ผู้ใช้:The great emperror/กระบะทราย-กาฬเทวิลดาบส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
"กาฬเทวิลดาบส"
ซิงเกิลโดยเพลิน พรหมแดน
จากอัลบั้มพระพุทธประวัติ
วางจำหน่ายค.ศ. 2013 (2013)
ความยาว5:56
ผู้ประพันธ์เพลงสมส่วน พรหมสว่าง
ลำดับซิงเกิลของเพลิน พรหมแดน
"ความอัศจรรย์วันประสูติ"
(2013)
"กาฬเทวิลดาบส"
(160)
"ถวายพระนาม"
(2013)

กาลเทวิลดาบส เป็นเพลงลำดับที่ห้าของเพลงพระพุทธประวัติ ประพันธ์เนื้อเพลง/ เรียบเรียงโดย สมส่วน พรหมสว่าง ขับร้องโดย เพลิน พรหมแดน เพลงนี้มีเนื้อหากล่าวถึงการเดินทางมาเยี่ยมพระเจ้าสุทโธทนะ และคำทำนายลักษณะของพระโพธิสัตว์ของกาฬเทวิลดาบส (หรือในตำราบางแห่งเรียกว่า อสิตมุนี) เพลงนี้มีความยาว 5 นาที 56 วินาที

เนื้อเพลง[แก้]

  • จะกล่าวถึงดาบสนาม "กาฬเทวิล"

ในแดนดินมีฤทธิ์เลื่องลือชา

บำเพ็ญพรต ตบะฌาน เนิ่นนานหนักหนา

ถึงได้สมาบัติ 8 ดังหวังปอง

จะเหาะจะเหิน ข้ามเนินเขาพงไพร

ขึ้นฟ้ากว้างใหญ่ ใกล้ไกลได้ทั้งผอง

ได้ข่าวจากปวงทวยเทพ และเทวา

พระเจ้าสุทโธทนะ เจ้าปกครอง

ได้พระโอรส สืบราชบัลลังก์ทอง

จึงเหินลอยล่อง สู่เขตนิเวศน์วัง

พระเจ้าสุทโธทนะ ปฏิสันถาร

เชิญพระกุมารออกมาให้ทัศนัง


ประสงค์จะให้ องค์พระกุมารนั่น

นมัสการดาบส ดังใจหวัง

แต่พระบาทของพระโอรส ปรากฎยัง

บนชฎาตั้งแห่งเศียรกาฬเทวิล

ดาบสตกใจ นอกในทั้งอินทรีย์

พิเคราะห์ถ้วนถี่ทันที มิช้าใย

เห็นต้องตำรา ลักษณะมหาบุรุษ

แน่นอนที่สุด เหนือกว่ามนุษย์ใดๆ


คุกเข่าทันที กระทำอัญชลีกร

เบื้องบาทบวร กุมารนั้นทันใด

องค์พระบิดา ตระหนก ด้วยตกพระทัย

แล้วยกพระกร ยอไหว้อภิวันท์

พระประยูรญาติ อภิวาท แสนชื่นชม

นึกว่าเป็นท้าวมหาพรหมองค์สำคัญ


แล้วพระดาบส จึงเอ่ยพจน์ ทูลพระราชันย์

ว่าพระกุมาร พระองค์นี้ มีบุญอนันต์

จะตรัสรู้พระสัพพัญญูญุตญาณ

สิ้นปัจจยาการ พบนิพพานอันแสนอำไพ

นำสัตว์ หมู่คน ข้ามพ้นทุกข์ทนเวียนว่าย

เกิด แก่ เจ็บ ตาย ข้ามไปแดนพระนิพพาน


  • ท่านกาฬเทวิล ยินดีเสียจัง ยิ้มอย่างเบิกบาน

แต่ทว่าไม่นาน ก็พลันโศกา น้ำตารินไหล

ส่วนพระราชา เศร้าหมอง เห็นท่านร้องไห้

ด้วยเหตุเป็นไฉน จึงถามไป ฤทัยห่วงหา


ท่านดาบสเทวิล ได้ยินแล้วจึง วิสัชนา

ที่ยิ้มสุขอุรา เพราะได้พบพา พระสัพพัญญู

แต่วิปฏิสาร โศกา น้ำตาไหลพรู

เพราะกว่าถึงวันตรัสรู้ ชีพเราไม่อยู่ ทันพุทธองค์


กล่าวถวายพรลา องค์พระราชา แล้วดั่งประสงค์

มุ่งหมายไปตรง บ้านของอนงค์ น้องสาวแห่งตน

บอกเล่าข่าวนั้น แล้วชักชวน หลานชายเพียงคน

ให้ออกบวชรอคอยไปจน พระกุมารนั้นตรัสรู้ธรรม

บทบรรยาย[แก้]

บทบรรยาย : สมส่วน พรหมสว่าง

ผู้บรรยาย : เพลิน พรหมแดน (ผู้บรรยาย)

ฝ่ายหลานชายของกาฬเทวิลดาบส ชื่อว่า นาลกะ พอได้ฟังคำบอกเล่า เรื่องราวของเจ้าชาย ผู้เป็นพระโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ จากกาฬเทวิลดาบสผู้เป็นลุงของตนแล้ว ก็มาคิดใคร่ครวญว่า เรื่องราวทั้งหมดที่ลุงของตนเล่ามานั้น น่าเชื่อถือเป็นอย่างยิ่ง และจะเป็นเรื่องเหลวไหลไร้ประโยชน์คงเป็นไปไม่ได้ นาลกะจึงเกิดความศรัทธาอย่างจริงใจ และได้ออกบวชไปบำเพ็ญสมณธรรมในป่าใหญ่ รอคอยจนกระทั่งได้ข่าวว่า เจ้าชายสิทธัตถะออกบวช และได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว จึงได้เดินทางมาเฝ้าพระพุทธองค์ และได้ทูลถามธรรม พระพุทธองค์ทรงโปรดประทานพระพุทธโอวาท จนพระนาลกะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ในที่นี้ ได้บอกความล่วงหน้าไปก่อน เพื่อเนื้อตอนจะได้ต่อเนื่องกัน[1]

ความหมาย และเนื้อหาของเพลง[แก้]

มีฤๅษีรูปหนึ่งเป็นที่เคารพของคนทั้งเมือง และมีอิทธิฤทธิ์มากมายจนเป็นที่เลื่องลือไปทั่วทั้งแผ่นดิน ด้วยอำนาจแห่งการบำเพ็ญพรต ตบะฌานมานานนับปี จึงได้สมาบัติ 8 (ซึ่งเป็นอิทธิฤทธิ์ชั้นสูงของฤๅษีในสมัยนั้น) ซึ่งอิทธิฤทธิ์ของสมาบัติ 8 นี้ทำให้พระฤๅษีองค์นี้สามารถเหาะเหิน เดินอากาศได้ทั่วทุกทิศ ฤๅษีรูปนี้มีชื่อว่า "กาฬเทวิล" (บางแห่งเรียกว่า อสิตมุนี) เมื่อฤๅษีกาฬเทวิลได้ทราบข่าวการประสูติ จึงรีบเดินทางมาสู่พระราชวังเพื่อขอดูพระพักตร์พระกุมาร พระเจ้าสุทโธทนะทรงมีพระประสงค์ให้พระดาบสท่านอวยพรแก่พระกุมาร แลได้ทรงอุ้มพระกุมารเพื่อทำความเคารพพระฤๅษี[2]

ซึ่งในขณะนั้น พระบาทของพระกุมารชี้ไปยังเศียรของกาฬเทวิลดาบส เมื่อพระฤๅษีได้เห็นพระกุมารก็ได้พินิจพิเคราะห์ตามลักษณะของพระกุมาร ซึ่งต้องตำราลักษณะของมหาบุรุษ ซึ่งถือว่าเป็นมนุษย์ที่เลิศกว่ามนุษย์ใด จึงได้ไหว้พระกุมาร พระเจ้าสุทโธทนะทรงตกพระทัยว่าเหตุใดพระฤๅษีกระทำเช่นนั้น ฝ่ายพระประยูรญาติต่างชื่นชม เพราะนึกว่าพระกุมารคือท้าวมหาพรหมองค์ใดมาเกิดเป็นแน่ ทันใดนั้น พระฤๅษีกาฬเทวิลก็ได้กล่าวขึ้นว่า "พระกุมารพระองค์นี้เปี่ยมด้วยบุญญาบารมีนัก จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำลายกิเลสทั้งปวงสิ้น และจะพาหมู่เวไนยสัตว์ทั้งหลายข้ามพ้นวัฏสงสาร เข้าสู่แดนพระนิพพานอันประเสริฐ"

ท่านกาฬเทวิลยินดีอย่างยิ่ง ยิ้มอย่างเบิกบานใจ แต่ทว่าไม่นานนักก็โศกเศร้าจนน้ำตาไหลรินจนนองใบหน้า พระเจ้าสุทโธทนะตรัสถามด้วยความตกพระทัยว่า "เกิดอะไรขึ้นหรือพระคุณเจ้า หรือว่าจักมีเหตุร้ายแรงเกิดขึ้นกับพระกุมารของเราหรือ" พระฤาษีกาฬเทวิลดาบสทูลตอบว่า "หามิได้มหาราช พระกุมารนี้มีลักษณะพระโพธิสัตว์ครบถ้วนบริบูรณ์ จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า แต่ที่อาตมาร้องไห้เสียใจก็เพราะเห็นว่า อาตมาอายุมากแล้ว คงจะไม่มีโอกาสได้อยู่จนถึงวันนั้น"[3]

หลักจากที่พระเจ้าสุทโธทนะกล่าวถวายพระพรลาองค์พระเจ้าสุทโธทนะแล้ว จึงเดินทางไปบ้านของน้องสาวแห่งตน และได้บอกเล่าข่าวนั้นแล้วชักชวนนาลกะ หลานชาย ให้ออกบวชรอคอยไปจนกว่าจะได้ทราบข่าวพระกุมารนั้นตรัสรู้ธรรมเป็นพระพุทธเจ้า ฝ่ายหลานชายของกาฬเทวิลดาบส พอได้ฟังคำบอกเล่าจากลุงของตนแล้ว จึงเกิดความศรัทธาอย่างจริงใจ และได้ออกบวชไปบำเพ็ญสมณธรรมในป่าใหญ่ รอคอยจนกระทั่งได้ข่าวว่า เจ้าชายสิทธัตถะออกบวช และได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว จึงได้เดินทางมาเฝ้าพระพุทธองค์ และได้ทูลถามธรรม พระพุทธองค์ทรงโปรดประทานพระพุทธโอวาท จนพระนาลกะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์[4]

เกร็ดความรู้[แก้]

อสิตมุนี/ พระดาบสกาฬเทวิล คือใคร[แก้]

อสิตมุนีนี้เป็นปุโรหิตของ พระเจ้าสีหนุ พระชนกของพระเจ้าสุทโธทนะ ได้เป็นอาจารย์สอนศิลปการต่างๆ นับแต่ครั้งพระเจ้าสุทโธทนะยังมิได้ครองราชย์ ครั้นครองราชย์แล้วพระเจ้าสุทโธทนะได้ทรงแต่งตั้งให้ท่านเป็นปุโรหิต เมื่ออสิตพราหมณ์เข้ามารับราชการในพระราชวังทุกเวลาเย็นและเวลาเช้า พระเจ้าสุทโธทนะก็มิได้ทรงทำความเคารพเหมือนเมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ ทรงกระทำเพียงยกพระหัตถ์ประนมเท่านั้น ซึ่งเป็นไปตามราชประเพณีของเจ้าศากยะทั้งหลายที่ได้อภิเษกแล้ว

ต่อมาอสิตปุโรหิตเบื่อหน่ายด้วยการรับราชการ จึงกราบทูลพระมหาราชว่า "ข้าแต่มหาราช ข้าพระองค์จะบรรพชาพระเจ้าข้า" พระราชาทรงทราบว่าอสิตปุโรหิตมีความแน่วแน่ที่จะออกบวช จึงตรัสขอร้องว่า "ท่านอาจารย์ ถ้าเช่นนั้น ขอให้ท่านอาจารย์อยู่ในอุทยานของข้าพเจ้าเถิด โดยที่ข้าพเจ้าจะไปเยี่ยมท่านอาจารย์เสมอ ๆ" ปุโรหิตรับกระแสพระดำรัสแล้วจึงบรรพชาเป็นดาบส โดยพระราชาทรงอุปถัมภ์อยู่ในสวนนั่นเอง ดาบสกระทำกสิณบริกรรมจนได้สมาบัติ 8 และอภิญญา 5 สำเร็จแล้ว ตั้งแต่นั้นมา อสิตดาบสนั้นก็ไปฉันในราชตระกูล แล้วไปพักกลางวัน ณ ป่าหิมพานต์ หรือบนสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา หรือในนาคพิภพเป็นต้น แห่งใดแห่งหนึ่ง[5]

ลักษณะของพระมหาบุรุษทั้ง 32 ประการ[แก้]

ลักษณะของมหาบุรุษมี ๓๒ ประการ คือ

1. มีพระบาทราบเสมอกัน

2. ลายพื้นพระบาทเป็นจักร (จักร = รูปลอยล้อรถ คือธรรมนำชีวิตไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง ดุลล้อนำไป สู่ที่หมาย)

3. มีส้นพระบาทสยาย (ถ้าแบ่ง 4 ส่วน พระชงฆ์ตั้งอยู่ในส่วนที่ 3) (พระชงฆ์ = แข้ง)

4. มีนิ้วยาวเรียว (หมายถึงนิ้วพระหัตถ์)

5. ฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทอ่อนนุ่ม

6. ฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทมีลายดุจตาข่าย

7. มีพระบาทเหมือนสังข์คว่ำ อัฐิข้อพระบาทตั้งลอยอยู่หลังพระบาท กลับกลอกได้คล่อง เมื่อทรงดำเนินผิดกว่าสามัญชน

8. พระชงฆ์เรียวดุจแข้งเนื้อทราย

9. เมื่อยืนตรง พระหัตถ์ทั้งสองลูบจับพระชานุ (พระชานุ = เข่า)

10. มีพระคุยหะเร้นอยู่ในฝัก (พระคุยหะ = อวัยวะที่ลับ)

11. มีฉวีวรรณดุจสีทอง

12. พระฉวีละเอียด (พระฉวี = ผิว)

13. มีเส้นพระโลมาเฉพาะขุมละเส้น ๆ (พระโลมา = ขน)

14. เส้นพระโลมาดำสนิทเวียนเป็นทักขิณาวัฏ มีปลายงอนขึ้นข้างบน (ทักขิณาวัฏ = วนเลี้ยวทางขวาอย่างเข็มนาฬิกา)

15. พระกายตั้งตรงดุจท้าวมหาพรหม

16. มีพระมังสะอูมเต็มในที่ ๗ แห่ง (คือ หลังพระหัตถ์ทั้ง ๒ และหลังพระบาททั้ง ๒ , พระอังสาทั้ง ๒, กับลำพระศอ) (พระมังสะ = เนื้อ, ชิ้นเนื้อ)

17. มีส่วนพระสรีระกายบริบูรณ์ (ล่ำพี) ดุจกึ่งท่อนหน้าแห่งพญาราชสีห์

18. พระปฤษฎางค์ราบเต็มเสมอกัน

19. ส่วนพระกายเป็นปริมณฑล ดุลปริมณฑลแห่งต้นไทร(พระกายสูงเท่ากับว่าของพระองค์)(วา = เท่ากับ ๔ ศอก ประมาณ 2 เมตร)

20. มีลำพระศอกกลมงามเสมอตลอด

21. มีเส้นประสาทสำหรับรสพระกระยาหารอันดี

22.มีพระหนุดุจคางแห่งราชสีห์ (โค้งเหมือนวงพระจันทร์)(พระหนุ = คาง)

23.มีพระทนต์ ๔๐ ซี่ (ข้างละ ๒๐ ซี่)

24.มีพระทนต์เรียบเสมอกัน

25.พระทนต์เรียบสนิทมิได้ห่าง

26.เขี้ยวพระทนต์ทั้ง 4 ขาวงามบริสุทธ์

27.พระชิวหาอ่อนและยาว (อาจแผ่ปกพระนลาฏใต้)

28.พระสุรเสียงดุจท้าวมหาพรหม ตรัสมีสำเนียงดุจนกการเวก

29.พระเนตรแจ่มใสดุจตาลูกโคเพิ่งคลอด

30. ดวงพระเนตรแจ่มใสดุจตาลูกโคเพิ่งคลอด

31. มีอุณาโลมระหว่างพระขนง เวียนขวาเป็นทักขิณาวัฏ (อุณาโลม = ขนระหว่างคิ้ว)

32. มีพระเศียรงามบริบูรณ์ดุจประดับด้วยกรอบพระพักตร์[6][7]

พระสัพพัญญุตญาณ คืออะไร[แก้]

สพฺพ ( ทั้งปวง ) + ญูต ( รู้แล้ว ) + ญาณ ( ความรู้ ) = ความรู้ที่รู้แล้วในสิ่งทั้งปวง

โดยรวมหมายถึง พระปัญญาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง ที่พระองค์ทรงปรารถนาที่จะรู้ พระสัพพัญญุตญาณนี้ เกิดจากการสะสมอบรมมานานถึง 4 อสงไขยแสนมหากัป ซึ่งเมื่อตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็มาพร้อมกับอรหัตตมัคคญาณ ซึ่งพระสัพพัญญุตญาณ เป็นจิตที่เป็น กิริยาจิต ที่ประกอบด้วยปัญญา ซึ่งเกิดขึ้นได้ด้วยการเจริญอภิญญา[8]

คำศัพท์ควรรู้[แก้]

  • ทัศนัง หมายถึง มอง (ความหมายเดียวกันกับ ทัศนา)
  • วิปฏิสาร (อ่านว่า วิ-ปะ-ติ-สาน) หมายถึง ความเดือดร้อน ความร้อนใจ(ภายหลังที่ได้กระทําผิด หรือเนื่องด้วยการกระทําผิด)[9]

อ้างอิง[แก้]

  1. เนื้อเพลง พระพุทธประวัติ #05 กาฬเทวิลดาบส - เพลิน พรหมแดน
  2. ใครเป็นคนแรกที่ทำนายถวายพระเจ้าสุทโธทนะว่าเจ้าชายสิทธัตถะจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จากเว็บ crs.mahidol.ac.th
  3. อ้างอิงบางส่วนจาก หนังสือ พระพุทธเจ้า สำนักพิมพ์ Skybook หน้า 11-12
  4. ประวัติ พระนาลกะเถระ จากเว็บ ธรรมะไทย
  5. ประวัติพระนาลกะเถระ จากเว็บ Dhamma-Gateway.com
  6. พระสรีระของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างไร-วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล จากเว็บ crs.mahidol.ac.th
  7. ลักษณะมหาบุรุษ 32 ประการ จากเว็บ ธรรมะไทย
  8. พระสัพพัญญุตญาณ คือปัญญาที่ประกอบในจิตประเภทใด จากเว็บ DhammaHome.com
  9. วิปฏิสาร คืออะไร จากเว็บ Sanook พจนานุกรม