ลิฟต์อวกาศ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ลิฟต์อวกาศประกอบด้วยสายเคเบิล ยึดปลายด้านหนึ่งอยู่ที่ผิวโลก ปลายอีกด้านหนึ่งอยู่ในอวกาศ โดยมีน้ำหนักถ่วงที่ปลายเพื่อให้เคเบิลมีแรงตึงตลอดเวลา

ลิฟต์อวกาศ (space elevator) เป็นสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ ที่มีการเสนอให้สร้าง เพื่อใช้ในการขนส่งวัสดุจากพิ้นผิวโลกขึ้นไปในอวกาศ รูปแบบที่มีการนำเสนอมักเป็นโครงสร้าง สร้างต่อเนื่องจากผิวโลก ขึ้นไปยังวงโคจรค้างฟ้า และสร้างต่อเนื่องออกไป โดยมีตุ้มน้ำหนักถ่วงที่ปลายอีกด้านหนึ่ง วัสดุที่มีการเสนอให้ใช้ มีลักษณะเป็นเคเบิล หรือแถบรับน้ำหนัก ที่สามารถรับกำลังได้สูง โดยทำเลที่ตั้งโครงสร้างจะอยู่บริเวณแถบเส้นศูนย์สูตร

แนวคิดเรื่องลิฟต์อวกาศ ถูกเสนอขึ้นครั้งแรกโดยผู้เชี่ยวชาญด้านอวกาศ และจรวดขับดัน ชาวรัสเซีย ชื่อ คอนสแตนติน โซลคอฟสกี (Constantin Tsiolkovsky, ค.ศ. 1857 - 1935) ได้เขียนบทความชื่อ "Daydream about the Earth and the Heaven" (ฝันกลางวันเกี่ยวกับโลกและสวรรค์) ในปี พ.ศ. 2438 กล่าวถึง "หอคอยสูงเสียดฟ้าจากผิวโลกถึงอวกาศ" [1]

ในปี พ.ศ. 2503 วิศวกรชาวรัสเซียชื่อ ยูริ อาตซูตานอฟ (Yuri Artsutanov) ได้เขียนบทความตีพิมพ์ในวารสาร Komso Molskaya Pravda เกี่ยวกับการสร้าง "รถลาก" ขึ้นสู่อวกาศ ต่อมาในปี พ.ศ. 2509 นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน ได้ร่วมกันเสนอแนวคิดเกี่ยวกับการใช้สายเคเบิลยึดโยง ดาวเทียม ในบทความชื่อ "Satellite Elongation into a True 'Sky-Hook'" ตีพิมพ์ในนิตยสาร Science [1]


ต่อมาในปี พ.ศ. 2518 นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน ชื่อ เจอโรม เพียร์สัน (Jerome Pearson) ได้ตีพิมพ์บทความชื่อ "The Orbital Tower: A Spacecraft Launcher Using the Earth's Rotational Energy" นำเสนอโครงสร้างเป็นท่อ 2 ท่อเชื่อมต่อระหว่างโลกกับสถานีอวกาศ ภายในบรรจุลิฟต์ ท่อหนึ่งสำหรับใช้ในขาขึ้น ท่อหนึ่งสำหรับใช้ในขาลง เพียร์สันตีพิมพ์บทความของเขาในวารสาร Acta Astronautica ฉบับเดือนกันยายน พ.ศ. 2518 [1]

แนวคิดเรื่องลิฟต์อวกาศเป็นที่รู้จักในวงกว้าง จากนวนิยายวิทยาศาสตร์ของ อาร์เทอร์ ซี. คลาร์ก เรื่อง The Fountains of Paradise ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2521 (ชื่อไทย "สู่สวรรค์" แปลโดย คมสันติ์ เมื่อ พ.ศ. 2528, ณัฐ ศาสตร์ส่องวิทย์ เป็นบรรณาธิการ) คลาร์กนำเสนอการสร้างลิฟต์อวกาศแห่งแรกที่ ศรีลังกา ซึ่งเป็นประเทศที่เขาใช้ชีวิตอยู่ [2]

เมื่อเริ่มเขียนครั้งแรก คลาร์กประมาณการว่า การสร้างลิฟต์อวกาศจะสำเร็จได้ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 22 แต่เมื่อตีพิมพ์หนังสือออกไป คลาร์กพบว่ามีการเสนอแนวคิดในทำนองเดียวกัน โดยนักวิทยาศาสตร์รัสเซีย เขาจึงคาดว่าการก่อสร้างอาจจะเป็นไปได้ภายในคริสต์ศตวรรษที่ 21 [1]

ต่อมาเมื่อเทคโนโลยีด้านวัสดุก้าวหน้าขึ้น เมื่อมีผู้ถามว่าการสร้างลิฟต์อวกาศจะเป็นไปได้เมื่อไร คลาร์กตอบว่า [3]

ประมาณ 50 ปีหลังจากที่ทุกคนหยุดหัวเราะ

ในการสัมมนาลิฟต์อวกาศประจำปี ครั้งที่ 2 ที่ซานตาเฟ รัฐนิวเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2546 คลาร์กกล่าวเปิดการสัมมนา ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ จากบ้านพักที่กรุงโคลอมโบ ว่า [4]

มันจะถูกสร้างขึ้นมาประมาณ 10 ปี หลังจากทุกคนหยุดหัวเราะ และตอนนี้พวกเขาหยุดหัวเราะกันแล้ว

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 ชัยวัฒน์ คุประตกุล, ลิฟต์อวกาศ, สำนักพิมพ์สารคดี, พ.ศ. 2547, 104 หน้า, ISBN 974-484-099-4
  2. อาร์เทอร์ ซี. คลาร์ก, คมสันติ์ แปลและเรียบเรียง, สู่สวรรค์, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2541, 291 หน้า, ISBN 974-89602-9-3
  3. "Space Elevators: The Time for Laughing is Over". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-08-14. สืบค้นเมื่อ 2008-03-24.
  4. Space Elevator Quotes เก็บถาวร 2006-09-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Design Project Experiences: Space Elevator Simulator Part II 6.170

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]