ตุ้ม จันทนิตย์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ตุ้ม จันทนิตย์
ตุ้ม จันทนิตย์ (ขวา) ทูลเกล้าฯ ถวายดอกบัวแก่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
เกิดพ.ศ. 2396
อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ประเทศไทย
เสียชีวิตพ.ศ. 2501 (อายุ 105 ปี) หรือ มากกว่า 103 ปี 278 วัน[1]
สัญชาติไทย
มีชื่อเสียงจากภาพที่กำลังทูลเกล้าฯ ถวายช่อดอกบัวแด่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งทรงรับด้วยความนอบน้อม

ตุ้ม จันทนิตย์ (พ.ศ.​ 2396​ -​ พ.ศ.​ 2501) เป็นหญิงชราชาวจังหวัดนครพนม ผู้เป็นที่รู้จักจากภาพขณะกำลังถวายดอกบัวแก่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในวโรกาสที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกรภาคอีสานเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498[2]

แม่เฒ่าไปรอรับเสด็จพร้อมดอกบัวสายสีชมพู จำนวนสามดอก ตั้งแต่เช้าจนบ่าย แสงแดดแผดเผาจนดอกบัวสายในมือเหี่ยวโรย แต่หัวใจความจงรักภักดีของหญิงชรา ยังคงเบิกบาน เมื่อในหลวงเสด็จมาถึง ตรงมาที่แม่เฒ่าได้ยกดอกบัวสายโรยราสามดอกนั้นขึ้นจนเหนือศีรษะ แสดงความจงรักภักดีอย่างสุดซึ้ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช​ทรงโน้มพระองค์ลงมาจนพระพักตร์เกือบชิดกับศีรษะของแม่เฒ่า ทรงแย้มพระสรวลอย่างอ่อนโยน พระหัตถ์แตะมือกร้านคล้ำของเกษตรกรชาวภาคอีสานอย่างนุ่มนวล ไม่มีใครรู้ว่าทรงกระซิบคำใดกับแม่เฒ่า แต่แน่นอนว่า แม่เฒ่าไม่มีวันลืมเช่นเดียวกับที่ในหลวงไม่ทรงลืมราษฎรคนสำคัญที่ทรงพบริมถนนวันนั้น

หลังจากที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพฯ แล้ว ทางสำนักพระราชวังได้ส่งภาพรับเสด็จของแม่เฒ่าตุ้ม พร้อมพระบรมรูปหล่อด้วยปูนปลาสเตอร์ ผ่านมาทางอำเภอธาตุพนม ให้แม่เฒ่าตุ้มไว้เป็นที่ระลึกพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้นี้ อาจมีส่วนชุบชูชีวิตให้แม่เฒ่าอายุยืนยาวขึ้นอีกด้วย ความสุขต่อมาอีก 3 ปี เต็ม ๆ โดยแม่เฒ่าตุ้ม จันทนิตย์ ถึงแก่กรรมเมื่อปี พ.ศ. 2501[1] หลังจากนั้นลูกหลานได้สร้างธาตุเจดีย์บรรจุอัฐิแม่เฒ่าตุ้ม จันทนิตย์ ไว้ ณ หน้าบ้านเลขที่ 22 หมู่ที่ 11 ตำบลพระกลางทุ่ง อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ในบริเวณพื้นที่ 2 งาน โดยยกผืนดินดังกล่าวให้เป็นที่สาธารณประโยชน์ สมบัติของแผ่นดิน

ภาพที่แม่เฒ่าตุ้ม จันทนิตย์ ทูลเกล้าฯ ถวายดอกบัวสามดอก ถ่ายโดย อาณัติ บุนนาค ช่างภาพส่วนพระองค์ของ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร[3] ที่ถูกเรียกว่า ภาพดอกไม้แห่งหัวใจ ทำให้ประชาชนชาวไทยซาบซึ้งในพระจริยาวัตรอันงดงามของพระองค์

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 "หลานชาย'ยายเฒ่าผู้ถวายดอกบัวแก่ในหลวง'เผยประสบการณ์ภาพประวัติศาสตร์ของแผ่นดิน". มติชน. 15 ตุลาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 22 มีนาคม 2020.
  2. "ย้อนตำนานเส้นทางเสด็จ 2498". สำนักงานจังหวัดนครพนม. 3 พฤษภาคม 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-07-02. สืบค้นเมื่อ 5 มีนาคม 2023.
  3. "นายอาณัติ บุนนาค". ชมรมสายสกุลบุนนาค. 27 พฤศจิกายน 2005. สืบค้นเมื่อ 5 มีนาคม 2023.[ลิงก์เสีย]