พลิมัท (มอนต์เซอร์รัต)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พลิมัท
เมืองร้าง
Plymouth
พลิมัท ที่ถูกปล่อยปละละเลยในปี พ.ศ. 2540 เนื่องจากการระเบิดของภูเขาไฟ
พลิมัท ที่ถูกปล่อยปละละเลยในปี พ.ศ. 2540 เนื่องจากการระเบิดของภูเขาไฟ
สถานที่ตั้งของพลิมัท ในมอนต์เซอร์รัต
สถานที่ตั้งของพลิมัท ในมอนต์เซอร์รัต
พิกัด: 16°42′23″N 62°12′57″W / 16.706417°N 62.215839°W / 16.706417; -62.215839พิกัดภูมิศาสตร์: 16°42′23″N 62°12′57″W / 16.706417°N 62.215839°W / 16.706417; -62.215839
ประเทศ บริเตนใหญ่
ดินแดนโพ้นทะเลของบริเตน มอนต์เซอร์รัต
ประชากร
 (2550) (เมืองถูกทิ้งร้างโดยสิ้นเชิงจากการปะทุของภูเขาไฟ)
 • ทั้งหมด0 คน
เขตเวลาUTC−4 (แอตแลนติก)

พลิมัท (อังกฤษ: Plymouth) เป็นเมืองร้างบนเกาะมอนต์เซอร์รัตซึ่งเป็นดินแดนโพ้นทะเลของสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะลีเวิร์ดของเลสเซอร์แอนทิลลีส ในทะเลแคริบเบียน

ตั้งขึ้นบนแหล่งทับถมลาวาในอดีตใกล้กับภูเขาไฟซูฟริแยร์ฮิลล์ (Soufrière Hills) ที่ไม่มีการปะทุมานาน เมืองนี้ต้องถูกอพยพในปี พ.ศ. 2538 เมื่อภูเขาไฟกลับมาปะทุ ในที่สุดพลิมัทก็ถูกทิ้งอย่างถาวรในปี พ.ศ. 2540 หลังจากที่เมืองถูกไฟไหม้อย่างมาก และส่วนใหญ่ถูกฝังโดยกระแสตะกอนภูเขาไฟ (pyroclastic flow) และ ดินไหล (lahar) ในหลายศตวรรษที่ผ่านมาที่นี่เป็นท่าเรือเพียงแห่งเดียวในการเข้าสู่เกาะ พลิมัทยังคงเป็นเมืองหลวงทางนิตินัยของมอนต์เซอร์รัต ทำให้เป็นเมืองร้างแห่งเดียวที่ทำหน้าที่เป็นเมืองหลวงของดินแดนทางการเมือง[1] โดยศูนย์กลางการบริหารย้ายไปตั้งอยู่ที่หมู่บ้านเบรดส์ทางตอนเหนือของเกาะ

ประวัติศาสตร์[แก้]

โบสถ์เซนต์แอนโทนี[แก้]

หลังจากการก่อตั้งอาณานิคมแห่งแรกของยุโรปบนเกาะมอนต์เซอร์รัตในปี ค.ศ. 1632 โบสถ์เซนต์แอนโทนีได้รับการจัดตั้งขึ้นในพลิมัทในปี ค.ศ. 1636[2] แม้ว่าเซนต์แอนโทนีจะเป็นนักบุญในศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก แต่เชื่อกันว่าข้าหลวงแอนโทนี บริสเก็ต ซึ่งเดินทางไปอังกฤษเพื่อหาเงินทุนมาสร้างโบสถ์แห่งนี้ ได้ตั้งชื่อโบสถ์ตามชื่อของเขา[3] โบสถ์ต้องสร้างใหม่หลายครั้งตลอดประวัติศาสตร์ เนื่องจากความเสียหายจากแผ่นดินไหว และเฮอริเคน[4]

เฮอริเคนฮิวโก[แก้]

มอนต์เซอร์รัตถูกพายุเฮอริเคนฮิวโกถล่ม เมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2532 พายุเฮอริเคนได้ทำลายเขื่อนกันคลื่นหินยาว 180 ฟุตในท่าเรือของพลิมัท[5] อาคารอื่น ๆ อีกมากมายรวมทั้ง โรงเรียน, สถานีอนามัย และอาคารโรงพยาบาลกลางที่เพิ่งสร้างเสร็จไม่สามารถใช้งานได้จากความเสียหายจากพายุ เนื่องจากโรงพยาบาลแห่งนี้เป็นเพียงแห่งเดียวบนเกาะ และมีความเสียหายมากจนต้องย้ายผู้ป่วยทั้งหมด การสำรวจโดยวิศวกรจากสำนักงานจัดการเหตุฉุกเฉินแห่งชาติของตรินิแดดและโตเบโกได้สรุปว่า โรงพยาบาลควรได้รับการออกแบบใหม่ เพื่อให้แน่ใจว่าโครงสร้างแข็งแรงสามารถทนต่อพายุในอนาคตได้[6]

ภูเขาไฟและการอพยพ[แก้]

กระแสตะกอนภูเขาไฟได้เผาไหม้สิ่งที่ยังไม่ได้ปกคลุมด้วยเถ้าถ่าน (12 กรกฎาคม พ.ศ. 2540)
เถ้ากองสูงเท่าโคมไฟถนนในเมืองพลิมัท (พ.ศ. 2542)

ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2538 การปะทุครั้งใหญ่ที่ภูเขาไฟซูฟริแยร์ฮิลล์ (Soufrière Hills) ซึ่งไม่มีการปะทุมานานหลายศตวรรษส่งให้เกิดการไหลของตะกอนภูเขาไฟ (pyroclastic flow) และขี้เถ้าตกลงไปทั่วพื้นที่กว้างทางตอนใต้ของมอนต์เซอร์รัตรวมถึงเมืองหลวงพลิมัท เห็นได้ชัดในทันทีว่าเมืองนี้ตกอยู่ในอันตรายอย่างร้ายแรง เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2538 ภูเขาไฟได้พ่นเศษหิน (tephra) ตกลงมาในพลิมัท และในเดือนธันวาคมผู้อยู่อาศัยถูกอพยพเพื่อความไม่ประมาท

ผู้อยู่อาศัยได้รับอนุญาตให้กลับมาในอีกไม่กี่เดือนต่อมา แต่ในวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2540 การปะทุครั้งใหญ่อีกครั้งทำให้เกิดการไหลเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของตะกอนภูเขาไฟซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 19 คน และไหลไปเกือบถึงสนามบินซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของเกาะ ผู้อาศัยในพลิมัทถูกอพยพอีกครั้ง

ระหว่างวันที่ 4–8 สิงหาคม พ.ศ. 2540 การปะทุครั้งใหญ่เป็นชุดได้ทำลายประมาณ 80% ของเมืองโดยฝังไว้ใต้เถ้าสูง 1.4 เมตร (4.6 ฟุต) วัสดุที่ร้อนจัดนี้ได้เผาอาคารหลายหลัง ทำให้แทบเป็นไปไม่ได้ที่จะอยู่อาศัยสำหรับชาวเมืองส่วนใหญ่

การไหลของกระแสตะกอนภูเขาไฟ (pyroclastic flow), ลาวา, เถ้า และหินภูเขาไฟอื่น ๆ ส่วนใหญ่อัดแน่นโดยมีความหนาแน่นใกล้เคียงกับคอนกรีต การกำจัดภาระที่ล้นเกินจะต้องใช้วัตถุระเบิด, รถปราบดิน และทรัพยากรอื่น ๆ ที่มีราคาแพงเกินไปสำหรับการใช้งานอย่างกว้างขวาง คาดว่าดินใต้โคลนแข็งและลาวาน่าจะไหม้เกรียมและไม่สามารถเพาะปลูกได้อย่างสมบูรณ์ จากความร้อนที่รุนแรงของการไหลของกระแสตะกอนภูเขาไฟ

รัฐบาลสั่งอพยพเมืองพลิมัทโดยกองทัพเรืออังกฤษให้ความช่วยเหลือโดยพาประชาชนไปยังที่ปลอดภัย ครึ่งทางใต้ของเกาะได้รับการประกาศให้เป็นเขตที่กันออกไป (exclusion zone)[7] เนื่องจากมีการระเบิดของภูเขาไฟที่ซูฟริแยร์ฮิลล์ (Soufrière Hills) อย่างต่อเนื่อง รัฐบาลของเกาะถูกย้ายไปทางเหนือไปยังหมู่บ้านเบรดส์ (Brades) แม้ว่าพลิมัทจะยังคงเป็นเมืองหลวงทางนิตินัย ในปี พ.ศ. 2556 ท่าเรือและเมืองหลวงแห่งใหม่อยู่ระหว่างการก่อสร้างที่ลิตเติลเบย์ (Little Bay) บนชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะ

การถูกทำลายล้างทั้งหมดของพลิมัท ทำให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงสำหรับเกาะมอนต์เซอร์รัต พลิมัทเคยเป็นที่ตั้งถิ่นฐานที่ใหญ่ที่สุดบนเกาะโดยมีประชากรประมาณ 4,000 คน และด้วยเหตุนี้จึงเคยเป็นที่ตั้งของร้านค้าและบริการเกือบทั้งหมดของเกาะ นอกจากนี้ยังเคยเป็นที่ตั้งของรัฐบาล สิ่งอำนวยความสะดวกที่สูญหายบางส่วนถูกสร้างขึ้นใหม่ในเวลาต่อมา ในที่อื่นของมอนต์เซอร์รัต แต่สิ่งนี้ไม่ได้ป้องกันการอพยพ ระหว่างปี พ.ศ. 2538 ถึง 2543 ประชากร 2/3 ของทั้งเกาะถูกบังคับให้อพยพ โดยหลายคนตั้งรกรากอยู่ในสหราชอาณาจักร โดยในปี พ.ศ. 2540 เหลือน้อยกว่า 1,200 คนที่ยังอาศัยอยู่บนเกาะ จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 5,000 คนในปี พ.ศ. 2559

ภูมิศาสตร์[แก้]

พลิมัท ตั้งอยู่บนเนินทางตะวันตกเฉียงใต้ตอนล่างของภูเขาไฟซูฟริแยร์ฮิลล์ (Soufrière Hills) อยู่ในเขตที่กันออกไปเนื่องจากภูเขาไฟ ซึ่งถือว่าไม่สามารถอยู่อาศัยได้ทั้งหมด

ภูมิอากาศ[แก้]

ข้อมูลภูมิอากาศของพลิมัท
เดือน ม.ค. ก.พ. มี.ค. เม.ย. พ.ค. มิ.ย. ก.ค. ส.ค. ก.ย. ต.ค. พ.ย. ธ.ค. ทั้งปี
อุณหภูมิสูงสุดที่เคยบันทึก °C (°F) 32
(90)
33
(91)
34
(93)
34
(93)
36
(97)
37
(99)
37
(99)
37
(99)
36
(97)
34
(93)
37
(99)
33
(91)
37
(99)
อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย °C (°F) 28
(82)
33
(91)
29
(84)
30
(86)
31
(88)
31
(88)
31
(88)
31
(88)
32
(90)
31
(88)
29
(84)
28
(82)
30
(86)
อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย °C (°F) 21
(70)
21
(70)
21
(70)
22
(72)
23
(73)
24
(75)
24
(75)
24
(75)
23
(73)
23
(73)
23
(73)
22
(72)
23
(73)
อุณหภูมิต่ำสุดที่เคยบันทึก °C (°F) 17
(63)
17
(63)
17
(63)
17
(63)
19
(66)
19
(66)
21
(70)
21
(70)
19
(66)
19
(66)
15
(59)
18
(64)
15
(59)
หยาดน้ำฟ้า มม (นิ้ว) 122
(4.8)
86
(3.39)
112
(4.41)
89
(3.5)
97
(3.82)
112
(4.41)
155
(6.1)
183
(7.2)
168
(6.61)
196
(7.72)
180
(7.09)
140
(5.51)
1,640
(64.57)
แหล่งที่มา: BBC Weather [8]

การคมนาคม[แก้]

ท่าอากาศยานวิลเลียม เฮนรี แบรมเบิล (W. H. Bramble) ที่ให้บริการแก่พลิมัท ถูกปิดลงอย่างสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2540 และถูกทำลายในเวลาต่อมาเนื่องจากถูกฝังในเถ้าภูเขาไฟ ท่าอากาศยานจอห์น อัลเฟรด ออสบอร์น (John A. Osborne) แห่งใหม่ เปิดให้บริการใกล้กับหมู่บ้านเบรดส์ (Brades)

ท่าเรือพลิมัทได้รับอนุญาตให้เปิดใช้อีกครั้งในปี พ.ศ. 2555 สำหรับการส่งออกทรายโดยผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาต[9]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Central America :: Montserrat". cia.gov. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-04. สืบค้นเมื่อ September 26, 2020.
  2. "Montserrat's Archaeology and History" Retrieved October 12, 2019.
  3. "Montserrat History" Retrieved October 12, 2019.
  4. "Visit Montserrat" Retrieved October 12, 2019.
  5. "Montserrat History" Retrieved October 13, 2019.
  6. "Hurricane Hugo; A Survey of Damage in Montserrat and Antigua"[ลิงก์เสีย] M.W. Chin & W.H.E. Suite, National Emergency Management Agency of Trinidad and Tobago. February 19, 1990.
  7. "No unauthorised entry into Plymouth says Governor Davis". Government of Montserrat. June 21, 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 20, 2016.
  8. "Average Conditions Plymouth, Montserrat". BBC Weather. สืบค้นเมื่อ July 14, 2010.
  9. "Plymouth Port back in operation after 15-year pause". Government of Montserrat. February 27, 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 20, 2016.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]