วัดดอนยายหอม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดดอนยายหอม
แผนที่
ชื่อสามัญวัดดอนยายหอม
ที่ตั้งตำบลดอนยายหอม อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระครูปฐมวราจารย์ หรือ หลวงพ่ออวยพร ฐิติญาโณ[1]
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดดอนยายหอม เป็นวัดที่ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลดอนยายหอม อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม ประชาชนทั่วไปจะเข้ามาทำบุญ และสักการะรูปปั้นคุณยายหอม และส่วนมากเข้ามาบูชาหลวงพ่อเงิน

ประวัติ[แก้]

ในอดีตเรียกว่า วัดโคกยายหอม (ปัจจุบันเป็นโบราณสถานร้าง เรียก เนินพระ) เป็นวัดที่สร้างขึ้นมากกว่า 1,000 ปี คาดว่าราวสมัยทวาราวดีหรือก่อนหน้านั้น เป็นที่ตั้งของบ้านเรือนยายหอม เป็นผู้เลี้ยงพญาพาน[2] ซึ่งเกี่ยวพันกับการสร้างองค์พระปฐมเจดีย์ ต่อมามีวัดโคกยายหอมอีกแห่งตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลดอนยายหอม เป็นวัดเก่าแก่จวนร้างเหมือนกัน มีพระสงฆ์ประจำอยู่ 2–3 รูป ไม่ปรากฏหลักฐานสมัยที่สร้าง

ราวปี พ.ศ. 2398 หลวงพ่อทรัพย์ เจ้าอาวาสวัดงิ้วราย อำเภอนครชัยศรี เห็นว่าวัดทรุมโทรมมาก ไม่สามารถบูรณะปฏิสังขรณ์ให้ดีขึ้นไปได้ จึงได้เลือกที่ตั้งวัดใหม่ขึ้นทางเหนือ อยู่ระหว่างวัดร้างเนินพระกับวัดโคกยายหอม เป็นที่นาของนายคงกับนายฉิม ตระกูลอินทนชิตจุ้ย ได้ถวายที่ดินผืนนี้ให้เป็นที่สร้างวัดใหม่ เนื้อที่ 8 ไร่ เมื่อ พ.ศ. 2400 พระวินัยธร ฮวบพรหมสร เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก เมื่ออายุ 25 ปี บวชได้ 5 พรรษา ท่านมาจากวัดทอง อำเภอบางกอกน้อย กรุงเทพ[3]

โบราณวัตถุ[แก้]

พ.ศ. 2479 พระธรรมวาทีคณาจารย์ (หลวงพ่อเงิน) ได้ขุดเอาอิฐที่หักพังแถวชานเนินบริเวณที่เรียกว่า เนินพระ ไปสร้างพระอุโบสถ เมื่อขุดลึกได้พบ ศิลาเหลี่ยมเขียวสองต้น สูงประมาณ 4 เมตร มีลายจำหลักที่ปลายเสา คล้ายกับเสาประตูสาญจี เจดีย์ของพระเจ้าอโศกมหาราชกับกวางหมอบ ทำด้วยศิลา 1 ตัว พระพุทธรูปศิลาสมัยทวาราวดี 1 องค์ พระเสมาธรรมจักรทำด้วยหินแต่หักพัง เสาศิลามีง่ามสำหรับวางพระเสมาธรรมจักร แบบเดียวกับที่พบบริเวณองค์พระปฐมเจดีย์ ปัจจุบันเสาศิลานี้อยู่ที่วัดดอนยายหอม ส่วนกวางหมอบกับพระพุทธรูปส่งไปเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ[4]

เทศกาลและงานประเพณี[แก้]

นอกจากจัดงานตามเทศกาลทางพุทธศาสนาอย่าง วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา วันมาฆบูชา วัดจังมีการจัด งานคล้ายวันมรณะภาพหลวงพ่อเงิน ระหว่างวันที่ 9–13 มกราคม ของทุกปี ยังมี งานปิดทองกลางเดือน 4 ขึ้น 15 ค่ำ ของทุกปี และงานคล้ายวันมรณภาพหลวงพ่อแช่ม ระหว่างวันที่ 9–13 ธันวาคม ของทุกปี[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. "เหรียญที่ระลึกหลวงพ่ออวยพร สมทบทุนศึกษาในโรงเรียนอุปถัมภ์". ข่าวสด.
  2. "วัดดอนยายหอม". แหล่งศิลปกรรมอันควรอนุรักษ์.
  3. "วัดดอนยายหอม". กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา.[ลิงก์เสีย]
  4. 4.0 4.1 "วัดดังในนครปฐม". องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครปฐม.