วัดกลาง (อำเภอเมืองขอนแก่น)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดกลาง
พระอุโบสถวัดกลาง
แผนที่
ที่ตั้งตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดกลาง เป็นวัดโบราณเก่าแก่ของจังหวัดขอนแก่น สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เป็นวัดที่พระนครศรีบริรักษ์บรมราชภักดี (เพียเมืองแพน) ต้นตระกูลเสนอพระ อดีตเจ้าเมืองขอนแก่นคนแรกสร้างขึ้น เพื่อเป็นสถานที่สำหรับเป็นที่ชุมนุมทำบุญของประชาชนทั่วไป ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ราวปี พ.ศ. 2332 พร้อมกับการสร้างวัดอื่น ๆ ในเมืองขอนแก่นอีกหลายวัด ตามธรรมเนียมการปกครอง และประเพณีนิยมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ[1]

วัดกลาง เป็นวัด สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ที่บ้านเมืองเก่า เลขที่ 347 ถนนกลางเมือง ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2350 ขนาดกว้าง 20 เมตร ยาว 40 เมตร และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2550 ขนาดกว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร มีพื้นที่ 7 ไร่ 2 งาน โฉนดที่ดิน เลขที่ 709 ตั้งอยู่ริมยึงแก่นนคร

ประวัติ[แก้]

ราวปี พ.ศ. 2332 ท้าวสัก ตำแหน่งเพียเมืองแพน อยู่บ้านชีโหล่น เมืองสุวรรณภูมิ ได้ชักชวนครอบครัวได้ประมาณ 330 ครอบครัว อพยพมาตั้งบ้านเรือนขึ้นใหม่อีกแห่งหนึ่ง เรียกว่า บ้านบึงบอน ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีพระบรมราชโองการยกฐานะให้เป็น "เมืองขอนแก่น" แต่งตั้งให้ "ท้าวสัก" เป็นเจ้าเมืองขอนแก่นคนแรก มีนามว่า "พระนครศรีบริรักษ์" เนื่องจากชนชั้นปกครองเมืองต่าง ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีเชื้อสายเนื่องมาจากนครเวียงจันทน์ เมื่อท้าวเมืองแพน หรือพระนครศรีบริรักษ์บรมราชภักดี ได้ตั้งเมืองขอนแก่นขึ้นที่บ้านบึงบอน จึงได้เริ่มสร้างวัดขึ้น 4 วัด ตามธรรมเนียมการปกครอง และประเพณีนิยมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ

  1. วัดเหนือ อยู่ทางทิศเหนือของตัวเมือง หรืออยู่ทางต้นน้ำ สำหรับเป็นสถานที่ชุมนุมทำบุญของเจ้าเมือง ปัจจุบัน คือ วัดธาตุ พระอารามหลวง
  2. วัดกลาง อยู่กึ่งกลางระหว่างวัดเหนือกับวัดใต้ สำหรับเป็นที่ชุมนุมทำบุญของประชาชนทั่วไป ปัจจุบัน คือ วัดกลาง
  3. วัดใต้ อยู่ทางทิศใต้ของตัวเมือง หรืออยู่ทางใต้ของสายน้ำ ปัจจุบัน คือ วัดหนองแวง พระอารามหลวง
  4. วัดท่าแขก สำหรับพระภิกษุอาคันตุกะจากถิ่นอื่นมาพัก และประกอบพุทธศาสนพิธี ปัจจุบันคือ วัดโพธิ์โนนทัน[2]

ที่ตั้งและขนาด[แก้]

วัดกลาง ตั้งอยู่ที่บ้าน เมืองเก่า เลขที่ ๓๔๗ หมู่ที่ – ถนนกลางเมือง ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น มีพื้นที่ 7 ไร่ 2 งาน

อาณาเขตติดต่อ[แก้]

ทิศเหนือ ประมาณ 2 เส้น 4 วา จรดที่ดินเอกชน

ทิศตะวันออก ประมาณ 3 เส้น 7 วา จรดถนนรอบบึง

ทิศใต้ ประมาณ 2 เว้น 3 วา จรดถนนเหล่านาดี

ทิศตะวันตก ประมาณ 3 เส้น 5 วา จรดถนนกลางเมือง

ลำดับเจ้าอาวาส[แก้]

วัดธาตุ เริ่มตั้งแต่สร้างวัด เมื่อราว พ.ศ. 2332 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นต้นมา ไม่สามารถหาหลักฐานได้แน่ชัดว่ามีเจ้าอาวาสครองวัดนี้มาแล้วกี่รูป แต่เท่าที่มีหลักฐานแน่นอนปรากฏ ดังนี้

ลำดับ รายนาม ปีที่ดำรงตำแหน่ง
1 พระครูพิศาลอรัญญเขตร์ พ.ศ. 2440 - 2471
2 ไม่ปรากฏชื่อ พ.ศ. 2472 - 2493
3 พระมหาสุบิน สุวณฺโณ พ.ศ. 2494 - 2497
4 พระครูมงคลสารนิเทศ พ.ศ. 2498 - 2550
5 พระครูมัชฌิมธรรมโสภณ พ.ศ. 2550 - ปัจจุบัน

รูปภาพ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. การสร้างวัด หน้า 13 [1]
  2. การสร้างวัด หน้า 13 [2]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

  • Suttawan B. (2021). ประวัติวัดกลางและพระมหาธาตุราชมัชฌิมาเฉลิมพระเกียรติ (ริมบึงแก่นนคร) ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น. จาก https://www.isaninsight.com/