ร้านต้มยำ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ร้านต้มยำร้านหนึ่งในมาเลเซีย

ร้านต้มยำ (มลายู: Kedai Tomyam) บ้างเรียก ร้านต้มยำกุ้ง เป็นคำเรียกร้านอาหารไทยฮาลาลในประเทศมาเลเซีย เหตุที่เรียกว่า "ร้านต้มยำ" เพราะเป็นชุดอาหารที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ชาวมาเลเซียจึงนิยมเรียกชื่อนี้มากกว่าจะเรียกว่าร้านอาหารไทย และหากใช้ชื่อ "ไทย" ก็จะเข้าใจว่าเป็น "พุทธ"[1]

ประวัติ[แก้]

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติของมาเลเซียเมื่อ พ.ศ. 2548 ระบุว่า ตั้งแต่ พ.ศ. 2516 ถึง 2548 ชาวมาเลเซียประกอบอาหารเพื่อรับประทานในบ้านลดลงจากร้อยละ 33.7 เหลือเพียงร้อยละ 20.4 อันเนื่องจากเศรษฐกิจที่เติบโต ผู้คนจึงรับประทานอาหารนอกบ้านนับตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1970 ประกอบกับร้านอาหารไทยเริ่มแพร่หลายในต่างประเทศ

ร้านอาหารต้มยำร้านแรก ๆ ของกัวลาลัมเปอร์เปิดกิจการในคริสต์ทศวรรษ 1970 โดยคุณหมัด[2] ซึ่งเป็นชาวมุสลิมเชื้อสายไทย จากอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เมื่อร้านอาหารของนายหมัดประสบความสำเร็จจึงได้ชักชวนพี่น้องและญาติมาทำงานด้วย รวมถึงได้ขยายสาขา รวมถึงเพื่อนของนายหมัดซึ่งเป็นคนมุสลิมเชื้อสายมลายูก็ได้เปิดร้านด้วย อีกข้อมูลหนึ่งกล่าวว่าร้านอาหารต้มยำร้านแรกในกัวลาลัมเปอร์ คือร้าน Sri Chiangmai ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970 เป็นร้านของอัจญียะโก๊บ ชาวมุสลิมจากอำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี จนกระทั่งร้านอาหารต้มยำมาได้รับความนิยมอย่างมากหลังคริสต์ทศวรรษ 1980 ทั้งในกัวลาลัมเปอร์และเมืองอื่น ๆ ของมาเลเซีย[3]

จากข้อมูลเมื่อ พ.ศ. 2551 มีแรงงานจากชายแดนจังหวัดภาคใต้ของไทยไปทำงานร้านต้มยำ 100,000–150,000 คน มีการตั้งสมาคมผู้ประกอบการร้านต้มยำโดยนายมุตา[4]

ข้อมูลจากเว็บไซต์สำนักแรงงานในประเทศมาเลเซียของกระทรวงแรงงาน ระบุว่า เมื่อ พ.ศ. 2561 มีคนไทยที่ไปทำงานในประเทศมาเลเซียราว 200,000 คน โดยกว่าสามในสี่ทำงานในร้านอาหารต้มยำ[5]

จากข้อมูลเมื่อ พ.ศ. 2565 ร้านต้มยำในประเทศมาเลเซียจำนวนกว่า 5,000 ร้าน เฉพาะที่กัวลาลัมเปอร์ มีมากกว่า 2 พันร้าน[6] และสามารถสร้างยอดขายโดยรวมได้กว่าปีละกว่า 200,000 ล้านบาท[7] มีเจ้าของร้าน กุ๊ก และคนงานที่มาจากหลากหลายภูมิลำเนาทั่วประเทศไทย โดยเฉพาะจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ลักษณะ[แก้]

อาหารไทยมีความแตกต่างจากอาหารพื้นเมืองมาเลเซียซึ่งเป็นอาหารทำสำเร็จและเย็น ส่วนอาหารไทยนั้นปรุงใหม่และตามความต้องการของลูกค้า จึงทำให้กลายเป็นที่นิยมของคนเชื้อสายมลายูสัญชาติมาเลเซีย

ร้านอาหารมุสลิมในประเทศไทยจะเสิร์ฟอาหารมุสลิมซึ่งมักจะไม่เสิร์ฟอาหารไทย ขณะที่ร้านอาหารต้มยำในมาเลเซียจะเสิร์ฟอาหารไทยฮาลาล นอกจากนั้นร้านอาหารต้มยำยังเสิร์ฟอาหารมาเลเซียด้วย เช่น นาซีเลอมัก และนาซีจัมปูร์ เป็นต้น ร้านอาหารมาเลเซียจะมีคนนิยมมาใช้บริการในช่วงอาหารเช้าและกลางวัน ขณะที่ร้านอาหารต้มยำจะได้รับความนิยมในช่วงอาหารเย็น[1] เวลามาทำร้านก็จะเริ่มตั้งแต่สี่โมงเย็นจนถึงตีหนึ่งหรือตีสาม ลูกค้าร้านต้มยำจะเป็นครอบครัวใหญ่ พาพ่อแม่ลูกหลานมานั่งทานอาหาร

ร้านต้มยำส่วนใหญ่อยู่ในรัฐที่เจริญทางเศรษฐกิจ เช่น ทางฝั่งตะวันตกมากกว่าทางฝั่งตะวันออกที่ยังคงเป็นชนบทอยู่มาก[8]

แรงงานในร้านต้มยำสงวนไว้กับคนไทยเชื้อสายมลายู พ่อครัวที่แรงงานชาติอื่นไม่สามารถปรุงอาหารไทยได้รสชาติเหมือนคนไทย และเมื่อเป็นร้านอาหารฮาลาลซึ่งบริการแก่คนมาเลเซียมุสลิม คนครัวก็ควรเป็นมุสลิม ทำให้คนไทยมุสลิมย้ายถิ่นฐานมาทำงานที่ร้านอาหารต้มยำจำนวนมาก โดยเฉพาะจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ทำให้เศรษฐกิจท้องถิ่นไม่ดี แต่การเข้าเมืองก็มักไม่มีใบอนุญาตทำงาน รวมถึงการเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย[4] หากเจ้าของกิจการเป็นคนมาเลเซีย อาจได้รับค่าจ้างสูง มีความเป็นอยู่ที่ดีกว่าร้านที่มีเจ้าของเป็นคนไทย และมักจะได้รับความช่วยเหลือในเรื่องข่าวสารการจับกุมของเจ้าหน้าที่ทางการ แต่หากเจ้าของกิจการเป็นคนไทย เมื่อมีการจับกุมจะเป็นผู้ที่มีความผิดทั้งสองฝ่าย[9]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 Suttiporn Bunmak. "Tom Yam Restaurants: An Ethnic Interplay in a Malaysian Context" (PDF).
  2. "ร้านอาหารต้มยำในประเทศมาเลเซีย".
  3. "ร้านต้มยำร้านแรกในกัวลาลัมเปอร์". เชิงอรรถปตานี.
  4. 4.0 4.1 สุทธิพร บุญมาก. "บทบาทของเครือข่ายการย้ายถิ่นของแรงงานคนไทยเชื้อสายมลายูในร้านต้มยำในประเทศมาเลเซีย". วารสารปาริชาต.
  5. Charuwan Sudaduong. "งาน เงิน และอนาคต : เหตุผลที่คน 3 จังหวัดยอมจากบ้านไปเป็น 'แรงงานต้มยำกุ้ง' ในมาเลเซีย". เดอะแมตเทอร์.
  6. ""ประชาชาติ" ส่งเสริมผู้ประกอบการร้านอาหารไทย-ต้มยำมาเลเซีย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ". สยามรัฐออนไลน์.
  7. "ชูจับคู่ธุรกิจชายแดนใต้-ร้านต้มยำมาเลย์ ส่งขายวัตถุดิบอาหาร". ศูนย์ข่าวภาคใต้.
  8. วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. "หรือเศรษฐกิจสามจังหวัดภาคใต้ฝากไว้กับ "ต้มยำกุ้ง"". มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์.
  9. "เปิดงานวิจัย ร้านต้มยำกุ้ง เข้าใจชีวิตแรงงานต่างด้าวในแดนมาเลย์". ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย.[ลิงก์เสีย]