นรินทร์กลึง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นรินทร์ ภาษิต
นรินทร์กลึงโกนหัวครึ่งซีก นุ่งแดง และมีรูปพระเจ้าตากแขวนคอ ถ่ายเมื่อ 28 มีนาคม พ.ศ. 2477
เกิด14 สิงหาคม พ.ศ. 2417
เมืองนนทบุรี ประเทศสยาม
เสียชีวิต23 ธันวาคม พ.ศ. 2493 (76 ปี)
จังหวัดพระนคร ประเทศไทย
สัญชาติไทย
ชื่ออื่นนรินทร์กลึง
อาชีพข้าราชการ นักเขียน นักธุรกิจ
คู่สมรสผิว
บุตร5 คน

นรินทร์กลึง หรือ นรินทร์ ภาษิต (14 สิงหาคม พ.ศ. 2417 - 23 ธันวาคม พ.ศ. 2493) เป็นนักเคลื่อนไหวและนักวิพากษ์สังคม เคยเป็นผู้ว่าราชการเมือง (ผู้ว่าราชการจังหวัด) นครนายก ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ พระพนมสารนรินทร์ ด้วยวัยเพียง 39 ปี ทำหนังสือพิมพ์หลายเล่ม เช่น เหมาะสมัย และ เสียงนรินทร์ ในฐานะนักเขียนและบรรณาธิการ ตั้งพรรคการเมืองชื่อ "พระศรีอาริย์" ถูกทางการดำเนินคดีด้วยข้อหา "กบฏภายในที่เขียนข้อความเป็นปฏิปักษ์ต่อความสงบเรียบร้อยของประเทศ"[1] หนึ่งบุคคลร่วมยุคสมัยเดียวกันกับ ก.ศ.ร. กุหลาบ, เทียนวรรณ, เกิด บุนนาค, ถวัติ ฤทธิเดช

ประวัติ[แก้]

วัยเด็กและรับราชการ[แก้]

นรินทร์ หรือเรียกกันในวัยเด็กว่า กลึง เกิดเมื่อ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2417 ที่จังหวัดนนทบุรี[2] ได้รับการศึกษาที่วัดพิชัยญาติ จนอายุ 15 จึงบวชเป็นสามเณร ไม่ถึงปีก็สึกเพื่อรับราชการในตำแหน่งเสมียน ด้วยการชักชวนของกรมขุนมรุพงษ์ศิริพัฒน์ เทศาภิบาลมณฑลปราจีนบุรี จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "หลวงศุภมาตรา" ตำแหน่งนายอำเภอชลบุรี จากนั้นได้เลื่อนเป็นผู้ว่าราชการเมืองนครนายก มีบรรดาศักดิ์เป็น "พระพนมสารนรินทร์" โดยมีชื่อเสียงจากการปราบปรามโจรก๊กใหญ่ที่มีชื่อว่า โจรก๊กแขกสมันคลอง 16 จนรัชกาลที่ 5 รับสั่งให้กรมขุนมรุพงษ์ศิริพัฒน์ พามาเข้าเฝ้าขอดูตัว[3] เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยจึงเสนอให้เลื่อนบรรดาศักดิ์พระพนมสารนรินทร์ขึ้นเป็นพระยา แต่กรมขุนมรุพงษ์ศิริพัฒน์ได้ยั้งไว้เนื่องจากเพิ่งเลื่อนเป็นพระได้เพียง 2 ปี ทำให้พระพนมสารนรินทร์น้อยใจขอลาพักราชการไปทำธุรกิจเรือเมล์ในแม่น้ำพนม จังหวัดปราจีนบุรี

กรมขุนมรุพงษ์ศิริพัฒน์ได้ขอให้มารับราชการตามเดิม โดยให้รับตำแหน่งปลัดมณฑลอุดร แต่พระพนมสารนรินทร์จะยังคงทำธุรกิจต่อจึงขอลาออกจากราชการเมื่อ พ.ศ. 2452 ขณะที่อายุ 35 ปี (ข้อมูลตามแจ้งความกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 9 มกราคม ร.ศ. 127 (พ.ศ. 2451 แต่ขึ้น พ.ศ. 2452 ตามปฏิทินปัจจุบันแล้ว) ระบุว่า ให้ออกจากราชการ พักราชการเนื่องจากประพฤติตัวไม่สมควรแก่ตำแหน่ง[4]) แต่กรมขุนมรุพงษ์ศิริพัฒน์ทรงกริ้วจึงสั่งห้ามเรือเมล์ไทยจอดท่าหลวงทุกท่า ทำให้เรือเมล์ของกลุ่มพระพนมสารนรินทร์ดำเนินกิจการต่อไม่ได้

แนวคิดและการเคลื่อนไหวทางการเมือง[แก้]

กระบอกเสียง[แก้]

พระพนมสารนรินทร์จึงหันเข้าศึกษาคติธรรมทางพุทธศาสนาอย่างจริงจัง ได้ชวนพรรคพวกตั้ง "พุทธบริษัทสมาคม" พร้อมออกหนังสือ สารธรรม และ โลกธรรม เพื่อเผยแพร่งานของพุทธบริษัทสมาคม และเมื่อจะออกหนังสือ ช่วยบำรุงชาติ แต่เมื่อผู้ร่วมงานทราบว่ารัฐบาลไม่พอใจการดำเนินงานของพุทธบริษัทสมาคม ไม่ยอมให้ออกหนังสือเล่มนี้ ทำให้พระพนมสารนรินทร์ลาออกจากพุทธบริษัทสมาคม ไปตั้ง "วัตร์สังฆสมาคม" แต่ก็ทำให้เกิดความไม่พอใจทั้งรัฐบาลและฝ่ายสงฆ์ ทำให้พระพนมสารนรินทร์ถูกถอดบรรดาศักดิ์[5] งดบำนาญ จนขาดรายได้

นรินทร์จัดตั้งขบวนการที่ชื่อ "คณะยินดีคัดค้าน" เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ไม่ได้รับความยุติธรรมด้านต่าง ๆ พร้อมออกหนังสือพิมพ์ชื่อ เหมาะสมัย[6] เป็นสื่อให้กับขบวนการที่ตนตั้ง ออกได้ไม่กี่ฉบับก็ถูกปิด นรินทร์จึงออกใบปลิว มีใบปลิวฉบับหนึ่งที่ชื่อ "สงบอยู่ไม่ได้แล้ว" ก่อให้เกิดความกระทบกระเทือนในวงราชการมาก นรินทร์ยังออกใบปลิว "คัดค้านสงคราม" ค้านกระแสที่ไทยเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ในที่สุดรัฐบาลนำข้ออ้างจากใบปลิวนี้เข้าจับนรินทร์เข้าคุก การฟ้องนี้ทำให้ประชาชนเกลียดชังข้าราชการ นรินทร์จำคุกอยู่ 2 ปี 30 วัน

จากหนั้นออกหนังสือ ชวนฉลาด แต่ออกอยู่ได้ไม่กี่เล่มก็เกิดป่วย จนต้องหยุดออกไปรักษาตัว พอหายก็ไปบวชเพื่อศึกษาพระพุทธศาสนาให้ลึกซึ้ง แต่ก็มีเรื่องกับวงการสงฆ์จึงสึกออกมา จากนั้นได้ออกมาผลิตยาดองที่ชื่อ "นกเขาคู่" ประกาศสรรพคุณว่าแก้สารพัดโรค ธุรกิจเป็นไปได้ด้วยดีจนตั้งโรงงานผลิต มีรายได้มากมาย

วัตรนารีวงศ์[แก้]

วัตรนารีวงศ์

นรินทร์ได้สร้างวัตรนารีวงศ์ เป็นตึกสูง 7 ชั้นริมแม่น้ำเจ้าพระยาแถวนนทบุรี แล้วบวชลูกสาว 2 คน ชื่อ จงดีและสาระ เป็นสามเณรีขึ้นเป็นครั้งแรก จนถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏต่อพุทธศาสนา ต่อมา วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2467 รัฐบาลประกาศห้ามผสมแอลกอฮอล์ลงในยารักษาโรค ทำให้ยานกเขาคู่กลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ทำให้นายนรินทร์หมดเนื้อหมดตัว

เมื่อก้าวสู่สมัยรัชกาลที่ 7 หลังจากบวชสามเณรีมาได้ 6 ปี คณะอภิรัฐมนตรีมีมติให้จับกุมสามเณรีให้เปลื้องจีวรออก พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ออกพระบัญชา ลงวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2471 ห้ามมิให้พระสงฆ์ไทยทำการบวชให้ภิกษุณี สิกขมานา และสามเณรี จากพระบัญชาที่คณะสงฆ์ในปัจจุบันยังนำมาใช้เป็นเหตุผลอ้างไม่รับภิกษุณีสงฆ์

นรินทร์เห็นว่าเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุ จึงถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ทรงรับสั่งให้นายนรินทร์เลิกความคิดสามเณรีเสีย ซึ่งนายนรินทร์ก็ยอม แต่ได้บวชตัวเองโดยไม่มีอุปัชฌาย์ และตั้งฉายาให้ตัวเองว่า "ฐิตธฺมโมภิกขุ" สร้างเรื่องอื้อฉาวใหม่ขึ้นมาอีก ฐิตธฺมโมภิกขุเห็นว่าคำสอนของบรรดาสงฆ์ที่ว่าให้คนสละทรัพย์ แต่บรรดาสงฆ์กลับสะสมความมั่งคั่งเสียเอง เป็นการเทศนาที่สวนทางที่ตัวเองสั่งสอน จึงทำหนังสือกราบทูลสมเด็จพระสังฆราชให้สละทรัพย์เพื่อเป็นแบบอย่าง เลยถูกจับในข้อหาหมิ่นพระสังฆราช ถูกศาลสั่งจำคุก 6 เดือน

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง[แก้]

เมื่อพ้นโทษหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว นรินทร์จัดตั้ง "สมาคมช่วยชาติศาสนาพระมหากษัตริย์" เป็นปากเสียงให้ประชาชนที่ได้รับความอยุติธรรม ออกใบปลิว "ไทยไม่ใช่ทาส" เรียกร้องให้รัฐบาลเลิกเก็บเงินรัชชูประการ และเลิกการใช้งานโยธาคนที่ไม่มีเงินเสีย โดยอ้างว่าถ้าไม่เลิกเก็บก็เท่ากับรัฐบาลเป็นโจรปล้นประชาชน นรินทร์ถูกจับข้อหายุยงให้ราษฎรกระด้างกระเดื่องต่อรัฐ ถูกศาลสั่งจำคุก 2 ปี 8 เดือน นรินทร์ประท้วงด้วยการอดข้าวในคุก แต่อดได้ 21 วันก็ถูกหามตัวส่งโรงพยาบาลวชิระช่วยชีวิตไว้ และถูกปล่อยตัวให้เป็นอิสระ โดยรัฐบาลยอมที่จะเลิกเก็บเงินรัชชูประการ

นรินทร์ออกหนังพิมพ์ แนวหน้า โจมตีจอมพล ป.พิบูลสงคราม ด้วยถ้อยคำรุนแรง เป็นผลทำให้ แนวหน้า ถูกปิด นรินทร์กลึงถูกจับข้อหากบฏ ศาลตัดสินจำคุก 2 ปี หลังออกจากคุกยังคงออกใบปลิวต่อต้านจอมพล ป. โดนข้อหาเดิมอีกครั้งกลับไปเข้าคุกอีก 2 ปี

เมื่อพ้นโทษออกมาในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2485 นรินทร์กลึงส่งจดหมายถึงจอมพล ป.พิบูลสงครามโดยตรงด้วยถ้อยคำด่ารุนแรงเช่นเดิม เรียกร้องให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีบันทึกหนึ่งเขียนไว้ว่า "มึงมันจองหองพองขน ประดุจอ้ายพวกกิ้งก่าได้ทองโดยแท้" แต่จดหมายฉบับนี้กลับคืนผู้เขียน นรินทร์กลึงส่งไปอีกและยังตีพิมพ์เผยแพร่ แต่จดหมายก็คืนกลับพร้อมบันทึกต่อท้ายในจดหมายมาด้วยว่า

...การขออนุญาตพิมพ์จดหมายนั้น ว่าตามหลักประชาธิปไตย ท่านทำได้ ผมก็อนุญาตให้ท่านทำ แต่จะผิด ก.ม.อย่างไรไม่ทราบ สุดแต่ทางเจ้าหน้าที่ปกครองจะวินิจฉัย

สิทธิเสรีภาพของมนุษย์นั้น ผมได้นับถือมานานแล้ว และอยากจะเริ่มส่งเสริมให้รุ่งเรืองยิ่งขึ้น ฉะนั้นด้วยหลักการนี้ ผมจึงไม่ขัดข้อง หวังว่าคงจะสบาย หมั่นทำบุญตักบาตร ท่านจะสุขยิ่งขึ้น

เคารพรัก

ป.พิบูลสงคราม

[7]

นรินทร์กลึงนำจดหมายพร้อมบันทึกอนุญาตของจอมพล ป.พิมพ์เป็นใบปลิวแจกจ่ายไปทั่วประเทศ ทำให้เขาโด่งดังเป็นที่โจษขานกันทั้งเมือง แต่ตำรวจเห็นว่าเกินขอบเขตเสรีภาพ จึงจับกุมเข้าคุกเป็นครั้งที่ 6 ครั้นรัฐบาลปรีดี พนมยงค์ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี นรินทร์กลึงจึงถูกปล่อยออกมาในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2489

เขาได้เรียกร้องให้มีการคลี่คลายปมปัญหากรณีสวรรคตรัชกาลที่ 8 โดยได้เลียนแบบ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) แห่งวัดระฆังโฆสิตาราม ที่เคยถือตะเกียงคบเพลิงเข้าไปยังเขตพระราชฐานของรัชกาลที่ 4 ในช่วงกลางวัน

ในวัยชรานรินทร์กลึง ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.จังหวัดพระนคร เมื่อ พ.ศ. 2492 แต่สอบตก จากนั้นตั้งสำนักงานในชื่อ "สำนักงานปฤกษาภารราษฎร์" พร้อมกับออกหนังสือพิมพ์ เสียงนรินทร์ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ไม่ได้รับความยุติธรรม นรินทร์กลึงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2493 ด้วยหัวใจวาย

ครอบครัว[แก้]

นรินทร์สมรสกับนางผิว มีบุตรด้วยกัน 5 คน เป็นบุตรชาย 3 คน คือ นรงค์ สรีไทย และไขยโย และหญิง 2 คน คือ สาระและจงดี ซึ่งเป็นผู้ร่วมกับบิดาในการรื้อฟื้นภิกษุณี[8]

อ้างอิง[แก้]

  1. เพ็ญสุภา สุขคตะ. "ปริศนาโบราณคดี จาก "เทียนวรรณ" "นรินทร์กลึง" ถึง "สมยศ" กบฏบรรณาธิการ". มติชนสุดสัปดาห์.
  2. รัชตะ จึงวิวัฒน์. ""นรินทร์กลึง" อดีตขุนนางโดนคดีขบถ "ภัยต่อความสงบ" ติดคุกยังร่อนจดหมายไปทั่ว". ศิลปวัฒนธรรม.
  3. ฉัตรสุมาลย์. "ภิกษุณีสงฆ์ในสังคมไทย ว่าด้วย "นรินทร์ กลึง" และ "พระบัญชา 18 มิ.ย.2471"". มติชนสุดสัปดาห์.
  4. กระทรวงมหาดไทย. "แจ้งความกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 9 มกราคม รัตนโกสินทร์ศก 127" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา.
  5. กระทรวงมหาดไทย. "แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ถอดพระพนมสารนรินทร์ (กลึง) ลงวันที่ 23 มีนาคม พระพุทธศักราช 2456" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา.
  6. ""นรินทร์กลึง" อดีตขุนนางชั้นเจ้าเมือง ผู้กล้าส่งจดหมายด่าจอมพล ป. "มึงต้องลาออกเดี๋ยวนี้"". ศิลปวัฒนธรรม.
  7. โรม บุนนาค. ""นรินทร์กลึง" นักสู้ผู้ไม่กลัวคุก! ยอมสละตำแหน่งเจ้าเมืองและพระยา ไม่ยอมก้มหัวให้ความอยุติธรรม!!". ผู้จัดการออนไลน์.
  8. "ปฐมบทแห่งวาทกรรมภิกษุณีเถรวาทไทย".