นกจู๋เต้นเขาหินปูน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นกจู๋เต้นเขาหินปูน
นกจู๋เต้นสระบุรี (G. c. calcicola) จากภาคกลางของประเทศไทย
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: สัตว์
ไฟลัม: สัตว์มีแกนสันหลัง
ชั้น: สัตว์ปีก
อันดับ: Passeriformes
วงศ์: Pellorneidae
สกุล: Gypsophila
สปีชีส์: crispifrons
ชื่อทวินาม
Gypsophila crispifrons
(Blyth, 1855)
นกจู๋เต้นเขาหินปูนที่พบทางภาคเหนือของประเทศไทย (G. c. crispifrons) มีสีเทา

นกจู๋เต้นเขาหินปูน (อังกฤษ: Variable limestone babbler, Greyish Limestone Babbler, Limestone wren-babbler ชื่อวิทยาศาสตร์: Gypsophila crispifrons) เป็นนกในวงศ์นกมุ่นรก (Pellorneidae) พบใน ประเทศจีน ลาว เมียนมา ไทย และ เวียดนาม ถิ่นอาศัยตามธรรมชาติของนกจู๋เต้นเขาหินปูน มีความเฉพาะเจาะจงคือพบได้เฉพาะในป่าดิบชื้นกึ่งเขตร้อนและเขตร้อน บนภูเขาหินปูนเท่านั้น

ศัพทมูลวิทยา[แก้]

ชื่อนกจู๋เต้น น่าจะมาจากคำผสมในภาษาไทยวนล้านนา ᨶ᩠ᨠᩫᨧᩩᨲᩮ᩠ᨶ᩶ (นกจุเต้น ซึ่งออกเสียงว่า นก-จุ๋-เต้น) หมายถึง นกกระโดดไปทุกที่ [2]

อนุกรมวิธาน[แก้]

นกจู๋เต้นเขาหินปูน (Gypsophila crispifrons) มี 3 ชนิดย่อย[2][3]

ลักษณะทางชีววิทยาและพฤติกรรม[แก้]

นกจู๋เต้นเขาหินปูน มีสีน้ำตาลเทาตลอดหัว ลำตัว และหาง มีลำคอเป็นริ้วขาวดำสลับกัน และคิ้วซีด ใต้ตาช่วงคออาจมีแต้มสีส้มแดงเล็กน้อย ตลอดแนวจากหน้าผากถึงหลังเป็นเส้นขนมีแกนที่มีสีน้ำตาลอ่อนคล้ายเป็นจุด ๆ ดูเผิน ๆ คล้ายกับนกจู๋เต้นหางสั้น (Streaked Wren Babbler)

ประชากรนกจู๋เต้นเขาหินปูนในภาคเหนือของประเทศไทย มีความแตกต่างของปริมาณริ้วสีขาวที่ใบหน้าและลำคอ[5]

นกจู๋เต้นเขาหินปูนมักมักกระโดดหาอาหารใกล้พื้นดินมักอยู่ตามซอกหิน ในรอยแตกและรอยแยกของหินปูน และไม้พื้นล่าง ตามปกติจะพบหากินเป็นคู่ กินแมลงเป็นอาหารหลัก แต่ก็มีรายงานขึ้นต้นไม้สูงเพื่อกินน้ำหวานดอกไม้ด้วย เช่น ต้นทองหลาง เสียงร้องเป็นชุดโน้ตซ้ำ ๆ ที่มีเสียงดังแหลมสูง "อู่-วี้ด อู่-วี้ด" และมีเสียงค่อนข้างแหบ[5]

ถิ่นที่อยู่และการกระจายพันธุ์[แก้]

พบได้เฉพาะในป่าเขาหินปูนเท่านั้น ในที่ราบถึงระดับความสูงจากน้ำทะเล 915 เมตร[4]

นิเวศวิทยาและการอนุรักษ์[แก้]

นกจู๋เต้นเขาหินปูน เป็นนกเพียงชนิดเดียวในประเทศไทยที่มีความเฉพาะเจาะจงต่อถิ่นอาศัยแบบเขาหินปูน ประชากรของมันจึงลดลงจากการที่ถิ่นอาศัยถูกทำลาย เนื่องจากยังคงมีการสัมปทานระเบิดเขาหินปูนเพื่อผลิตปูนซีเมนต์ เป็นเหตุให้นกที่มีการกระจายพันธุ์แคบอย่าง นกจู๋เต้นเขาหินปูนชนิดย่อยสระบุรี (Rufous Limestone Babbler - Gypsophila crispifrons calcicola) นั้นถูกจัดเป็นชนิดที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในบัญชีแดงของ IUCN (VU) ในเขตเขาหินปูนของประเทศไทยนอกจากนกจู๋เต้นเขาหินปูนสระบุรีแล้ว ยังมีสัตว์ขนาดเล็กอีกหลายชนิดโดยเฉพาะสัตว์เลื้อยคลานที่เป็นสัตว์ถิ่นเดียว คือ อาศัยอยู่เฉพาะตามเขาหินปูน และถูกคุกคามจากสัมปทานเขาหินปูนเช่นเดียวกัน[6]

ป่าเขาหินปูนที่พอจะเหลืออยู่ตามวัดต่าง ๆ ที่พอจะเป็นแหล่งอาศัยของนกจู๋เต้นและสัตว์อื่น ๆ ได้อาศัย แต่ด้วยค่านิยมในการปล่อยสัตว์เลี้ยงในบริเวณวัด สัตว์ปล่อยเหล่านี้เป็นภัยคุกคามที่ค่อนข้างร้ายแรงโดยเฉพาะแมวจรจัดต่อนกและสัตว์ป่าขนาดเล็ก ซึ่งในต่างประเทศที่มีการเก็บข้อมูลพบว่าสัตว์ท้องถิ่นถูกล่าจนเหลือจำนวนน้อยลงมากโดยแมวที่เลี้ยงแบบปล่อยนั่นเอง[6]

อ้างอิง[แก้]

  1. International), BirdLife International (BirdLife (2016-10-01). "IUCN Red List of Threatened Species: Turdinus crispifrons". IUCN Red List of Threatened Species.
  2. 2.0 2.1 พันศาสตร์พันภาษา นกจู๋เต้น มาจากไหน สืบค้นเมื่อ 27 ธันวาคม 2563.
  3. 3.0 3.1 Avibase. Limestone Wren-Babbler (calcicola) สืบค้นเมื่อ 27 ธันวาคม 2563.
  4. 4.0 4.1 Birds of the Lower Northern Thailand Variable Limestone Babbler ( Gypsophila crispifrons (Blyth, 1855) ) สืบค้นเมื่อ 27 ธันวาคม 2563.
  5. 5.0 5.1 eBird Kalkdrossling สืบค้นเมื่อ 27 ธันวาคม 2563.
  6. 6.0 6.1 OKNation นกจู๋เต้นเขาหินปูน (Limestone Wren Babbler; Gypsophila crispifrons) เก็บถาวร 2020-01-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน กุมภาพันธ์ 2560.
  • Collar NJ & Robson, C. 2007 วงศ์ Timaliidae (Babblers) pp. 70–291 นิ้ว; del Hoyo, J., Elliott, A. & Christie, DA eds. Handbook of the Birds of the World, Vol. 12. Picathartes ถึงหัวนมและ Chickadees Lynx Edicions, Barcelona