วัดดอนเมือง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดดอนเมือง
แผนที่
ชื่อสามัญวัดดอนเมือง
ที่ตั้งเลขที่ 1 ถนนเชิดวุฒากาศ แขวงดอนเมือง เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210
ประเภทพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระปริยัติโศภณ (อิทธิยาวุธ ธีรวโร ป.ธ.๙)
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดดอนเมือง เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งอยู่ในแขวงดอนเมือง เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร

ประวัติ[แก้]

พื้นที่เดิมของวัดดอนเมือง เป็นที่ราบสูง เดิมเรียกกันว่า ดอนอีเหยี่ยว เพราะมีฝูงเหยี่ยวบินมารวมตัวกัน ต่อมาเมื่อมีกองบินทหารบกมาตั้ง (กองทัพอากาศในปัจจุบัน) จึงเรียกพื้นที่นี้ว่า ดอนเมือง วัดเริ่มสร้างราว พ.ศ. 2438 สมัยนั้นยังไม่มีชื่อ ชาวบ้านเรียกว่า วัดดอนอีเหยี่ยว[1] เป็นที่ดินของเศรษฐีซึ่งมีบรรดาศักดิ์เป็น หมื่นอาจหาญ ประชาชนเรียก เสมียนภู่ ท่านได้ยกที่ดินแปลงนี้ให้เป็นที่สร้างวัด โดยมีพระอาจารย์จ๊ะ ท่านเป็นชาวรามัญ และเป็นพระที่เดินทางมาด้วยเรือมาจอดพักอาศัยในคลองเปรมประชากร ชาวบ้านได้นำอาหารมาถวาย ต่อมาเมื่อมีจิตศรัทธาเลื่อมใส ได้ปลูกสร้างกุฏิให้เป็นที่อยู่ ได้สร้างเป็นวัดในเวลาต่อมา

หลังจากที่รัฐบาลได้สร้างทางรถไฟสายเหนือผ่านที่ดินซึ่งเป็นการแบ่งที่ดินออกเป็น 2 ส่วน ทำให้ลำบากแก่การที่จะข้ามทางรถไฟไปทำมาหากินจึงได้ยกที่ดินให้เป็นที่สร้างวัด เดิมที่ดินของวัดนี้มีมากกว่านี้ ปัจจุบันที่ดินของวัดมีจำนวน 33 ไร่ 3 งาน 52 ตารางวา

อาคารเสนาสนะ[แก้]

พระอุโบสถ มีพระประธานเป็นพระพุทธสิหิงค์หน้าตักกว้าง 69 นิ้ว พระเจดีย์ ลักษณะระฆังคว่ำแปดเหลี่ยม สูง 29 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2541 เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่สมเด็จพระสังฆราชได้ประทานให้เมื่อปี พ.ศ. 2542 และพระวิหารหลวงปู่พร มีลักษณะแบบทรงไทย ขนาดกว้าง 7 เมตร ยาว 10 เมตร หลังคามุงกระเบื้องเคลือบกาบกล้วย ก่อสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2527 ภายในประดิษฐานพระพุทธชินราชและพระพุทธรูปอีกหลายองค์ ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องราวพุทธประวัติ[2]

วัตถุมงคล[แก้]

วัตถุมงคลที่ขึ้นชื่อของวัดดอนเมือง คือ เหรียญหลวงพ่อพร พุทธสโร และที่นิยมแพร่หลายมากที่สุดก็คือ เหรียญปั๊มรูปเหมือนรุ่นแรก สร้างเมื่อ พ.ศ. 2460–2465 มีพุทธคุณด้านแคล้วคลาดและเมตตามหานิยม ค้าขายร่ำรวย โชคลาภเป็นเยี่ยม ส่วนการจัดสร้างวัตถุมงคลในยุคปัจจุบันนั้น พระราชวิสุทธิมงคลหรือหลวงพ่อแคล้ว สุธัมโม เจ้าอาวาสวัดดอนเมือง ได้จัดสร้างวัตถุมงคลมาตั้งแต่ พ.ศ. 2515 จนถึงปัจจุบัน[3]

รายนามเจ้าอาวาส[แก้]

  • พระอาจารย์จ๊ะ (ไม่มีหลักฐานตราตั้งเจ้าอาวาส) พ.ศ. 2438 – 2445
  • พระอาจารย์โปร่ง (ไม่มีหลักฐานตราตั้งเจ้าอาวาส) พ.ศ. 2445 – 2447
  • พระอาจารย์อยู่ (ไม่มีหลักฐานตราตั้งเจ้าอาวาส) พ.ศ. 2447 – 2451
  • พระอาจารย์ยวง (ไม่มีหลักฐานตราตั้งเจ้าอาวาส) พ.ศ. 2451 – 2456
  • พระอาจารย์พร พุทฺธสาโร (เจริญดี) พ.ศ. 2456 – 2484 ได้รับตราตั้งเป็นเจ้าอาวาสเมื่อ 2460 และเป็นเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดดอนเมือง
  • พระครูปลัดจรูญ โสวณฺณิโก (ดำ พิชิต) พ.ศ. 2484 – 2486
  • พระครูสมุห์เชื้อ สาสนมนฺโท (มอญกระโทก) พ.ศ. 2486 –2494
  • พระราชวิสุทธิมงคล (แคล้ว สุธมฺโม) พ.ศ. 2510 – 2560
  • พระปริยัติโศภณ (อิทธิยาวุธ ธีรวโร ป.ธ.๙) 2560 – ปัจจุบัน

อ้างอิง[แก้]

  1. "ลาก่อน..."ดอนเมือง" ที่คิดถึง". ผู้จัดการออนไลน์. 26 กันยายน 2549.
  2. "วัดดอนเมือง พระอารามหลวง ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร". ทัวร์วัดไทย.
  3. ไตรเทพ ไกรงู (5 ตุลาคม 2555). "วัดดอนเมืองกับ...หลวงพ่อแคล้ว พระผู้มีเมตตาแคล้วคลาด : ท่องไปในแดนธรรม". คมชัดลึก.