วัดกงลาด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดกงลาด
แผนที่
ที่ตั้งเลขที่ 57 หมู่ที่ 5 ตำบลห้วยด้วน อำเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐม 73150
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดกงลาด เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 5 บ้านกงลาด ตำบลห้วยด้วน อำเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐม มีเนื้อที่ 25 ไร่ 1 งาน 6 ตารางวา

วัดกงลาดเริ่มสร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โดยชาวบ้านลาวครั่งที่ถูกกวาดต้อนมาจากแขวงเมืองหลวงพระบางเมื่อประมาณ พ.ศ. 2322 ในสมัยกรุงธนบุรี และถูกกำหนดให้มาตั้งถิ่นฐานในบริเวณที่เป็นหมู่ที่ 5 และ 6 ของตำบลห้วยด้วนในปัจจุบัน[1] วัดกงลาดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2335

วัดมีโบราณสถานคืออุโบสถหลังเก่า เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าบนชุดฐานปัทม์ มีทางเข้าออกสองทาง เครื่องบนหลังคาไม้ลดชั้นมุงด้วยกระเบื้องดินเผาปลายแหลม (เกล็ดเต่า) เดิมมีพาไลยื่นต่อบริเวณด้านหน้าทางเข้า โดยรอบตั้งเสมาหินบนฐานบัวปูนปั้น 8 ทิศ มีเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองก่ออิฐถือปูนตั้งอยู่ด้านหลังอุโบสถ เมื่อ พ.ศ. 2559 กรมศิลปากรเข้ามาบูรณะอุโบสถ เสมา และเจดีย์[2]

วัดมีประเพณีแห่ธงสงกรานต์เป็นกิจกรรมหนึ่งของเทศกาลสงกรานต์ในกลุ่มชาวไทยเชื้อสายลาวครั่ง ชาวบ้านเรียกกันว่า ทอดผ้าป่าลาว จัดขึ้นในวันสุดท้ายของเทศกาลสงกรานต์[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. "วอนกรมศิลป์บูรณะโบสถ์ "ลาวครั่ง" อายุ 235 ปี". ไทยรัฐ. 23 กรกฎาคม 2557.
  2. "ปกิณกศิลปวัฒนธรรม เล่ม 26 จังหวัดนครปฐม". กรมศิลปากร. 2563. p. 153.
  3. "ประเพณีแห่ธงสงกรานต์บ้านกงลาด". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.[ลิงก์เสีย]