นากหญ้า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นากหญ้า
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: ไพลโอซีน-ปัจจุบัน
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
อันดับ: Rodentia
อันดับย่อย: Hystricomorpha
วงศ์: Echimyidae
วงศ์ย่อย: Echimyinae
เผ่า: Myocastorini
Fabre et al., 2017
สกุล: Myocastor
Kerr, 1792
สปีชีส์: M.  coypus
ชื่อทวินาม
Myocastor coypus
(Molina, 1782)
ชนิดย่อย
  • M. c. bonariensis (พบในตะวันออกเฉียงเหนือของอาร์เจนตินา, โบลิเวีย, ปรารากวัย, อุรุกวัย และตอนใต้ของบราซิล)
  • M. c. coypus (พบในโบลิเวียและตอนกลางของชิลี)
  • M. c. melanops (พบบนเกาะชิโล)
  • M. c. santacruzae (พบในที่ราบสูงพาตาโกเนีย)
(สีแดง) แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ของนากหญ้าดั้งเดิมในธรรมชาติ ขณะที่(สีชมพู) คือ ที่ ๆ มีการนำเข้ามาเลี้ยง

นากหญ้า (สเปน: Coipú, Nutria) เป็นสัตว์ฟันแทะชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Myocastor coypus อยู่ในวงศ์ Echimyidae (ในข้อมูลเก่าจะจัดให้อยู่ในวงศ์ Myocastoridae[2])

จัดเป็นสิ่งมีชีวิตเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในสกุล Myocastor และวงศ์ Myocastoridae [2] ด้วยความที่มีลักษณะรูปร่างคล้ายนาก ซึ่งอยู่ในวงศ์ Lutrinae ซึ่งเป็นสัตว์กินเนื้อ จึงได้ชื่อสามัญว่า "Nutria" ซึ่งในภาษาสเปนหมายถึง "นาก" และกลายมาเป็นชื่อสามัญในภาษาไทยด้วย

นากหญ้ามีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ ทางตอนใต้ของบราซิล ปารากวัย อุรุกวัย เวเนซุเอลา โบลิเวีย อาร์เจนตินา ชิลี มีทั้งหมด 4 ชนิดย่อย[3] จัดเป็นสัตว์ฟันแทะที่มีขนาดใหญ่ชนิดหนึ่งเหมือนบีเวอร์หรือคาปิบารา เมื่อโตเต็มที่มีความยาวได้ 37–70 เซนติเมตร หางยาว 24–45 เซนติเมตร น้ำหนักตั้งแต่ 3.5–10 กิโลกรัม บางตัวอาจหนักได้ถึง 17 กิโลกรัม ตัวผู้มีน้ำหนักมากกว่าตัวเมีย 3–5 เท่า มีหัวกลม ปากสั้น คอสั้น ใบหูกลมและเล็ก หนวดเป็นเส้นหนา เท้าหลังมีนิ้วทั้งหมด 5 นิ้ว พังผืดยึดระหว่างนิ้วเพื่อช่วยในการว่ายน้ำ ยกเว้นนิ้วสุดท้าย ขณะที่เท้าหน้ามี 4 นิ้ว มีหางยาว ขนชั้นนอกยาวและหยาบ ขณะที่ขนชั้นในอ่อนนุ่ม ขนมีน้ำมันบาง ๆ เคลือบอยู่เป็นมันและไม่อุ้มน้ำขณะว่ายน้ำ ซึ่งมีคุณสมบัติเหมือนกับขนของนาก ซึ่งสีขนอาจแปรเปลี่ยนไปได้ตามฤดูกาล ตั้งแต่สีน้ำตาลอ่อนจนถึงดำแกมแดง ในขณะที่บางตัวอาจมีแต้มสีขาวบริเวณปาก

กะโหลก
วัยอ่อนอายุเพียง 10 วัน

มีพฤติกรรมความเป็นอยู่คล้ายกับนาก คือ จะอาศัยอยู่รวมเป็นฝูงในพื้นที่ชุ่มน้ำ โดยขุดโพรงริมตลิ่งหรือสร้างรังบนกอพืชน้ำอยู่ ในพื้นที่ที่มีอากาศหนาว ความยาวโพรงอาจยาวได้ถึง 10 เมตร เพื่อรักษาความอบอุ่น กินอาหารจำพวกหญ้าและพืชน้ำและหอยทั้งหอยฝาเดียวและหอยฝาคู่ในบางครั้งด้วย ว่ายน้ำและดำน้ำเก่ง โดยสามารถดำน้ำได้นานถึง 7 นาที โดยนากหญ้าเมื่อว่ายน้ำจะมีลักษณะคล้ายกับนาก มักทำให้เกิดความเข้าใจผิดอยู่บ่อย ๆ ความแตกต่างกันคือ นากหญ้าเมื่อว่ายน้ำจะทั้งส่วนหัวและส่วนหลังจะโผล่ขึ้นมาพ้นน้ำ ผิดกับนากที่จะโผล่เฉพาะส่วนหัวเท่านั้น

เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุได้ 4 เดือน ขณะที่มีน้ำหนักตัวประมาณ 2–3 กิโลกรัม ตัวเมียมีวงรอบผสมพันธุ์ทุก ๆ 23–26 วัน ตลอดทั้งปี ออกลูกครั้งละ 2–7 ตัว โดยพบมากสุดถึง 13 ตัว ตั้งท้องนาน 123–150 วัน ลูกแรกเกิดมีน้ำหนักตัวประมาณ 225 กรัม โดยมีขนปกคลุมทั้งลำตัวและดวงตาปิด จะอาศัยอยู่กับแม่ไป 6–10 ปี ตัวเมียมีเต้านม 4–5 คู่ อยู่ด้านข้างลำตัวซึ่งเหมาะกับแก่การให้นมลูกขณะที่ว่ายน้ำไปด้วยได้ ลูกนากหญ้าเมื่อดวงตาเริ่มเปิดจะเริ่มตามแม่ออกจากโพรงเมื่ออายุได้ราว 2 สัปดาห์ มีอายุขัยโดยเฉลี่ย 10 ปี[4]

นากหญ้า ถือเป็นสัตว์ที่ปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้ และด้วยความที่มีขนที่มีลักษณะคล้ายขนของนาก จึงทำให้มีความต้องการขนทำเป็นเสื้อขนสัตว์แทนนาก ที่ถูกล่าอย่างหนักจนถูกขึ้นชื่อไว้เป็นสัตว์อนุรักษ์ในหลายประเทศ จึงมีการเพาะเลี้ยงกันเป็นสัตว์เศรษฐกิจและมีการส่งออกจากทวีปอเมริกาใต้ไปยังหลายภูมิภาคของโลก เช่น ยุโรป อเมริกาเหนือ แอฟริกา รวมถึงเอเชีย ซึ่งในหลายพื้นที่ได้กลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม เพราะกลายมาเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่คุกคามความเป็นอยู่ของสิ่งมีชีวิตพื้นถิ่นในที่นั้น ๆ อีกทั้งยังเป็นพาหะของโรคกลัวน้ำอีกด้วย[5]

สำหรับในประเทศไทยเอง ก็ประสบกับปัญหานี้ด้วยเช่นนี้ ได้มีการนำเข้านากหญ้าครั้งแรกมาจากแอฟริกา โดยชาวไต้หวัน โดยถูกเลี้ยงไว้ที่จังหวัดราชบุรี ต่อมาก็ถูกนำไปเลี้ยงให้กว้างขวางยิ่งขึ้นโดยทหารบกชั้นประทวนผู้หนึ่งในจังหวัดพิษณุโลก เมื่อปี พ.ศ. 2537[6] ก่อนที่จะแพร่หลายในฐานะเป็นสัตว์เศรษฐกิจชนิดใหม่ แต่ทว่าเมื่อได้มีการเลี้ยงกันอย่างจริงจังแล้ว ปรากฏว่า ผลตอบรับกลับไม่ได้เป็นไปอย่างที่คิด จึงทำให้มีการปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ และกลายเป็นหนึ่งในสัตว์ที่เป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นในประเทศไทย เช่นเดียวกับ หอยเชอรี่ ปลาซัคเกอร์ หรือตะพาบไต้หวัน[7]

อ้างอิง[แก้]

  1. Lessa, E., Ojeda, R., Bidau, C. & Emmons, L. (2008). Myocastor coypus. In: IUCN 2008. IUCN Red List of Threatened Species. Downloaded on 6 January 2009.
  2. 2.0 2.1 "Myocastor". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ.
  3. Journal of Animal Ecology © 1946 British Ecological Society
  4. [ลิงก์เสีย] นากหญ้า โดย จารุจินต์ นภีตะภัฏ
  5. "Non-native Species". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-03-16. สืบค้นเมื่อ 2011-01-16.
  6. "นากหญ้า". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-11-30. สืบค้นเมื่อ 2011-01-16.
  7. [ลิงก์เสีย] คอลัมน์ สกู๊ปโลกร้อน: เอเลียน สปีชีส์...ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นครองโลก -คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Myocastor coypus ที่วิกิสปีชีส์