วัฒนธรรมหย่างเฉา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัฒนธรรมหย่างเฉา
Map showing the extent of the วัฒนธรรมหย่างเฉา
ชื่อภาษาท้องถิ่น仰韶文化
ภูมิภาคที่ราบสูงดินเหลือง
สมัยยุคหินใหม่
ช่วงเวลา5,000 ถึง 3,000 ปีก่อนคริสตกาล
แหล่งโบราณคดีสำคัญปั้นพัว (Banpo), เจียงไจ้ (Jiangzhai)
ก่อนหน้าวัฒนธรรม Peiligang, วัฒนธรรม Dadiwan, วัฒนธรรม Cishan
ถัดไปวัฒนธรรมหลงชาน

วัฒนธรรมหย่างเฉา (จีน: 仰韶文化, อังกฤษ: Yangshao Culture) เป็นวัฒนธรรมยุคหินใหม่ที่สำคัญที่กระจายโดยทั่วไปตลอดริมฝั่งตอนกลางของ แม่น้ำหวง ในประเทศจีน มีอายุในช่วงประมาณ 5,000 ถึง 3,000 ปีก่อนคริสตกาล ปัจจุบันมีการค้นพบแหล่งโบราณคดีของวัฒนธรรมหย่างเฉาหลายพันแห่งในประเทศจีน ส่วนใหญ่ในมณฑลเหอหนาน ส่านซี และ ชานซี วัฒนธรรมนี้ได้รับการตั้งชื่อตามแหล่งขุดสำรวจที่ค้นพบครั้งแรกในปี พ.ศ. 2464 ในหมู่บ้านหย่างเฉาในเขตซานเหมินเซียของมณฑลเหอหนาน โดย โยฮัน กุนนาร์ แอนเดอร์สัน นักธรณีวิทยาชาวสวีเดน[1] การค้นพบนี้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการกำเนิดโบราณคดีจีนสมัยใหม่

งานวิจัยล่าสุดระบุว่า ภาษาชิโน - ทิเบต มีต้นกำเนิดร่วมกันกับ วัฒนธรรมสือชาน (Cishan culture), วัฒนธรรมหย่างเฉา และ หรือ วัฒนธรรมหม่าเจียเหยา (Majiayao culture)

ประวัติ[แก้]

ในปีพ. ศ. 2464 โยฮัน กุนนาร์ แอนเดอร์สัน นักธรณีวิทยาชาวสวีเดนผู้ทำการสำรวจฟอสซิลไดโนเสาร์ได้ขุดเครื่องปั้นดินเผาโดยบังเอิญ (ซึ่งต่อมาเรียกว่าเครื่องปั้นดินเผาทาสี) ทางตะวันตกของลั่วหยางใกล้ริมฝั่งแม่น้ำหวงในหมู่บ้านหย่างเฉา เทศมณฑลซานเหมินเซีย มณฑลเหอหนาน มีการพบซากที่อยู่อาศัยในลักษณะซากปรักหักพังใต้ชั้นดิน

การค้นพบนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาโบราณคดีจีนสมัยใหม่ ซึ่งปัจจุบันมีการค้นพบแหล่งโบราณคดีของวัฒนธรรมหย่างเฉา หลายพันแห่งในประเทศจีน ชื่อของวัฒนธรรมหย่างเฉา มาจากแหล่งขุดค้นแห่งแรกซึ่งเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านหย่างเฉา ในเทศมณฑลเหมียนชี นครระดับจังหวัดซานเหมินเซีย มณฑลเหอหนาน สิ่งที่น่าสนใจคือแหล่งโบราณคดีหย่างเฉาไม่ได้ถูกมองว่าเป็นแหล่งโบราณคดีเล็ก ๆ อีกต่อไป แต่กลายเป็นชื่อของวัฒนธรรมหย่างเฉา การค้นพบของ แอนเดอร์สัน เป็นความร่วมมือทางโบราณคดีระหว่างจีนและสวิตเซอร์แลนด์ ข้อตกลงดังกล่าวกำหนดให้ทั้งสองฝ่ายถือครองครึ่งหนึ่งของการขุดค้นและผลการวิจัยจะต้องตีพิมพ์ในวารสารวิชาการของจีน "Chinese Palaeontology" การขุดค้นที่เก็บไว้โดยฝั่งสวิสตอนนี้ถูกนำไปจัดแสดงใน Oriental Museum ส่วนอีกครึ่งหนึ่งของสิ่งที่ขุดในครั้งนั้นถูกส่งกลับไปยังประเทศจีนและได้สูญหายไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง[2]

ในปีพ. ศ. 2497 Chinese Academy of Sciences ได้ขุดพบซากสมัยหย่างเฉาในซีอานมณฑลส่านซีและค้นพบอาคารกึ่งใต้ดินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาว 20 เมตรนอกจากนี้ยังพบสุสานจากวัฒนธรรมหย่างเฉาในที่ต่างๆด้วย [3]

แหล่งโบราณคดี[แก้]

การกระจายตัวของแหล่งโบราณคดี[แก้]

วัฒนธรรมหย่างเฉาเป็นวัฒนธรรมยุคหินใหม่ที่สำคัญในตอนกลางของแม่น้ำหวงมีอายุประมาณ 5,000 ถึง 3000 ปีก่อนคริสตกาล การกระจายตัวของวัฒนธรรมหย่างเฉามีศูนย์กลางอยู่ที่พื้นที่ลุ่มน้ำสาขาของแม่น้ำหวง เช่น พื้นที่ลุ่มน้ำเหว่ย พื้นที่ลุ่มน้ำเฟิน - หลัว ตั้งแต่มณฑลกานซูไปจนถึงมณฑลเหอหนานในปัจจุบัน ทางตอนเหนือไปถึงพื้นที่ตามแนวกำแพงเมืองจีนและเหอเท่า (河套) ทางใต้ติดกับลุ่มน้ำ Huaihe-Hanshui[4] ทางตะวันออกไปยังภูเขาไท่หาง (太行山) - มณฑลเหอหนาน และทางตะวันตกถึง Hehuang เป็นพื้นที่กว้างใหญ่โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่กวนจงเหอหนานตะวันตกและจินใต้[5]

แหล่งโบราณคดีที่สำคัญ[แก้]

  • หมู่บ้านหย่างเฉา มณฑลเหอหนาน ประกอบด้วย พิพิธภัณฑ์ และ แหล่งโบราณคดีหย่างเฉา
  • แหล่งโบราณคดีในหมู่บ้านปั้นพัว (Banpo archaeological site 半坡遗址) มณฑลส่านซี เป็นหนึ่งในแหล่งโบราณคดีที่โดดเด่นที่สุดของวัฒนธรรมหย่างเฉา โดยเฉพาะลักษณะการตั้งถิ่นฐานที่มีคูน้ำล้อมรอบ
  • แหล่งโบราณคดีเจียงไจ้ (Jiangzhai 姜寨沟遗址) มณฑลส่านซี แหล่งโบราณคดีนี้ได้รับการขุดสำรวจจนเสร็จสมบูรณ์ และพบว่ามีลักษณะเฉพาะคือคูน้ำล้อมรอบชุมชนเป็นรูปวงกลม
  • แหล่งโบราณคดีเหมียวตี่โกว (Miaodigou 庙底沟遗址) ทางตะวันตกของมณฑลเหอหนาน
  • แหล่งโบราณคดีต่าเหอ (Dahe 大河村遗址) เมืองเจิ้งโจว มณฑลเหอหนาน
  • แหล่งโบราณคดีซีพัว (Xipo 西坡遗址) เมืองหลิงเป่า มณฑลเหอหนาน

ลำดับช่วงวัฒนธรรม[แก้]

  • ช่วงต้น หรือ ระยะ ปั้นพัว (ประมาณ 5,000–4,000 ปีก่อนคริสตกาล) ในแหล่งโบราณคดี ปั้นพัว, เจียงไจ้, Beishouling และ Dadiwan ในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่น้ำเว่ย ใน มณฑลส่านซี [6]
  • ช่วงกลาง หรือระยะ เหมียวตี่โกว (ประมาณ 4,000–3,500 ปีก่อนคริสตกาล) เป็นช่วงของการขยายตัวของวัฒนธรรมในทุกทิศทาง และการพัฒนาตามลำดับชั้นของการตั้งถิ่นฐาน ในบางพื้นที่เช่น มณฑลเหอหนานทางตะวันตก [6]
  • ช่วงปลาย (ประมาณ 3,500–3,000 ปีก่อนคริสตกาล) เห็นการกระจายลำดับชั้นของการตั้งถิ่นฐานมากขึ้น กำแพงดินแห่งแรกในจีนถูกสร้างขึ้นรอบ ๆ นิคมโบราณซีชาน (Xishan) ขนาด 25 เฮกตาร์ (60 ไร่) ในมณฑลเหอหนานตอนกลาง (ใกล้กับ เจิ้งโจว ปัจจุบัน) [6]


(อนึ่ง วัฒนธรรมหม่าเจียเหยา (Majiayao culture) (ประมาณ 3,300–2,000 ปีก่อนคริสตกาล) ทางตะวันตกถือเป็นวัฒนธรรมที่แยกจากกันซึ่งพัฒนามาจากวัฒนธรรมหย่างเฉา ตอนกลางผ่านขั้นตอน Shilingxia ขั้นกลาง [6])

ลักษณะทางวัฒนธรรม[แก้]

การดำรงชีวิต[แก้]

แบบจำลองของหมู่บ้านเจียงไจ้ (Jiangzhai) วัฒนธรรมหย่างเฉา

การบริโภคหลักของชาวหย่างเฉา คือ ข้าวฟ่างเหนียว (Proso millet 黍) บางพื้นที่บริโภค ข้าวฟ่างหางหมา (Foxtailed millet 小米) และ ข้าวฟ่างอื่น ๆ พบหลักฐานของ ข้าว อยู่บ้าง ลักษณะเฉพาะของการกสิกรรมของวัฒนธรรมหย่างเฉา ยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่ระหว่าง การเพาะปลูกขนาดเล็กด้วยวิธีการตัดเผา หรือ การเกษตรแบบเข้มข้นในพื้นที่ถาวร โดยทั่วไปเมื่อดินหมดสภาพผู้อยู่อาศัยก็ย้ายไปทำกสิกรรมในพื้นที่ใหม่และสร้างหมู่บ้านใหม่

ชาวหย่างเฉา เลี้ยงหมู และ สุนัข โดยแกะ แพะ วัวควาย พบได้น้อยมาก [7] การบริโภคเนื้อส่วนใหญ่ที่มาจากการล่าสัตว์และการตกปลาด้วยเครื่องมือหิน [7] เครื่องมือหินของพวกเขาได้รับการขัดเงาและมีความเชี่ยวชาญสูง พวกเขาอาจทำเริ่มมีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมยุคต้น[7]

เครื่องมือทำกสิกรรมในวัฒนธรรมหย่างเฉา ได้แก่ ขวานหิน พลั่วหิน หินโม่ และ เครื่องมือที่ทำจากกระดูก นอกจากการทำกสิกรรมแล้วผู้คนในวัฒนธรรมหย่างเฉายังจับปลาและล่าสัตว์ด้วย ในบรรดาโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมที่ขุดพบ ได้แก่ ตะขอกระดูก ฉมวก ลูกศร ฯลฯ เครื่องปั้นดินเผาส่วนใหญ่ในช่วงต้นของวัฒนธรรมหย่างเฉาทำด้วยมือและในช่วงกลางเริ่มปรากฏการขึ้นรูปด้วยแป้นหมุน เครื่องปั้นดินเผาบางชิ้นมีลวดลายคล้ายลายพิมพ์บนผ้าทอซึ่งแสดงให้เห็นว่าวัฒนธรรมหย่างเฉามีงานหัตถกรรมทอผ้า เครื่องมือในการผลิตส่วนใหญ่ได้รับการพัฒนาจากหินเจียร เช่น มีด ขวาน จอบถาก สิ่ว ลูกศร และ ล้อหมุนหินสำหรับการทอผ้า เครื่องมือทำจากกระดูกที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน เครื่องปั้นดินเผาประจำวันทุกชนิด เช่น ภาชนะใส่น้ำต่าง ๆ เตา ฯลฯ ส่วนใหญ่เป็นเครื่องปั้นดินเผาสีแดงโคลนและเครื่องปั้นดินเผาสีน้ำตาลแดงที่เต็มไปด้วยทรายในเนื้อดินเผา เครื่องปั้นดินเผาสีแดงมักเขียนด้วยลวดลายเรขาคณิตหรือลวดลายสัตว์ซึ่งเป็นลักษณะที่ชัดเจนที่สุดของวัฒนธรรมหย่างเฉา ทำให้มีชื่อเรียกอีกอย่างว่าวัฒนธรรมเครื่องปั้นดินเผาที่ทาสี[8]

บ้าน[แก้]

วัฒนธรรมหย่างเฉาเป็นวัฒนธรรมที่ได้รับอิทธิพลจากเกษตรกรรม หมู่บ้านมีขนาดทั้งใหญ่และเล็ก แต่ละแห่งมักมีขนาดพื้นที่ 10 - 14 เอเคอร์ (25 ถึง 35 ไร่) และสร้างบ้านล้อมรอบลานหมู่บ้านที่อยู่ตรงกลาง

บ้านในหมู่บ้านขนาดใหญ่มีรูปแบบที่แน่นอนและมีสุสานและแท่นเผาศพอยู่นอกหมู่บ้าน บ้านส่วนใหญ่ถูกสร้างขึ้นโดยการขุดหลุมไม่ลึกมากนักรูปสี่เหลี่ยมมุมมน แล้วบดอัดพื้นหลุม ปูรองด้วยแผงไม้ขัดแตะ ฉาบทับแผงไม้ด้วยโคลน และอัดพื้นซ้ำ เป็นลักษณะห้องลดระดับใต้ดินทรงกลมหรือสี่เหลี่ยมจัตุรัส ในยุคแรกบ้านส่วนใหญ่เป็นห้องเดี่ยวทรงกลมและต่อมาสร้างเป็นห้องสี่เหลี่ยม ผนังบ้านสร้างจากการปักเสาไม้สั้น ๆ เป็นโครงไม้สำหรับรองรับหลังคาและสำหรับขัดแตะเป็นผนังไว้รอบ ๆ ขอบบนของหลุม สานแผงไม้ขัดแตะจากล่างขึ้นบน ฉาบด้วยโคลนที่มีฟางเป็นส่วนผสม ด้านนอกของผนังมักถูกคลุมด้วยฟางหญ้าและเผาฟางนั้นเพื่อเพิ่มความแข็งแรงแน่นหนาของผนังและกันน้ำ จากนั้นวางโครงไม้เป็นรูปทรงกรวยมุงหลังคา อาจต้องเพิ่มเสาในบางส่วนเพื่อรองรับหลังคาที่มุงด้วยฟางและทางข้าวฟ่าง

ภายในมีเครื่องเรือนไม่มาก ได้แก่ หลุมเตาตื้นตรงกลางและที่นั่งข้างเตา ม้านั่งวางริมผนัง เตียงทำด้วยผ้า อาหารและเครื่องใช้ถูกวางหรือแขวนไว้กับผนัง และสร้างคอกสัตว์แยกต่างหากนอกตัวบ้าน

อย่างไรก็ตามการตั้งถิ่นฐานของวัฒนธรรมหย่างเฉาในตอนกลางเช่น เจียงไจ้ (Jiangzhai) มีอาคารที่ยกพื้นสูงซึ่งอาจใช้สำหรับเก็บธัญพืชที่เหลือใช้ นอกจากนี้ยังพบหินบดสำหรับทำแป้ง [7][9]

งานฝีมือ[แก้]

ชามตกแต่งรูปมนุษย์เงือก อายุ 5,000 - 4,000 ปีก่อนคริสตกาล หมู่บ้านปั้นพัว (Banpo) มณฑลส่านซี

วัฒนธรรมหย่างเฉาประดิษฐ์ เครื่องปั้นดินเผา สีขาวแดงและดำที่มีลวดลายใบหน้าของมนุษย์ สัตว์ และรูปทรงเรขาคณิต ซึ่งไม่เหมือนกับ วัฒนธรรมหลงซานที่อยู่ในยุคหลัง วัฒนธรรมหย่างเฉาไม่ได้ใช้แป้นหมุนในการทำเครื่องปั้นดินเผาช่วงระยะต้นและกลางของวัฒนธรรม การขุดสำรวจพบว่าพื้นที่บางแห่งใช้ไหดินเผาที่ทาสีเหล่านี้ในการฝังร่างเด็ก

วัฒนธรรมหยางเชาผลิต ผ้าไหม ในระดับเล็กและทอ ป่าน ผู้ชายสวม เสื้อผ้าเนื้อซี่โครง และมัดผมเป็นปมด้านบน ผู้หญิงเอาผ้ายาว ๆ มาพันรอบตัวแล้วมัดผมมวย

รอยบากบนเครื่องปั้นดินเผาจากทั้ง ปั้นพัว และ เจียงไจ้ อาจเป็นร่องรอยที่สำคัญซึ่งมีนักวิจัยโบราณคดีจำนวนไม่มากที่ตีความว่าอาจเป็นรูปแบบแรกเริ่มของ อักษรจีน [10] แต่การตีความดังกล่าวยังไม่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง

เครื่องปั้นดินเผารูปปั้นหน้านกฮูกวัฒนธรรมหย่างเฉา ช่วงระยะเหมียวตี่โกว (Miaodigou)
สัญลักษณ์ที่พบบนเครื่องปั้นดินเผาต่าง ๆ จากแหล่งโบราณคดี ปั้นพัว และ เจียงไจ้ ยังไม่มีการตีความที่ชัดเจน ซึ่งรวบรวมขึ้นโดย นักอักขรวิทยา Yu Shengwu (ปี 2439 - 2527) นักวิชาการบางคนตีความตามความเป็นไปได้ของอักขระ เช่น ตัวเลข (เจ็ด, สิบ, ยี่สิบ), วัตถุ (หอก) หรือคำกริยา (แสดง)

โครงสร้างสังคม[แก้]

แม้ว่างานวิจัยในช่วงต้นจะเสนอว่าวัฒนธรรมหย่างเฉามีการปกครองฉันแม่กับลูก[11] (มาตาธิปไดย - การปกครองที่ผู้หญิงเป็นใหญ่) ซึ่งงานวิจัยฉบับอื่นต่อมา ให้เหตุผลว่าโครงสร้างสังคมของวัฒนธรรมหย่างเฉาน่าจะอยู่ในช่วงการเปลี่ยนจากการปกครองแบบมาตาธิปไดยเป็นปิตาธิปไตย และแม้กระทั่งในงานวิจัยบางฉบับยังเชื่อว่ามีโครงสร้างเป็นปิตาธิปไตยแต่แรก ข้อโต้แย้งเหล่านี้เกิดจากการตีความในเรื่องระเบียบวิธีการฝังศพที่แตกต่างกัน[12][13]

การค้นพบปฏิมากรรมรูปมังกรในวัฒนธรรมหย่างเฉาที่เมืองผู่หยาง (濮阳市) มณฑลเหอหนาน มีลักษณะเป็นหินทรายรูปนูนต่ำประดับด้วยการฝังเปลือกหอย สามารถระบุอายุย้อนหลังไปถึง 5,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช[14] ทำให้เป็นรูปสลักมังกรที่เก่าแก่ที่สุดในโลก[15] และ ชาวจีนฮั่น ยังคงบูชา มังกร มาจนถึงทุกวันนี้

การบูรณะสถานที่ฝังศพ Bianjiagou ใน เหลียวหนิง วัฒนธรรมหย่างเฉา - พิพิธภัณฑ์โบราณวัตถุตะวันออกไกลสตอกโฮล์ม

โบราณวัตถุ[แก้]

ดูเพิ่ม[แก้]


อ้างอิง[แก้]

  1. "Yangshao Culture Museum". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-04-13. สืบค้นเมื่อ 2020-08-25.
  2. https://www.ostasiatiskamuseet.se/
  3. ISBN 9789868538627
  4. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-07-14. สืบค้นเมื่อ 2020-08-25.
  5. https://web.archive.org/web/20111218045034/http://db1x.sinica.edu.tw/caat/caat_rptcaatc.php?_op=%3FSUBJECT_ID%3A300173481
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 Liu & Chen (2012).
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 Chang (1986).
  8. ISBN 9789868538627
  9. ISBN 978-0-300-03782-1
  10. Woon, Wee Lee (1987). Chinese Writing: Its Origin and Evolution. Joint Publishing, Hong Kong.
  11. ISBN 978-0-275-96631-7
  12. ISBN 978-0-7591-0137-1
  13. ISBN 978-0-7591-0409-9
  14. "Dragon-shaped pattern discovered within a clam shell". People's Daily Online. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-11-29. สืบค้นเมื่อ August 27, 2020.
  15. Howard Giskin and Bettye S. Walsh (2001). An introduction to Chinese culture through the family. State University of New York Press. p. 126. ISBN 0-7914-5047-3.