พระแก้วบุษราคัม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระแก้วบุษราคัม
ชื่อเต็มพระแก้วบุษราคัม
ชื่อสามัญพระแก้วบุษราคัม
ประเภทพระพุทธรูป
ศิลปะปางมารวิชัย
ความกว้าง3 นิ้ว
ความสูง4 นิ้ว
วัสดุแก้วสีน้ำผึ้ง (สีเหลือง)
สถานที่ประดิษฐานวัดศรีอุบลรัตนาราม (วัดศรีทอง) จังหวัดอุบลราชธานี
ความสำคัญพระพุทธรูปสำคัญประจำจังหวัดอุบลราชธานี
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

พระแก้วบุษราคัม เป็นพระพุทธรูปโบราณอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 22 - 23 ปางมารวิชัย สร้างด้วยแก้วสีน้ำผึ้ง (สีเหลือง) หน้าตักกว้าง 3 นิ้ว สูง 4 นิ้ว เป็นพระพุทธรูปสำคัญประจำจังหวัดอุบลราชธานี

ประวัติ[แก้]

ตามตำนานกล่าวว่าพระแก้วบุษราคัมเป็นสมบัติของเจ้าอุปราชนอง เจ้าเมืองนครเขื่อนขัณท์กาบแก้วบัวบาน (หนองบัวลำภู)ซึ่งเป็นโอรสของแสนทิพย์นาบัว และเป็นปฐมราชวงศ์แสนทิพย์นาบัว และได้ตกทอดมาถึงรุ่นพระตาผู้เป็นโอรสของเจ้าอุปราชนอง ต่อมาในปีพ.ศ. 2314 นครเขื่อนขัณท์กาบแก้วบัวบาน ถูกพระเจ้าสิริบุญสารแห่งเวียงจันทน์ยกทัพต่อตี พระเจ้าตาถึงแก่อสัญกรรมในสนามรบ บุตรชายคือ พระวอ (พระวรราชภักดี) ท้าวคำผง (พระปทุมวรราชสุริยวงศ์) ท้าวฝ่ายหน้า ท้าวทิดพรหม ท้าวคำโส ท้าวคำสู ท้าวคำขุย จึงหนีศึกมาสร้างบ้านแปงเมืองที่บ้านดอนมดแดง จังหวัดอุบลราชธานี และได้อัญเชิญพระแก้วบุษราคัมมาด้วย

เมื่อเจ้าพระวอผู้พี่ชายถึงแก่อสัญกรรมไปแล้ว ท้าวคำผง (พระปทุมวรราชสุริยวงศ์) สร้างวัดหลวงขึ้นเป็นวัดแรกนั้นก็ได้สร้างหอพระแก้วไว้ประดิษฐานพระแก้วบุษราคัม

ในสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ได้สั่งข้าหลวงมากำกับดูแลตามหัวเมือง ทำให้ราชบุตรหนูคำ เจ้าเมืองสมัยนั้นเกรงว่าข้าหลวงจะแสวงหาสมบัติเมืองไปเป็นของตน จึงนำพระแก้วออกจากวัดหลวงไปซ่อนไว้ที่บ้านวังกางฮุง

กระทั่งอุปราชโท (ต้นตระกูล ณ อุบล) สร้างวัดศรีทอง (ปัจจุบันคือวัดศรีอุบลรัตนาราม) ขึ้น จึงอัญเชิญพระแก้วบุษราคัมมาประดิษฐานไว้ที่วัดศรีอุบลรัตนารามจวบจนทุกวันนี้ ในยามปกติพระแก้วบุษราคัมจะประดิษฐานไว้ในตู้แก้วในพระอุโบสถเท่านั้น แต่ในเทศกาลสงกรานต์ ทางวัดจะอัญเชิญลงมาให้ประชาชนได้สรงน้ำกัน

อ้างอิง[แก้]