ธงชาติหมู่เกาะโซโลมอน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

หมู่เกาะโซโลมอน
ธงชาติหมู่เกาะโซโลมอน
การใช้ ธงชาติ
สัดส่วนธง 1:2
ประกาศใช้ 18 พฤศจิกายน ค.ศ. 1977
ลักษณะ แถบสีเหลืองบางแบ่งพื้นที่ของธงตามแนวทแยงมุมจากมุมล่างด้านคันธงไปยังมุมบนด้านปลายธง: สามเหลี่ยมครึ่งบนมีพื้นสีน้ำเงินและดาวห้าดวงเรียงตามแบบรูป X และสามเหลี่ยมครึ่งล่างมีพื้นสีเขียว

ธงชาติหมู่เกาะโซโลมอน ประกาศใช้เมื่อ 18 พฤศจิกายน ค.ศ. 1977 ซึ่งเป็นช่วงเวลา 8 เดือนก่อนที่หมู่เกาะโซโลมอนจะได้รับเอกราช เพื่อใช้แทนธงพื้นน้ำเงินบริติชที่ติดตราอาร์มของบริติชโซโลมอนไอแลนส์ ธงประกอบด้วยแถบสีเหลืองบางแบ่งพื้นที่ของธงตามแนวทแยงมุมจากมุมล่างด้านคันธงไปยังมุมบนด้านปลายธง สามเหลี่ยมครึ่งบนพื้นสีน้ำเงินและดาวห้าดวงสีขาว ขณะที่สามเหลี่ยมครึ่งล่างมีพื้นสีเขียว แม้ว่าจำนวนจังหวัดของหมู่เกาะโซโลมอนจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 5 จังหวัดแรกเริ่ม จำนวนดวงดาวบนธงยังคงไม่เปลี่ยนแปลง

ประวัติ[แก้]

รัฐในอารักขาของสหราชอาณาจักร[แก้]

จักรวรรดิเยอรมนีและสหราชอาณาจักรตกลงในการแบ่งกลุ่มเกาะหมู่เกาะโซโลมอน ใน ค.ศ. 1886 โดยสหราชอาณาจักรได้อำนาจควบคุมส่วนใต้ พื้นที่ส่วนใต้นี้ต่อมาพัฒนาเป็นรัฐเอกราชหมู่เกาะโซโลมอน[1] 7 ปีต่อมาใน ค.ศ. 1893 สหราชอาณาจักรประกาศให้พื้นที่นี้เป็นดินแดนในอารักขา[2] ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เยอรมนียอมยกพื้นที่ส่วนเหนือให้อังกฤษ เพื่อแลกกับการที่อังกฤษยอมรับการอ้างสิทธิ์ของเยอรมนีเหนือเยอรมันซามัวและพื้นที่ในแอฟริกา[1] ในช่วงเวลานี้ ธงยูเนียนแจ็กและธงพื้นแดงปลิวไสวอยู่ทั่วหมู่เกาะโซโลมอน รวมไปถึงธงพื้นน้ำเงินที่ติดตราอาร์มที่มีชื่อดินแดนในอารักขาและมงกุฎทิวดอร์อีกด้วย[3]

มีการนำเสนอธงรูปแบบใหม่ของรัฐในอารักขาที่มีตราโล่พื้นสีแดงและเต่าทะเลสีดำ–ขาวใน ค.ศ. 1947 ในอีก 9 ปีต่อมามีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบธงอีกครั้ง เนื่องจากเต่าทะเลเป็นสัญลักษณ์ตัวแทนของจังหวัดกลางเท่านั้น ดังนั้นรูปแบบธง ค.ศ. 1956 จึงแบ่งพื้นที่โล่ออกเป็นสี่ส่วนประกอบด้วยรูปนกอินทรี รูปเต่า รูปนกโจรสลัดและสารพันอาวุธต่าง ๆ พร้อมทั้งมีตราสิงโตแห่งบริเตนอีกด้วย[3]

ธงชาติใหม่สำหรับประเทศใหม่[แก้]

ช่วงก่อนที่จะได้รับเอกราชใน ค.ศ. 1975 มีการประกวดการออกแบบธงสำหรับประเทศที่จะเกิดขึ้นในอนาคต[3][4] รูปแบบหนึ่งที่มีการนำเสนอมีตราประจำชาติหมู่เกาะโซโลมอนเป็นองค์ประกอบ[3] ขณะที่รูปแบบที่ชนะการประกวดมีพื้นสีน้ำเงินกับวงกลมสีเหลืองแวดล้อมด้วยโซ่และตรานกโจรสลัดสีดำ[4] อย่างไรก็ตามต่อมามีการยกเลิกรูปแบบนี้ เนื่องจากนกเป็นสัญลักษณ์แทนเพียงแค่ 1 จังหวัด ไม่ได้แทนภาพรวมทั้งประเทศ แบบธงที่ชนะเลิศเป็นแบบที่สองมีองค์ประกอบเป็นพื้นสีแดง โดยมีโซ่วงรีสีดำอยู่ตรงกลาง จากคำอธิบายของผู้ออกแบบ ธงนี้เป็นสัญลักษณ์โดยนัยกล่าวถึงการลักพาตัวชาวเกาะไปใช้แรงงาน (blackbirding) และการหลั่งเลือดจากผลที่ว่านั้น หลังจากที่ได้ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในชุมชนเกี่ยวกับแบบธงนี้ ท้ายที่สุดก็ไม่ได้ใช้แบบธงนี้เช่นกัน[4]

ท้ายที่สุด รูแปบบธงสุดท้ายนี้คิดค้นขึ้นโดยชาวนิวซีแลนด์ที่สอนที่โรงเรียนคิงจอร์จที่ 6[4] ซึ่งตั้งอยู่ส่วนตะวันออกของกรุงโฮนีอารา[5] แม้ว่ารูปแบบธงที่จะได้รับเลือกควรเป็นรูปแบบธงที่ชาวหมู่เกาะโซโลมอนเป็นผู้ออกแบบ[4] ทว่าธงรูปแบบนี้ได้รับการอนุมัติให้เป็นธงใหม่ของประเทศหมู่เกาะโซโลมอนในวันที่ 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 1977 ซึ่งเป็นระยะเวลา 8 เดือนก่อนที่จะกลายเป็นรัฐในอารักขาดินแดนสุดท้ายที่ได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักร[3][6][7]

เอกราชและหลังจากนั้น[แก้]

ธงยูเนียนแจ็กถูกเชิญลง พร้อมกับการเชิญธงชาติใหม่ขึ้นในพิธีวันเอกราชเมื่อ 7 กรกฎาคม ค.ศ. 1978 ที่กีโซ จังหวัดตะวันตก แม้พิธีการจะจัดขึ้นอย่างเรียบง่ายที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ แต่ก็ได้เกิดการโต้เถียงและการเผชิญหน้าระหว่างชาวบ้านจากจังหวัดตะวันตกและจังหวัดมาไลตา [8] ความขัดแย้งนี้เกิดขึ้นเมื่อเหล่าผู้นำสภาตะวันตกไม่สามารถทำให้รัฐบาลสัญญาที่จะกระจายอำนาจให้กับจังหวัดมากขึ้น[8] และบางคนมองว่าพิธีธงนี้เป็นการแสดงความเหนือกว่าของมาไลตาเหนือจังหวัดตะวันตก[9]

ตั้งแต่ ค.ศ. 2012 ธงชาติหมู่เกาะโซโลมอนสามารถใช้เป็นธงแห่งความสะดวกสำหรับเรือวานิชต่างชาติที่อยู่ภายใต้กฎหมายของรัฐสภาของประเทศ[10] รัฐบาลคาดหวังที่จะดึงดูดเงินรายได้ภาษีประจำปีคิดเป็นเงิน 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมก็อ้างว่าการทำเช่นนี้เป็นการเปิดโอกาสการทำงานให้ชาวเรือท้องถิ่น และเพิ่มโอกาสการได้รับเงินตราต่างชาติ[10]

การออกแบบ[แก้]

สัญลักษณ์[แก้]

สีและสัญลักษณ์ของธงมีความหมายทั้งด้านวัฒนธรรม การเมืองและภูมิภาค สีน้ำเงินทำให้ระลึกถึงแหล่งน้ำ[3][6] ซึ่งมีความสำคัญต่อประเทศเป็นอย่างมากในรูปแบบของแม่น้ำ ฝนและมหาสมุทรแปซิฟิก[3][11][12] ส่วนสีเขียวหมายถึงแผ่นดิน[6][11] รวมถึงต้นไม้และพืชผลที่เติบโตขึ้น[3] ส่วนสีเหลือแทนแสงอาทิตย์และรังสีที่แยกพื้นดินกับพื้นน้ำ[3][12]

ดาวห้าดวงเรียงตัวในรูปตัวอักษร X[11] ในระยะแรกหมายถึงจังหวัดของประเทศในช่วงที่ได้รับเอกราช ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีจังหวัดเพิ่มขึ้น แต่จำนวนดวงดาวยังคงเหมือนเดิม[3][6]

ความคล้ายคลึง[แก้]

หนึ่งในรูปแบบของธงที่มีการนำเสนอเพื่อเป็นทางเลือกสำหรับธงชาติออสเตรเลีย

หนึ่งในการนำเสนอรูปแบบอื่นของธงชาติออสเตรเลียเป็นธงที่มีสัญลักษณ์ของขอบฟ้าใต้ ซึ่งได้รับการลงคะแนนเสียงในโพลอย่างไม่เป็นทางการมากกว่า 8,000 คน รูปแบบสีน้ำเงิน ทองและเขียว รวมไปถึงรูปดาวกางเขนใต้ มีลักษณะคล้ายคลึงกับธงชาติหมู่เกาะโซโลมอน[13]

ธงประเภทอื่น[แก้]

ธงพลเรือน (สำหรับเรือพาณิชย์) และธงรัฐ (สำหรับเรือที่ได้ใช้ทางการทหารของรัฐ) เป็นธงแดงและน้ำเงินตามลำดับ โดยมีธงชาติอยู่ตรงมุมธง ธงนาวี (สำหรับเรือตำรวจ) มีพื้นฐานจากธงขาวของอังกฤษ กางเขนสีแดงบนพื้นสีขาวและมีธงชาติอยู่ที่มุมธง[14]

ธงประเภทอื่นของหมู่เกาะโซโลมอน
ธงประเภทอื่น การใช้
ธงพลเรือน
ธงรัฐ
ธงศุลกากร
ธงนาวี

ธงในประวัติศาสตร์[แก้]

ธงในประวัติศาสตร์ของบริติชโซโลมอนไอแลนส์
ธงในประวัติศาสตร์ ระยะเวลา[14] คำอธิบาย
1893– 1906 เหมือนกับธงยูเนียนแจ็ก
1906–1947 ธงพื้นน้ำเงินที่ติดโล่ที่มีชื่อดินแดนในอารักขาและมงกุฎทิวดอร์
1947–1956 ธงพื้นน้ำเงินที่ติดโล่เต่าทะเลดำขาว
1956–1966 ธงพื้นน้ำเงินที่ติดโล่แบ่งออกเป็นสี่ส่วน ประกอบด้วย นกอินทรี เต่า นกโจรสลัดและอาวุธจากภูมิภาคและสิงโตบริเตนบนพื้นจานสีขาว
1966–1977 เหมือนกับธงรูปแบบก่อนหน้า แต่ตัดพื้นขานสีขาว

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 Foster, Sophie; Laracy, Hugh Michael (1 June 2016). "Solomon Islands – History". Encyclopedia Britannica. Encyclopedia Britannica, Inc. สืบค้นเมื่อ 1 April 2017.
  2. "Solomon Islands country profile". BBC News. BBC. 17 January 2017. สืบค้นเมื่อ 1 April 2017.
  3. 3.00 3.01 3.02 3.03 3.04 3.05 3.06 3.07 3.08 3.09 Smith, Whitney (16 February 2001). "Flag of the Solomon Islands". Encyclopedia Britannica. Encyclopedia Britannica, Inc. สืบค้นเมื่อ 29 March 2017.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 "The Solomon Islands Flag". Solomon Times. 18 January 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 April 2017. สืบค้นเมื่อ 2 April 2017.
  5. "Solomons businesses close amid fears of further riots in Honiara". ABC News. Australian Broadcasting Corporation. 20 May 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 November 2016. สืบค้นเมื่อ 2 April 2017.
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 Kindersley, Dorling (6 January 2009). Complete Flags of the World. Penguin Group. p. 227. ISBN 9780756654863. สืบค้นเมื่อ 29 March 2017.
  7. "Small states and left‐overs of empire". The Round Table: The Commonwealth Journal of International Affairs. 73 (290): 122–129. 1984. doi:10.1080/00358538408453628. แม่แบบ:Registration required
  8. 8.0 8.1 Premdas, Ralph; Steeves, Jeff; Larmour, Peter (Spring 1984). "The Western Breakaway Movement in the Solomon Islands". Pacific Studies. 7 (2): 34–67.
  9. Gina, Lloyd Maepeza (2003). Bennett, Judith A.; Russell, Khyla J. (บ.ก.). Journeys in a Small Canoe: The Life and Times of a Solomon Islander. Pandanus Books. p. 190. ISBN 9781740760324. สืบค้นเมื่อ 1 April 2017.
  10. 10.0 10.1 "Solomon Islands to offer flag of convenience for foreign vessels". Radio Australia. Australian Broadcasting Corporation. 31 March 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 March 2017. สืบค้นเมื่อ 29 March 2017.
  11. 11.0 11.1 11.2 "Solomon Islands". The World Factbook. CIA. 12 January 2017. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-05-27. สืบค้นเมื่อ 29 March 2017.
  12. 12.0 12.1 Harper, Fiona (25 January 2016). "Our incredible, forgotten neighbour paradise". News.com.au. News Corp Australia. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 March 2017. สืบค้นเมื่อ 29 March 2017.
  13. "Solomon Islanders flag alternative Aussie standard". Radio New Zealand. 2 February 2016. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 March 2017. สืบค้นเมื่อ 28 March 2017.
  14. 14.0 14.1 "Flag of Solomon Islands – A Brief History" (PDF). Flagmakers. Specialised Canvas Services Ltd. สืบค้นเมื่อ 2 April 2017.