รัสมี เวระนะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
รัสมี เวระนะ
ชื่อเกิดรัสมี เวระนะ
รู้จักในชื่อรัสมี อีสานโซล
เกิด18 สิงหาคม พ.ศ. 2526 (40 ปี)
ที่เกิดอำเภอน้ำยืน
จังหวัดอุบลราชธานี
แนวเพลงหมอลำ, โซล, ลูกทุ่ง
อาชีพนักร้อง
ช่วงปีพ.ศ. 2558–ปัจจุบัน
เว็บไซต์rasmeewayrana.com

รัสมี เวระนะ (ชื่อเล่น:แป้ง เกิด 18 สิงหาคม พ.ศ. 2526) เป็นนักร้องและนักแต่งเพลงชาวไทย มีชื่อเสียงจากการนำเพลงพื้นบ้าน , ลูกทุ่ง และหมอลำมาขับร้องในแนวดนตรีโซลและแจ๊ส นอกจากนี้บทเพลงของรัสมี เวระนะ ยังมีส่วนผสมของการใช้เครื่องดนตรีตะวันตกและดนตรีพื้นบ้าน อีกทั้งยังมีการขับร้องเป็นภาษาอีสานและภาษาเขมร โดยรัสมี เวระนะ เคยไปร้องเพลงที่ประเทศฝรั่งเศส ร่วมกับวง Limousine และมีโอกาสได้ร่วมบันทึกเสียงให้กับวง Poni Hoax วงดนตรีอิเล็กทรอนิกส์จากฝรั่งเศส

รัสมี เวระนะ มีผลงานเพลงชุดแรกชื่อ Isan Soul E.P. ซึ่งได้รับความสนใจจากการนำเพลงพื้นบ้านของภาคอีสานมาขับร้องในแนวโซล และมีการผสมผสานระหว่างเครื่องดนตรีตะวันตกและดนตรีพื้นบ้านทำให้ได้รับรางวัลคมชัดลึก อวอร์ดถึง 3 รางวัล ได้แก่ อัลบั้มยอดเยี่ยม ศิลปินยอดเยี่ยม และ เพลงยอดเยี่ยมจากเพลง มายา[1] นอกจากนี้เธอยังได้รับรางวัลสีสันอะวอร์ดส์ สาขา ศิลปินหญิงยอดเยี่ยม 2 สมัย จากอัลบั้ม อารมณ์ ในปี พ.ศ. 2560 และ ทองหล่อคาวบอย ในปี พ.ศ. 2564[2]

ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2561 หนังสือพิมพ์เดอะสเตรตส์ไทมส์ของประเทศสิงคโปร์ได้จัดให้ รัสมี เวระนะ เป็น 1 ใน 50 ชาวเอเชียที่น่าจับตามองในสาขาศิลปวัฒนธรรมและกีฬา[3] ก่อนที่ต่อมาเธอจะมีผลงานการแสดงภาพยนตร์เป็นครั้งแรกในภาพยนตร์เรื่อง ​Manta Ray -​ กระเบนราหู​ ซึ่งได้ออกฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิส​ เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2561 และได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในประเภท Orizzonti (Horizons) ซึ่งเป็นรางวัลสำหรับภาพยนตร์ที่เป็นตัวแทนสุนทรียภาพและการเล่าเรื่อง

ประวัติ[แก้]

รัสมี เวระนะ เกิดวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2526 ที่อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี มีพ่อเป็นชาวไทยเชื้อสายเขมรและเป็นครูสอนร้องเพลงเจรียง ทำให้ได้ฝึกร้องเพลงลูกทุ่งและหมอลำตั้งแต่ยังเด็ก จนจบชั้นประถมศึกษาจึงได้ไปอยู่กับวงดนตรีเดินสายร้องเพลงหมอลำตามหมู่บ้านต่างๆ

หลังจากนั้นรัสมี เวระนะ ได้ไปใช้ชีวิตอยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ และเรียนต่อสายอาชีพที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาไทยวิจิตรศิลปเชียงใหม่ จนจบปวช. ก่อนจะเรียนต่อสาขาจิตรกรรมที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (เจ็ดยอด) จนจบปริญญาตรี ช่วงที่อยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่รัสมีได้ให้ความสนใจกับดนตรีหลากหลายแนวนอกเหนือจากเพลงหมอลำและเพลงลูกทุ่ง โดยฟังเพลงโซลของนิน่า ซิโมน รวมถึงเพลงสำเนียงแอฟริกันตะวันตกของโอเมา ซ็องกาเร และเพลงแนวแอฟโรบีทของเฟล่า คูติ[4]

ในขณะที่ยังเรียนด้านจิตรกรรมที่เชียงใหม่ รัสมีได้ร้องเพลงตามโรงแรมและตามบาร์ดนตรีแจ๊ส ทำให้ได้ฟังเพลงหลากหลายแนวมากขึ้น และได้รู้จักกับนักดนตรีต่างชาติหลายราย โดยวง Limousine ที่กำลังอยู่ในช่วงทัวร์คอนเสิร์ตที่ประเทศไทย ได้ชักชวนให้ไปร้องเพลงหมอลำโดยใช้ท่วงทำนองของเพลงแจ๊ส ที่ประเทศฝรั่งเศส ก่อนที่วง Poni Hoax จะชักชวนให้ร่วมบันทึกเสียง

ผลงานเพลง[แก้]

อัลบั้ม[แก้]

  • Isan Soul E.P. (2558)
  • อารมณ์ (ธ.ค.2560)
  • Roots (2562)
  • ทองหล่อ คาวบอย (2564)

ซิงเกิ้ล[แก้]

  • ดาวดวงใหม่ (2562)
  • กลอนกล่อมเด็กกินนมแม่ (2563)
  • เดกเด้อโกน (2563)
  • อย่าถือซาเด้อ (2563)
  • แกงหน่อไม้ (2564)

ร่วมกับศิลปินอื่น[แก้]

  • เพลง Tropical Suite : Pattaya และ เพลง Lights Out ในอัลบั้ม Tropical Suite ของวง Poni Hoax (ฝรั่งเศส) - พ.ศ. 2559
  • เพลง อย่าไห้เด้ : ศรีราชา ร็อคเกอร์ - พ.ศ. 2559
  • เพลง เพื่อวันพรุ่งนี้ (ต่อลมหายใจให้โลกเรา) : ร้องร่วมกับ สุพิชา เทศดรุณ (วง Harmonica Sunrise) และ กอล์ฟ ฟักกลิ้งฮีโร่ พ.ศ. 2560
  • เพลง ​Circle : Grace Moon - พ.ศ. 2563
  • เพลง ​Choose Carefully  : Dandee - พ.ศ. 2564
  • เพลง ​ห่วงเสมอ : วงกางเกง - พ.ศ. 2565

ผลงานการแสดง[แก้]

รางวัล[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. https://www.tedxbangkok.net/video/sound-of-isan-soul-rasmee-wayrana/
  2. https://www.khaosod.co.th/entertainment/news_980933
  3. https://www.khaosod.co.th/newspaper-column/people/news_1120280
  4. หมอลำจีเนียส!! “รัสมี เวระนะ” ฟังเธอร้องลำ แล้วคุณจะหลงรัก
  5. https://www.siamzone.com/movie/news/7537
  6. https://www.siamzone.com/movie/news/7537
  7. https://www.siamzone.com/movie/news/7537