ผู้ใช้:Run pastlove/กระบะทราย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

แอ๊บบี้ วัมบัค (Abby Wambach)[แก้]

ชื่อจริง แมรี่ อะบิเกล วัมบัค(เกิดวันที่ 2 มิถุนายน 1980) เธอเป็นนักกีฬาฟุตบอลหญิงชาวอเมริกัน และเคยเป็นโค้ชฟุตบอลหญิงทีม magicJack เป็นเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิค 2 สมัย และแชมป์ฟุตบอลโลกหญิง 1 สมัย

วัมบัคติดทีมชาติฟุตบอลหญิงสหรัฐอเมริกาครั้งแรกในปี 2001 ในตำแหน่งกองหน้า และเป็นเจ้าของสถิติโลก ทำประตูมากที่สุดในทีมชาติของทั้งชายและหญิง ด้วยจำนวนประตูทั้งสิ้น 184 ประตู ในปี 2012 เธอได้รับรางวัลนักเตะยอดเยี่ยมประจำปีฝ่ายหญิง และในเดือนพฤษภาคม ปี 2015 ชื่อของเธอได้รวมอยู่ในนิตยสาร Time เป็น 1 ใน 100 คน ที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในโลก[1]

เธอเล่นฟุตบอลให้กับทีมหญิง Florida Gators ในมหาวิทยาลัยฟลอริด้า และมีส่วนช่วยให้ทีมชนะได้แชมป์ NCAA Division เป็นครั้งแรกได้สำเร็จ เธอเคยเล่นฟุตบอลอาชีพกับทีม Washington Freedom magicJack และ Western New York Flash

วัมบัคลงเล่นรายการฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลกมา 4 ครั้ง ครั้งแรกปี 2003 ในประเทศสหรัฐอเมริกา ปี 2007 ที่ประเทศจีน ปี 2011 ที่ประเทศเยอรมัน และปี 2015 ที่ประเทศแคนาดาเป็นเจ้าภาพและได้แชมป์โลกมาครองสำเร็จ และในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ เธอลงเล่น 2 ครั้ง ในปี 2004 ที่กรุงเอเธนส์ และปี 2012 ที่กรุงลอนดอน เธอได้รับเหรียญทองจากการลงแข่งขันทั้ง 2 ครั้ง สำหรับปี 2008 ที่กรุงปักกิ่ง เธอพลาดติดทีมมาร่วมแข่งขัน เพราะได้รับบาดเจ็บระหว่างเกมส์นัดกระชับมิตรกับทีมชาติบราซิล ก่อนเริ่มแข่งขันโอลิมปิกเกมส์เพียงเดือนเดียว ทั้งสองรายการรวมกัน เธอลงเล่น 36 นัด และทำไป 22 ประตู

วัมบัคประกาศอำลาทีมชาติ เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2015 และเกมส์นัดสุดท้ายของเธอมีขึ้นในวันที่ 16 ธันวาคม 2015 รัฐนิวออร์ลีน สหรัฐอเมริกา เกมส์นัดสุดท้ายของวิคทรอรี่ทัวร์ ซึ่งเป็นรายการทัวร์ฉลองแชมป์โลกของฟุตบอลหญิงทีมชาติสหรัฐอเมริกา[2]


ชีวิตในวัยเด็ก[แก้]

วัมบัคเกิดในเมืองรอเชสเตอร์ รัฐนิวยอร์ก เธอถูกเลี้ยงดูในย่านชานเมืองพิตต์ส รอเชสเตอร์ เธอเป็นลูกคนสุดท้องจากพี่น้องทั้งหมด 7 คน (พี่ชาย 4 คน และพี่สาว 2 คน) ของ 2 สามีภรรยาพีทกับจูดี้ เธอเริ่มเล่นฟุตบอลตั้งแต่อายุสี่ขวบ หลังจากที่พี่สาวของเธอตัดสินใจว่าเธอควรลองเล่นกีฬา แม่ของพวกเธอจึงหาหนังสือสอนวิธีการเล่นฟุตบอลจากห้องสมุด จนมันกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของครอบครัวเธอ “ฉันคิดว่ามันเป็นมารยาทที่ฉันควรทำในตอนนี้” เธอกล่าวในบทสัมภาษณ์ “ฉันเป็นน้องเล็กที่เกิดมาท่ามกลางพี่ๆ ทั้งหก มันเป็นการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นทีม ที่ฉันได้เรียนรู้ทุกอย่าง ฉันได้เรียนรู้วิธีการแข่งขันจากพี่ชายและพี่สาวของฉันเสมอ พวกเขาเล่นกับฉันเหมือนเล่นกับเด็กรุ่นราวเดียวกัน พวกเขาไม่เคยผ่อนเกมส์หรือยอมให้ฉันชนะ จนกว่าฉันจะมีดีพอที่จะเอาชนะพวกเขาได้เอง และนั่นคือชัยชนะที่ฉันควรได้รับอย่างภาคภูมิจากพวกเขา”

วัมบัคเริ่มเล่นฟุตบอลลีคเยาวชนตั้งแต่อายุห้าขวบ เธอย้ายจากทีมเยาวชนหญิงไปทีมเยาวชนชาย หลังจากที่ทำไป 27 ประตูจากการลงเล่นเพียงสามนัด พอเข้าสู่วัยรุ่นเธอได้ลองเล่นในหลายตำแหน่ง โดยเฉพาะตำแหน่งกองหลัง

เธอเข้าเรียนไฮสคูลที่ Our Lady of Mercy High School เมืองรอเชสเตอร์ในปี 1994 ถึงปี 1998 ซึ่งเป็นที่เธอเรียนหนังสือและเล่นฟุตบอล บาสเก็ตบอลไปด้วย การเล่นฟุตบอลให้กับโรงเรียนของเธอ เธอทำประตูได้ 142 ประตู ในปี 1997 เพียงปีเดียวเธอทำไปถึง 37 ประตู เคที บอตั้น โค้ชฟุตบอลหญิงทีมเมอร์ซี่กล่าวว่า วัมบัคมักจะอยู่ต่อหลังทีมซ้อมเสร็จ เพื่อซ้อมทักษะลูกโหม่งของเธอ ซึ่งต่อมากลายเป็นจุดเด่นของเธอในการเล่นทีมชาติ

University of Florida Gators, 1998–2001[แก้]

ในปี 1997 มีมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่งที่เปิดรับสมัครนักศึกษาใหม่ สนใจอยากให้เธอเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัย รวมถึงมหาวิทยาลัยที่มีโปรแกรมการแข่งขันฟุตบอลหญิงระดับชั้นนำ อย่างมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา มหาวิทยาลัยฟลอริด้า มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส มหาวิทยาลัยพอร์ตแลนด์และมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย หลังได้รับการติดต่อ เธอกับพ่อแม่ได้เดินทางไปเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยทั้งห้าแห่ง

วัมบัคได้รับทุนการศึกษานักกีฬาและตัดสินใจเข้ามหาวิทยาลัยฟลอริด้าในเกนส์วิลล์ ที่นี่เธอเล่นฟุตบอลให้กับโค้ช เบ็คกี้ เบอร์เลดจ์ ทีม Florida Gators ตั้งแต่ปี 1998 ถึงปี 2001 ทีม Florida Gators เพิ่งก่อตั้งทีมได้เพียงสามปีเท่านั้น เมื่อเทียบกับทีม North Carolina Tar Heels จากมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนาที่มีประวัติยาวนานเป็นแชมป์หลายสมัย และยังเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่เคยยื่นข้อเสนอให้เธอแต่เธอเลือกปฏิเสธ และถือเป็นความท้าทายของวัคบัคที่ตัดสินใจเข้าร่วมทีม Florida Gators

ในปี 1998 เธอพาทีม Florida Gators เข้าชิงแชมป์รายการ NACC ซึ่งเป็นรายการระดับชาติได้เป็นครั้งแรกกับทีม North Carolina Tar Heels และคว้าแชมป์มาได้สำเร็จ เธอยังพาทีมเป็นแชมป์รายการ Southeastern Conference (SEC) สี่สมัยติดต่อกันได้อีกด้วย (1998 ถึงปี 2001)


เส้นทางฟุตบอลในลีคอาชีพ[แก้]

แม้ฟุตบอลหญิงทีมชาติสหรัฐอเมริกาจะประสบความสำเร็จมากมาย แต่กับฟุตบอลลีกหญิงกลับตรงกันข้าม ไม่ได้รับความสนใจจากแฟนบอลหรือแม้แต่ผู้ให้การสนับสนุนเท่าที่ควร ทำให้ลีคต้องปิดตัวลงหลายครั้ง เพราะขาดการสนับสนุนนั่นเอง

Washington Freedom ปี 2002-2003 ลีค WUSA[แก้]

ในปี 2002 วัมบัคถูกคัดเลือกจาก WUSA ให้ไปสังกัดกับทีม Washington Freedom ช่วงเริ่มต้นฤดูกาล เมีย แฮมม์ นักเตะคนสำคัญของทีมได้รับบาดเจ็บต้องเข้ารับการผ่าตัดหัวเข่า ในตอนนั้นทีม Washington Freedom รั้งที่หกของตาราง แต่วัมบัคสามารถพาทีมขึ้นมารั้งลำดับสามของตารางหลังเกมส์นัดสุดท้ายจบลง ส่งผลให้ทีมได้ไปเล่นในรอบตัดเชือกสำเร็จ แต่ในรอบรองชนะเลิศทีม Washington Freedom ต้องพ่ายแพ้ให้กับทีม Carolina Courage ด้วยสกอร์ 2-3 หลังจากจบฤดูกาลแข่งขัน WUSA ได้มีการโหวตผู้เล่นหน้าใหม่ประจำปี และวัมบัคถูกโหวตให้เป็นผู้เล่นหน้าใหม่ประจำปี 2002 เธอทำไป 10 ประตู และจ่ายให้เพื่อน 10 ลูก และพาทีม Washington Freedom จบฤดูกาลด้วยอันดับสี่

ในปี 2003 วัมบัคกับแฮมม์ช่วยกันทำประตูคว้าชัยชนะให้กับทีม Washington Freedom มี 33 แต้มเป็นผู้นำในลีค ผลงานของเธอช่วยให้ทีม Washington Freedom คว้าแชมป์ WUSA มาครองได้สำเร็จ และเธอยังได้รางวัล MVP ในปีนั้นด้วย

5 วันก่อนเกมส์การแข่งขันฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลก ซึ่งเป็นการแข่งขันครั้งแรกของวัมบัค WUSA ต้องปิดตัวลงจากปัญหาด้านการเงินและการขาดการสนับสนุน

Washington Freedom ปี 2009-2011 ลีค WPS[แก้]

ลีคฟุตบอลหญิงอาชีพสหรัฐอเมริกากลับมาทำการแข่งขันใหม่อีกครั้งในปี 2008 ภายใต้ชื่อ Women's Professional Soccer (WPS) มีทีมร่วมแข่งขันในปีแรกทั้งหมด 7 ทีม โดยกระจายนักเตะทีมชาติให้ไปสังกัดอยู่ในแต่ละทีม และวัคบัคได้ถูกมอบหมายให้ไปเล่นกับต้นสังกัดเดิมของเธอ ทีม Washington Freedom

ในเกมส์วันที่ 3 พฤษภาคม 2009 กับทีม Saint Louis Athletica เธอเข้าสกัดบอลอย่างรุนแรงกับ ดาเนียล ลีมา กองกลางของทีม Saint Louis Athletica จนเป็นเหตุให้ดาเนียลได้รับบาดเจ็บเอ็นหัวเข่าฉีกและกระดูกร้าวเป็นเหตุให้ไม่สามารถลงเล่นได้ตลอดทั้งฤดูกาลที่เหลือ วัมบัคได้รับใบเหลืองและถูกลงโทษแบน 1 นัด จากคณะกรรมการลีก

ในปี 2011 Washington Freedom เปลี่ยนเจ้าของทีมใหม่จึงย้ายไปฟลอริด้า และชื่อทีมถูกเปลี่ยนใหม่เป็น magicJack ทีมเปิดฤดูกาลได้อย่างดีเยี่ยมด้วยชัยชนะ 3 นัดรวดเมื่อเทียบกับทีมอื่น แต่หลังจากนั้น โค้ช ไมค์ ลียง โดนปลดให้พ้นทีมด้วยปัญหาการขัดแย้งภายในทีม แดน บอริสลอว์ เจ้าของทีมกับ คริสตี้ แรมโพน หนึ่งในผู้เล่นของทีมทำหน้าที่คุมทีมแทน แต่ผลงานของทีมกลับย่ำแย่ลงจนถึงขั้นวิกฤต กระทั่งวันที่ 22 กรกฏาคม 2011 วัมบัคต้องรับหน้าที่เป็นทั้งผู้เล่นและโค้ชไปจนจบฤดูกาล[3] เธอพาทีมขึ้นรั้งลำดับสามและไปเล่นรอบตัดเชือก และในรอบตัดเชือกเธอพาทีมชนะทีม Boston Breakers ด้วยผลสกอร์ 3-1 ก่อนจะมาพลาดท้าพลายให้กับทีม Philadelphia Independence ในรอบรอง ด้วยสกอร์ 0-2

Western New York ปี 2013-2014 ลีค NWSL[แก้]

ในปี 2012 ลีคฟุตบอลหญิงอาชีพสหรัฐอเมริกาได้เกิดขึ้นอีกครั้งภายใต้ชื่อ National Women's Soccer League (NWSL) และในครั้งนี้มีนักเตะต่างชาติที่มีความโดดเด่นจากแคนาดาและเม็กซิโกมาร่วมเล่นในลีคด้วย วัมบัคเป็นหนึ่งในผู้เล่นที่ถูกเลือกจาก NWSL ให้สังกัดทีม Western New York ทีมในบ้านเกิดของเธอ เมืองรอเชสเตอร์ นิวยอร์ก แต่เพราะเธอมีเกมส์การแข่งขันติดพันอยู่กับทีมชาติตลอดฤดูกาลแข่งขันของปี 2012 ทำให้เธอได้เปิดตัวกับทีมต้นสังกัดใหม่ในวันที่ 14 เมษายน 2013 ในช่วงเปิดฤดูกาลใหม่กับทีม Sky Blue FC

ในการแข่งขันนัดที่สองกับทีม Washington Spirit วัมบัคถูกกระแทกอย่างแรงที่ศีรษะจากการพยายามป้องกันการทำประตูของเธอจาก บริตทานี่ เทย์เลอร์ ในนาทีที่ 80 และร่วงลงกระแทกพื้นอย่างแรง หลังจากหายจากอาการมึนงงเธอลุกขึ้นและเล่นต่อจนจบเกมส์ หลังเสียงนกหวีดจบการแข่งขัน แอสลิน แฮร์ริส ผู้รักษาประตูทีม Washington Spirit ที่เข้าไปดูอาการของเพื่อนร่วมทีมชาติบอกว่า วัมบัคมีอาการมึนงงและบ่นพึมพำอะไรบางอย่างจากการโดนกระแทกจังหวะนั้น

วัมบัคได้รับการประเมินหลังเกมส์ที่อาจมีผลต่อเธอในการเล่นทีมชาตินั้น หลายวันต่อมาทางสหพันธ์ฟุตบอลสหรัฐอเมริกาประกาศว่าทีมชาติจะได้รับผลกระทบหากเกิดอาการบาดเจ็บกับเธอจากการลงเล่นให้ต้นสังกัดในลีค เธอควรได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างออกไปจากผู้ตัดสิน ทีมผู้ฝึกสอนและผู้เล่นคนอื่น ผลการแข่งขันในลีควัมบัคพาทีมจบที่สามของฤดูกาล และผ่านเข้าไปเล่นรอบตัดเชือก (ลีคฟุตบอลหญิงสหรัฐอเมริกา เมื่อแข่งขันจบทุกเกมส์แล้ว 4 ทีมที่ทำผลงานดีสุด จะได้ไปเล่นรอบตัดเชือก เพื่อหาแชมป์ประจำฤดูกาล)

วันที่ 18 มีนาคม 2015 วัมบัคประกาศขอนั่งเป็นตัวสำรองงดลงเล่นในลีคตลอดทั้งฤดูกาล 2015 เพื่อทุ่มเทมุ่งเน้นไปที่การแข่งขันฟุตบอลโลกหญิง 2015[4] หลังจากนั้น 2 สัปดาห์ ชื่อของวัมบัคถูกขึ้นบัญชีซื้อขายพร้อมกับ แอมเบอร์ บรูคส์ กองกลางของทีม และทั้งคู่จะสามารถลงเล่นกับทีมต้นสังกัดใหม่ของลีค NWSL ได้ในฤดูกาลใหม่ 2016 ต่อมาทีม Seattle Reign FC ได้ทำสัญญาแลกเปลี่ยนทั้งคู่กับกองหน้าทีมชาติสหรัฐอเมริกา ซิดนีย์ เลอร์รูค และ อแมนด้า ฟริสเบีย กองกลางของทีม

การเล่นให้กับทีมชาติ[แก้]

ในปี 2001 ด้วยผลงานอันยอดเยี่ยมในลีคและทีมฟลอริด้าเกเตอร์ของวัมบัค เธอจึงถูกเรียกติดทีมชาติในปีนั้นเอง เกมส์แรกของเธอในการรับใช้ทีมชาติเกิดขึ้นในวันที่ 9 กันยายน 2001 กับทีมชาติเยอรมันในรายการ Nike U.S. Cup ที่ชิคาโก้ เธอถูกเปลี่ยนตัวลงไปเล่นแทน ทิฟฟานี่ มิลเบิร์ต ในนาทีที่ 76 ทีมชาติสหรัฐอเมริกาชนะไป 4-1 โดยที่เธอยังไม่สามารถทำประตูได้ในเกมส์นัดแรก วันที่ 27 เมษายน 2002 นัดที่ 2 ของเธอที่แคลิฟอร์เนียเกมส์การแข่งขันนัดกระชับมิตรกับทีมชาติฟินแลนด์ เธอทำประตูแรกให้กับทีมชาติสำเร็จในนาทีที่ 7 และถูกเปลี่ยนตัวออกในนาทีที่ 75 ผลการแข่งขันสหรัฐอเมริกาชนะไป 3-0

ฟุตบอลโลกหญิง ประเทศสหรัฐอเมริกา 2003[แก้]

ในเดือนสิงหาคม 2003 วัมบัคมีรายชื่อติดทีมชาติสหรัฐอเมริกาลุยศึกฟุตบอลโลกหญิงเป็นครั้งแรก ภายใต้การคุมทีมของโค้ช เอพริล เฮนริค การลงเล่น 6 นัดในฟุตบอลโลกหญิง วัมบัคทำไป 3 ประตู และจบการแข่งขันครั้งนี้ด้วยอันดับ 3

21 กันยายน 2003 ก่อนเกมส์การแข่งขันกับทีมชาติสวีเดน ภายในสนาม RFK Stadium กรุงวอชิงตันดีซีที่เต็มไปด้วยผู้ชม การแข่งขันฟุตบอลโลกนัดแรกของวัมบัคกำลังจะเริ่มต้นขึ้น และจบลงด้วยชัยชนะของสหรัฐอเมริกา 3-1 จากการทำประตูของ คริสติน ลินลี่ ซิดนี้ พาร์โลว และ แชนนอน บอค ส่วนเธอถูกเปลี่ยนตัวออกนาทีที่ 56

การแข่งขันนัดที่ 2 กับทีมชาติไนจีเรียที่ฟิลาเดลเฟีย ท่ามกลางผู้ชมกว่าสามหมื่นคน วัมบัคทำประตูแรกในการแข่งขันฟุตบอลโลกได้สำเร็จในนาทีที่ 65 สหรัฐอเมริกาขึ้นนำ 4-0 และจบการแข่งขันด้วยชัยชนะ 5-0

ประตูที่ 2 ของเธอเกิดขึ้นในเกมส์พบกับเกาหลีเหนือ จากการทำจุดโทษนาทีที่ 17 เธอถูกเปลี่ยนตัวออกนาทีที่ 56 และทีมชนะเกาหลีเหนือ 3-0 ในรอบตัดเชือกวัมบัคทำให้ทีมชนะวอร์เวย์ 1-0 ก่อนที่จะมาพลาดพ่ายแพ้ให้กับเยอรมัน 0-3 ในรอบรองชนะเลิศ และจบรายการนี้ด้วยการคว้าได้เพียงลำดับ 3 มาครองเท่านั้น จากการเอาชนะแคนาดา 3-1

โอลิมปิก เอเธนส์ 2004[แก้]

หลังจาก WUSA ถูกปิดตัวลงในปี 2003 วัมบัคเก็บตัวกับทีมชาติเพื่อเตรียมตัวในการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน ที่จะถูกจัดขึ้นในกรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ในรอบแบ่งกลุ่มวัมบัคมีส่วนร่วมในเกมส์เป็นมาก วันที่ 11 สิงหาคม 2004 เจอกับทีมชาติกรีซ นาทีที่ 30 เธอทำประตูให้ทีมชาติสหรัฐอเมริกาขึ้นนำกรีซ 2-0 ในนาทีที่ 49 เธอได้รับใบเหลืองแรกจากการแข่งขันโอลิมปิกด้วย ผลการแข่งขันนัดนี้สหรัฐอเมริกาชนะ 3-0

ในการลงเล่นกับชาติบราซิลวันที่ 14 สิงหาคม 2004 เธอโดนใบเหลืองอีกครั้งในนาทีที่ 49 ทำให้เธอติดโทษแบน 1 นัด และในเกมส์นัดนี้เธอสามารถทำได้ 1 ประตู พาทีมชนะทีมชาติบราซิลไป 2-0 วัมบัคกลับมาลงเล่นได้อีกครั้งหลังพ้นโทษกับทีมชาติญี่ปุ่นในรอบตัดเชือก วันที่ 20 สิงหาคม ในเกมส์นัดนี้เธอสามารถทำประตูชัยพาทีมเข้ารอบต่อไปด้วยผลประตู 2-1

หลังจากเอาทีมชาติสหรัฐอเมริกาสามารถเอาชนะทีมชาติเยอรมันในรอบรองได้ พวกเธอต้องโคจรกลับมาเจอทีมชาติบราซิลอีกครั้งในนัดชิงเหรียญทอง เกมส์ใน 90 นาทีแรกจบที่เสมอกัน 1-1 ต้องต่อเวลาพิเศษ และในนาทีที่ 112 จากลูกเตะมุมของ คริสติน ลิลลี่ วัมบัคโหม่งประตูชัยให้กับทีมคว้าเหรียญทองไปครอง

การทำประตูนี้ของเธอได้รับการยกย่องจาก ESPN ปี 2011 ว่าเป็น 1 ใน 5 ประตูที่ยอดเยี่ยมที่สุดในประวัติศาสตร์ฟุตบอลหญิงทีมชาติสหรัฐอเมริกา[5] วัมบัคจบการแข่งขันด้วยการทำไป 4 ประตู และจ่ายให้เพื่อน 1 ลูก 4 ประตูของเธอเป็นการสร้างสถิติใหม่ของผู้เล่นหน้าใหม่ของทีมชาติสหรัฐอเมริกา ที่ทำประตูในโอลิมปิกเยอะที่สุดในทัวร์นาเม้นต์เดียว

ชัยชนะจากการแข่งขันโอลิมปิกเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญในทีมชาติ เพราะเป็นการเล่นโอลิมปิกครั้งสุดท้ายของนักเตะมากประสบการณ์อย่าง เมีย แฮมม์ จูลี่ ฟลอดี้ และ จอย ฟาว์ซิต ที่เล่นให้กับทีมชาติตั้งแต่มีฟุตบอลหญิงโลกครั้งแรกปี 1991 วัมบัคกล่าวหลังจากที่พาทีมคว้าชัยชนะว่า “อย่างน้อยมันก็เป็นอะไรที่พวกเราสามารถจะทำให้ได้เพื่อผู้หญิงที่มีความหมายกับพวกเรา” หลังจบการแข่งขันโอลิมปิก 2004 เธอทำไป 32 ประตู จ่ายให้เพื่อน 13 ลูก จากการลงเล่น 45 นัด และเธอได้รับการโหวตให้เป็นผู้เล่นยอดเยี่ยมแห่งปีฝ่ายหญิงลำดับที่ 4 หลังจบการแข่งขันโอลิมปิกที่เอเธนส์ วัมบัคยังเป็นผู้เล่นหลักสำคัญของทีมชาติ

ฟุตบอลโลกหญิง ประเทศจีน 2007[แก้]

ก้าวสู่ฟุตบอลโลกหญิง 2007 ทีมฟุตบอลหญิงสหรัฐอเมริกาไม่ค่อยได้รับการตอบรับที่ดีจากแฟนบอลเท่าไหร่นักตลอด 3 ปีที่ผ่านมา พวกเธอจึงต้องการที่จะคว้าชัยชนะกลับจากเมืองจีนให้ได้เพื่อกู้ศรัทธาคืนจากแฟนบอล วัมบัคกลายเป็นผู้เล่นหลักของทีมด้วยระยะเวลาเพียงห้าปีและคาดว่าเธอจะมีตำแหน่งใหม่เป็นผู้นำทีมในอนาคต

ในการแข่งขันนัดแรกกับทีมชาติเกาหลีเหนือวันที่ 11 สิงหาคม วัมบัคทำประตูขึ้นนำในนาทีที่ 50 แต่หลังจากนั้นไม่ถึง 5 นาที เธอลงไปช่วยเกมส์รับจากลูกเปิดเตะมุมของเกาหลีเหนือ ทำให้หัวกระแทกกับ รี กัมซุค ผู้เล่นทีมเกาหลีเหนือกลางอากาศจนหัวแตกเลือดอาบ เธอถูกกรรมการให้ออกนอกสนามเนื่องจากบาดเจ็บ และให้แพทย์สนามทำการรักษาแผลที่ด้านหลังศีรษะของเธอ โค้ช เกร็ก ไรอัน ตัดสินใจที่จะไม่เปลี่ยนตัวเธอออก วัมบัคออกไปทำแผลที่ข้างสนาม 10 นาที จำนวนผู้เล่นในสนามที่น้อยกว่า ทำให้เกาหลีเหนืออาศัยความได้เปรียบ ทำประตูพลิกขึ้นนำเป็น 1-2 ก่อนที่วัมบัคจะวิ่งกลับเข้าสู่สนามอีกครั้งในนาทีที่ 64 “พวกเค้าทำประตูได้ ขณะที่ฉันอยู่ข้างสนาม ฉันเริ่มเป็นห่วงสถานการณ์ของทีมเรา ดังนั้นฉันจึงรีบวิ่งไปที่ห้องพักนักกีฬา และเร่งให้เขาทำการเย็บแผลฉันให้เสร็จโดยเร็วที่สุด” วัมบัคกล่าวถึงเกมส์วันนั้น ช่วงที่เธอหายออกไปจากสนามและวิ่งกลับเข้าสู่สนามอีกครั้งหลังจากนั้น และผลการแข่งนัดนั้นสหรัฐอเมริกาเสมอเกาหลีเหนือด้วยสกอร์ 2-2 จากการทำประตูของ เฮเธอร์ โอรายลี่

วันที่ 14 กันยายน พวกเธอต้องเผชิญหน้ากับทีมชาติสวีเดนซึ่งถือเป็นงานหนักพอสมควร แต่วัมบัคก็ยังสามารถทำให้ทีม 2 ประตู และจบการแข่งขันด้วยสกอร์นี้ 2-0 ในเกมส์นัดเจอกับไนจีเรีย เธอเป็นคนจ่ายลูกให้ชาลุปนี่ทำประตูชัยให้กับทีม 1-0 รั้งทีมนำเข้าสู่รอบตัดเชือกไปเจอกับทีมชาติอังกฤษ

ในเกมส์เจอกับทีมชาติอังกฤษรอบตัดเชือก สหรัฐอเมริกาเอาชนะด้วยสกอร์ 3-0 จากวัมบัค แชลนอน บอคค์ และ คริสติน ลิลลี่ ภายหลังเกมส์ เฟย์ ไวท์ กัปตันทีมชาติอังกฤษได้ออกมาพูดว่า วัมบัคตั้งใจชักศอกใส่หน้าเธอในช่วงครึ่งแรกของเกมส์ แต่วัมบัคได้ออกมาปฏิเสธและยืนยันว่ามันเป็นอุบัติเหตุระหว่างเกมส์ ที่ไวท์กับสื่ออังกฤษเจตนาบิดเบือนให้เป็นอย่างอื่น เกมส์นัดนี้ทำให้วัมบัค กลายเป็นผู้เล่นคนที่ 20 ของนักฟุตบอลหญิงทีมชาติสหรัฐอเมริกาที่ลงเล่นครบ 100 นัด

ทีมสหรัฐอเมริกาต้องเจอกับทีมชาติบราซิลรอบรองชนะเลิศ ในห้องพักมีการถกเถียงกันขึ้นระหว่างทีมงานผู้ฝึกกสอนในการเปลี่ยนแปลงตัวผู้เล่น 11 คนแรก โค้ช เกร็ก ไรอัน ตัดสินใจให้ โฮป โซโล ผู้รักษาประตูวัย 26 ปีที่ลงเล่นเป็นตัวจริงมาตลอดเป็นตัวสำรองในนัดนี้ และส่ง ไบรอันนา สเคอร์รี่ ผู้รักษาประตูมากประสบการณ์ของทีมซึ่งเคยเฝ้าเสาในการแข่งฟุตบอลโลก 3 ครั้งและโอลิมปิก 2 ครั้ง แม้โอลิมปิก 2004 เธอจะได้รับโอกาสลงเล่นน้อยมากก็ตาม และในการแข่งขันครั้งนี้ ต้องจบด้วยการปราชัยของทีม ถือเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดครั้งใหญ่ของโค้ช เกร็ก ไรอัน สหรัฐอเมริกาต้องพ่ายแพ้ต่อบราซิล 0-4 และเป็นการเสียประตูมากที่สุดตั้งแต่มีการก่อตั้งทีมฟุตบอลหญิงสหรัฐอเมริกา

แม้จะผิดหวังที่ไม่สามารถเข้าชิงชนะเลิศได้ และต้องไปเล่นเกมส์นัดสุดท้ายชิงที่สามกับนอร์เวย์ พวกเธอพยายามเล่นอย่างเต็มความสามารถและเอาชนะด้วยสกอร์ 4-1 โดยนัดสุดท้ายนี้วัมบัคทำคนเดียว 2 ประตู ตลอดทัวร์นาเม้นต์นี้เธอทำรวม 6 ประตู แม้จะมีอาการบาดเจ็บที่หัวจากการเล่นนัดแรก และอาการบาดเจ็บที่เท้าก่อนหน้านี้ ในการแข่งขันนัดกระชับมิตรกับทีมชาติฟินแลนด์ก่อนการแข่งขันฟุตบอลโลกจะเริ่มขึ้นเพียงหนึ่งเดือน

โอลิมปิก ปักกิ่ง 2008[แก้]

วันที่ 28 มิถุนายน 2008 วัมบัคมีชื่อติดทีมไปแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน หากแต่ว่า วันที่ 16 กรกฏาคม ก่อนการแข่งขันโอลิมปิกเพียง 20 วัน การแข่งขันนัดอุ่นเครื่องกับทีมชาติบราซิลที่มีการถ่ายทอดสดไปทั่วประเทศเริ่มขึ้น เธอปะทะกับ แอนเดรีย โรซ่า กองหลังแซมบ้าที่เข้ามาสกัดบอล จนเป็นเหตุให้ขาซ้ายหัก[6]

นาทีที่ 30 ในเกมส์การแข่งขันที่ซานดิเอโก้ วัมบัควิ่งมาด้วยความเร็วและตั้งใจจะทำไกลในระยะ 30 หลา และชนกันกับโรซ่าอย่างรุนแรง วัมบัคล้มลงกับพื้นและยกมือส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือจากทีมงานทันที

ขาซ้ายของเธอถูกดามและถูกหามขึ้นเปลพาออกไปจากสนาม เธอถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลท้องถิ่นที่อยู่ใกล้ที่สุด และผลเอ็กซเลย์ยืนยันว่ากระดูกหน้าแข้งและกระดูกน่องหัก เธอเข้ารับการผ่าตัดทันทีโดยใช้แท่งไทเทเนี่ยมยึดกระดูกไว้และสามารถถอดออกได้หลังจากนี้ 3 เดือน แต่เกมส์นัดแรกของทีมสหรัฐอเมริกาในโอลิมปิกเกมส์นั้นเริ่มเตะวันที่ 6 สิงหาคม

ช่วงเวลานั้นเธอทำไป 99 ประตู จากการลงเล่น 127 นัด เหลือเพียง 1 ประตู เธอก็จะกลายเป็นผู้เล่นคนที่ห้าของทีมชาติสหรัฐอเมริกาและเป็นนักฟุตบอลหญิงคนที่เก้าของโลกที่ทำได้ 100 ประตูในการเล่นทีมชาติ

“เห็นได้ชัดว่ามันเป็นเรื่องร้ายแรง แต่เหนือสิ่งอื่นใดฉันก็แค่ผู้เล่นคนหนึ่งและคุณไม่สามารถเอาชนะการแข่งขันโดยมีผู้เล่นเพียงคนเดียวได้ ฉันมีความเชื่อมั่นสูงว่าเพื่อนร่วมทีมจะสามารถคว้าเหรียญทองกลับมาได้” วัมบัคกล่าวหลังจากได้รับบาดเจ็บ “ฉันรู้สึกแย่มาก พวกเราต้องการเธอ เธอเป็นชิ้นส่วนสำคัญของทีม” นาตาชา ไค กล่าวหลังรู้ว่าวัมบัคไม่สามารถไปสู้ศึกโอลิมปิกที่ปักกิ่งกับพวกเธอได้

ลอเรน เชนีย์ คือกองหน้าที่ถูกเรียกตัวติดทีมสู้ศึกที่ปักกิ่งแทนวัมบัค “เห็นได้ชัดว่ามีแรงกดดันมาที่ฉันตอนนี้” เชนีย์กล่าว “ฉันรู้สึกเสียใจที่แอ๊บบี้ได้รับบาดเจ็บ แต่ฉันก็รู้สึกตื่นเต้นที่ถูกเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งของทีมใน 18 คน ที่ได้ไปแข่งขันโอลิมปิกที่ปักกิ่ง” วัมบัคที่นอนพักรักษาอาการบาดเจ็บอยู่ที่โรงพยาบาล โทรเข้ามาระหว่างการประชุมทีมแล้วบอกกับทีมงานว่า “ฉันโทรเรียก ลอเรน เชนีย์ จากโรงพยาบาล และบอกเธอว่า ฉันต้องการให้เธอไปที่นั่น และไม่รู้สึกแย่กับการถูกเลือกโดยวิธีนี้ สิ่งสำคัญที่สุดคือทีมที่กำลังจะเข้าสู่การแข่งขันในครั้งนี้ และเธอสามารถพาทีมคว้าชัยชนะได้ และนั่นคือสิ่งที่จะทำให้เธอยืนอยู่บนโพเดี่ยมชั้นบนสุดในวันสุดท้าย”

แม้ทีมจะขาดผู้เล่นสำคัญอย่างวัมบัค แต่สุดท้ายสหรัฐอเมริกาก็สามารถคว้าเหรียญทองกลับบ้านได้สำเร็จ จากการเอาชนะบราซิลได้ในเกมส์นัดชิง โดยการทำประตูของ คาร์ลี ลอยด์ ในนาทีที่ 96 เป็นเหรียญทองเหรียญที่สามของทีมชาติสหรัฐอเมริกา นับตั้งแต่มีการบรรจุฟุตบอลหญิงลงในโอลิมปิกเกมส์

วัมบัคทำประตูที่ 100 ของเธอได้สำเร็จในเกมส์การแข่งขันนัดกระชับมิตรกับทีมชาติแคนาดาที่บ้านเกิดของเธอ เมืองรอเชสเตอร์ เมื่อวันที่ 19 กรกฏาคม 2009 เกมส์กระชับมิตรนัดที่ 2 ของเธอ หลังจากเธอหายจากการบาดเจ็บกลับมา “หลังจากที่ฉันเคยเสียใจเพราะไม่ได้ไปแข่งโอลิมปิค แต่มันเป็นความเจ็บปวดที่คุ้มค่า ฉันได้เล่นในสนามบ้านเกิดตัวเอง ท่ามกลางผู้คนที่คุ้นเคย และประสบความสำเร็จครั้งสำคัญในวันนี้” เธอกล่าวหลังจบเกมส์การแข่งขัน

ประตูที่ 100 ของวัมบัคยังน้อยกว่าผู้เล่นอเมริกาคนอื่นๆ ก่อนหน้านี้อย่าง เมีย แฮมม์ คริสติน ลิลลี่ มิเชลล์ เอเคอร์ และทิฟฟานี่ มิลเบิร์ต

ฟุตบอลโลกหญิง ประเทศเยอรมัน 2011[แก้]

วันที่ 9 พฤษภาคม วัมบัคเป็นหนึ่งในผู้เล่นที่มีชื่อลุยศึกฟุตบอลโลกหญิงที่เยอรมันเป็นเจ้าภาพ ฟุตบอลโลกหญิงครั้งนี้เป็นการลงแข่งขันครั้งที่สามของเธอ ในเกมส์สองนัดแรกกับเกาหลีเหนือและโคลัมเบีย เธอยังไม่สามารถทำประตูให้ทีมได้ แต่ในนัดเจอกับสวีเดนเธอทำประตูแรกในทัวร์นาเม้นต์ได้สำเร็จ แต่ก็ไม่มากพอจะพาทีมคว้าชัย จึงพ่ายไปด้วยผลสกอร์ 1-2 จบที่ลำดับสองของกลุ่มซี และต้องไปพบกับงานหนักเมื่อต้องเจอกับแชมป์กลุ่มดี ทีมชาติบราซิลในรอบตัดเชือก

วันที่ 10 กรกฏาคม 2011 ในระหว่างเกมส์รอบตัดเชือกกับทีมชาติบราซิลนั้น วัมบัคโหม่งทำประตูตีเสมอในช่วงทดเวลาบาดเจ็บของช่วงต่อเวลาพิเศษ (นาทีที่ 120+2) หมดเวลาเสมอกันที่ 2-2 ต้องดวลจุดโทษ และทีมสหรัฐอเมริกาก็สามารถเอาชนะจุดโทษก้าวเข้าสู่รอบรองชนะเลิศ การทำประตูในนาทีสุดท้ายของเธอ ทำให้เธอได้รับรางวัลผู้เล่นยอดเยี่ยมแห่งปีของ ESPN[7] วัมบัคทำประตูที่สามในทัวร์นาเม้นต์ในรอบรองชนะเลิศกับทีมชาติฝรั่งเศส เกมส์จบที่สหรัฐอเมริกาชนะ 3-1 และนั่นเป็นการเข้าถึงนัดชิงครั้งแรกของเธอ

ในเกมส์นัดชิงชนะเลิศวัมบัคต้องพบกับความผิดหวังอีกครั้ง เมื่อทีมจบเกมส์ในเวลาการแข่งขันด้วยผลเสมอ 2-2 กับทีมชาติญี่ปุ่น ต้องตัดสินกันด้วยการจุดโทษและเป็นญี่ปุ่นที่เอาชนะการดวลจุดโทษด้วยสกอร์ 3-1 คว้าแชมป์โลกไปครอง ในขณะที่สหรัฐอเมริกาได้เพียงรองแชมป์เท่านั้น

ในรายการนี้เธอร่วมแข่งขันสามครั้งและต้องพบกับความผิดหวังทั้งสามครั้ง

โอลิมปิก ลอนดอน 2012[แก้]

โอลิมปิกครั้งนี้ สหรัฐอเมริกาอยู่กลุ่มเดียวกับ ฝรั่งเศส เกาหลีเหนือ และโคลัมเบีย เกมส์นัดแรกกับฝรั่งเศสวันที่ 25 กรกฏาคม 2012 เป็นเกมส์ที่ไม่ง่ายสำหรับพวกเธอ เมื่อถูกฝรั่งเศสทำนำไปก่อน 0-2 ในช่วง 14 นาทีแรก ก่อนที่วัมบัคจะทำประตูตีไข่แตกได้สำเร็จ จากการโหม่งลูกเตะมุมของ เมแกน ราปิโน่ เข้าไป ไล่มาเป็น 1-2 และก่อนหมดครึ่งแรก อเล็กซ์ มอร์แกน ก็ตีเสมอให้กับทีมชาติสหรัฐอเมิรกาได้สำเร็จ เสมอกัน 2-2 ครึ่งหลังสหรัฐอเมริกาได้เพิ่มอีก 2 ประตูจาก อเล็กซ์ มอร์แกน และ คาร์ลี ลอยด์ จบการแข่งขันด้วยชัยชนะของสหรัฐอเมริกา 4-2

ในการแข่งขันนัดที่สองกับทีมชาติโคลัมเบีย เป้าหมายในนัดนี้ของเธอคือการทำประตูให้ได้เพื่อทำลายสถิติภายในทีมชาติสหรัฐอเมริกาของ เมีย แฮมม์ และทิฟฟานี่ มิลเบิร์ตที่เคยทำไว้ในรายการนี้คนละ 5 ประตู ซึ่งตอนนี้สถิติของเธอเทียบเท่ากับทั้งสองคน และหากแธอทำสำเร็จก็จะเป็นประตูที่ 140 ของเธอในการเล่นทีมชาติ และนั่นจะทำให้เธอขยับเข้าใกล้สถิติโลกของ เมีย แฮมม์ ที่ทำไป 158 ประตู ในนาทีที่ 38 เลดี้ อันเรด กองกลางโคลัมเบีย วิ่งเข้ามาขวางทางวัมบัคที่กำลังวิ่งตรงไปยังกรอบเขตโทษ และสะบัดมือชกที่ใบหหน้าเธอเต็มแรงจนล้มคว่ำ แต่กรรมการไม่เห็นจังหวะนั้นจึงไม่ได้เป้าหยุดเกมส์ และกลายเป็นว่าเธอโดนเตือนเรื่องแกล้งล้มแทน ในครึ่งหลังนาทีที่ 74 เธอทำประตูที่ 2 ให้ทีมและเป็นประตูที่ 6 ในโอลิมปิกของเธอ เธอแสดงอาการดีใจด้วยการวิ่งชี้นิ้วไปที่รอยฟกช้ำสีดำใต้ตาขวาของเธอ จบเกมส์สหรัฐอเมริกาชนะ 3-0 “ฉันกำลังวิ่งไปที่ตำแหน่งของฉัน ในจังหวะที่ทีมเราได้โอกาสโต้กลับเร็วจากกลางสนาม และฉันโดนเธอดึงไปชก เหตุการณ์นี้มันชัดเจนและถูกเทปบันทึกไว้ ตอนนี้ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการโอลิมปิกและฟีฟ่าว่าจะตัดสินใจยังไง” เธอกล่าวหลังจากเกมส์จบลง ภายหลังจากตตรวจสอบเทปเรียบร้อย ทางฟีฟ่าตัดสินใจลงโทษแบน เลดี้ อันเรด สองนัด

ในรอบที่สามกับทีมชาติเกาหลีเหนือ สหรัฐอเมริกาทำได้เพียง 1 ประตูจากวัมบัค ผ่านเข้ารอบด้วยการเป็นแชมป์ของกลุ่ม นัดสี่กับทีมชาตินิวซีแลนด์ในรอบตัดเชือก วัมบัคทำประตูที่สี่ในการแข่งขันครั้งนี้ได้สำเร็จ ในรอบรองชนะเลิศกับทีมชาติแคนาดาเป็นงานที่ไม่ง่ายสำหรับทีมชาติสหรัฐอเมริกา ที่ต้องเป็นฝ่ายไล่ตีเสมอตลอดทั้งเกมส์ นาทีที่ 80 วัมบัคทำจุดโทษให้สหรัฐอเมริกาไล่ตีเสมอ 3-3 เกมส์ในช่วงต่อเวลาพิเศษต่างฝ่ายต่างทำอะไรกันไม่ได้จนกระทั่งเข้าสู่ช่วงทดเวลาบาดเจ็บ อเล็กซ์ มอร์แกนก็ทำประตูที่ 4 ให้กับทีมก่อนหมดเวลาไม่ถึง 1 นาที ส่งผลให้สหรัฐอเมริกาชนะแคนาดา 4-3 เข้าไปชิงชนะเลิศกับทีมชาติญี่ปุ่น ที่เคยทำให้พวกเธออกหักมาแล้วครั้งหนึ่งจากรายการชิงแชมป์โลก แต่ครั้งนี้พวกเธอสามารถเอาชนะทีมชาติญี่ปุ่นได้ คว้าเหรียญทองมาครองได้เป็นสมัยที่สี่ จากการแข่งขันทั้งหมดห้าครั้ง

วัมบัคทำได้ 5 ประตูในโอลิมปิกเกมส์ 2012 เธอทำประตูได้ทุกนัดยกเว้นนัดชิงกับญี่ปุ่น ความสำเร็จของเธอในครั้งนี้ทำให้เธอได้รับ รางวัลนักเตะยอดเยี่ยมฝ่ายหญิงประจำปี 2012 จากฟีฟ่า ในงานกาล่าดินเนอร์ กรุงซูริก ที่จัดขึ้นในวันที่ 13 มกราคม 2013[8]

วันที่ 20 มิถุนายน 2013 ประวัติศาสตร์หน้าใหม่กำลังจะถูกบันทึก ในสนาม เรดบลู อารีน่า ท่ามกลางแฟนบอลเกือบสองหมื่นคน เกมส์นัดกระชับมิตรกับทีมชาติเกาหลีใต้ ก่อนหน้านี้วัมบัคลงเล่นให้กับทีมชาติมาแล้ว 206 นัด และทำไป 156 ประตู เหลือเพียง 2 ลูก สถิติของเธอจะเท่ากับ เมีย แฮมม์ เจ้าของสถิติโลกและเป็นอดีตเพื่อนร่วมทีมชาติของเธอที่เลิกเล่นไปแล้ว ประตูแรกของเกมส์ เกิดขึ้นในนาทีที่ 10 ลอเรน ฮอลิเดย์ (ลอเรน เชนี่ย์) จ่ายลูกให้วัมบัค เธอพลิกหลบตัวประกบสองคนของเกาหลีใต้และยิงผ่านมือผู้รักษาประตูเข้าไป หลังจากนั้นนาทีที่ 19 ลอเรน ฮอลิเดย์ที่เลี้ยงลูกไปจนสุดเส้นหลัง ดึงบอลหลบผู้เล่นเกาหลีใต้แล้วชิพบอลไปที่หน้าประตู ก่อนที่วัมบัคจะโหม่งเข้าไปให้ทีมชาติสหรัฐอเมริกาขึ้นนำ 2-0 และเป็นประตูที่ 158 เท่ากับสถิติโลกของ เมีย แฮมม์ ที่เคยทำไว้ นาทีที่ 29 สหรัฐอเมริกาได้ลูกเตะมุม และเป็น เมแกน ราปิโน่ ที่เปิดลูกเข้าไปในกรอบเขตโทษ และเป็นวัมบัคที่โหม่งส่งลูกบอลให้ไปอยู่ก้นตาข่าย ทำลายสถิติโลกของ เมีย แฮมม์ ในเวลาไม่ถึง 30 นาที ในนาทีที่ 45 ก่อนเข้าช่วงทดเวลาบาดเจ็บ วัมบัคตัดบอลได้ที่กลางสนาม เธอส่งลูกให้ อเล็กซ์ มอร์แกน ก่อนวิ่งนำมอร์แกนเข้าไปในเขตโทษ อเล็กซ์ มอร์แกน เลี้ยงลูกจี้เข้าไปจนเกือบสุดเส้นหลังก่อนแทงบอลตัดเข้าใน ให้วัมบัควิ่งแซงตัวประกบสองคนพุ่งถึงบอลก่อนและสะกิดบอลเปลี่ยนทิศทางเข้าประตูไป จบครึ่งแรกสหรัฐอเมริกานำเกาหลีใต้ 4-0 จากการทำประตูของวัมบัคคนเดียว ก่อนที่ครึ่งหลัง คาร์ลี ลอยด์ กับ ซิดนี่ย์ เลอร์รูค ที่ถูกเปลี่ยนตัวลงมาจะทำเพิ่มอีกคนละ 1 ลูก ให้สหรัฐอเมริกาชนะไป 6-0 “ฉันไม่สามารถพูดได้ว่าฉันเก่งกว่า เมีย แฮมม์ ฉันยังชื่นชมวิธีการเล่นที่น่าทึ่งและการทำประตูของเธอเสมอ” วัมบัคกล่าวหลังจบเกมส์การแข่งขัน “ฉันภูมิใจในตัวแอ๊บบี้มาก 4 ประตูในวันนี้แสดงตัวตนของเธอได้อย่างชัดเจน เธอสู้ทุกจังหวะและไม่เคยยอมแพ้ ความแข็งแกร่งของเธอเป็นสิ่งที่กองหลังทุกคนต้องหวั่นเกรง จากการที่เราเคยร่วมทีนกัน แม้จะเป็นแค่ช่วงสั้นๆ แต่ฉันสัมผันได้ถึงความกระหายในชัยชนะของเธอ ฉันดีใจที่ได้มีส่วนร่วมกับ 158 ประตูของเธอ ถึงมันจะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่มันก็สนุกดี” แฮมม์ ที่ไปนั่งชมเกมส์ในสนามด้วยให้สัมภาษณ์กับสื่อหลังเกมส์จบลง

ฟุตบอลโลกหญิง แคนาดา 2015[แก้]

ก่อนการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งที่สี่ของเธอจะเริ่มขึ้น วัมบัคให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า ครั้งนี้จะเป็นฟุตบอลโลกครั้งสุดท้ายของเธอ

วัมบัคลงสนามนัดแรกเจอกับทีมชาติออสเตรเลียในฐานะกัปตันทีมแทน คริสตี้ แรมโพน ที่นั่งเป็นตัวสำรอง ในรอบแบ่งกลุ่มเธอลงเล่นสามนัดกับออสเตรเลีย สวีเดน และไนจีเรีย เธอทำได้เพียง 1 ประตูจากนัดเจอไนจีเรียเท่านั้น สามนัดสุดท้ายกับจีน เยอรมัน และญี่ปุ่น เธอได้เป็นเพียงตัวสำรองเท่านั้น

แรมโพน ในฐานะกัปตันทีมให้เกียรติวัมบัคด้วยการให้เธอรับถ้วยแชมป์โลกและชูมันขึ้นด้วยกัน เพื่อฉลองชัยชนะของพวกเธอที่เฝ้ารอมานานถึง 16 ปี หลังจากที่ทีมชาติสหรัฐอเมริกาเคยได้แชมป์ครั้งสุดท้ายในปี 1999

สถิติในการเล่น[แก้]

ในสโมสร[แก้]

Season Team League Apps Goals Assists
2002 Washington Freedom WUSA 19 10 10
2003 Washington Freedom WUSA 18 13 7
2009 Washington Freedom WPS 18 8 5
2010 Washington Freedom WPS 23 13 8
2011 magicJack WPS 13 9 2
2013 Western New York Flash NWSL 18 11 8
2014 Western New York Flash NWSL 10 6 4

ในทีมชาติ[แก้]

รายละเอียด List of international goals scored by Abby Wambach ในทีมชาติเธอลงเล่น 256 นัด และทำไป 184 ประตู เป็นสถิติโลกของการทำประตูสูงที่สุดในทีมชาติทั้งทีมชายและทีมหญิง

การลงเล่นในฟุตบอลโลกและโอลิมปิก[แก้]

วัมบัคลงเล่นในฟุตบอลโลกสี่ครั้ง ครั้งแรกปี 2003 ที่สหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าภาพ ครั้งที่สองปี 2007 ที่ประเทศจีนเป็นเจ้าภาพ ครั้งที่สามปี 2011 ที่ประเทศเยอรมันเป็นเจ้าภาพ และครั้งที่สี่ปี 2015 ที่ประเทศแคนาดาเป็นเจ้าภาพ เธอลงเล่นในโอลิมปิกสองครั้ง ครั้งแรกปี 2004 กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ครั้งที่สองปี 2012 กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ รวมทั้งสองรายการเธอลงเล่น 36 นัด ทำไป 22 ประตู ได้ สองเหรียญทองจากโอลิมปิกและแชมป์โลกหนึ่งสมัย

Goal Match Date Location Opponent Lineup Min Assist/pass Score Result Competition
ฟุตบอลโลกหญิง 2003
1 21-09-2003 วอชิงตัน สวีเดน ออก 46 (เข้า มิลเบิร์ต) 3-1 (W) Group stage
1 2 25-09-2003 ฟิลาเดลเฟีย ไนจีเรีย เข้า 45 (ออก มิลเบิร์ต) 65 คริสติน ลิลลี่ 4-0 5-0 (W) Group stage
2 3 28-09-2003 โคลัมบัส เกาหลีเหนือ ออก 56 (เข้า แมคมินเลี่ยน) 17 จุดโทษ 3-0 3-0 (W) Group stage
3 4 01-10-2003 ฟอคโบโร นอร์เวย์ เริ่ม 24 แคท เรดดิกค์ 1-0 1-0 (W) Quarter-final
5 05-10-2003 พอร์ตแลนด์ เยอรมัน เริ่ม 0-3 (L) Semifinal
6 11-10-2003 คาร์สัน แคนาดา เริ่ม 3-1 (W) Third place match
โอลิมปิกเกมส์ 2004
4 7 11-08-2004 ฮีราคลีออน กรีซ ออก 79 (เข้า พาร์โลว์) 30 เคท มาร์คเกรฟ 1-0 3-0 (W) Group stage
5 8 14-08-2004 เทสซาโลนีกี บราซิล เริ่ม 77 ลินเซย์ ทาร์พลีย์ 2-0 2-0 (W) Group stage
6 9 20-08-2004 เทสซาโลนีกี ญี่ปุ่น เริ่ม 59 แชนนอน บอคค์ 2-1 2-1 (W) Quarter-final
10 23-08-2004 ฮีราคลีออน เยอรมัน เริ่ม 2-1 aet (W) Semifinal
7 11 26-08-2004 ไพรีอัส บราซิล เริ่ม 112 คริสติน ลิลลี่ 2-1 2-1 aet (W) Gold medal match
ฟุตบอลโลกหญิง 2007
8 12 14-09-2009 เสฉวน เกาหลีเหนือ เริ่ม 50 คริสติน ลิลลี่ 1-0 2-2 (D) Group stage
9 13 18-09-2009 เสฉวน สวีเดน เริ่ม 34 จุดโทษ 1-0 2-0 (W) Group stage
10 58 คริสติน ลิลลี่ 2-0
14 22-09-2009 เซี่ยงไฮ้ ไนจีเรีย เริ่ม 1-0 (W) Group stage
11 15 27-09-2009 เทียนจิน อังกฤษ ออก 86 (เข้า ไค) 48 คริสติน ลิลลี่ 1-0 3-0 (W) Quarter-final
16 30-09-2009 เจ้อเจียง บราซิล เริ่ม 0-4 (L) Semifinal
12 17 11 ก.ย. 2009 เซี่ยงไฮ้ นอร์เวย์ เริ่ม 30 โลริ ชาลุปนี่ 1-0 4-1 (W) Third place match
13 46 แคท ไวท์ฮิลล์ 2-0
ฟุตบอลโลกหญิง 2011
18 28-06-2011 เดรสเดิน เกาหลีเหนือ เริ่ม 2-0 (W) Group stage
19 02-07-2011 ซินส์ไฮม์ โคลัมเบีย เริ่ม 3-0 (W) Group stage
14 20 06-07-2011 ว็อลฟส์บูร์ก สวีเดน เริ่ม 67 ลอเรน เชนีย์ 2-1 2-1 (W) Group stage
15 21 10-07-2011 เดรสเดิน บราซิล เริ่ม 120+2 เมแกน ราปิโน่ 2-2 2-2(pso 5-3) W Quarter-final
16 22 13-07-2011 เมินเชนกลัดบัค ฝรั่งเศส เริ่ม 79 ลอเรน เชนีย์ 2-1 2-1 (W) Semifinal
17 23 17-07-2011 แฟรงก์เฟิร์ต ญี่ปุ่น เริ่ม 104 อเล็กซ์ มอร์แกน 2-1 2-2(pso 1-3) L Final
โอลิมปิกเกมส์ 2012
18 24 25-07-2012 กลาสโกว์ ฝรั่งเศส เริ่ม 19 เมแกน ราปิโน่ 1-2 4-2 (W) Group stage
19 25 28-07-2012 กลาสโกว์ โคลัมเบีย ออก 78 (เข้า เลอร์รูค) 74 โทบิน ฮีท 2-0 3-0 (W) Group stage
20 26 31-07-2012 แมนเชสเตอร์ เกาหลีเหนือ เริ่ม 25 อเล็กซ์ มอร์แกน 1-0 1-0 (W) Group stage
21 27 03-08-2012 นิวคาสเซิล นิวซีแลนด์ เริ่ม 27 อเล็กซ์ มอร์แกน 1-0 2-0 (W) Quarter-final
22 28 06-08-2012 แมนเชสเตอร์ แคนาดา เริ่ม 80 จุดโทษ 3-3 4-3 aet (W) Semifinal
29 09-08-2012 ลอนดอน ญี่ปุ่น เริ่ม 2-1 (W) Gold medal match
ฟุตบอลโลกหญิง 2015
30 08-06-2015 วินนิเพก ออสเตรเลีย เริ่ม 3-1 (W) Group stage
31 12-06-2015 วินนิเพก สวีเดน ออก 68 (เข้า เพรส) 0-0 (D) Group stage
23 32 16-06-2015 แวนคูเวอร์ ไนจีเรีย เริ่ม 45 เมแกน ราปิโน่ 1-0 1-0 (W) Group stage
33 22-06-2015 เอดมันตัน โคลัมเบีย ออก 69 (เข้า ไบรอัน) 2-0 (W) Round of 16
34 26-06-2015 ออตตาวา จีน เข้า 86 (ออก โรสริเกรซ) 1-0 (W) Quarter-final
35 30-06-2015 มอนทรีออล เยอรมัน เข้า 80 (ออก ราปิโน่) 2-0 (W) Semifinal
36 05-07-2015 แวนคูเวอร์ ญุี่ปุ่น เข้า 79 (ออก ฮีท) 5-2 (W) Final

รางวัลที่ได้รับ[แก้]

วัมบัคได้รับรางวัลนักฟุตบอลยอดเยี่ยมแห่งปีของสหพันธ์ฟุตบอลสหรัฐอเมริกา 6 ครั้ง (ปี 2003, 2004, 2007, 2010, 2011, 2013) ปี 2002 ได้รับรางวัลนักเตะหน้าใหม่ยอดเยี่ยมของ WUSA จากการเล่นอาชีพเป็นปีแรกของเธอในปี 2001 พร้อมกับผลงานในลีคที่ยอดเยี่ยมสำหรับนักเตะหน้าใหม่

ปี 2011 ในการแข่งขันฟุตบอลโลก เธอได้รับรางวัลรองเท้าทองแดงและลูกบอลเงินจากฟีฟ่า และได้รับรางวัลนักกีฬาหญิงแห่งปีของ ESPY จากการทำประตูในนาทีที่ 122 ในการเจอกับทีมชาติบราซิลรอบ 16 ทีมสุดท้ายฟุตบอลโลก ภายในปีเดียวกันเธอได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลจากมูลนิธินักกีฬาหญิง และได้รับรางวัลนักกีฬายอดเยี่บมแห่งปีถือเป็นนักฟุตบอลคนแรกที่ได้รับรางวัลนี้

ในปี 2012 วัมบัคได้รับรางวัลนักเตะยอดเยี่ยมจากฟีฟ่า เป็นคนอเมริกาคนแรกในรอบสิบปีที่ได้รับรางวัลนี้ หลังจากที่ เมีย แฮมม์ เคยได้รับในปี 2001 และปี 2002 ระหว่างกล่าวสุนทรพจน์เธอกล่าวขอบคุณแบลตเตอร์ประธานฟีฟ่าและครอบครัวของเธอร่วมทั้งทีมงานและเพื่อนร่วมทีมของเธอ

ในเดือนกรกฏาคม 2011 นายกเทศมนตรีของรอเชตเตอร์ กรุงนิวยอร์ก ประกาศให้วันที่ 20 กรกฏาคม เป็นวัน แอ๊บบี้ วัมบัค ในปีต่อมา 2012 หลังจากที่เธอคว้าเหรียญทองโอลิมปิกกลับมาได้สำเร็จ เกมส์นัดกระชับมิตรนัดแรกหลังกลับจากลอนดอนถูกจัดขึ้นที่เมืองรอเชสเตอร์บ้านเกิดของเธอ ทางเมืองได้ให้เกียรติเธอตัดริบบิ้นเปิดถนนทางเข้าสนามกีฬาซาเลน และตั้งชื่อให้กับถนนเส้นนี้ว่า วัมบัค เวย์

ชีวิตส่วนตัว[แก้]

วัมบัคอาศัยอยู่ในเมืองพอร์ตแลนด์ เธอมีสุนัขคู่ใจหนึ่งตัวพันธุ์บลูด๊อกชื่อคิงตั้น วันที่ 5 ตุลาคม 2013 เธอเข้าพิธีแต่งงานในฮาวายกับ ซาร่า ฮัฟฟ์แมน แฟนสาวที่คบหาดูใจกันมานาน สื่อต่างให้ความสนใจการแต่งงานของเธอ และพุ่งเป้าไปที่ประเด็นทางการเมืองหรือเป็นตัวแทนจากกลุ่มคนรักร่วมเพศ ที่ต้องการให้การแต่งงานของคนในเพศเดียวกันเป็นเรื่องถูกกฏหมาย “ฉันไม่สามารถพูดแทนคนอื่นได้ แต่สำหรับฉัน ฉันรู้สึกเหมือนเป็นวันที่คุณต้องการออกมาจากการซ่อนตัวอยู่ในตู้เสื้อผ้า แต่ฉันไม่เคยรู้สึกเหมือนต้องซ่อนตัวเอง ฉันรู้สึกสบายใจที่ฉันรู้ว่าตัวเองเป็นใครและกำลังทำอะไร” เธอให้สัมภาษณ์เพื่อยุติคำวิจารณ์ของสื่อต่างๆ

พรีเซ็นเตอร์โฆษณา[แก้]

วัมบัคได้ตกลงเซ็นสัญญาเป็นพรีเซ็นเตอร์โฆษณากับเกเตอเรด ไนกี้ เอ็มวีพีเฮลธ์แคร์และพานาโซนิค ในปี 2010 เธอได้ไปงานเปิดตัวรถดอดจ์กับเพื่อนร่วมทีมบางส่วน ในเดือนกรกฏาคม 2011 ตกลงเซ็นสัญญากับธนาคารอเมริกาเป็นเวลาหนึ่งปี และมีโฆษณาทีม majicJack ต้นสังกัดเธอทางสื่อโทรศัพท์ ปี 2012 มีโฆษณาเปิดตัวบริการทางโทรศัพท์ของ ESPN สปอร์ตเซ็นเตอร์ทางสื่อโทรทัศน์ ในปี 2013 เธอได้รับบัตรทองจาก ชิโปเล เม็กซิกัน กริลล์ ให้สิทธิ์เธอกินเบอริโต้กับเพื่อนฟรีตลอดชีวิต แม้จะไม่มีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการ แต่เป็นที่รู้กันดีว่าชิโปเลมักมอบสิทธิ์นี้ให้กับนักกีฬาที่มีชื่อเสียงเพื่อโปรโมตร้านของตน ปี 2015 เธอลงนามเซ็ญสัญญากับทางแอปเปิ้ล นิวยอร์ก และมีโฆษณาของหลอดไฟ LED CREE ทางสื่อโทรทัศน์

งานด้านสังคม[แก้]

วัมบัคได้ทำการงานกุศลกับมูลนิธิโรคลมชักและมูลนิธิวิจัยโรคเบาหวานในเด็กและเยาวชน เธอตอบรับคำชวนของเมีย แฮมม์ เข้าร่วมแข่งขันฟุตบอลรวมดาราเพื่อหาเงินมอบให้โรงพยาบาลเด็กลอสแองเจลิสและมูลนิธิ เมีย แฮมม์ ซึ่งจัดทุกปี ในเดือนสิงหาคม 2011 วัมบัค อเล็กซ์ มอร์แกน และ โฮป โซโล ได้เข้าร่วมแคมเปญ ชิคาโก้มาราธอน ของธนาคารอเมริกา และได้บริจาคเงิน 5,000 ดอลลาร์ให้กับสมาคมโรคเบาหวานในเด็กและเยาวชนในนามของเธอ ในปี 2013 เธอกลายเป็นทูตของ Athlete Ally ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรและมุ่งเน้นไปที่การทำให้คนที่ไม่ชอบโฮโมและทรานส์อย่างรุนแรงในวงการกีฬาสิ้นสุดลง

การปรากฏตัวในสื่อ[แก้]

โทรทัศน์[แก้]

วัมบัคได้ปรากฏตัวในหนังสารคดีเรื่อง Dare to Dream: The Story of the U.S. Women's Soccer Team. ของช่อง HBO ไปออกรายการให้สัมภาษณ์ตามสื่อโทรทัศน์ต่างๆ รายการToday Show รายการLate Show with David Letterman รายการThe Daily Show with Jon Stewart Good Morning America และรายการ In the Game ทางช่อง ESPN ในเดือนมิถุนายนปี 2012

ปี 2013 มีหนังสารคดีชีวประวัติของเธอทางช่อง ESPN ของ SEC Storied ชื่อตอน Abby Head On ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ชมพอสมควร ในปีเดียวกันเธอปรากฏตัวในสารคดี Nine for IX ชื่อตอน The 99ers ทางช่อง ESPN เช่นกัน สารคดีชุดนี้เน้นไปที่ความสำเร็จของทีมฟุตบอลหญิงที่ได้แชมป์โลกในปี 1999 เป็นหลัก

ปี 2015 เธอกับ อเล็กซ์ มอร์แกน ปรากฏตัวในรายการ American Idol ในวันประกาศผลผู้ชนะประจำซีซั่น เพื่อโปรโมตการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกหญิง 2015 ที่ช่อง FOX SPORT จะถ่ายทอดสดให้ชมทุกนัด

นิตยสาร[แก้]

วัมบัคถ่ายแบบใน The Body Issue ของนิตยสาร ESPN The Magazine ในปี 2012 เธอบอกเล่าถึงประสบการณ์ครั้งนี้ว่า “ทรวดทรง รูปร่าง และขนาดตัวของฉันแตกต่างจากผู้หญิงส่วนใหญ่เยอะมากๆ แต่ฉันอยากจะบอกว่าไม่ว่าคุณจะเป็นใคร รูปร่างของคุณจะเป็นยังไงมันคือสิ่งสวยงาม”

อ้างอิง[แก้]

  1. [1] The 100 Most Influential People 2015 100 ผู้ทรงอิทธิพลประจำปี 2015
  2. [2] Abby Wambach announces retirement ข่าวการประกาศอำลาทีมชาติของวัมบัคจาก ESPN
  3. [3] Abby Wambach to coach magicJack ESPN เสนอข่าวการคุมทีมเมจิกแจคของวัมบัค
  4. [4] Abby Wambach to skip NWSL season จาก ESPN
  5. [5] Five biggest goals in U.S. history โดย ESPN
  6. [6] Wambach injury mars U.S. win over Brazil ข่าวอาการบาดเจ็บระหว่างแข่งขันของวัมบัค จาก NBC
  7. [7] ESPN ESPY Awards 2011: News, Predictions and Winners from the Big Night
  8. [8] Wambach named 2012 Fifa Women's World Player of the Year โดย แพทริค จีสัน