ผู้ใช้:Hnooma/กระบะทราย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แมงดาทะเล
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: ออร์โดวิเชียน–ปัจจุบัน
แมงดาญี่ปุ่น (Tachypleus tridentatus) ที่อ่าวหะล็อง
การผสมพันธุ์ของแมงดาทะเล
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Arthropoda
ไฟลัมย่อย: Chelicerata
ชั้น: Merostomata[1]
สกุล

บทนำ[แก้]

แมงดาทะเล หรือ แมงดา (อังกฤษ: Horseshoe crab) จัดอยู่ในประเภทสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง อยู่ในไฟลัมอาร์โธรพอด โดยที่ไม่ใช่ครัสตาเซียน แต่เป็นเมอโรสโทมาทา อยู่ในอันดับ Xiphosura และวงศ์ Limulidae

ลักษณะทั่วไป[แก้]

แมงดาทะเล แบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน ดังนี้ [2]

  • ส่วนแรก เป็นส่วนของหัวและอกที่เชื่อมติดกัน เรียกว่า Cephalothorax หรือ Prosoma ซึ่งส่วนนี้จัดเป็นส่วนที่เป็นกระดองซึ่งเป็นเปลือกแข็งที่ห่อหุ้มลำตัว ลักษณะคล้ายรูปเกือกม้า โดยจะมีสันที่บริเวณด้านข้างตามความยาวของกระดอง นอกจากนี้ส่วนแรกของแมงดาทะเลยังเป็นส่วนที่มีรยางค์ 8 คู่ ซึ่งมีลักษณะรูปร่างที่แตกต่างกันไปตามหน้าที่การใช้งาน โดยคู่ที่ 1 ไม่เจริญ คู่ที่ 2 เป็นก้ามหนีบ มีขนาดเล็ก อยู่บริเวณด้านหน้าของปาก (chelicerea) คู่ที่ 3-6 เป็นรยางค์ขา ใช้สำหรับการเดิน ซึ่งส่วนปลายขาเดินจะเป็นก้ามหนีบ และมีหนามเล็ก ๆ อยู่เพื่อช่วยในการบดอาหาร ส่วนคู่ที่ 7 เป็นขาเดิน ที่มีหน้าที่ทำความสะอาดเหงือก และบริเวณปลายของรยางค์คู่นี้จะแยกออกเป็นสี่แฉก ไม่เป็นก้ามหนีบเหมือนกับขาเดินคู่อื่น ๆ มีหน้าที่สำหรับดันพุ้ยดินไปข้างหลังเพื่อฝังตัวในพื้น และรยางค์คู่สุดท้ายหรือคู่ที่ 8 อยู่บริเวณอก ซึ่งลดขนาดลง เรียกว่า "ชิลาเรีย" (Chilaria)
  • ส่วนที่สอง เป็นส่วนท้อง (abdomen) มีลักษณะเป็นรูปทรงหกเหลี่ยม บริเวณด้านข้างมีหนาม 6 คู่ ส่วนท้องมีรยางค์ 6 คู่ ซึ่งมีลักษณะเป็นแผ่นแบน คู่แรกเป็น "แผ่นปิดเหงือก" (Gill Operculum) ทำหน้าที่ป้องกันอันตรายให้กับเหงือก และบริเวณฐานมีช่องสืบพันธุ์ (Genital Pore) 1 คู่ อีก 5 คู่ถัดไปเป็น "เหงือก" (Gill Book) ที่มีรอยพับเป็นริ้ว ๆ ประมาณ 150 ริ้ว เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนก๊าซ
  • ส่วนที่สาม เป็นส่วนของหางที่มีความแข็งและยาว ส่วนปลายเรียวแหลม มีเอ็นแข็งแรงยึดไว้ เพื่อใช้สำหรับการงอตัวหรือฝังตัวลงไปในดิน หรือใช้ในกรณีที่ต้องการอยู่นิ่งกับที่ในทะเลโดยการใช้หางปักลงกับพื้น และยังสามารถใช้ในการพลิกตัวจากการหงายท้อง รวมทั้งใช้เป็นอาวุธป้องกันศัตรูได้อีกด้วย

วงจรชีวิต[แก้]

ในช่วงฤดูร้อน ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ - เดือนกันยายน ของทุกปี แมงดาทะเลจะขึ้นมาวางไข่บนบกตามแนวชายหาด ในวันที่มีน้ำทะเลขึ้นสูงสุด 2-3 วัน โดยตัวผู้จะเกาะบนหลังเพศเมียโดยการใช้ตะขอเกี่ยวตัวเมียเอาไว้ตลอดฤดูการผสมพันธุ์ แมงดาทะเลเพศเมียจะใช้ขาคู่ที่ 6 ในการขุดทรายเพื่อใช้ในการวางไข่ซึ่งมีจำนวนหลายร้อยฟอง แล้วตัวผู้จะปล่อยน้ำเชื้อผสมกับไข่ในหลุมทันที จากนั้นตัวเมียจึงทำการกลบไข่ด้วยทรายและโคลนตามเดิม เมื่อไข่แมงดาทะเลได้รับการปฏิสนธิ เวลาผ่านไปประมาณ 14 วัน [3] เปลือกไข่ก็จะแตกออกโดยการได้รับแรงเสียดสีของเม็ดทราย ลูกแมงดาที่ฟักตัวออกมามีลักษณะเหมือนพ่อแม่ จากนั้นในช่วงการเจริญเติบโตตัวอ่อนแมงดาทะเลจะล่องลอยตามกระแสน้ำ และกว่าจะถึงระยะตัวเต็มวัย ตัวอ่อนแมงดาทะเลต้องมีการลอกคราบหลายครั้งด้วยกัน และอัตราการลอกคราบก็จะลดลงเมื่อโตเต็มวัย อาจจะเป็น 10-20 ปีต่อครั้ง ซึ่งแมงดาทะเลที่โตเต็มที่จะมีอายุประมาณ 9-12 ปี จึงมีความพร้อมที่จะสามารถสืบพันธุ์และวางไข่ได้ โดยเพศเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าเพศผู้ [4]

จำนวนชนิด[แก้]

ทั่วโลกมีแมงดาทะเลมีทั้งหมด 4 ชนิด ใน 3 สกุล แต่พบในประเทศไทย 2 ชนิด [5] คือ แมงดาถ้วย (Carcinoscorpius rotundicauda) และแมงดาจาน (Tachypleus gigas)

  • สกุล Carcinoscorpius
    • แมงดาถ้วย หรือ แมงดาหางกลม (Carcinoscorpius rotundicauda) พบในอินเดีย จนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(ประเทศไทย)และเอเชียตะวันออก รวมทั้งอเมริกาเหนือและอเมริกากลาง [6]
  • สกุล Limulus
    • แมงดาแอตแลนติก (Limulus polyphemus) พบตามชายฝั่งทางตะวันตกเหนือและในอ่าวเม็กซิโก
  • สกุล Tachypleus
    • แมงดาจาน หรือ แมงดาหางเหลี่ยม (Tachypleus gigas) พบในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ประเทศไทย)
    • แมงดาญี่ปุ่น หรือ แมงดาจีน (Tachypleus tridentatus) พบตามชายฝั่งเอเชียตะวันออก

ความสัมพันธ์เชิงวิวัฒนาการของแมงดาทะเลและญาติ[แก้]

แมงดาทะเลจัดอยู่ในอันดับไซฟอซูรา(Xiphosura) ซึงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกลุ่มของแมงมุมและแมงป่อง (Arachnida) [7] ลักษณะที่มีร่วมกันคือการไม่มีกราม (mandible) และไม่มีหนวด (antenna) ลำตัวแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ เซฟาโลทอแรกซ์ (cephalothorax) และส่วนท้อง (abdomen) มีระยางค์ 6 คู่ ประกอบด้วยระยางคู่แรกเป็นระยางค์หนีบ (chelicerae) ระยางค์คู่ที่ 2 คือ เพดิพาลพ์ (pedipalp) ช่วยในการฉีกอาหาร ระยางค์อีก 4 คู่ เป็นขาเดิน [8]

การปรับตัวเชิงวิวัฒนาการของแมงดาทะเล[แก้]

แมงดาทะเลเป็นสิ่งมีชีวิตแรกที่ได้ขึ้นจากน้ำมาเพื่อวางไข่บนบกซึ่งได้วิวัฒนาการมาเป็นแมลงจนถึงปัจจุบัน ถือว่าเป็นฟอสซิลมีชีวิตอีกจำพวกหนึ่งในโลก แมงดาทะเลในยุคก่อนประวัติศาสตร์มีรูปร่างหน้าตาไม่แตกต่างจากแมงดาทะเลในยุคปัจจุบันเท่าไหร่นัก[9] ทั้งนี้เนื่องจากโครงสร้างร่างกายของแมงดาทะเลมีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่อาศัยอยู่จึงไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างเท่าไหร่นัก

  • กระดอง (carapace) เป็นโครงสร้างแข็งภายนอกที่ปกคลุมร่างกายส่วนด้านหลัง ซึ่งสามารถป้องกันจากศัตรูได้ในส่วนหนึ่ง แม่จะไม่สามารถป้องกันจากศัตรูขนาดใหญ่ แต่เนื่องจากแมงดาทะเลชอบอาศัยตามพื้นท้องน้ำ จึงมักจะเจอกับศัตรูขนาดเล็กตามแหล่งที่แมงดาทะเลอาศัยอยู่ ดังนั้น กระดองจึงสามารถเป็นเกราะป้องกันตัวให้กับแมงดาทะเลได้ [10]
  • การวางไข่ แมงดาทะเลมีการวางไข่ในปริมาณหลายร้อยฟอง และมีการปฏิสนธิภายนอกระหว่างไข่ของเพศเมียและน้ำเชื้อจากเพศผู้ก่อนฝังกลบลงในหลุมทราย ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสให้ไข่ทุกฟองได้รับการปฏิสนธิ นอกจากนี้ยังพบว่าไข่ของแมงดาทะเลมีไข่แดงที่ล้อมรอบด้วยไซโตพลาซึม (Cytoplasm) ทำให้ไข่สามารถทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทั้งการเปลี่ยนแปลงด้านความเค็ม และความชื้นได้อีกด้วย [11]
  • ระบบภูมิคุ้มกัน แมงดาทะเลไม่มีแอนติบอดี้ในการป้องกันเชื้อโรคต่างๆ ดังนั้นแมงดาทะเลมีการตอบสนองของภูมิคุ้มกันแบบดั้งเดิม (primitive immune) โดยในส่วนของเลือดที่มีสีน้ำเงินซึ่งมีส่วนประกอบของทองแดงจำนวนมาก โดยเลือดของแมงดาทะเลมีความสามารถในการตรวจจับเชื้อโรคต่างๆที่เข้าไปภายในร่างกาย โดยพบว่าเลือดของแมงดาทะเลมีความไวต่อแบคทีเรียแกรมลบ เมื่อมีเชื้อโรคเข้ามาในร่างกายเลือดแมงดาทะเลจะเกิดการจับตัวเป็นลิ่ม เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคทำอันตรายกับระบบอื่นๆในร่างกาย ซึ่งเป็นไปการสัณนิษฐานที่ว่าแมงดาทะเลมีอายุยาวจากการอยู่รอดในแหล่งที่อยู่อาศัยที่มีแบคทีเรียจำนวนมาก[12]

ประโยชน์ของแมงดาทะเล[แก้]

นอกจากจะมีประโยนช์ในการเป็นอาหารของมนุษย์แล้วยังพบว่า แมงดาทะเลมีเลือดที่เป็นสีน้ำเงิน (hemocyanin) เนื่องจากมีทองแดงผสมอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งถูกนำมาใช้ประโยชน์ในวงการแพทย์ โดยการใช้เลือดแมงดาทะเลไปสกัดเป็นสารที่เรียกว่า Limulus amoebocyte lysate (LAL) ในการตรวจหาเชื้อแบคทีเรียที่เป็นอันตรายที่อาจจะปนเปื้อนในวัคซีน หรือในอุปกรณ์การแพทย์ต่างๆ ซึ่งหากมีจุลชีพก่อโรคแม้เพียงหนึ่งในล้านส่วน โปรตีนที่สกัดได้จากเลือดแมงดาทะเลจะเกิดการจับตัวกันเป็นก้อนทันที [13] และในปัจจุบันพบว่ามีการนำไปผสมลงในวัคซีนในการฉีดยาต่าง ๆ ด้วย [14]

ความสำคัญต่อระบบนิเวศ[แก้]

บริเวณชายฝั่งทางตะวันออกของสหรัฐอเมริกาพบว่าไข่ของแมงดาทะเลเป็นอาหารของนกที่บินอพยพเข้ามาในบริเวณดังกล่าวซึ่งตรงกับช่วงที่แมงดาทะเลเข้ามาวางไข่เป็นจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นการควบคุมสมดุลของประชากร เพราะถ้าไม่มีไข่แมงดาทะเล นกอพยพก็จะไม่มีอาหารจำนวนนกก็จะน้อยลงไปด้วย แต่ถ้าไข่แมงดาทะเลมีเป็นจำนวนมาก นกอพยพก็จะมีอาหารและมีจำนวนเพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังพบว่าไข่ของแมงดาทะเลยังเป็นอาหารของปลาอีกหลายชนิดอีกด้วย[15]



อ้างอิง[แก้]

  1. "Integrated Taxonomic Information System". ITIS.gov, this taxonomy also concurs with the Global Biodiversity Information Facility: http://www.europe.gbif.net/portal/ecat_browser.jsp?taxonKey=513239&countryKey=0&resourceKey=0 and with horseshoecrab.org. สืบค้นเมื่อ 2007-02-28. {{cite web}}: แหล่งข้อมูลอื่นใน |publisher= (help)
  2. [1]
  3. [ http://tolweb.org/treehouses/?treehouse_id=4861]
  4. [2]
  5. อารมณ์ มุจจินทร์,หรรษานานาสัตว์,วารสาร อพวช. มีนาคม 2551 หน้า 52
  6. [3]
  7. [4]
  8. [ http://coursewares.mju.ac.th:81/e-learning47/section2/bi220/content/chap10/chap105.htm]
  9. แมงดาทะเล
  10. [ http://animals.pawnation.com/horseshoe-crab-adaptations-helped-survive-7795.html]
  11. [5]
  12. [ http://animals.pawnation.com/horseshoe-crab-adaptations-helped-survive-7795.html]
  13. [6]
  14. การตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้อราและโรคติดเชื้อ แอสเปอร์จิลลัส แบบลุกลามในระยะแรก
  15. [7]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]