พจนานุกรมคำใหม่

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หน้าปกพจนานุกรมคำใหม่ เล่ม 1 ฉบับราชบัณฑิตยสถาน

พจนานุกรมคำใหม่ เป็นพจนานุกรมภาษาไทยที่ราชบัณฑิตยสถานเรียบเรียงขึ้น มีเนื้อหารวบรวมและให้นิยามคำไทยต่าง ๆ ที่ไม่ปรากฏใน[พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (พ.ศ. 2542)โดยมักเป็นคำตลาด เช่น ศัพท์วัยรุ่นและสแลง ตลอดจนคำที่มีความหมายต่างจากในพจนานุกรมดังกล่าวด้วย

ราชบัณฑิตยสถานตั้งคณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมนี้เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2548 มีเป้าหมายจะเผยแพร่พจนานุกรมคำใหม่ทุก ๆ สองปี ฉบับแรกสุดประกอบด้วยคำที่เกิดขึ้นใหม่ในช่วงปี 2542-2550 ประมาณหนึ่งพันคำ เผยแพร่เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2550 จำนวนหนึ่งหมื่นเล่ม ส่วนหนึ่งแจกให้สถานศึกษาเปล่า

คำใหม่ที่ราชบัณฑิตยสถานเผยแพร่แล้ว มีดังนี้เป็นต้น กิ๊ก, เกมโชว์, เด็กแว้น, นังกอ, เก็บดอกไม้, อริยะขัดขืน, แอ๊บแบ๊ว ฯลฯ

ขอบเขตการเก็บคำใหม่ตามลักษณะต่าง ๆ สิบกลุ่ม[แก้]

  1. คำที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น เนติบริกร, เคลียร์พื้นที่, เคลียร์หนี้, เคลียร์ปัญหา, ไข้หวัดนก, อัลไซเมอร์
  2. คำที่มีอยู่แล้วแต่มีการใช้ความหมายใหม่ เช่น งาบ, จอด, จิก, เด้ง, แห้ว, กลับลำ, จัดฉาก, โค้งสุดท้าย, เว้นวรรค
  3. คำเดิมที่มีการขยายคำใหม่ เช่น เมา - เมาปลิ้น; กรี๊ด - กรี๊ดสลบ; ดัน-ป๋าดัน, เจ๊ดัน; แหง - แหงแก๋; เด็ก - เด็กฝาก, เด็กแนว
  4. คำที่พจนานุกรมเก็บไว้แล้ว แต่ขาดตัวอย่างการใช้ ซึ่งทำให้เข้าใจความหมายไม่ชัดเจนพอ ก็จะเพิ่มตัวอย่างให้เห็นวิธีการใช้ เช่น ขึ้นครู
  5. เป็นสำนวนหรือวิธีการเปรียบเทียบที่ยังไม่ได้เก็บไว้ เช่น ล้วงลูก, สะกิดต่อมฮา, ลมบ่จอย, ขายขนมจีบ, ขานรับนโยบาย, กลืนเลือด, วางหาบ
  6. สำนวน ที่มีความหมายใหม่ เช่น เจ้าโลก, เจ้าจำปี, เด็ก ๆ, แมงปอ, อวบอัด, ไม้ป่าเดียวกัน, ไม้ประดับ, เอกซเรย์
  7. เป็นคำเลียนเสียง คำแสดงท่าทาง หรือแสดงอารมณ์ เช่น หวือหวา, แหล็น, แพล็ม, อึมครึม, อึ้มทึ่ง
  8. คำภาษาต่างประเทศที่ใช้กันมาก เช่น เม้าส์, คีย์ข้อมูล, อีคิว, อีเมล; คำที่ยืมมาจากภาษาจีน เช่น โละ, เทียวไล้เทียวขื่อ, จุ๊ง, ล่องจุ๊น, ซือแป๋
  9. เป็นคำเก่า คำธรรมดา แต่หลุดหลงไปไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับ พ.ศ. 2542 เช่น กันเหนียว, ข้ามชาติ, ให้ทาง, หืดขึ้นคอ, เสือปืนไว
  10. เป็นคำวัยรุ่น คำภาษาปาก ซึ่งมีความหมายและที่มาจากที่ต่าง ๆ เช่น ปิ๊ง, วีน, เว่อร์, ชิวชิว, โป๊ะเชะ, เฝ่ย, นิ้ง, ตึ๋งหนืด, ตึ้บ, แอ๊บแบ๊ว, จุ๊บุจุ๊บุ, ชิมิ

การวิพากษ์วิจารณ์[แก้]

วิรุณ ตั้งเจริญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิพากษ์วิจารณ์พจนานุกรมคำใหม่ว่า อธิบายความหมายไม่ตรงกับความหมายที่แท้จริงของวัยรุ่น เนื่องจากช่วงอายุที่ต่างกันของราชบัณฑิตกับวัยรุ่น[1]

ส่วนไพฑูรย์ สินลารัตน์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ วิจารณ์ว่า คำมักเปลี่ยนแปลงได้ง่ายและบ่อย ไม่ควรรวบรวมไว้[1]

อ้างอิง[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]