พอล นิวแมน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พอล นิวแมน
นิวแมนในปี ค.ศ. 1958
เกิดพอล เลินนาร์ด นิวแมน
26 มกราคม ค.ศ. 1925(1925-01-26)
เชกเกอร์ไฮส์ รัฐโอไฮโอ สหรัฐ
เสียชีวิต26 กันยายน ค.ศ. 2008(2008-09-26) (83 ปี)
เวสต์พอร์ต รัฐคอนเนทิคัต
การศึกษาวิทยาลัยเคนยอน (ศิลปศาสตรบัณฑิต)
มหาวิทยาลัยเยล
อาชีพนักแสดง ผู้กำกับภาพยนตร์ ผู้อำนวยการสร้าง นักแข่งรถ นักธุรกิจ
คู่สมรสแจ็กกี วิตต์ (สมรส 1949; หย่า 1958)
โจแอนน์ วูดเวิร์ด (สมรส 1958)
บุตร6; รวมถึง สก็อตต์, เนลล์ และ เมลิสซา นิวแมน

พอล เลินนาร์ด นิวแมน (อังกฤษ: Paul Leonard Newman; 26 มกราคม ค.ศ. 1925 – 26 กันยายน ค.ศ. 2008) เป็นนักแสดง ผู้กำกับภาพยนตร์ ผู้อำนวยการสร้าง นักแข่งรถ นักธุรกิจ และนักการกุศลชาวอเมริกัน ผู้ชนะเลิศรางวัลออสการ์ รางวัลบาฟต้า รางวัลการแสดง และรางวัลเกียรติยศอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังเป็นนักแข่งรถ เคยเข้าร่วมแข่งขันรถทางไกล เลอมังส์ 24 ชั่วโมง ได้ตำแหน่งที่สอง ในปี ค.ศ. 1979

ผลงานสร้างชื่อที่สุดของนิวแมน คือ ภาพยนตร์ตะวันตกเรื่อง Butch Cassidy and the Sundance Kid (1969) ที่แสดงคู่กับ โรเบิร์ต เรดฟอร์ด และมีผลงานร่วมกันอีกครั้งในปี ค.ศ. 1973 ใน The Sting ซึ่งชนะรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ต่อมานิวแมนได้รับรางวัลออสการ์ สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจากการแสดงในภาพยนตร์ดราม่าเรื่อง The Color of Money (1986)

นิวแมนยังเป็นนักธุรกิจผู้ก่อตั้งผลิตภัณฑ์อาหาร ชื่อ Newman's Own ในปี ค.ศ. 1982 ผลิตภัณฑ์มีชื่อคือ น้ำสลัด และน้ำผลไม้ โดยนิวแมนได้อุทิศผลกำไรในส่วนของเขาทั้งหมด ให้กับการศึกษา และองค์กรการกุศล[1] โดยปี ค.ศ. 2014 มูลค่าของผลกำไรที่อุทิศให้ทั้งหมดรวมกันแล้ว เกินกว่า 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 14,400 ล้านบาท)[1]

นิวแมนเสียชีวิตที่บ้านพักในรัฐคอนเนทิคัต เมื่อวันที่ 26 กันยายน ค.ศ. 2008 ด้วยโรคมะเร็งปอด

ประวัติ[แก้]

นิวแมน เกิดที่เชกเกอร์ไฮส์ รัฐโอไฮโอ เป็นบุตรชายของเธเรซา และอาร์เธอร์ ซามูเอล นิวแมน เขาเข้ารับใช้ชาติในกองทัพเมื่อช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาเข้าศึกษาที่วิทยาลัยเคนยอน ในรัฐโอไฮโอ โดยได้รับทุนเป็นนักกีฬาอเมริกันฟุตบอลของมหาวิทยาลัย แต่เขาถูกตัดออกจากทีมเนื่องจากการทะเลาะวิวาท ต่อมาพ่อของเขาเสียชีวิตจึงต้องรับช่วงต่อทางด้านธุรกิจธุรกิจร้านขายเครื่องกีฬา หลังจากนั้นเขาศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเยล

เขาเข้ามาอยู่ที่นิวยอร์ก เริ่มมีผลงานทางโทรทัศน์และแสดงละครบรอดเวย์ เรื่อง Picnic ในปี ค.ศ. 1953 เขามีผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกคือ Somebody Up There Likes Me รับบทเป็น นักมวย ร็อคกี้ กราเซีย

เขามีผลงานสร้างชื่อจากภาพยนตร์ตะวันตกเรื่อง Butch Cassidy and the Sundance Kid (1969) แสดงร่วมกับ โรเบิร์ต เรดฟอร์ด นิวแมนได้ร่วมงานกับผู้กำกับคนดังมากมาย เช่น อัลเฟรด ฮิตช์ค็อก, โรเบิร์ต อัลต์แมน, มาร์ติน สกอร์เซซี และพี่น้องโคเอน เขาได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ถึง 10 ครั้ง และได้รับรางวัลออสการ์ สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม จากเรื่อง The Color of Money ที่แสดงคู่กับ ทอม ครูซ [2]

ผลงานภาพยนตร์ชิ้นสุดท้ายของนิวแมน เป็นภาพยนตร์แอนิเมชันของค่ายพิกซาร์เรื่อง 4 ล้อซิ่ง...ซ่าท้าโลก (2006) ที่เขาพากษ์เสียงเป็น ด็อค ฮัดสัน เขาเสียชีวิตอย่างสงบท่ามกลางสมาชิกครอบครัวที่บ้านพักในรัฐคอนเนทิคัต เมื่อวันที่ 26 กันยายน ค.ศ. 2008 ด้วยโรคมะเร็งปอด

ชีวิตส่วนตัว[แก้]

นิวแมนแต่งงาน 2 ครั้ง ครั้งแรกกับแจ็กกี วิตต์ ใช้ชีวิตตั้งแต่ปี 1949-1958 มีบุตรชายชื่อสก็อตต์ (1950) และลูกสาวสองคนชื่อ ซูซาน เคนดัลล์ (1953) และสเตฟานีย์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1975 สก็อตต์ นิวแมนเสียชีวิตจากการเสพยาเกินขนาด[3]

หลังหย่าขาดกับภรรยาคนแรก ในปีเดียวกันนิวแมนแต่งงานอีกครั้งกับนักแสดง โจแอนน์ วูดเวิร์ด เมื่อ 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1958[4] และใช้ชีวิตด้วยกันตลอด 50 ปี กระทั่งนิวแมนเสียชีวิต ในปี ค.ศ. 2008 ทั้งคู่มีบุตรสาวด้วยกัน 3 คนคือ เอลินอร์ "เนลล์" เทเรซา (1959), เมลิสซา "ลิสซี" สจ๊วต (1961) และแคลร์ "เคลีย" โอลิเวีย (1965)

เขาประสบความสำเร็จในการเป็นนักแข่งรถ และเป็นนักธุรกิจเจ้าของผลิตภัณฑ์อาหารที่ใช้ชื่อของตัวเองคือ Newman's Own

งานการกุศล[แก้]

นิวแมนได้จัดตั้งบริษัทขายอาหาร กับเพื่อนนักเขียนหนังสือคนหนึ่งในปี ค.ศ. 1982 ซึ่งเริ่มขายน้ำสลัด แล้วขยายไปขายน้ำพาสตา น้ำมะนาว ข้าวโพดคั่ว ซอสซัลซา และไวน์ เป็นต้น เขาตั้งนโยบายที่จะอุทิศรายได้ทั้งหมดหลังเก็บภาษีแล้วให้กับการกุศล โดยปี ค.ศ. 2014 มูลค่าของผลกำไรที่อุทิศให้ทั้งหมดรวมกันแล้ว เกินกว่า 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 14,400 ล้านบาท)[1] เขาและเพื่อนผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทได้ร่วมกันเขียนหนังสือบันทึกความจำชื่อว่า Shameless Exploitation in Pursuit of the Common Good (การแสวงหาผลประโยชน์อย่างไม่ละอายเพื่อประโยชน์สาธารณะ) บริษัทได้ตั้งหรือร่วมตั้งรางวัลต่างๆ มากมาย รวมทั้ง "PEN/Newman's Own First Amendment Award (รางวัลกฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญข้อที่ 1)" ซึ่งเป็นรางวัลมูลค่า 25,000 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 9 แสนบาท) เพื่อยกย่องบุคคลที่ปกป้องกฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญข้อที่ 1 ของสหรัฐอเมริกา (เป็นกฎหมายป้องกันการนับถือศาสนา เสรีภาพในการพูด เสรีภาพด้านข้อมูลข่าวสาร เสรีภาพการชุมนุมอย่างสันติ เป็นต้น)[5]

องค์กรที่ได้ประโยชน์จากงานการกุศลของนิวแมนรวมถึง Hole in the Wall Gang Camp ซึ่งเป็นค่ายฤดูร้อนสำหรับเด็กๆ ที่ป่วยหนักในเมือง Ashford รัฐคอนเนทิคัต เป็นค่ายที่นิวแมนช่วยก่อตั้งในปี ค.ศ. 1988 โดยตั้งชื่อตามแก๊งโจรในภาพยนตร์ Butch Cassidy and the Sundance Kid ที่เขาเคยแสดง ต่อมาในปี ค.ศ. 1995 กลุ่มภารดรภาพของนิวแมนสมัยเรียนมหาวิทยาลัย ได้รับค่ายนี้เป็นงานการกุศลประจำชาติของกลุ่มสมาคม และค่ายได้ขยายสาขาไปทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกา ไอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และอิสราเอล ซึ่งบริการเด็กๆ กว่า 13,000 คนในแต่ละปี โดยเด็กไม่เสียค่าใช้จ่าย[1]

ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1999 นิวแมนบริจาคเงิน 250,000 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 9 ล้านบาท) ให้กับองค์กร Catholic Relief Services (บริการช่วยเหลือของชาวคาทอลิก) เพื่อช่วยผู้อพยพลี้ภัยสงครามในประเทศคอซอวอ โดยไม่กีดกันเชื้อชาติศาสนา[6]

ในวันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ. 2007 วิทยาลัยเคนยอนในรัฐโอไฮโอประกาศว่า นิวแมนได้บริจาคเงิน 10 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 360 ล้านบาท) ให้กับวิทยาลัยเพื่อตั้งกองทุนการศึกษา[7]

นิวแมนเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Committee Encouraging Corporate Philanthropy (คณะกรรมาธิการสนับสนุนการกุศลบริษัท ตัวย่อ CECP) ซึ่งเป็นองค์กรสมาชิกของกรรมการผู้จัดการและประธานบริษัท ที่อุทิศตนเพื่อเพิ่มระดับและคุณภาพของงานการกุศลที่ทำโดยบริษัทต่างๆ ทั่วโลก เป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นโดยนิวแมนและกรรมการผู้จัดการชั้นแนวหน้าอื่น ๆ ใน ปี ค.ศ. 1999 หลังจากนั้น CECP ก็ได้ขยายตัวจนมีสมาชิกกว่า 175 คน[8]

ในปี ค.ศ. 2008 เว็บไซต์ Givingback.org ยกย่องนิวแมนว่าเป็นผู้มีชื่อเสียงที่ใจดีที่สุด (Most Generous Celebrity) เพราะได้บริจาคเงิน 20,857,000 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 751 ล้านบาท) แก่ Newman's Own Foundation ซึ่งบริจาคเงินให้กับองค์กรการกุศลอื่น ๆ ต่อ[9]

เมื่อนิวแมนเสียชีวิต หนังสือพิมพ์อิตาลี (หนังสือพิมพ์ "กึ่งทางการ" ของสันตะสำนัก) L'Osservatore Romano พิมพ์บทความยกย่องงานการกุศลของนิวแมน และให้ความเห็นว่า "นิวแมนเป็นคนมีจิตใจดี เป็นนักแสดงที่มีเกียรติและสไตล์ ที่มีน้อยในชุมชนคนฮอลลีวูด"[10]

นิวแมนได้รับการยกย่องว่าทำงานอนุรักษ์พื้นที่ธรรมชาติต่างๆ ในเมือง Westport รัฐคอนเนทิคัต โดย ในปี ค.ศ. 2011 ได้ผลักดันให้ผู้ว่าการรัฐคอนเนทิคัต สนับสนุนทางการเงินแก่องค์กร Aspetuck Land Trust ที่มีจุดมุ่งหมายรักษาพื้นที่ที่รับมอบหมายให้ดำรงสภาพตามธรรมชาติ ในหลายเขตเมืองในรัฐคอนเนทิคัต[11] และในปีเดียวกัน ก็ได้บริจาคที่ดินให้กับองค์กรเพื่อบริหารตามเป้าหมาย[12]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 "Newman's Own Foundation - More than $350 Million Donated Around the World". newmansownfoundation.org.
  2. ""พอล นิวแมน" นักแสดงดังเสียชีวิตแล้วด้วยโรคมะเร็ง". ผู้จัดการออนไลน์. 28 กันยายน 2551. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-11-01. สืบค้นเมื่อ 2008-09-29.
  3. Clark, Hunter S. People เก็บถาวร 2009-12-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Time magazine. February 17, 1986.
  4. "Remembering Paul Newman." เก็บถาวร 2016-04-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน People. September 27, 2008.
  5. "Paul Newman says he will die at home". Herald Sun. 2008-08-09. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-09-04. สืบค้นเมื่อ 2015-07-07.
  6. "Paul Newman Philanthropy". 2011-11-14. สืบค้นเมื่อ 2011-11-14.
  7. "Paul Newman donates $10 mln to Kenyon College". Reuters. 2007-06-02. สืบค้นเมื่อ 2007-06-04.
  8. "CECP - Committee Encouraging Corporate Philanthropy". Corporatephilanthropy.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-01-10. สืบค้นเมื่อ 2010-03-10.
  9. "The Giving Back 30". The Giving Back Fund. 2009-11-01. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-11-09. สืบค้นเมื่อ 2009-11-04.
  10. Pattison, Mark (2008-09-30). "Catholic film critics laud actor Paul Newman's career, generosity". Catholic News Service. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-03-07. สืบค้นเมื่อ 2010-04-11.
  11. Christopher Brooks; Catherine Brooks (2011-04-22). 60 Hiles Within 60 Miles: New York City. ReadHowYouWant.com. pp. 620–621. ISBN 978-1-4596-1793-3. สืบค้นเมื่อ 2013-02-19.
  12. Hennessy, Christina (2011-10-20). "Sightseeing: Newman Poses Nature Preserve may have marquee name, but nature is the star". The Stamford Advocate. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-06-27. สืบค้นเมื่อ 2012-09-16.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]