ปราสาทวีลาวีซอซา

พิกัด: 38°46′48.98″N 7°24′54.25″W / 38.7802722°N 7.4150694°W / 38.7802722; -7.4150694
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปราสาทวีลาวีซอซา
เขตแอวูรา ในโปรตุเกส
โครงสร้างสะพานชักหน้าทางเข้าตัวปราสาท
พิกัด38°46′48.98″N 7°24′54.25″W / 38.7802722°N 7.4150694°W / 38.7802722; -7.4150694
ประเภทปราสาท
ข้อมูล
เจ้าของรัฐบาลโปรตุเกส
เปิดสู่
สาธารณะ
ใช่
ประวัติศาสตร์
สร้างคริสต์ศตวรรษที่ 14
ทางเข้าพื้นที่รอบนอกปราสาท (ภายในปราการ)

ปราสาทวีลาวีซอซา (โปรตุเกส: Castelo de Vila Viçosa) หรือ ปราสาทและปราการเมืองวีลาวีซอซา (Castelo e cerca urbana de Vila Viçosa) เป็นปราสาทและบริเวณที่มีปราการล้อมในเมืองและเขตเทศบาลวีลาวีซอซา เขตแอวูรา ประเทศโปรตุเกส[1] ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติตามกฤษฎีกาลงวันที่ 23 มิถุนายน ค.ศ. 1910[2]

ประวัติ[แก้]

เชื่อกันว่าชุมชนดั้งเดิมบริเวณเนินปราสาทมีอายุย้อนไปถึงสมัยที่ชาวโรมันรุกรานคาบสมุทรไอบีเรีย แม้จะไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าชุมชนดั้งเดิมถูกทิ้งร้างไปและมีการกลับมาตั้งถิ่นฐานใหม่หรือว่าการตั้งถิ่นฐานของชาวคริสต์มาถึงล่าช้า แต่ก็เป็นที่ชัดเจนว่าเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ค.ศ. 1270 วีลาวีซอได้รับพระราชทานกฎบัตรฉบับแรกจากพระเจ้าอาฟงซูที่ 3 (ครองราชย์ ค.ศ. 1248–1279) การก่อสร้างปราสาทและพื้นที่ล้อมปราการก็น่าจะเริ่มขึ้นหลังจากนั้น[1] พระเจ้าดีนิช (ครองราชย์ ค.ศ. 1279–1325) พระราชโอรสและผู้สืบราชสมบัติต่อจากพระเจ้าอาฟงซูที่ 3 ทรงผลักดันการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ

ลักษณะ[แก้]

ปราสาทวีลาวีซอซาตั้งอยู่บนเนินลูกหนึ่งที่มีลำน้ำสาขาของแม่น้ำกัวเดียนาอย่างห้วยฟีกัลยูและห้วยการัชกัลเป็นปราการธรรมชาติ ในตำแหน่งโดดเด่นมองเห็นตัวเมืองและใกล้กับเชิงลาดด้านตะวันออกเฉียงเหนือของทิวเขาแซราดึออซา ผังปราสาทเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีกำแพงยาวด้านละประมาณ 60 เมตร เสริมด้วยหอกลมขนาดใหญ่ที่มุมด้านตะวันตกและด้านตะวันออก ภายในตัวปราสาทเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์โบราณคดีและพิพิธภัณฑ์การล่าสัตว์

บริเวณรอบนอกของปราสาท (ภายในปราการ) มีผังเป็นรูปหลายเหลี่ยมด้านไม่เท่า ภายในบริเวณนี้มีการสร้างโบสถ์ขึ้นเป็นศูนย์กลางเขตการปกครองทางศาสนาแห่งแรกในเมือง และปัจจุบันเป็นที่ตั้งสักการสถานแม่พระปฏิสนธินิรมลแห่งวีลาวีซอซา ตลอดแนวปราการมีประตูเข้า–ออกหลายประตู ในจำนวนนี้ได้แก่ ประตูแอวูรา ประตูอิชตรึโมช และประตูออลีเว็งซา[1]

อ้างอิง[แก้]