุก เรื่องมโหสถชาดก (สร้าง พ.ศ. 2532) บานหน้าต่างประดับมุก เรื่องราวทศชาติชาดก เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตราประจำจังหวัด และพัดยศพระราชาคณะ สร้างในสมัยพระครูปลัดสุวัฒนสุตคุณเป็นเจ้าอาวาส มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเหนือหน้าต่าง เป็นภาพพระอดีตพุทธเจ้าประทับนั่งปางสมาธิบนฐานบัวบนพื้นสีดำ คั่นด้วยช่อดอกไม้ร่วง เรียงกันขึ้นไป 5 ชั้น[2]

บนฐานชุกชีประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่องหลายองค์ พระประธานเป็นพระหินทรายแดง ปางมารวิชัย ปั้นรักพอกเป็นพระทรงเครื่องอย่างใหญ่ มีสังวาลกากบาทไขว้กันที่พระอุระและสวมชฎา มีพระพุทธรูปยืน 2 องค์ ขนาบข้างพระประธาน เป็นพระพุธรูปทรงเครื่องน้อยที่มีทับทรวง สวมกระบังหน้า และรัดเกล้า แบบอยุธยาตอนต้นหรืออยุธยาตอนกลาง

รอบอุโบสถมีเสมาเป็นแถวบนกำแพงแก้ว ส่วนเสมาหน้าอุโบสถเป็นเสมาหินทรายสีแดง ลักษณะเพรียวสูง อกเสมาเป็นรูปดอกไม้ 4 กลีบ ทางวัดได้เสมานี้มาจากวัดสักใหญ่ อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี

วัดมีศาลาอดีตเจ้าอาวาส ศาลาการเปรียญ มณฑปพระพุทธบาท ฌาปนสถาน ศาลาบำเพ็ญกุศล และโรงเรียนพระปริยัติธรรม มีอาคารเรียนของโรงเรียนพระปริยัติธรรมเดิม เป็นอาคารไม้ 2 ชั้น ทาสีฟ้า เคยใช้เป็นอาคารของศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน

รายนามเจ้าอาวาส[แก้]

  • พระครูพุทธิบาล (หลวงปู่ม่วง)
  • พระครูทิวากรคุณ (กลีบ พุทฺธรกฺขิโต) พ.ศ. 2449–2501
  • พระครูโสภณสาธุกิจ (ทฤษดี เตชธมฺโม) พ.ศ. 2501–2519
  • พระครูปลัดสุวัฒนสุตคุณ (ศิริชัย สิริจนฺโท) พ.ศ. 2519–2545
  • พระมหาธวัช โพธิเสวี ป.ธ.8 (รักษาการเจ้าคณะเขตตลิ่งชัน) พ.ศ. 2546–ปัจจุบัน

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดตลิ่งชัน". กองการท่องเที่ยวกรุงเทพมหานคร. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-15. สืบค้นเมื่อ 2020-08-14.
  2. "วัดตลิ่งชัน". ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย.