ประภาคารแหลมสิงห์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ประภาคารแหลมสิงห์
ประภาคารและอ่าวไทยในเบื้องหลัง
แผนที่
ที่ตั้งปากน้ำจันทบุรี
พิกัด12°28′11.15″N 102°03′28.98″E / 12.4697639°N 102.0580500°E / 12.4697639; 102.0580500
หอคอย
รากฐานคอนกรีต
การก่อสร้างเหล็กโปร่ง
ความสูง6 เมตร (20 ฟุต)
รูปร่างกระโจมเหล็กโปร่ง
เครื่องหมายทาสีขาว
ผู้ดำเนินการ กองทัพเรือไทย
แสงไฟ
เริ่มใช้งาน21 กันยายน พ.ศ. 2449; 117 ปีก่อน (2449-09-21)
พิสัย10 ไมล์ทะเล (19 กิโลเมตร)
ลักษณะวับหมู่ ประกอบด้วยไฟ 3 วับ
สีขาว ทุก ๆ 15 วินาที
สว่าง 0.5 วินาที มืด 1.5 วินาที 2 ครั้ง และสว่าง 0.5 วินาที มืด 10.5 วินาที
รหัสประเทศไทยTHN-118

ประภาคารแหลมสิงห์ (อังกฤษ: Laem Sing Lighthouse) เป็นประภาคารควบคุมการเดินเรือบริเวณทางเข้าปากน้ำจันทบุรี อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี เพื่อผ่านเข้าสู่แม่น้ำจันทบุรี[1] เริ่มใช้งานเมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2449 ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ

ประวัติ[แก้]

ประภาคารแหลมสิงห์หลังปัจจุบัน มีจุดเริ่มต้นแนวคิดเมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2447 หลังจากเสร็จสิ้นการจัดการกระบวนการถอนกำลังทหารฝรั่งเศสออกไปจากเมืองจันทบุรี พระยาศรีสหเทพ ราชปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทย ได้เรียกประชุมพ่อค้าชาวไทยจีน ตองซู และกุลาทั้งหมดในพื้นที่แขวงเมืองจันทบุรีเพื่อสอบถามความเป็นอยู่ ซึ่งได้รับคำตอบว่ามีความสุขสบายดี ไม่ได้รับการรังแกหรือเบียดเบียนแต่อย่างใด ส่วนในเรื่องการสนับสนุนการค้าขายนั้น ทั้งหมดมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่าควรจะมีการก่อสร้างกระโจมไฟในพื้นที่ปากน้ำบนเขาแหลมสิงห์แทนที่กระโจมไฟเดิม ที่ก่อสร้างจากไม้สักและใช้ตะเกียงน้ำมันจุดชูไว้บนยอดเสา และถ่วงที่ปลายด้านหนึ่งด้วยตุ้มเหล็กสานด้วยหวาย สำหรับเป็นจุดสังเกตของชาวเรือในการผ่านเข้าออกปากน้ำในการสัญจรและการค้าขายทางเรือ ซึ่งใช้งานมานานแล้ว[2]

พระยาศรีสหเทพจึงได้นำข้อมูลดังกล่าวกราบทูลต่อพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนเรศวรฤทธิ์ เสนอต่อกระทรวงนครบาลเพื่อให้ประสานงานกรมเจ้าท่าในการสำรวจพื้นที่และจัดทำแบบการก่อสร้างกระโจมไฟในบริเวณปากอ่าวเมืองจันทบุรี และขอให้พระยาวิชยาธิบดี ผู้ว่าราชการเมืองจันทบุรีได้ดำเนินการกรุยร่องน้ำตั้งแต่ปากน้ำแหลมสิงห์ไปจนถึงเมืองจันทบุรีเพื่อความสะดวกในการเดินทางทางน้ำ โดยในการสำรวจสถานที่สร้างประภาคารที่ปากอ่าวเมืองจันทบุรี กรมเจ้าท่าได้มอบให้กับตันนิกซันเทนเป็นผู้สำรวจ ซึ่งเห็นควรว่าประภาคารควรตั้งอยู่บนเขาแหลมสิงห์ ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของเสาธงมีความเหมาะสมมากที่สุดจากจุดอื่น ๆ[2]

ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2447 มิสเตอร์อาร์ ทอริซัน ที่ปรึกษาราชการกรมเจ้าท่า จึงได้ทูลถวายแบบของรายการก่อสร้าง พร้อมทั้งราคาการก่อสร้างกระโจมไฟ และเรือนพักคนเฝ้ากระโจม (โดยสั่งซื้อวัสดุต่าง ๆ มาจากประเทศอังกฤษ รวมทั้งค่าก่อสร้างและทาสี) ใช้งบประมาณทั้งหมด 16,360 บาท เป็นค่าก่อสร้างกระโจมไฟ ประกอบไปด้วย สามขาเหล็กอย่างดีความสูง 15 ฟิต พร้อมกับโคมไฟชนิดที่ 4 เป็นเงิน 12,960 บาท และค่าใช้จ่ายการก่อสร้างเรือนพักผู้รักษาประภาคาร 1 หลังเป็นเงิน 3,400 บาท เริ่มต้นก่อสร้างในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2448 โดยบริษัทแมกกาย แอนด์ แมกอาร์เธอร์ ลิมิเต็ด เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง การขนย้ายวัสดุการก่อสร้างและการรับส่งคนงานจากกรุงเทพรับผิดชอบโดยกรมเจ้าท่า โดยใช้เรือกลไฟ "พระยม" เดินทางจากกรุงเทพฯ มายังเมืองจันทบุรี และการขนเครื่องประภาคารขึ้นไปยังยอดเขาอาศัยแรงงานจากการเกณฑ์ราษฎรในพื้นที่นั้น จนกระทั่งการก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2448 บริษัทรับเหมาได้ดำเนินการทดสอบการจุดไฟบนกระโจมไฟอยู่ 4 คืน เพื่อสังเกตและตรวจสอบความสว่างอยู่ในระดับพอใช้ ส่วนอาคารเรือนพักผู้รักษาประภาคารได้ก่อสร้างเสร็จสิ้นตามสัญญาเมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2448 ซึ่งกรมเจ้าท่าได้มอบหมายให้มิสเตอร์อาร์ ทอริซัน ที่ปรึกษาราชการกรมเจ้าท่าเดินทางไปรับมอบประภาคาร พร้อมทั้งจัดคนประจำการเพื่อดูแลรักษา[2]

กรมเจ้าท่าได้ประกาศใช้งานประภาคารแหลมสิงห์ ตามรับสั่งของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนเรศวรฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงนครบาลว่า:[2]

"ขอแจ้งความให้บรรดาผู้ที่เดินเรือไปมาในทะเลทราบทั่วกันว่า ประภาคารที่ได้สร้างขึ้นใหม่บนเนินเขาแหลมสิงห์ ปากน้ำเมืองจันทบุรีแห่งหนึ่งนั้นสำเร็จสมบูรณ์ รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปิดจุดโคมตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน ร.ศ. 125 (พ.ศ. 2449) เป็นต้นไป ชนิดของโคมนี้เป็นโคมสีขาวมืดได้สว่างได้เป็นแสงวาบ เมื่อสว่างมีแสงอยู่ 25 วินาที และมืด 5 วินาที แลเห็นได้ในระยะทาง 400 เส้น เรือนประภาคารนั้นตั้งอยู่เหนือระดับน้ำเมื่อเวลาน้ำขึ้นประมาณ 42 วา พร้อมกันนั้นได้เปลี่ยนชื่อกระโจมไฟแหลมสิงห์ เป็นประภาคารแหลมสิงห์ ให้อยู่ในความดูแลของกรมเจ้าท่า"[2]

ต่อมาในปี พ.ศ. 2462 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โอนประภาคารแหลมสิงห์ไปอยู่ในความดูแลของกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ[2]

ปัจจุบัน ประภาคารแหลมสิงห์อยู่ในระหว่างยื่นขอพิจารณาขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร[2]

โครงสร้าง[แก้]

ประภาคาร (ขวา) เรือนดูแลรักษาการณ์เก่า (กลาง) และสายอากาศวิทยุเก่า (ซ้าย)

ประภาคารแหลมสิงห์ในส่วนของฐาน เป็นคอนกรีตเสริมแรง ตัวประภาคารเป็นกระโจมเหล็กโปร่ง ทาด้วยสีขาว ความสูง 6 เมตร ความสูงของแสงไฟเหนือจากระดับน้ำทะเล 83 เมตร ตั้งอยู่บริเวณปากน้ำจันทบุรี อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี[1]

รายละเอียด[แก้]

ประภาคารแหลมสิงห์ ตามทำเนียบไฟและทุ่นในน่านน้ำประเทศไทย ตั้งอยู่ที่ละติจูดที่ 12 องศา 28 ลิปดา 11.15 ฟิลิปดาเหนือ ลองติจูดที่ 102 องศา 03 ลิปดา 28.98 ฟิลิปดาตะวันออก ลักษณะไฟเป็นไฟวับหมู่ แต่ละหมู่ประกอบด้วยไฟ 3 วับสีขาว สว่างทุก ๆ 15 วินาที โดยจะสว่าง 0.5 วินาที มืด 1.5 วินาที จำนวนสองครั้ง และสว่าง 0.5 วินาที มืด 10.5 วินาทีในครั้งที่สาม[1] ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ[2]

ประภาคารแหลมสิงห์ มีรหัสประจำประภาคารว่า

  • กองทัพเรือไทย (THN): 118[1]
  • ทำเนียบไฟอังกฤษ เล่ม F (Admiralty): F2996[1]
  • สำนักข่าวกรองภูมิสารสนเทศแห่งชาติสหรัฐ (NGA): 20580[3][4]
  • สมาคมวิทยุสมัครเล่นประภาคาร (ARLHS): THA066[5]

การเดินทาง[แก้]

ประภาคารแหลมสิงห์ ยังเป็นอีกแหล่งท่องเที่ยวในอำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี เนื่องจากอยู่ในภูมิประเทศที่สูง ทำให้เป็นจุดชมวิวอีกจุดที่มีความสวยงาม[6] มองเห็นภูมิประเทศของจังหวัดจันทบุรีและมองเห็นเกาะในบริเวณโดยรอบ[7] สามารถเดินทางไปด้วยการข้ามสะพานตากสินมหาราช (สะพานแหลมสิงห์) จากฝั่งตำบลปากน้ำแหลมสิงห์ในทิศตะวันออก ไปยังฝั่งตำบลบางกะไชยในทิศตะวันตก จากนั้นเลี้ยวซ้ายไปตามป้ายกรมหลวงชุมพร ซึ่งจะผ่านป้อมไพรีพินาศและผ่านเข้าสู่เขตของกองทัพเรือและศาลกรมหลวงชุมพรตั้งอยู่บริเวณชายฝั่ง จากนั้นเดินเท้าขึ้นเข้าไปประมาณ 500 เมตรเพื่อไปยังประภาคารแหลมสิงห์

ในบริเวณใกล้เคียงห่างประมาณ 50 เมตรเป็นที่ตั้งของลานชมวิวอีกจุดของเขาแหลมสิงห์ ซึ่งสามารถมองเห็นหินที่มีรูปร่างคล้ายกับสิงโต ในเวลาน้ำขึ้นจะมองเห็นเป็นรูปหัวสิงโต ในเวลาน้ำลงจะเป็นรูปสิงโตหมอบ[7]

ระเบียงภาพ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 ทำเนียบไฟและทุ่นในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2556 (PDF). กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ. 2556.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 2.7 มายะรังษี, สุมลฑริกาญจณ์. "แสงวาบ วับ...ที่"ประภาคาร"ยอดเขาแหลมสิงห์". www.finearts.go.th.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  3. Bub.112 List of Lights: Radio aids and fog signals 2023 - Western Pacific and Indian Oceans, Including Persian Gulf and Red Sea. National Geospatial-Intelligence Agency. 2023. p. 344.
  4. "Lighthouses of Eastern Thailand". www.ibiblio.org.
  5. "Laem Sing Light - ARLHS THA-066". wlol.arlhs.com.
  6. "จุดชมวิว ณ ประภาคารแหลมสิงห์บนยอดเขา เดินเท้าผ่านป่าสวย - จุดชมวิวแหลมสิงห์ จังหวัด จันทบุรี". theTripPacker - สังคมของคนรักการท่องเที่ยว.
  7. 7.0 7.1 admin (2020-03-05). "ประภาคารแหลมสิงห์ จุดชมวิวที่สวยที่สุด". NavyLand.