ผู้ใช้:Suttinan kaewsuk

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

วัดนิมมานรดี[แก้]

พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ประวัติความเป็นมา[แก้]

วัดนิมมานรดี ตั้งอยู่ติดคลองภาษีเจริญ เลขที่ ๘๔๕ (เดิมเลขที่ ๓๘ หมู่ ๑๕)ถนนเพชรเกษม แขวงบางหว้า เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย วัดมีเนื้อที่ ๑๙ ไร่ ๘๔ ตารางวา โฉนดที่ดินเลขที่ ๔๐๒๙๖ เดิมมีนามว่า “วัดบางแค” สร้างขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น รัชกาลที่ ๑ ประมาณปี พ.ศ. ๒๓๕๐ มีหลักฐานปรากฏกล่าวถึงวัดนี้ในจดหมายเหตุ รัชกาลที่ ๒

จ.ศ. ๑๑๘๓ (พ.ศ. ๒๓๖๔) ที่ทรงโปรดแต่งตั้งพระคณาจารย์เป็นผู้บอกกรรมฐานในกรุงและหัวเมือง เมื่อวันอังคาร เดือนยี่ แรมแปดค่ำ ปีมะเส็ง ตรีศก ในจำนวนพระคณาจารย์ ๗๑ รูปนั้น พระอาจารย์รูปที่ ๕๕ คือ พระอาจารย์เกษ วัดบางแค เป็นผู้ถวายสมาธิกรรมฐานรวมอยู่ด้วยรูปหนึ่ง แสดงว่าวัดบางแคมีอยู่ก่อนแล้ว และคงเป็นวัดที่เจริญรุ่งเรืองมากวัดหนึ่ง

ต่อมาทางวัดนิมมานรดี ได้สร้างพระอุโบสถหลังใหม่ และได้ขอพระราชทานวิสุงคามสีมาใหม่ ได้รับพระราชทานครั้งที่สอง เมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๔ เขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๒๐ เมตร  ยาว ๔๐ เมตร

วันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงตัดลูกนิมิตพระอุโบสถ และได้พระราชทานพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. ประดิษฐานที่หน้าบันพระอุโบสถ

วันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๓  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี  ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงยกฉัตรพระเจดีย์ และทรงเททองหล่อพระสีวลี พร้อมทั้งได้พระราชทานพระนามาภิไธยย่อ ส.ธ. ประดิษฐานที่ผ้าทิพย์พระสีวลี

ปี พ.ศ. ๒๕๒๗  ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต เพื่อสถาปนาวัดนิมมานรดีขึ้นเป็นพระอารามหลวง ความทราบถึงฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว พระราชทานพระบรมราชานุญาตสถาปนาวัดนิมมานรดี ขึ้นเป็นพระอารามหลวง  ตามหนังสือเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร.๐๒๐๔/๖๙๐๕  ลงวันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๘  กระทรวงศึกษาธิการได้ออกประกาศ ลงวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๘  เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ

วัดนิมมานรดี ได้เปิดทำการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมแผนกธรรมและบาลี แผนกธรรมได้เปิดทำการสอนมาตั้งแต่ปี  พ.ศ.๒๔๘๒ โดยส่งนักเรียนเข้าสอบรวมในสำนักเรียนคณะเขตภาษีเจริญและเขตหนองแขม  แผนกบาลีเปิดทำการสอนมาตั้งแต่  ปี พ.ศ.๒๕๑๘ (พ.ศ.๒๕๑๘- ๒๕๒๗ ส่งรายชื่อนักเรียนเข้าสอบในนามสำนักเรียนวัดสระเกศ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย  กรุงเทพมหานคร)

พ.ศ.๒๕๒๘ วัดนิมมานรดี ได้ขออนุญาตจัดตั้งเป็นสำนักเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรมและแผนกบาลี ซึ่งได้รับอนุญาตให้เป็นสำนักเรียน โดยสังกัด “สำนักเรียนวัดนิมมานรดี” เมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน  พ.ศ. ๒๕๒๘  แผนกธรรมเปิดทำการสอนนักธรรมชั้นตรี-โท-เอก และแผนกบาลีเปิดทำการสอน ตั้งแต่ชั้นบาลีไวยากรณ์ ถึงชั้นประโยค ป.ธ. ๗  ส่วนชั้นประโยค ป.ธ. ๘, ๙  ส่งไปเรียนที่สำนักเรียนส่วนกลาง วัดสามพระยา เขตพระนคร มีนักเรียนสอบไล่ได้ทั้งนักธรรมและบาลีเป็นจำนวนมากในแต่ละปี  และนักเรียนที่สอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค  มีทั้งพระภิกษุและสามเณร  เป็นสำนักเรียนที่มั่นคงและดีเด่นสำนักหนึ่งในกรุงเทพมหานคร

สำนักเรียนวัดนิมมานรดี  ได้รับประกาศนียบัตรเชิดชูเกียรติเป็น  “สำนักเรียนตัวอย่าง” จากกรมการศาสนา  เมื่อวันที่ ๒  กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๒๖ และเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๒ ได้รับการยกย่องเป็นสำนักเรียนดีเด่นจากแม่กองบาลีสนามหลวง

วัดนิมมานรดี ได้ให้โรงเรียนประชาบาลของทางราชการซึ่งตั้งอยู่ในที่ดินของวัด คือ   โรงเรียนวัดนิมมานรดี สังกัดกรุงเทพมหานคร  พร้อมทั้งได้ให้การอนุเคราะห์อุปถัมภ์ในด้านต่างๆ ตลอดมา

วัดนิมมานรดี ได้จัดให้มีการอบรมเผยแผ่ศีลธรรมแก่เยาวชน เช่น โครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน โครงการบวชเนกขัมมจารี (ชีพราหมณ์) โครงการอบรมเข้าค่ายพุทธบุตร โครงการอบรมสอบธรรมศึกษา จัดพระภิกษุสามเณรผู้ที่มีความรู้ความสามารถเข้าไปเป็นครูพระช่วยสอนวิชาพระพุทธศาสนาในโรงเรียนวัดนิมมานรดี และโรงเรียนอื่นๆ ทั้งรัฐและเอกชน ได้อาราธนาพระเถระภายในวัดและนอกวัดมาสอนสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนาแก่ผู้สูงอายุบ้านบางแคและพุทธศาสนิกชนทั่วไป  จัดบริการบริจาคโลหิตมอบให้แก่สภากาชาดไทยเป็นประจำทุก ๓ เดือน สงเคราะห์ศพอนาถาตลอดมา  สงเคราะห์น้ำดื่มแก่งานศพที่มาตั้งศพบำเพ็ญกุศลที่วัด และแก่หน่วยงานราชการ สถานศึกษาต่างๆ ที่มาขอความอุปถัมภ์ และเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๑  พระราชสุตาลังการ เจ้าอาวาสวัดนิมมานรดี รองเจ้าคณะภาค ๒ ได้ร่วมกับสำนักงานเขตภาษีเจริญ จัดกิจกรรมแบ่งปันน้ำใจให้ผู้สูงวัยด้อยโอกาสในชุมชน แจกข้าวสารและค่าพาหนะแก่ผู้สูงอายุประมาณ ๔๕๐ คน ทุกวันที่ ๙ ทุกเดือนตลอดทั้งปี

ประวัติเจ้าอาวาสวัดนิมมานรดี[แก้]
ย้อนหลังกลับไปเมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2556 สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ กรรม การมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ เป็นประธานในพิธีมอบตราตั้ง แต่งตั้ง ?พระราชสุตาลังการ? ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาค 14 ณ ตำหนักวัดสระเกศ เขตป้อมปราบ ศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ ท่ามกลางพระเถรานุเถระและคณะศิษย์ต่างร่วมแสดงมุทิตาพระราชสุตาลังการ เป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่มีวัตรปฏิบัติดีงาม เปี่ยมด้วย เมตตาธรรม บำเพ็ญคุณูปการรับสนองงาน คณะสงฆ์ปัจจุบัน สิริอายุ 64 ปี พรรษา 42 ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดนิมมานรดี แขวงบางหว้า เขตบางแค กรุงเทพฯ และเจ้าคณะภาค 14 ปกครอง 4 จังหวัด ได้แก่ นครปฐม, สุพรรณบุรี, กาญจนบุรี และสมุทรสาครมีนามเดิมว่า สมควร อุบลไทรงาม เกิดเมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2492 อยู่บ้านเลขที่ 16 หมู่ที่ 11 ต.ไทรงาม อ.บางเลน จ.นครปฐม บิดา-มารดา ชื่อ นายเทียม และนางมณี อุบลไทรงาม

ชาติภูมิ[แก้]

พระธรรมโพธิมงคล มีนามเดิมว่า สมควร นามสกุล อุบลไทร เกิดเมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2492 ภูมิลำเนา อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม

อุปสมบท[แก้]

อุปสมบท ณ วัดสโมสร อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2514 มีพระครูปัญญานนทคุณ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระหวัง เขมิโน วัดเกษตราราม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระบก อุสสาโห วัดสโมสร จ.นนทบุรี เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้ฉายาว่า "ปิยสีโล"

การศึกษา/วิทยฐานะ[แก้]

ปกครองคณะสงฆ์[แก้]

  • พ.ศ. 2530 เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดนิมมานรดี
  • พ.ศ. 2531 เป็นรองเจ้าอาวาสวัดนิมมานรดี
  • พ.ศ. 2545 เป็นเจ้าอาวาสวัดนิมมานรดี
  • พ.ศ. 2546 เป็นพระอุปัชฌาย์
  • พ.ศ. 2549 เป็นรองเจ้าคณะภาค2
  • พ.ศ. 2556 เป็นเจ้าคณะภาค 14

สมณศักดิ์[แก้]

  • พ.ศ. 2528 พระมหาเปรียญธรรม 9 ประโยค
  • พ.ศ. 2536 ได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระศรีปริยัติเวที
  • พ.ศ. 2549 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชสุตาลังการ
  • พ.ศ. 2556 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพสุธี ศรีศาสนกิจดิลก ตรีปิฎกบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
  • 12 สิงหาคม พ.ศ. 2559 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมโพธิมงคล ปริยัติกิจโกศลรุจี ศรีศาสนกิจดิลก ตรีปิฎกบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี