ประถมมาลา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ประถมมาลา  
ผู้ประพันธ์พระเทพโมฬี (ผึ้ง)
ประเทศประเทศสยาม
ภาษาภาษาไทย
ประเภทแบบเรียน

ประถมมาลา เป็นหนังสือแบบเรียนที่สำคัญในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ แต่งโดยพระเทพโมฬี (ผึ้ง) วัดราชบูรณะ แต่งขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื้อหาเป็นการขยายความจากกลอักษรในหนังสือ จินดามณี[1] ประถมมาลา ถือเป็นแบบเรียนสำคัญเล่มหนึ่งคู่กับ ประถม ก กา และ จินดามณี[2]

ปฐมมาลานั้นแต่งเป็นกาพย์ด้วยฉันทลักษณ์ กาพย์ยานี อินทรวิเชียรฉันท์ และโคลงสี่สุภาพ เริ่มด้วยบทไหว้ครูโดยใช้คำใน แม่ ก กา แต่งด้วยกาพย์ยานี เนื้อความตอนต่อไปเป็นการสอนเด็ก เช่นให้เชื่อฟังผู้ใหญ่ ไม่พูดเท็จ มีสัมมาคารวะ ไปลามาไหว้ จากนั้นกล่าวถึงแม่กน โดยสรุปพยัญชนะที่สะกดในแม่กน ความหมายของคำพ้องเสียง การอ่านเครื่องหมายต่าง ๆ บทอ่านในชุดแม่กง ผู้แต่งเพิ่มเติมเรื่องการแบ่งอักษรสามหมู่หรือไตรยางศ์รวมทั้งการผันตัวอักษร ในมาตรากก กด และกบ มีการรวบรวมตัวสะกดไม่ตรงมาตรามาไว้ทั้งหมด[3]

มีการตีพิมพ์ ปฐมมาลา แจกเป็นหนังสืองานศพ นายตัว พงษ์เวช ณ วัดทรงธรรม อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ วันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2485 (กรมศิลปากรอนุญาตให้พิมพ์) โดยพิมพ์ตามฉบับสมุดไทยขาว อักษรเส้นหมึก หมายเลข 7/ฑ ซึ่งหลวงพินิจราชาวาศ (ท้วม) เจ้ากรมวัดราชบพิธ ให้ไว้เมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2460[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. "จินดามณี เล่ม 2 ประถม ก กา มณีจินดา และ ประถมมาลา". สำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  2. โรม บุนนาค. "พระราชาคณะมีพรสวรรค์ในการเทศ แต่งตำราภาษาเป็นอมตะ จบลงเป็นตะพุ่นหญ้าช้าง! ฐานเป็นชู้กับเจ้าจอมมารดา!!". ผู้จัดการออนไลน์.
  3. วิพุธ โสภวงศ์. "ปฐมมาลา". นามานุกรมวรรณคดีไทย.
  4. "เปิดตัวสมุดไทย "ประถมมาลา" แบบเรียนหนังสือไทย สมัยรัชกาลที่ 3".