วงศ์ปลาซักเกอร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วงศ์ปลาซักเกอร์
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: ไมโอซีนตอนบน - ปัจจุบัน[1]
ปลาซักเกอร์ธรรมดา (Hypostomus plecostomus) ในตู้ปลา
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Siluriformes
วงศ์ใหญ่: Loricarioidea
วงศ์: Loricariidae
Rafinesque, 1815
วงศ์ย่อย

วงศ์ปลาซักเกอร์ (อังกฤษ: Sucker, Armored catfish) เป็นปลาที่มีวงศ์ใหญ่มากชนิดหนึ่งในอันดับปลาหนัง (Siluriformes) มีถิ่นกำเนิดในลุ่มแม่น้ำในทวีปอเมริกาใต้ มีรูปร่างโดยรวมคือ หัวโต ตาเล็ก มีจุดเด่นคือ ปากขนาดใหญ่ที่อยู่ด้านล่างที่สามารถเกาะหรือดูดกับวัสดุต่าง ๆ ในน้ำได้ มีลำตัวแข็งและหยาบกร้านดูเหมือนมีเกล็ด แต่ความเป็นจริงแล้ว นั่นคือ ผิวหนังที่พัฒนาจนแข็ง ครีบหลังและครีบหางมีขนาดใหญ่ มีหนวดสั้น บางชนิดไม่มีครีบไขมัน ที่มีครีบไขมันจะมีเงี่ยงแข็งหนึ่งอันอยู่หน้าครีบ มีลำไส้ยาว มีกระดูกสันหลัง 23-38 ข้อ หากินตามพื้นน้ำ โดยกินซากพืชซากสัตว์และสัตว์น้ำขนาดเล็กต่าง ๆ เป็นอาหาร ใช้ชื่อวงศ์ว่า Loricariidae (/ลอ-ริ-คา-ริ-ดี/)[2]

ตัวผู้จะมีเงี่ยงแหลมยื่นออกมาเห็นได้ชัดบริเวณข้างส่วนหัวและครีบอก เรียกว่า odontodes ในขณะที่ตัวเมียท้องจะอูมกว่า

เป็นปลาที่รู้จักกันดีในฐานะที่เป็นปลาสวยงาม เช่น ปลาซักเกอร์ธรรมดา (Hypostomus plecostomus) ที่นิยมเลี้ยงเป็นปลาที่เก็บเศษอาหารที่ปลาอื่นกินเหลือ จนได้อีกชื่อนึงว่า "ปลาเทศบาล" และหลายชนิดก็มีสีสันและรูปร่างที่แปลกตา เช่น ปลาซักเกอร์พานากิ้วลาย (Panaque nigrolineatus), ปลาซักเกอร์บลูพานากิ้ว (Baryancistrus beggini), ปลาซักเกอร์ม้าลาย (Hypancistrus zebra) เป็นต้น ซึ่งผู้ที่นิยมเลี้ยงจะเลี้ยงเพื่อเป็นความสวยงาม

ในแวดวงการค้าปลาสวยงามแล้ว ปลาในวงศ์นี้ถูกตั้งชื่อเป็นรหัสต่าง ๆ เพื่อความสะดวกในการเรียกขาน ทั้งนี้เนื่องจากได้มีการค้นพบปลาในวงศ์นี้กว่า 700 ชนิด แต่หลายชนิดยังมิได้ทำการอนุกรมวิธาน จึงมีการตั้งรหัสเรียกแทน โดยใช้ตัวอักษร L (ย่อมาจากชื่อวงศ์) นำหน้าหมายเลข เช่น L-46 เป็นต้น โดยเริ่มจากนิตยสารปลาสวยงามฉบับหนึ่งของเยอรมนีในปี ค.ศ. 1988

สำหรับปลาซักเกอร์ธรรมดาแล้ว เป็นปลาที่มีความอดทนมากในการที่อยู่ในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้ จึงสามารถทนกับสภาพแวดล้อมทางน้ำของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันกรมประมงได้ประกาศให้เป็นปลาที่ต้องห้าม ทั้งนี้เนื่องจากปัญหาที่มันแพร่พันธุ์ในแหล่งน้ำธรรมชาติมากจนเกินไปจนกลายเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่คุกคามสัตว์น้ำพื้นเมือง[3][4]

สำหรับชื่อสามัญในภาษาอังกฤษแล้ว ยังเรียกปลาในวงศ์นี้อีกว่า "เพลโก" (Pleco) หรือ "แอลจี อีตเตอร์" (Algae eater) เป็นต้น

อ้างอิง[แก้]

  1. Provenzano R., Francisco (2003). Buth, D. G. (บ.ก.). "New, Possibly Extinct Lithogenine Loricariid (Siluriformes, Loricariidae) from Northern Venezuela" (PDF). Copeia. American Society of Ichthyologists and Herpetologists. 2003 (3): 562–575. doi:10.1643/CI-02-160R1. {{cite journal}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |coauthors= ถูกละเว้น แนะนำ (|author=) (help)
  2. สมโภชน์ อัคคะทวีวัฒน์. สาระน่ารู้ ปลาน้ำจืดไทย เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2547. 257 หน้า. หน้า 83. ISBN 974-00-8738-8
  3. "ลุยฆ่าปลาซักเกอร์นับหมื่นแพร่เร็ว-กินแหลก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-03-04. สืบค้นเมื่อ 2009-03-22.
  4. กรมประมงออกมาตรการแก้ปัญหาปลาซักเกอร์ เอกสารดาวน์โหลด

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]