ผู้ใช้:นายธนากรณ์ พงษ์ภักดี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ประวัติชีวิต[แก้]

พระราชอุดมมงคล (วิสิทธิ์ นนฺทิโย ป.ธ.๕)[แก้]

เจ้าอาวาสวัดภคินีนาถ วรวิหาร (อดีตเจ้าคณะอำเภอปากเกร็ด)[แก้]

ชาติภูมิ

           พระราชอุดมมงคล (วิสิทธิ์ นนฺทิโย ป.ธ.๕)

เกิดเมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๔๖๕ ตรงกับวันเสาร์ ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีจอ ณ บ้านเลขที่ ๑๖ ต.อ้อมเกร็ด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี

พระราชอุดมมงคล (วิสิทธิ์ นนฺทิโย ป.ธ.๕)

โยมบิดาชื่อนายแก้ว ขวัญเมือง โยมมารดาชื่อนางเจ็ก ขวัญเมือง มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๓  คน คือ

   ๑.นางเจียน โฉมโต (ขวัญเมือง)

   ๒.พระราชอุดมมงคล (วิสิทธิ์ ขวัญเมือง)

   ๓.นายจิต ขวัญเมือง

พ.ศ. ๒๔๗๗  สำเร็จการศึกษาชั้นประถมบริบูรณ์โรงเรียนบางบัวทอง

                      อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

         พ.ศ. ๒๔๘๖  สอบได้นักธรรมชั้นเอก สำนักเรียนวัดภคินีนาถ

     อำเภอบางกอกน้อย จังหวัดธนบุรี

         พ.ศ. ๒๕๐๐  สอบได้เปรียญธรรม ๕ ประโยค สำนักเรียนวัดภคินีนาถ

         พ.ศ. ๒๕๐๓  สอบได้ประกาศนียบัตรครูประถม (พ.ป.) ความรู้พิเศษ สำเร็จวิชาพิมพ์

ดีดภาษาไทย ความชำนาญการ มีความชำนาญในด้านการก่อสร้างและ

คำนวณ

         พ.ศ. ๒๕๐๗  เป็นเจ้าอาวาสวัดกลางเกร็ด

         พ.ศ. ๒๕๐๘  เป็นเจ้าคณะตำบลปากเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

     และเป็นพระกรรมวาจาจารย์

         พ.ศ. ๒๕๑๕  เป็นพระอุปัชฌาย์

         พ.ศ. ๒๕๒๔  เป็นเจ้าคณะอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

         พ.ศ. ๒๕๕๑  เป็นเจ้าอาวาสวัดภคินีนาถ วรวิหาร แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด

                        กรุงเทพมหานคร จนถึงปัจจุบัน

         พ.ศ. ๒๕๕๑  ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ

                        ที่ พระมงคลสิทธิญาณ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๑

         พ.ศ. ๒๕๕๘ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ

                        ชั้นราชที่ พระราชอุดมมงคล ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๘

ชีวิตในวัยเยาว์จวบจนเข้าบรรพชา[แก้]

           ชีวิตในวัยเด็ก ข้าพเจ้าเป็นลูกชาวนามีพ่อแม่ ประกอบอาชีพทำนา จำได้ว่าเมื่อข้าพเจ้าอายุได้ ๕-๖ ขวบ ข้าพเจ้ามีความสนิทกับพี่ชายซึ่งเป็นญาติลูกผู้พี่ผู้น้อง ครั้งหนึ่งพี่ชายไปเป็นเด็กวัดสิงห์ทอง เพื่อช่วยงานพระ ถือบาตร ทำความสะอาดวัด ข้าพเจ้าก็ตามไปด้วย วันนั้นเป็นวันตรุษสงกรานต์ สมัยนั้นต่างจังหวัดเขาทำบุญกัน ๓ วัน เพราะถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยเรา มีคนมาทำบุญกันเยอะ วันนั้นข้าพเจ้าเพลิดเพลินสนุกสนานเพราะมีเพื่อนเล่นและมีข้าวปลาอาหารขนมนมเนยเยอะเพราะคนมาทำบุญกันในวันตรุษสงกรานต์ พระท่านฉันไม่หมด จึงมอบให้ญาติโยม เลี้ยงดูกัน ข้าพเจ้าก็เลยได้อานิสงส์กินข้าววัดจนอิ่ม รู้สึกได้ว่ามีความสุข และสนุกกับเพื่อนๆเลยอยู่ที่วัดกับพี่ชายจนเย็น พระท่านถามว่าไม่กลับบ้านเหรอ เย็นแล้ว ข้าพเจ้าตอบว่าไม่กลับครับ พระท่านพูดว่า เอ๊ะ พ่อแม่ปล่อยจังนะอายุยังน้อย แล้วพระท่านบอกให้กลับบ้านก่อน พรุ่งนี้ค่อยมาใหม่ ข้าพเจ้าตอบว่า จะอยู่กับพี่ชาย พระท่านจึงพูดว่า ถ้าอย่างนั้นก็เป็นลูกศิษย์วัดเลยนะ สรุปว่าคืนนั้น ข้าพเจ้าอยู่ที่วัดกับพี่ชายแล้วอยู่เป็นเด็กวัดเรื่อยมาถึง ๓ เดือน ต่อมาพี่ชายได้ไปบวชพระอยู่ที่วัดบางบัวทอง ด้วยความสนิท ข้าพเจ้าจึงตามไปเป็นลูกศิษย์ของหลวงพี่อีก(พี่ชาย) โยมยายของข้าพเจ้าถามว่า “อยากเป็นเด็กวัดหรือลูก” ข้าพเจ้าตอบว่า ครับ ด้วยความมั่นอกมั่นใจ ยายถามต่อว่า “จะอยู่ได้หรือลูก” ได้ครับ อยู่วัด “ไม่ได้วิ่งเล่นนะต้องเรียนหนังสือนะ” ครับ ข้าพเจ้าตอบด้วยความมั่นใจอีกครั้ง โยมยายจึงพาข้าพเจ้าเข้าไปกราบหลวงปู่สิน ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดบางบัวทองในขณะนั้นแล้วมอบถวายให้เป็นลูกศิษย์วัด ข้าพเจ้าจึงได้เป็นลูกศิษย์วัดเต็มตัวตั้งแต่วันนั้น เมื่ออยู่วัดข้าพเจ้าก็ได้เรียนหนังสือ ความจริงข้าพเจ้าได้เรียน กอ ขอ กอ กา ตั้งแต่อยู่วัดสิงห์ทองบ้างแล้ว พอมาอยู่วัดบางบัวทองในสมัยนั้น โรงเรียนรัฐบาลยังไม่มี มีแต่โรงเรียนวัดเรียนบนศาลาวัด  มีพระเป็นครูสอนหนังสือ โดยมีกระดานชนวน เป็นสื่อการสอน สอนภาษาไทย ฝึกให้เขียนตัวอักษร พยัญชนะเสียงสูง เสียงต่ำ การผัน การประสมอักษร และตัวสะกดการันต์ ฝึกให้อ่านหนังสือแบบเรียนหลวง มูลบทบรรพกิจ การเรียนหนังสือโรงเรียนวัดนอกจากพระเป็นครูสอนแล้ว ยังมีหม่อมหลวงผึ้ง ท่านเป็นคนกรุงเทพ เดิมอยู่แถวเสาชิงช้า ท่านย้ายครอบครัวไปอยู่บางบัวทองท่านเป็นผู้มีความรู้ หลวงปู่สิน จึงได้ให้มาสอนเด็กๆ ในสมัยนั้น ซึ่งมีเด็กที่เรียนด้วยกันประมาณ ๒๐ คน แล้วพ่อแม่ต้องจ่ายรางวัล(เงินเดือน) ครูสอนคนละ ๑๐ สตางค์ ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๗๖ วัดบางบัวทองเปิดโรงเรียนประชาบาล ข้าพเจ้าได้เข้าเรียน ป.๓ เลยเพราะมีความรู้บ้างแล้วเรียนจนจบ ป.๔ ที่โรงเรียนประชาบาล วัดบางบัวทอง ในปี พ.ศ. ๒๔๗๗ ต่อมา ข้าพเจ้าจึงได้มาเป็นเด็กมาอยู่วัดภคินีนาถ ฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๘ โดยหลวงปู่สิน เจ้าอาวาสวัดบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี นำมาฝากกับเจ้าคุณพระธรรมถาวร (เซ่ง สงฺกิจฺโจ) สมัยเป็นพระครูวิสุทธิสังวร

           เจ้าอาวาสวัดภคินีนาถ เพราะหลวงปู่สินมาอยู่วัดเปาโรหิตย์ เจ้าคุณพระธรรมถาวร อยู่วัดทอง คลองบางจาก เป็นเพื่อนกัน แต่ท่านเจ้าคุณพระธรรมถาวร ให้ไปอยู่วัดใหม่เทพนิมิตร ติด ๆ กับวัดภคินีนาถ เพราะมีพระศักดิ์ซึ่งเป็นหลานของหลวงปู่สินมาอยู่วัดใหม่เทพนิมิตรก่อนหน้านี้ประมาณสักหนึ่งเดือน เวลานั้นวัดใหม่เทพนิมิตรทรุดโทรมมาก เจ้าคุณพระธรรมถาวรต้องอุปการะทุกสิ่งทุกประการ ขาดแคลนข้าวสุกข้าวสาร พริกกะปิ หอมกระเทียม มาเบิกจากวัดภคินีนาถได้ ข้าพเจ้าแม้นอยู่วัดใหม่ฯ แต่ต้องมาสวดมนต์เย็นกับเด็กๆวัดภคินีนาถ เจ็บไข้ได้ป่วย ต้องมาเบิกเงินรักษาพยาบาลจากวัดภคินีนาถฯ รวมความว่า แม้นอยู่วัดใหม่ฯ แต่ต้องอยู่ในความควบคุมดูแลของวัดภคินีนาถ

           ปีที่ข้าพเจ้ามาอยู่นั้น มีเด็กมาเรียนบาลีหลายคน อายุรุ่นราวคราวเดียวกัน เพราะจบจากโรงเรียนประชาบาลมาจากต่างจังหวัด ที่ควรกล่าวก็ พระราชมงคลมุนี (เงิน) พระครูศีลาภิรม (โกวิท) วัดเปาโรหิตย์ พระครูมงคลสุตากร (จุนท์) แต่วัดภคินีนาถก็ดี-วัดใหม่ ฯ ก็ดี ในเวลานั้นยากจนมากๆ มีกติกากันอยู่ว่า เด็กวัดกินข้าวเช้า-เย็นเท่านั้น กลางวันไม่กิน ถ้าได้กินกลางวัน เย็นไม่มีกิน กินได้แต่ขนมเท่านั้น

           ต่อมาข้าพเจ้าได้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๐ ที่วัดภคินีนาถ ตำบลบางพลัด อำเภอบางกอกน้อย จังหวัดธนบุรี ในสมัยนั้น (ปัจจุบันเป็นแขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร) โดยมีพระธรรมถาวร(เซ็ง สงฺกิจโจ) เจ้าอาวาสวัดภคินีนาถ ในขณะนั้น เป็นพระอุปัชฌาย์ หลังจากบวชเป็นสามเณรแล้ว อยู่วัดใหม่ ฯ ๔ ปี จึงย้ายมาอยู่วัดภคินีนาถ ในเวลานั้นพระเณรสึกหาลาเพศ ย้ายกุฏิกันบ้าง ผลสุดท้ายข้าพเจ้าได้อยู่กุฏิติดๆ กับเจ้าคุณพระราชมงคลมุนี ในขณะเป็นสามเณรเงิน คนเราคบหาสมาคมกัน ก็เอาอย่างกัน หัดกินน้ำชา กาแฟ สูบบุหรี่ ใบจาก ใบตอง กินหมากพลู เป่ายานัตถุ์ ท่านว่าเป็นสมบัติของนักเลง เข้ากับคนได้ทุกชนิด ข้าพเจ้าได้แต่น้ำชา กาแฟ บุหรี่ นอกนั้นไม่ได้

           เมื่อมาอยู่วัดภคินีนาถเต็มตัวแล้ว ได้เรียนหนังสือบาลีกับเพื่อนๆ อยู่หลายปี เวลาว่างก็แนะนำกันให้อ่านหนังสือต่างๆ เช่น มูลกัจจายน์ มหาสมณวินิจฉัย มหาสมณศาสน์ และหนังสือต่างๆ อีกมากมาย อ่านแล้วมาคุยกัน ออกความเห็นแย้งกัน จึงคุยกันกับเพื่อนๆ ได้นานๆ บางครั้งเพื่อนพระเณรไปได้ยินลิเก ลำตัด หรือบทกลอนต่างๆ ที่คมคาย ก็นำมาเล่าให้ฟังและให้ช่วยจดจำเอาไว้ บางทีผู้ใหญ่เล่าเรื่องเป็นของน่ารู้ ก็นำมาบอกและให้ช่วยกันจดจำไว้ด้วย เวลาว่างเจอกันก็ซักซ้อมเรื่องต่างๆ บทกลอนต่างๆ ว่ายังจำได้ไหม ถ้าคลาดเคลื่อน ก็จะเล่าให้ฟังใหม่ ชีวิตของพระเณรนอกจากไหว้พระสวดมนต์ เรียนหนังสือแล้ว ก็จะมีเรื่องคุยกันอยู่อย่างนี้

บวชเรียนเป็นมหาจึงได้มาเป็นสมภาร[แก้]

           ข้าพเจ้าถือว่าตัวเองโชคดีที่ได้บวชเป็นสามเณรจึงมีโอกาสได้เรียนหนังสือกับครูบาอาจารย์หลายท่าน มีอาจารย์ สละ มีลักษณะ เป็นต้น และจะไม่กล่าวถึงไม่ได้เลยเพราะอาจารย์ท่านนี้ จะเรียกว่าอาจารย์พิเศษก็ได้ กล่าวคือ ท่านเอาเวลาว่างจากงานหลักของท่านมาสอนแปลธรรมบท ๘ ภาค นั่นก็คือ อาจารย์นาวาอากาศเอก (พิเศษ) แย้ม ประพัฒน์ทอง ข้าพเจ้ามาทันได้เรียนหนังสือกับท่านหลังจากที่ท่านลาพรตแล้ว ความจริงนั้น ข้าพเจ้าเมื่อเป็นเด็กได้ยินชื่ออาจารย์แย้มว่า มหาแย้ม ๆ สมัยนั้นรู้กันทั่วๆไปว่า มหาแย้มท่านเป็นประโยค ๙ แล้ว ตอนเป็นเด็กได้พบกับท่านน้อยมากเต็มทน พบส่วนมากเวลาที่ท่านออกบิณฑบาตเช้าๆ ไปบิณฑบาตทางเรือ มีเด็กพาย ๓ คนเป็นเรือยาว ข้าพเจ้าก็เป็นเด็กพายเรือของพระ รู้กันทั่วๆไปว่า เรือมหาแย้มมาแล้วนะ ทุกคนต้องให้ไปก่อน และรู้ว่าหนึ่งต้องไม่แข่ง ไม่แซง ให้โอกาสท่านผ่านไป แม้แต่เวลาที่รับบาตร ถ้าเรืออาจารย์แย้มมา จะให้ท่านรับบาตรก่อน เป็นที่รู้กันทั่วๆไป

       ในเวลาเป็นเด็กนั้น กลัวอาจารย์แย้มเป็นที่สุด เพราะเราเป็นเด็กบ้านนอก ไม่รู้ว่า พระมหาประโยค ๙ นี้เป็นอย่างไร แต่แปลกใจอยู่อย่างหนึ่ง เพราะเราเป็นเด็กบ้านนอก เคยเห็นแต่พระบิณฑบาตทางเรือเป็นประจำ แต่อาจารย์แย้มมีปฏิปทาแปลกกว่าพระอื่นๆ เวลาท่านบิณฑบาต นั่งแล้วก็ถือหนังสือเล่มใหญ่ๆอ่านไปทุกวัน เราเป็นเด็กบ้านนอกก็แปลกใจว่า เอ้ะ! ทำไมท่านต้องเอาหนังสือไปอ่านทุกวัน พระต่างๆที่พายเรือในแม่น้ำ ๓๐-๔๐ ลำ ไม่เคยเห็นอ่านหนังสือ เราก็เห็นเป็นของแปลก อาจารย์แย้ม นอกจากท่านจะสอนหนังสือเก่งแล้ว ท่านยังปฏิบัติเป็นแบบอย่างให้เห็นอีกด้วย เช่น สมัยหนึ่ง ที่วัดภคินีนาถมีวัฒนธรรมคือผู้ที่จะออกจากวัด ต้องลาเจ้าอาวาสเสียก่อน คราวหนึ่งอาจารย์แย้ม มีกิจนิมนต์ให้ไปเทศน์เร่งด่วนไม่ได้ไปลาท่าน เมื่อกลับจากเทศน์ ท่านก็เข้าไปกราบท่านเจ้าอาวาสพระครูวิสุทธิสังวร (กาลต่อมาได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ ชั้นสามัญ ที่ พระธรรมถาวร) อาจารย์ของท่านที่เลี้ยงท่านมา ท่านบอกว่า เราโตแล้วทำตัวเป็นตัวอย่าง อาจารย์แย้มท่านก็นั่งฟังนิ่ง ท่านไม่แก้ตัวสักคำ ว่าอย่างนั้นอย่างนี้ ทั้งที่มีโอกาสจะแก้ตัว แต่ท่านไม่แก้ตัว ฟังจนจบ แล้วท่านเอาเงินที่ได้รับกัณฑ์เทศน์มาถวายท่านอาจารย์ ท่านไม่โต้เถียงใดๆทั้งสิ้น เพราะมีวัฒนธรรมที่เด็กไม่เถียงผู้ใหญ่ และไม่แก้ตัวอะไร ทำให้ได้ความรู้ความคิดอ่าน และวิธีการดำเนินชีวิตจากท่าน

        ด้วยที่ข้าพเจ้าได้มีโอกาสเรียนหนังสือกับอาจารย์แย้ม และครูบาอาจารย์อีกหลายท่าน ทำให้ข้าพเจ้าสอบได้เปรียญธรรม ๓ ประโยค ในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ในขณะที่เป็นสามเณร ถือได้ว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ต่อมาข้าพเจ้ามีอายุครบบวชพระแล้ว  ครูบาอาจารย์ ท่านดูว่าข้าพเจ้ามีแววที่จะเรียนบาลีต่อได้ เพราะเห็นถึงความตั้งใจในการเรียน จึงเมตตาเป็นธุระเรื่องบวชพระให้ โดยหาเจ้าภาพบวช ที่เรียกว่า โยมอุปถัมภ์ หรือ โยมบวช ข้าพเจ้าโชคดีที่ท่านเจ้าคุณพระธรรมถาวร ท่านเมตตาให้ พ.อ.ปลั่ง (ขุนปลั่ง) โยมคุณนายอิ่ม วิจิตรานุช เป็นโยมบวช เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๖ ณ วัดภคินีนาถ ตำบลบางพลัด อำเภอบางกอกน้อย จังหวัดธนบุรี โดยมีพระพิมลธรรม (ช้อย ฐานทตฺตมหาเถร) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ กรุงเทพมหานคร เมตตาเป็นพระอุปัชฌาย์ และมีพระปริยัติโสภณ (ฟื้น ชุตินฺธรมหาเถร) วัดสามพระยา กรุงเทพมหานคร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ (กาลต่อมาได้ดำรงสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์) และพระครูอุปการประชากิจ วัดภคินีนาถ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

           หลังจากบวชพระแล้ว ข้าพเจ้ายังอยู่ที่วัดภคินีนาถอีกหลายปีเพื่อเรียนบาลีต่อ ในขณะนั้นข้าพเจ้าได้เรียนประโยค ๔ ที่วัดมหาธาตุ ไปเช้าเย็นกลับ โดยฉันเช้าเสร็จแล้ว นั่งเรือข้ามฝากไปเทเวศย์ วันไหนเช้ายังมีเวลาก็เดิน จากเทเวศย์ไปวัดมหาธาตุ วันไหนสายหน่อย ก็นั่งรถราง จากเทเวศย์ไปลงสะพานเสี้ยว (ใกล้วัดชนะสงคราม ปัจจุบัน เป็นถนนแล้ว) บางวันขากลับ ก็เดินจากวัดมหาธาตุ มาที่ท่าเรือเทเวศย์แล้วนั่งเรือข้ามฝากมาลงท่าน้ำ วัดภคินีนาถอยู่อย่างนี้ จนสอบได้ประโยค ๔ ต่อมา ข้าพเจ้าได้ไปเรียนประโยค ๕ ที่วัดสามพระยาเป็นหลัก ในสมัยนั้นลำบากไม่ค่อยมีปัจจัย ไม่สะดวกในการเดินทาง บางวันจึงต้องดูหนังสือเองที่วัด จนสอบได้เปรียญธรรม ๕ ประโยค ในปี พ.ศ.๒๕๐๐ ในช่วงนั้นนอกจากเรียนหนังสือแล้วข้าพเจ้ายังได้สนองงานพระเถระและคณะสงฆ์ที่วัดสามพระยาอีกหลายปี ด้วยในเวลานั้น วัดสามพระยาเปิดอบรมครู อบรมพระสังฆาธิการ อบรมการปกครอง การเผยแผ่ การสาธารณูปการอำเภอ เป็นต้น บางครั้งอบรมติดต่อกันเป็นระยะเวลานานหลายเดือน พระเดชพระคุณพระธรรมคุณาภรณ์ (ฟื้น ชุตินฺธรมหาเถร กาลต่อมาได้ดำรง สมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์) เจ้าอาวาสวัดสามพระยาในขณะนั้น เมตตาเรียก ข้าพเจ้าและพระมหาเงิน (ต่อมาได้เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่พระราชมงคลมุนี วัดภคินีนาถ) ให้ไปช่วยงาน การทำงานของข้าพเจ้าเป็นที่ถูกใจของพระผู้ใหญ่ท่านจึงได้เสนอแต่งตั้งให้เป็นสาธารณูปการอำเภอปากเกร็ด ต่อมาข้าพเจ้าจึงได้จากวัดภคินีนาถไปอยู่วัดใหญ่ ฯ ในวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ.๒๕๐๒ ด้วยความเมตตาของหลวงพ่อเจ้าคุณพระนันทวิริยาจารย์ (กุหลาบ) ให้ข้าพเจ้ามาอยู่วัดใหญ่สว่างอารมณ์ เพื่อช่วยงานท่าน เพราะท่านรู้ว่าท่านจะอยู่ได้อีก ๖ เดือน หลังจากเข้ารักษาอาการอาพาธที่โรงพยาบาลภูมิพล ตามที่หมอโรงพยาบาลภูมิพลได้บอกกำนันคิ้ม ซึ่งเป็นโยมวัดใหญ่ ฯ แท้ที่จริงนั้นท่านให้เตรียมตัวให้พร้อมเป็นสมภารหากท่านมรณภาพ ภายใน ๖ เดือน ตามที่หมอบอกกำนันคิ้มไว้ แต่ท่านเจ้าคุณพระนันทวิริยาจารย์ ท่านมีบุญมาก ท่านอยู่ต่อมายาวนานถึง ๑๘ ปี จึงมรณภาพ เมื่อข้าพเจ้าได้มาอยู่วัดใหญ่ ฯ แล้ว หลวงพ่อเจ้าคุณหลังหายจากอาการอาพาธ ดีวันดีคืนแล้ว ท่านจึงมอบหมายหน้าที่ให้ข้าพเจ้ารับผิดชอบสอนหนังสือพระเณรวัดใหญ่ฯและวัดใกล้เคียง เนื่องด้วยเวลานั้น วัดใหญ่ไม่มีครูสอนนักธรรมเลย พระเณรดูหนังสือสอบเอง สอบได้บ้างตกบ้าง ข้าพเจ้าจึงได้เป็นครูสอนช่วยงานหลวงพ่อเจ้าคุณนันทวิริยาจารย์ ซึ่งในขณะนั้นท่านเป็นเจ้าคณะอำเภอปากเกร็ด และได้สนองงานท่านอยู่ ๕ ปี เผอิญว่าในขณะนั้น วัดกลางเกร็ดสมภารองค์เก่าได้ลาสิกขาไป ทำให้วัดกลางเกร็ดว่างจากสมภาร ไม่มีคนดูแลวัด และในขณะนั้นวัดกลางเกร็ดเรียกว่าทรุดโทรมมาก หลวงพ่อเจ้าคุณวัดใหญ่ (พระนันทวิริยาจารย์) จึงเมตตาให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดกลางเกร็ด ในปี พ.ศ. ๒๕๐๗ เป็นเจ้าอาวาสวัดกลางอยู่หลายปี

วัดใหญ่ฯ ชัยภูมิดี[แก้]

วัดใหญ่สว่างอารมณ์ ถือได้ว่า เป็นวัดที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงนั้นมีลักษณะเป็นท้องคุ้งในสมัยนั้น ภายในบริเวณวัด มีต้นไม้ร่มรื่นน่าอยู่ ถือได้ว่าสถานที่ตั้งวัดใหญ่สว่างอารมณ์มีทำเลเป็นชัยภูมิที่ดี ข้าพเจ้าเองหลังจากออกจากวัดภคินีนาถแล้วได้ไปอยู่ที่วัดใหญ่ ฯ ๕ ปี จึงมีความผูกพันธ์กับวัดใหญ่ฯ ความจริงแล้วในขณะนั้นใจลึกๆข้าพเจ้ารู้สึกอึดอัดมากที่หลวงพ่อเจ้าคุณพระนันทวิริยาจารย์ ให้ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดกลางเกร็ด แต่เมื่อเจ้าคุณพระนันทวิริยาจารย์ท่านเมตตาแล้ว ข้าพเจ้าจึงได้สนองงานท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดกลางเกร็ดและอยู่ปกครองวัดกลางเกร็ดเรื่อยมายาวนานถึง ๔๕ ปี

      กล่าวถึงวัดใหญ่สว่างอารมณ์แล้ว หลวงพ่อเจ้าคุณพระนันทวิริยาจารย์ เคยเล่าให้ฟังว่าวัดใหญ่ฯของเราเป็นวัดที่แปลก กว่าวัดอื่นๆ เพราะสมเด็จพระสังฆราชเคยมาพำนักเป็นการส่วนพระองค์ อยู่นานนับเดือน ครั้งหนึ่งเมื่อคราวสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ ๑๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เสด็จตรวจการคณะสงฆ์มณฑลฝ่ายเหนือ ราวปี พ.ศ. ๒๔๕๘ คราวเสด็จกลับถึงหน้าวัดใหญ่ ฯ พระองค์ทรงพระประชวร (ครั่นเนื้อครั่นตัวเหมือนจะเป็นไข้) ในขณะที่เรือผ่านหน้าวัดใหญ่ ฯ พระองค์ทรงทอดพระเนตรเห็นศาลาท่าน้ำหน้าวัด จึงบอกให้เจ้าหน้าที่จอดเรือ แล้วเสด็จขึ้นไปประทับนั่งบนศาลาท่าน้ำ ปรากฎว่าทรงประทับใจกับอากาศที่บริสุทธิ์และลมพัดโชยเย็นสบาย พระองค์ประทับอยู่จนถึงเวลาเย็น แดดร่มลมตก พระองค์จึงทรงพระดำเนินชมบริเวณวัด ทอดพระเนตรด้านหลังวัด เห็นเป็นท้องนาเขียวขจีและมีต้นตาลเป็นทิวแถว พระองค์จึงทรงดำเนินไปที่ท้องนา เมื่อถึงต้นตาล ในขณะนั้นมีชาวบ้านขึ้นต้นตาลเพื่อเก็บน้ำตาล ชาวบ้านคนนี้ ชื่อว่านายเถิ่ง เป็นคนที่มีอัธยาศัยดี ชอบคุยตลก เมื่อพระองค์ดำเนินมาถึงบริเวณใกล้ต้นตาล ด้วยความไม่รู้ว่าพระองค์เป็นสมเด็จพระสังฆราช นายเถิ่งจึงกล่าวขึ้นว่า หลวงพี่ ๆ อย่าพึ่งกลับฉันน้ำตาลเย็นก่อน คำพูดประโยคนี้เป็นที่ประทับใจของพระองค์และทรงตรัสกับนายเถิ่ง ว่า เอ๊ ไปมาหลายเมือง ไม่รู้ว่าน้องชายอยู่ที่นี่ ตรัสแล้วพระองค์ก็ดำเนินกลับวัดใหญ่ ฯ  ประทับนั่งบนศาลา นายเถิ่งเมื่อลงจากต้นตาลแล้ว ก็นำน้ำตาลเย็น (น้ำตาลสด) ไปถวาย พระองค์ทรงเสวยน้ำตาลสด แล้วทรงบรรทม ในขณะที่พระองค์บรรทมนั้น นายเถิ่งได้ถวายการบีบนวดและพูดคุย ทำให้พระองค์ทรงประทับใจและทรงเมตตาในตัวนายเถิ่ง พระองค์ประทับอยู่ที่วัดใหญ่ ฯ นานนับเดือนจึงเสด็จกลับ ต่อมาเมื่อพระองค์เสด็จกลับแล้ว นายเถิ่งและชาววัดใหญ่ ฯ ตั้งใจนำผลไม้ไปถวาย ในเวลานั้น พระองค์ทรงมีปฏิสันฐานกับบุคคลคณะอื่นอยู่ เมื่อพระองค์ทราบว่านายเถิ่งและคณะวัดใหญ่ ฯ มา พระองค์ถึงกับตรัสว่า น้องชายและญาติพี่น้องฉันมาจากปากเกร็ด ขออนุญาตโอภาปราศัยทักทายน้องชายและญาติพี่น้องของฉันจากปากเกร็ดก่อนนะ

ลำดับสมณศักดิ์[แก้]

           เมื่อพระนันทวิริยาจารย์ เจ้าคณะอำเภอปากเกร็ดในขณะนั้น ท่านเมตตาให้เป็นเจ้าอาวาสวัดกลางเกร็ดแล้ว ความจริงข้าพเจ้าไม่อยากเป็นเจ้าอาวาสเลย เพราะรู้ดีว่า สมภาร คือ ผู้มีภาระธุระมาก ก็จริงอย่างว่า เพราะในสมัยนั้นวัดกลางเกร็ดทรุดโทรมอย่างมาก กุฏิ วิหาร ทรุดโทรมทุกอย่าง แต่เมื่อรับหน้าที่แล้วก็ต้องทำหน้าที่ให้สมบูรณ์ ด้วยการลงมือพัฒนาวัดเรื่อยมา โดยมีจอมพลถนอม กิตติขจร และครอบครัว รวมทั้งพระเณรและชาวบ้าน เป็นกำลังช่วยในการบูรณปฏิสังขรณ์วัดกลางเกร็ด เหตุที่จอมพลถนอม มาช่วยพัฒนาวัดนั้น เพราะมีบ้านอยู่ใกล้วัดกลาง ฯ ท่านจึงมาทำบุญที่วัดกลาง ฯ รวมทั้งเป็นผู้นำผ้าป่าบ้าง กฐินบ้าง มาทอดถวายเพื่อนำเงินมาพัฒนาวัดกลาง ฯ ในหลายโอกาส รวมทั้งชาวบ้านในย่านนั้นก็มีความสามัคคีดี จึงมีวัดกลาง ฯ เป็นศูนย์รวมใจของชาวบ้านในปัจจุบันนี้ เมื่อเราทำงานผลงานปรากฎผู้ใหญ่มองเห็นจึงแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะตำบล ในปี พ.ศ. ๒๕๐๘ และทำรายงานเป็นลำดับขั้นคุณงามความดี ทราบถึงพระเนตรพระกรรณ จึงได้รับพระราชทาน เป็นพระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะตำบลชั้นโท ในราชทินนามที่ พระครูนนทสารวิสิทธิ์ ในปี พ.ศ.๒๕๐๙ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ เป็นเจ้าคณะอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ต่อจากนั้น ในปี พ.ศ. ๒๕๒๗ และปี พ.ศ. ๒๕๔๐ จึงได้เป็นพระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะอำเภอชั้นเอกและชั้นพิเศษ ในราชทินนามเดิมตามลำดับ

อุปัทวเหตุครั้งสำคัญในชีวิต[แก้]

        ข้าพเจ้าเกิดเมื่อวันเสาร์ ที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๔๖๕ ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีจอ ข้าพเจ้าจะมีอายุครบ ๑ ศตวรรษ คือ ๑๐๐ ปีเต็ม ในวันศุกร์ ที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๖๕ นี้ ย้อนหลังไปสู่อดีตเมื่อข้าพเจ้าอายุ ๗๕ ปี พ.ศ.๒๕๔๐ ในขณะนั้นข้าพเจ้าดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดกลางเกร็ด และเจ้าคณะอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ข้าพเจ้าได้ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ ที่เมืองเฟรสโน รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เหตุที่ประสบอุบัติเหตุที่สหรัฐอเมริกา เพราะข้าพเจ้าพร้อมด้วยคณะ พระ ๑๒ รูป และฆราวาส ๒ คน รวมเป็น ๑๔ คน เดินทางไปสหรัฐอเมริกา ตามที่นายตุ๋ยนิมนต์ และถือโอกาสไปเยี่ยมลูกศิษย์ ที่ไปประกอบอาชีพที่สหรัฐอเมริกาด้วย ส่วนพระที่ท่านเดินทางไปพร้อมกันนั้น ท่านตั้งใจจะไปวัดพุทธานุสรณ์ เพื่อเยี่ยมพระมหาสุชาติ กิตฺติปญฺโญ (ปัจจุบันได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ ชั้นธรรมที่ พระธรรมวชิราจารย์) บางรูปตั้งใจจะไปเที่ยว มีพระอยู่รูปหนึ่งนั้น ท่านพูดเหมือนเป็นลาง ก่อนจะเดินทางไปว่า “ผมไปมาหลายที่ อินเดียผมก็ไปแล้ว ผมไม่เคยไปสหรัฐอเมริกา ผมได้ไปครั้งนี้ ผมจะไม่ไปไหนอีกเลย สหรัฐอเมริกาจะเป็นที่สุดท้าย” เดิมทีเดียวพวกเราตั้งใจว่าจะไปกัน ๑๕ วันเท่านั้น ผ่านไปแล้ว ๑๓ วัน วันที่ ๑๔ ก็ประสบอุปัทวเหตุ ความจริงไม่น่าเกิดเลย เพราะพวกเราพึ่งแวะปั้มเข้าห้องน้ำ ซื้อลูกอม และเปลี่ยนคนขับ เมื่อออกจากปั้มเพื่อเดินทางต่อ วิ่งรถมาประมาณ ๕ นาที ก็ประสบอุปัทวเหตุรถพลิกคว่ำ เหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้มีผู้เสียชีวิต ๗ ราย (พระ ๖ ฆราวาส ๑) จำได้ว่า หลังจากนั้น มีเจ้าหน้าที่นำผู้ได้รับบาดเจ็บ ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล เมื่ออาการดีขึ้น ก็พาไปพักฟื้นที่วัดพรหมจริยาวาส หลายวัน กว่าจะได้กลับไทย เผอิญว่าในครั้งนั้นคุณหญิงพันธุ์เครือ ยงใจยุทธ และคณะ เดินทางไปสหรัฐอเมริกา และถือโอกาสเข้าเยี่ยมคณะพระสงฆ์ที่ประสบอุปัทวเหตุในครั้งนั้นด้วย ส่วนผู้ที่เสียชีวิตถูกส่งกลับประเทศไทย หนึ่งในจำนวนผู้เสียชีวิตนั้น มีพระครื้น ซึ่งเป็นพระเลขาของข้าพเจ้าด้วย เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นอุปัทวเหตุครั้งสำคัญในชีวิตของข้าพเจ้า ทำให้ข้าพเจ้าจดจำ จนถึงทุกวันนี้ เมื่อข้าพเจ้าพักฟื้นที่วัดพรหมจริยาวาส จนมีสุขภาพแข็งแรงในระดับหนึ่งแล้ว จึงได้เดินทางกลับประเทศไทย เมื่อถึงวัดกลางเกร็ด ได้มีพระภิกษุสามเณรและญาติโยม ไปเยี่ยมเยือนกันเป็นจำนวนมาก ติดต่อกันหลายวัน อันเป็นภาพที่ประทับใจของข้าพเจ้าอย่างยิ่ง

เป็นเหมือนความฝันจากวันนั้นถึงวันนี้[แก้]

           ข้าพเจ้าอยากบอกว่าการที่ได้กลับมาอยู่วัดภคินีนาถนั้น เป็นเหมือนดังความฝัน เพราะครั้งหนึ่งสมัยที่ข้าพเจ้ายังเด็กมีพระผู้ใหญ่ คือหลวงปู่สิน เจ้าอาวาสวัดบางบัวทอง นำมาฝากกับพระธรรมถาวร ให้อยู่วัดภคินีนาถ ครั้งแรกมาเพื่อศึกษาเล่าเรียน กาลต่อมาข้าพเจ้าได้ย้ายไปอยู่วัดใหญ่สว่างอารมณ์ และวัดกลางเกร็ด ตามลำดับ และได้กลับมาอยู่วัดภคินีนาถอีกครั้ง ซึ่งข้าพเจ้าไม่คิดและไม่ฝันว่าจะได้มาอยู่วัดนี้อีกเลย แต่ก็แปลกดีที่การกลับมาอยู่ที่วัดภคินีนาถครั้งนี้ก็ด้วยความเมตตาของพระผู้ใหญ่ คือเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ วัดชนะสงคราม ในขณะนั้นท่านดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนกลาง เรียกว่าการมาอยู่วัดภคินีนาถทั้งสองครั้งด้วยความเมตตาของพระผู้ใหญ่ทั้งนั้น จึงเป็นเหมือนดังความฝัน และการกลับมาอยู่วัดภคินีนาถครั้งนี้ เป็นข่าวดัง วงการคณะสงฆ์รู้กันทั่วไป เพราะมีหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งนำไปเขียนข่าว ถึงการกลับมาอยู่วัดภคินีนาถของข้าพเจ้าและเป็นการมาด้วยเมตตาของเจ้าประคุณสมเด็จวัดชนะสงคราม ขออนุญาตกล่าวถึง นั่นคือ หนังสือพิมพ์ โพสต์ทูเดย์ ซึ่งเขียนในคอลัมน์ สว่าง ณ กลางใจ จนเป็นเรื่องฮือฮา ในวงการสงฆ์ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ เพราะความในข่าวเขียนว่า

“มหาเถรสมาคม เห็นชอบกับข้อเสนอของสมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่หนกลาง ที่เสนอแต่งตั้งพระครูนนทสารวิสิทธิ์ เจ้าอาวาสวัดกลางเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ข้ามห้วยมาเป็นเจ้าอาวาสวัดภคินีนาถ วรวิหาร พระอารามหลวง เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร ทั้ง ๆ ที่พระครูมีอายุสูงถึง ๘๖ ปี ถือว่าเป็นเรื่องแปลกที่คาดไม่ถึง”

           เหตุที่ได้มาอยู่วัดนี้เกิดขึ้นในวันพระราชทานเพลิง พระราชมงคลมุนี อดีตเจ้าอาวาสวัดภคินีนาถ วันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๑ เมื่อสมเด็จพระมหาธีราจารย์ (เจ้าคณะใหญ่หนกลาง) ในขณะนั้น เรียกให้มานั่งใกล้ ๆ แล้วบุกเลยว่า ให้กลับมาเป็นสมภารที่วัดนี้ ข้าพเจ้าตอบโดยไม่ลังเลว่า ผมอายุมากแล้ว แก่เกินแกงแล้ว สมเด็จพูดตัดบทว่า เอาเถอะ ๆ ข้าพเจ้าจึงตอบไปว่า ผมไม่รังเกียจอะไร งานพระศาสนาอยู่ที่ไหนก็ทำงานเพื่อพระศาสนาได้ พร้อมทั้งย้ำเรื่องอายุ และบอกว่าขอปรึกษาพรรคพวกอีกสักหน่อย แต่ก็ไม่ได้ปรึกษาใคร นอกจากผู้ที่ทราบจะบอกว่าพระผู้ใหญ่เมตตาขนาดนี้แล้ว ถ้าเบี้ยว จะมีปัญหา ทั้งนี้ ไม่เคยมีอย่างนี้ ที่พอเผาศพสมภารเก่าเสร็จ (สมเด็จ) ลุยเลย หายากมาก เพราะอย่างน้อยท่านต้องเรียกไปคุยอย่างนั้นอย่างนี้ก่อน แต่กรณีข้าพเจ้านี่พอลงจากเมรุเผาศพเท่านั้น (สมเด็จ) ก็ลุยเลย

           วันหนึ่งมีงานที่วัดกู้ ปากเกร็ด นนทบุรี ข้าพเจ้าก็ไป พระพรหมโมลี เจ้าคณะภาค ๑ ในสมัยนั้น (กาลต่อมาได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นสมเด็จพระราชาคณะ ชั้นสุพรรณบัฏที่ สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์ อุปสมมหาเถระ) วัดพิชยญาติการาม รับนิมนต์ไปวัดกู้ด้วย เจ้าคณะภาค ๑ พูดให้เตรียมตัวย้ายวัด ตามที่เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ วัดชนะสงคราม บอก “มาได้แล้ว” ซึ่งตอนนั้นก็ลังเล อยากไปบอกคืนแต่ก็ไม่ได้ไป

   วันที่มารับตำแหน่งเจ้าอาวาสนั้น สมเด็จพระมหาธีราจารย์ เป็นผู้มอบพระบัญชาแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดภคินีนาถ แล้วให้โอวาทว่า “ขอบใจที่ยอมมาเป็นสมภารที่นี่ แม้อายุจะมาก ๘๖ ปีแล้ว ก็ไม่ต้องวิตก เพราะมากกว่านี้ เช่น อายุ ๘๘ ปี ก็เคยตั้งมาแล้ว พร้อมกับบอกว่าสมภารอยู่วัดไหน หากเข้ากับชาวบ้านที่นั่นได้ ปัญหามันน้อย ถ้าเข้ากับชาวบ้านไม่ได้ ชาวบ้านไม่รับ ปัญหามาก เพราะการปกครองเป็นเรื่องใหญ่

           เมื่อมาอยู่ที่วัดภคินีนาถ พ.ศ.๒๕๕๑ ข้าพเจ้าก็เจริญในสมณศักดิ์ จากสมณศักดิ์

พระครูนนทสารวิสิทธิ์ที่ได้รับ พ.ศ.๒๕๔๐ ก็ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ ชั้นสามัญ วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑

ที่ พระมงคลสิทธิญาณ ต่อมาวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๘ ได้เลื่อนเป็นพระราชาคณะ ชั้นราชที่ พระราชอุดมมงคล ถึงปัจจุบัน

งานบูรณะพระอาราม[แก้]

วัดภคินีนาถ วรวิหาร

           วัดภคินีนาถ วรวิหาร เมื่อพระเดชพระคุณพระราชอุดมมงคล ดำรงตำแหน่ง เจ้าอาวาสในปี พ.ศ.๒๕๕๑ ซึ่งในขณะนั้นพระเดชพระคุณหลวงปู่เป็นพระครูนนทสารวิสิทธิ์ และเป็นเจ้าอาวาสวัดกลางเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี มาก่อน พระเดชพระคุณหลวงปู่เมตตาเล่าให้ฟังว่า ในสมัยที่อยู่วัดกลางเกร็ด ตลอดระยะเวลา ๔๕ ปีนั้น ได้บูรณะปฏิสังขรณ์และสร้างกุฏิ วิหาร หากจะนับเป็นจำนวนเงินนั้นคงนับได้ยาก เพราะทำตั้ง ๔๕ ปี มีทั้งการสร้างขึ้นใหม่และบูรณะให้สมบูรณ์ กล่าวโดยรวมแล้วพระเดชพระคุณหลวงปู่ได้สร้างศาลาการเปรียญคอนกรีตเสริมเหล็ก ๒ ชั้น ๑ หลัง และสร้างศาลาบำเพ็ญกุศล ๔ หลัง กุฏิสงฆ์ ๓ ชั้น ๕ หลัง เมรุ ๑ หลัง หอสวดมนต์ ๑ หลัง บูรณะอุโบสถ และวิหารหลวงพ่อนอน พระเดชพระคุณหลวงปู่ เมตตาเล่าให้ฟังว่า เมื่อครั้งบูรณะวิหารหลวงพ่อนอน  เหตุที่บูรณะ เพราะคนมาวัดส่วนใหญ่ ไม่รู้จักสมภาร แต่มาเพื่อกราบขอพรหลวงพ่อพระนอนกันทั้งนั้น หลวงพ่อพระนอนจึงเป็นที่เคารพศรัทธาเป็นที่พึ่งพาจิตใจของชาวบ้านในย่านนั้น จะต้องสร้างที่ประดิษฐาน ถวายท่านให้ดีที่สุด ประกอบกับในเวลานั้นวิหารหลวงพ่อนอนก็ชำรุดทรุดโทรมมาก คือเสาวิหารขาดคอดิน ดังคำโบราณท่านกล่าวไว้เป็นคำคล้องจองกันว่า “เป็ดไซ้ ไก่ตอด สลักรอด หมูสี” คือคนโบราณจะสร้างบ้านเรือนต้องเลือกไม้ที่ดี เนื้อแข็ง ไม่มีรูตาหรือรอยแตก จึงจะทนทานแข็งแรง เพราะที่เรียกว่า เป็ดไซ้ คือช่วงล่างสุดของเสาอยู่ติดดิน ไก่ตอด คือช่วงที่สูงขึ้นมาเป็นระยะที่ไก่จิกหาแมลง และช่วงที่สูงกว่าระยะไก่ตอดขึ้นไปประมาณ ๑ ศอก เป็นระยะที่หมูจะใช้สีข้างสีหรือถูกับเสาเมื่อมีอาการคัน จึงเรียกว่าหมูสี ระยะดังกล่าวจะมีการผุกร่อนได้เร็วกว่าส่วนอื่น เพราะพื้นดินมีความชื้นเปียกแฉะสลับกันอยู่ตลอดเวลา ส่วนสลักรอด คือตำแหน่งที่เจาะใส่ลูกสลัก เพื่อยึดให้ไม้ติดกัน

วิหารหลวงพ่อนอน วัดกลางเกร็ด

           วิหารหลวงพ่อนอนในสมัยก่อนใช้ไม้ทำเสาผ่านกาลเวลายาวนานจึงทำให้เสาขาดคอดินจำเป็นจะต้องรื้อและสร้างขึ้นใหม่ให้สวยงามและแข็งแรง เมื่อจะทำการบูรณะ จึงไปขอฤกษ์ขอยามกับหลวงพ่อ เจ้าคุณพระนันทวิริยาจารย์ หลวงพ่อท่านให้เตรียมเสาร์ฤกษ์ยาว ๑.๒๙ เมตร เมื่อได้ฤกษ์ได้ยามแล้วให้ตอกเสาร์ฤกษ์ที่เตรียมไว้ที่หลุมเสาร์เอกของวิหารหลวงพ่อพระนอน พระนันทวิริยาจารย์ท่านบอกขั้นตอนพิธีการอย่างนี้แล้ว ท่านจึงให้ฤกษ์โดยเขียนใส่สมุดให้มาทางวัดกลางก็จัดเตรียมเสาร์ฤกษ์ตามที่ท่านบอก เมื่อถึงวันทำการบูรณะตามวันเวลาที่ท่านบอกเจ้าหน้าที่ทำพิธีบวงสรวงการบูรณะและตอกเสาร์ฤกษ์ในการบูรณะวิหารหลวงพ่อพระนอนนั้น ในขณะที่ตอกเสาร์ฤกษ์เกิดเหตุอัศจรรย์ หรือเป็นเหตุบังเอิญก็มิทราบได้ แต่ทำให้ชาวบ้านได้เล่าขานเป็นตำนานวัดกลางเกร็ดว่า ในพิธีบวงสรวงและตอกเสาร์ฤกษ์บูรณะวิหารหลวงพ่อพระนอนเกิดแผ่นดินไหวอยู่หลายนาที ชาวบ้านที่มาร่วมพิธีเปล่งเสียงสาธุกันสนั่นทั้งวัด (ในขณะนั้นพระเดชพระคุณหลวงปู่กำลังเจริญพระพุทธมนต์ ฉลองพระใหม่บนศาลา เพราะวันนั้นมีงานบวชที่วัดด้วย)

          

พระอุโบสถ วัดภคินีนาถ วรวิหาร
พระประธานภายในพระอุโบสถ วัดภคินีนาถ วรวิหาร

วัดภคินีนาถ ภายใต้การปกครองดูแลของพระเดชพระคุณพระราชอุดมมงคลนี้ ถือว่าเป็นยุคทองของวัดภคินีนาถก็ว่าได้ เพราะพระเดชพระคุณหลวงปู่ได้พัฒนาวัดให้เจริญ รุ่งเรือง ทั้งทางด้านการปกครอง การศึกษา การเผยแผ่ และการสาธารณูปการ ท่านได้สร้างให้วัดมีมรดกล้ำค่ามากมาย มรดกล้ำค่าที่กล่าวถึงนี้ เป็นงานชิ้นโบว์แดงที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ ได้ทำการบูรณะครั้งใหญ่ในยุคของท่านนั้นก็คือ บูรณะพระอุโบสถ รวมทั้งพระระเบียงรอบพระอุโบสถด้วย ซึ่งพระอุโบสถหลังนี้ สร้างขึ้นในช่วงตอนปลายสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ ๑) หรือช่วงต้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒) สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าประไพวดี กรมหลวงเทพยวดี พระธิดาองค์ที่ ๙ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ประสูติแต่สมเด็จพระอมรินทรา บรมราชินี โปรดให้สร้างพระอุโบสถและพระระเบียงนี้ ดังนั้นพระอุโบสถนี้ จึงเป็นแหล่งประวัติศาสตร์และศิลปะ ควรค่าแก่การศึกษา เพราะภายในพระอุโบสถนี้ นอกจากพระพุทธรูปปางมารวิชัย ที่เป็นพระประธานในพระอุโบสถแล้ว ยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ควรค่าแก่การศึกษาและอนุรักษ์ พระเดชพระคุณหลวงปู่จึงจัดหาทุนในการบูรณะพระอุโบสถนี้ เกิดขึ้นเมื่อครั้งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี (ขณะดำรงพระยศ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี) เสด็จเสวนาพิเศษในงานร้อยปีชาตกาล อาจารย์แย้ม ประพัฒน์ทอง วันที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๓ ที่วัดภคินีนาถ ในวันนั้นสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเพื่อทรงกราบพระประธานภายในพระอุโบสถและเพื่อทรงคมอัฐิธาตุ อาจารย์แย้ม ประพัฒน์ทอง ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของพระองค์ เมื่อพระองค์ทรงกราบพระประธานภายในพระอุโบสถ เสร็จแล้วทรงทอด พระเนตรจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถ จึงทรงทอดพระเนตรเห็นภาพจิตรกรรมฝาผนังชำรุดบางภาพขาดหายไป ทำให้ภาพจิตรกรรมฝาผนังนั้นไม่สมบูรณ์หลายภาพ พระองค์ทรงสนพระทัยในภาพจิตรกรรมฝาผนังนั้นทรงตรัสถาม นาวาอากาศเอก (พิเศษ) ปัญจะ จิตโสภี ว่า “ภาพขาดหายไปได้อย่างไร” นาวาอากาศเอก (พิเศษ) ปัญจะ จึงกราบถวายบังคมทูลว่า “ด้วยสภาพปูนที่เก่าและความชื้นอันเกิดจากน้ำฝนที่รั่วจึงทำให้ภาพจิตรกรรมฝาผนังนี้ชำรุด พะยะค่ะ” พระองค์จึงทรงมีพระดำริที่จะบูรณะซ่อมภาพจิตรกรรมฝาผนังจึงทรงหันไปตรัสกับพระสหายและบุคคลสำคัญหลายท่านมี พลอากาศเอกดุษฎี ประพัฒน์ทอง พลอากาศเอกทองเลื่อน ประพัฒน์ทองและนายสด แดงเอียด (อธิบดีกรมการศาสนาในขณะนั้น) เป็นต้นว่า “ปีนี้เราทอดกฐินเพื่อซ่อมภาพจิตรกรรมฝาผนังกันนะ” ต่อจากนั้นพระองค์จึงทรงนำผ้าพระกฐินทอดถวาย เป็นการส่วนพระองค์เพื่อบูรณะภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถเป็นเบื้องต้น ในปีพ.ศ.๒๕๕๓ ต่อมาจึงได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการบูรณะพระอุโบสถ และพระระเบียงนี้จากสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พระเดชพระคุณหลวงปู่นอกจากบูรณะพระอุโบสถและพระระเบียงแล้ว ท่านยังได้บูรณะปรับปรุงศาลาอนุรักษ์ โดยติดกระจกชั้นล่างและปูพื้นหินแกรนิต อีกทั้งติดตั้งเครื่องปรับอากาศและปูพื้นกระเบื้องรอบศาลาอนุรักษ์และสร้างห้องน้ำห้องสุขา ๑๒ ห้อง สิ่งที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ได้บูรณะนั้นจะเรียกว่าบูรณะทั้งพระอารามก็ว่าได้ นอกจากพระอุโบสถและศาลาอนุรักษ์แล้วท่านยังได้บูรณะพระวิหาร ศาลาบำเพ็ญกุศล ๓ หลังรวมทั้งสร้าง เตาเผาเพิ่ม จากเดิมมี ๑ เตาเผา เพิ่มให้เป็น ๒ เตา เพื่ออำนวยความสะดวกและสงเคราะห์ประชาชน โดยเฉพาะในครั้งที่บูรณะศาลาบำเพ็ญกุศล (ศาลาผ่อง) หรือศาลา ๑ นั้น เพียงแต่พระเดชพระคุณปรารภจะบูรณะศาลาบำเพ็ญกุศลเท่านั้น ก็มีผู้ศรัทธาบริจาคร่วมบูรณะศาลาบำเพ็ญกุศลหลายท่านมากน้อยตามกำลังแต่ที่บริจาครายใหญ่นั้นคือคุณโยมวิเชียร อธิสุขและครอบครัว บริจาคจำนวนเงินหนึ่งล้านบาท พระเดชพระคุณจึงมอบหมายให้พระครูปลัดอรรณพ และคุณวีรยุทธ ปวีณวิชย เป็นผู้รับผิดชอบดูแลการบูรณะศาลาบำเพ็ญกุศลทั้ง ๓ หลัง  ส่วนทุนในการบูรณะศาลาจางวางแถม และศาลาจารุนาครทรรพนั้น พระเดชพระคุณได้เป็นเจ้าภาพในการบูรณะเองพระเดชพระคุณหลวงปู่ปรารภว่าอยากจะทำบุญให้ โยมพ่อโยมแม่และผู้มีพระคุณ คือโยมที่อุปถัมภ์ในการบวชพระคือขุนปลั่ง และโยมอิ่ม วิจิตรานุช

ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน[แก้]

           พระเดชพระคุณพระราชอุดมมงคล นอกจากจะบูรณปฏิสังขรณ์วัดภคินีนาถ ทั้งพระอารามแล้วพระเดชพระคุณหลวงปู่ ยังเน้นในการพัฒนาด้านคุณธรรมจริยธรรมแก่ประชาชนอีกด้วย โดยพระเดชพระคุณหลวงปู่ ใช้หลักธรรมาภิบาลบริหารกิจการของวัดภคินีนาถ หลักธรรมาภิบาลที่พระเดชพระคุณใช้นั้นมี ๓ ประการ เรียกว่าคุณธรรม ๓ ประการ คือ  

           ๑.ความรับผิดชอบ งานทุกอย่างในวัดต้องมีผู้รับผิดชอบ โดยพระเดชพระคุณหลวงปู่ได้มอบหมายให้ผู้ช่วยเจ้าอาวาสทุกรูปรับผิดชอบในงานนั้นๆ ตามความถนัดและความสามารถของผู้ช่วยเจ้าอาวาสแต่ละรูป

           ๒.กิจกรรมทุกอย่างภายในวัด เน้นการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย พระเดชพระคุณหลวงปู่เป็นพระมหาเถระที่มีความเมตตาและเป็นพระมหาเถระผู้ใหญ่ใจดี กล่าวคือ เปิดโอกาสและสนับสนุนให้พระภิกษุสามเณรมีส่วนร่วมในกิจกรรมของวัดตามความรู้ความสามารถ แม้แต่สามเณรก็มีโอกาสขึ้นธรรมมาสน์แสดงธรรมในวันธรรมะสวนะ

           ๓.กิจกรรมทุกอย่างต้องมีความโปร่งใสตรวจสอบได้ เพราะการทำงานในแบบของพระเดชพระคุณหลวงปู่นั้นท่านมอบให้ทำงานแบบเป็นคณะ พระเดชพระคุณ ปรารภว่า “การทำงานส่วนรวม ต้องทำเป็นหมู่คณะ รับผิดชอบร่วมกัน ไม่ต้องมีใครผู้ใดผู้หนึ่ง ต้องรับผิดชอบแบกหามอยู่คนเดียว เพราะเป็นงานส่วนรวม รวมความว่า เราต้องมีความสามัคคีกัน” ดังนั้นจึงมีการประชุมวางแผนงานทำให้มีบรรยากาศถ้อยทีถ้อยอาศัย ประชุมปรึกษาหารือกัน แล้วจึงทำงานเมื่อทำงานเสร็จแล้ว รายงานให้พระเดชพระคุณหลวงปู่ทราบ หากมีข้อสงสัย ข้อบกพร่อง พระเดชพระคุณหลวงปู่เปิดโอกาสให้ซักถามตรวจสอบได้ ในที่ประชุมของคณะกรรมการ

           หลักการทำงานที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ ได้ปรารภเสมอว่า “การทำงานทุกอย่าง สิ่งสำคัญคือต้องใคร่ครวญพิจารณาหาเหตุผลก่อนการทำงาน จะทำให้งานนั้นสำเร็จเรียบร้อยได้เป็นอย่างดี ส่วนใหญ่งานทุกประเภท มักจะมีกิเลสตัณหาเข้าไปยุ่งเกี่ยว ทำให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบชิงไหวชิงพริบกัน ไม่ค่อยจะมีความสามัคคีและความซื่อสัตย์ต่อกัน ขอให้คิดว่าสติเป็นตัวนำ อดทนทำเป็นตัวสำเร็จ ถ้าอดทนมีไว้ จะเป็นคนใจเพชร และใคร่ครวญก่อนทำ จะนำความปลอดภัย ถ้าสุกเอาเผากินจะไม่สิ้นอันตราย”

           การพัฒนาด้านการเผยแผ่ พระเดชพระคุณได้จัดให้มีโครงการคุณธรรมจริยธรรมขึ้น ๑ โครงการใหญ่ คือ “โครงการ วัด บ้าน ประสานใจ” โดยได้รับการสนับสนุนโครงการจากสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ และชาวชุมชนวัดภคินีนาถ ตลอดจนผู้มีจิตศรัทธาทั่วไป ภายใน “โครงการวัด บ้าน ประสานใจ” พระเดชพระคุณพระราชอุดมมงคล มอบหมายให้ผู้ช่วยเจ้าอาวาสทุกรูป เป็นผู้ดูแลโครงการ โดยในโครงการนี้ เน้นกลุ่มเป้าหมายเป็น ๒ กลุ่มใหญ่ คือ

โครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน

           ๑.กลุ่มเยาวชน

           ๒.กลุ่มวัยทำงานและผู้สูงอายุ

กิจกรรมในโครงการดังนี้

            กิจกรรมกลุ่มเยาวชน

           ๑.จัดโครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนทุกปี

            ๒.จัดเข้าค่ายอบรมเยาวชน ในชื่อ โครงการ จริยธรรมนำทาง สรรค์สร้างศีลธรรมนำใจ

สวดมนต์ทุกวันในพรรษา

           กิจกรรมกลุ่มวัยทำงานและกลุ่มผู้สูงอายุ ได้มอบหมายให้ นายภานุวัฒน์ จาโรทก ประธานชุมชนวัดภคินีนาถ และ นายสมควร คมคาย ประธานชมรมผู้สูงอายุวัดภคินีนาถ ได้ร่วมกันจัดตั้ง “ชมรมคนรักวัด” ขึ้นเพื่อให้ชาวชุมชนวัดภคินีนาถและชุมชนใกล้เคียง เกิดความสำนึกรักในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ผ่านกิจกรรม ดังนี้

             ๑.ฟังธรรมบรรยาย และสวดมนต์ทุกวันในพรรษา (เวลา ๑๘.๐๐ น.-๒๐.๐๐ น.)

             ๒.ฟังธรรมบรรยาย และสวดมนต์ทุกวันโกน วันพระ ตลอดปี (เวลา ๑๘.๐๐ น.-๒๐.๐๐ น.)

             ๓.ทำวัตร สวดมนต์ เจริญจิตภาวนา และฟังธรรมบรรยาย ทุกวันอาทิตย์แรกของเดือน

ด้านสาธารณสงเคราะห์[แก้]

           พระเดชพระคุณพระราชอุดมมงคล ท่านยังเมตตา ต่อชาวชุมชนวัดภคินีนาถและชุมชนใกล้เคียง คือ ให้มีศูนย์สุขภาพชุมชนภายในวัด ศูนย์สุขภาพชุมชนนี้ จะมีเจ้าหน้าที่ ที่เรียกว่า อสส.มาอยู่ประจำทุกวัน เวลา ๐๘.๐๐ - ๑๕.๐๐ น. เพื่ออำนวยความสะดวกบริการประชาชนชาวชุมชน ที่ปวดหัวตัวร้อนมารับยา ในเบื้องต้น หากมีอาการเจ็บป่วยมากกว่านี้ เจ้าหน้าที่ อสส. ก็จะส่งตัวไปรักษาต่อที่ศูนย์สาธารณสุข เอิบ-จิตร ทังสุบุตร ๓๑ หรือ โรงพยาบาลวชิระ ทั้งนี้ ศูนย์สุขภาพชุมชนวัดภคินีนาถนี้ ได้รับการดูแลและสนับสนุนเวชภัณฑ์จากศูนย์สาธารณสุข เอิบ-จิตร ทังสุบุตร ๓๑ นอกจากนี้ในช่วงโควิด ระบาดหนัก ปี พ.ศ. ๒๕๖๒ -๒๕๖๔

           พระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านเมตตามอบหมายให้ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดภคินีนาถทุกรูปร่วมกับประธานชุมชนวัดภคินีนาถ แจกข้าวสารอาหารแห้ง หลายครั้ง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ของประชาชน

           หากจะกล่าวโดยภาพรวมแล้ว พระเดชพระคุณพระราชอุดมมงคล ท่านมีคุณูปการต่อวัดภคินีนาถ ทำงานเพื่อพระพุทธศาสนา สมกับคำพูดที่ท่านได้ปรารภ กับเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ไว้ เมื่อครั้งที่เจ้าประคุณสมเด็จ เมตตาให้ท่านมาดำรงตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัดภคินีนาถ ว่า “ผมไม่รังเกียจอะไร งานพระศาสนาอยู่ที่ไหน ก็ทำงานเพื่อพระศาสนาได้” การปกครองวัดภคินีนาถของพระเดชพระคุณพระราชอุดมมงคลตลอดระยะเวลาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๑ จวบจนถึงปัจจุบันปี พ.ศ. ๒๕๖๕ และจะยังปกครองเป็นมิ่งขวัญ เป็นร่มโพธิ์ใบใหญ่ เป็นร่มไทรใบหนา ให้ชาววัดภคินีนาถและคณะศิษยานุศิษย์ ได้พึ่งพาอาศัยอยู่ร่มเย็นเป็นสุข ภายใต้บารมีของพระเดชพระคุณหลวงปู่ จึงถือได้ว่าเป็นยุคทองของวัดภคินีนาถ ที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ได้นำพาพัฒนาวัดภคินีนาถให้เจริญรุ่งเรืองในทุกๆด้าน ถือได้ว่า สิ่งที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ได้สร้างไว้นั้นเป็นสมบัติอันล้ำค่า ที่ชาวประชาและมวลศิษยานุศิษย์ จะจดจำนำไปเป็นแนวทางถือปฏิบัติตามและเล่าขานเป็นตำนานวัดภคินีนาถ ตราบนานเท่านานไม่รู้จบ

อ้างอิง[แก้]

ชื่อหนังสือ                   ชีวิตและผลงาน สตวัสสายุกาล ๑๐๐ ปี

                                  พระราชอุดมมงคล

ที่ปรึกษา                      พระราชอุดมมงคล

                                   พระครูวิธานสุตาภรณ์

                                   พระครูสิริธนสาร

                                   พระครูสมุห์สกลรัชช์ ปริปุณฺโณ

                                    พระครูปลัดอรรณพ ปญฺญาสาโร

                                    พระมหากรพัฒน์ กุสลจิตฺโต

                                    นายสด แดงเอียด

                                    นายวีรยุทธ ปวีณวิชย

                                    นายอาทิตย์ รักษา

ผู้เขียน                          รวบรวมประวัติชีวิตและผลงาน จากคำบอกเล่า ของพระราชอุดมมงคล

                                   และรวบรวมจากบทบรรยายพิเศษ ของนายสด แดงเอียด

บรรณาธิการ                พระมหานรุตม์  รตนวณฺโณ

กองบรรณาธิการ          สามเณรธนากรณ์ พงษ์ภักดี                      สามเณรอรรถพร ขันทอง

                                   สามเณรธนากร โพธิ์ฤทธิ์                         สามเณรวัฒนะ กรองกรุด

                                   สามเณรภานุมาส เหล่าเคน                       สามเณรพีรวิชญ์ ลากุลเพีย

                                    สามเณรนิรวิทธิ์ บุญเรืองศรี                     สามเณรเกียรติพัฒน์ เตชะสา

                                   สามเณรวรินธร แก้วดี                              สามเณรภาคิน นาลาด