ซารีนา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ซารีนามาร์ฟา อาปรัคซินา พระมเหสีในพระเชษฐาของจักรพรรดิปีเตอร์ที่ 1 แห่งรัสเซีย

ซาริตซา หรือ "ซารีนา" (บัลแกเรีย: царица, รัสเซีย: царица) เป็นตำแหน่งของพระประมุขสตรีซึ่งทรงราชย์ในระบอบอัตตาธิปไตย หรือ พระมหากษัตริย์ แห่งบัลแกเรีย, เซอร์เบีย และรัสเซีย หรือตำแหน่งนี้ใช้เรียกพระมเหสีในพระเจ้าซาร์ การสะกดคำมาเป็นภาษาอังกฤษได้ยึดมาจากภาษาเยอรมันว่า "ซาริน" (czarin หรือ zarin) เช่นเดียวกับภาษาฝรั่งเศสที่อ่านว่า "ซารีน" (tsarine/czarine) และในภาษาสเปนกับอิตาลีอ่านว่า "ซารินา" (czarina/zarina)[1] ส่วนพระราชธิดาในซาร์จะถูกเรียกว่า ซาเรฟนา

"ซาริตซา" เป็นตำแหน่งประมุขสูงสุดของประเทศในอดีตดังนี้

  • บัลแกเรีย ในปีค.ศ. 910 - 1018, ปีค.ศ. 1185 - 1422 และในปีค.ศ. 1908 - 1946
  • เซอร์เบีย ในปีค.ศ. 1346 - 1371
  • รัสเซีย อย่างเป็นทางการในปีค.ศ. 1547 - 1721 และอย่างไม่เป็นทางการในปีค.ศ. 1721 - 1917 (เนื่องจากมีพระอิสริยยศ "จักรพรรดินี" แทน)

รัสเซีย[แก้]

ซารีนาวาซิลีซา เมเลนเตเยวา หนึ่งในพระมเหสีของซาร์อีวานผู้เหี้ยมโหด วาดโดยนิโคไล เนฟเรฟ ในศตวรรษที่ 19

นับตั้งแต่ปีค.ศ. 1721 ตำแหน่งพระประมุขบุรุษและสตรีของรัสเซียถูกเปลี่ยนแปลงเป็นตำแหน่ง จักรพรรดิ (รัสเซีย: император, imperator) และ จักรพรรดินี (รัสเซีย: императрица, imperatritsa) หรือลำดับถัดมาคือ จักรพรรดินีพระมเหสี ดังนั้นซารีนาพระองค์สุดท้ายของรัสเซียอย่างเป็นทางการคือ ซารีนายูโดเซีย โลพูคินา พระมเหสีพระองค์แรกในจักรพรรดิปีเตอร์ที่ 1 แห่งรัสเซีย ส่วนจักรพรรดินีพระองค์สุดท้ายของรัสเซียคือ จักรพรรดินีอะเลคซันดรา ฟอโดรอฟนา แห่งรัสเซีย พระมเหสีในจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย

ซารีนายูโดเซีย โลพูคินาถูกส่งไปคุมขังที่อารามในปีค.ศ. 1696 (ซึ่งเป็นวิธีปกติที่จักรพรรดิรัสเซียจะทรงหย่ากับพระมเหสี) และพระนางสิ้นพระชนม์ในปีค.ศ. 1731 ในปีค.ศ. 1712 จักรพรรดิปีเตอร์ได้อภิเษกสมรสใหม่กับมาร์ธา ซามูอิลอฟนา สคาฟรอนสกายา ทรงเปลี่ยนมานับถือศาสนาออร์ทอดอกซ์รัสเซีย และเปลี่ยนพระนามเป็นเยกาเจรีนา อะเลคเซยีฟนา หลังจากมีการสถาปนาจักรวรรดิรัสเซียในปีค.ศ. 1721 พระนางเยกาเจรีนา อะเลคเซยีฟนาจึงกลายเป็นจักรพรรดินีโดยการอภิเษกสมรส หลังจากจักรพรรดิปีเตอร์สวรรคต พระนางจึงครองราชย์สืบต่อด้วยสิทธิของพระนาง ในหลายศตวรรษต่อมาคำว่า "ซารีนา" จึงไม่ถูกใช้อย่างเป็นทางการ จึงกลายเป็นชื่อเรียกแบบทั่วๆไปสำหรับจักรพรรดินี หรือสมเด็จพระราชินีนาถ[2] (ตำแหน่ง "Mother dear-tsaritsa" หรือ ซารีนา พระราชมารดา [матушка-царица] เป็นตำแหน่งที่มักนิยมเรียก จักรพรรดินีเยกาเจรีนาที่ 2 มหาราชินี)

ตำแหน่งซารีนาโดยนิตินัย เริ่มต้นตั้งแต่ค.ศ. 1547 ถึงค.ศ. 1721 เหล่าซารีนาผู้ทรงเป็นที่รู้จักก็เช่น ซารีนาทั้ง 6 หรือ 7 พระองค์ ซึ่งเป็นพระมเหสีในซาร์อีวานผู้เหี้ยมโหด ซึ่งซารีนาในรัชกาลนี้ทรงถูกลอบปลงพระชนม์ด้วยยาพิษโดยศัตรูของซาร์อีวาน บางพระองค์ถูกซาร์อีวานประหารชีวิต และบางพระองค์ถูกส่งไปคุมขังที่อาราม แต่มีเพียงซารีนา 4 พระองค์แรกเท่านั้นที่มีการสวมมงกุฎ ราชิภิเษกเป็นซารีนา แต่หลังจากนั้นซารีนาพระองค์หลังไม่ได้ผ่านการอภิเษกสมรสในโบสถ์ออร์ทอดอกซ์ ซึ่งทรงอยู่ร่วมกันเฉยๆโดยไม่ได้อภิเษกสมรส

ซาร์อเล็กซีที่ 1 แห่งรัสเซีย ทรงเลือกเจ้าสาวในปี ค.ศ. 1648 วาดโดย กริกอรี เซดอฟ ในศควรรษที่ 19

ธิดาขุนนางชาวโปแลนด์ชื่อ มารีนา มนิสเชค ได้กลายเป็นซารีนาแห่งรัสเซีย จากการอภิเษกสมรสกับผู้แอบอ้างเป็นซาร์ คือ ซาร์ดมิตรีที่ 1 ตัวปลอม และหลังจากนั้นอภิเษกสมรสกับซาร์ดมิตรีที่ 2 ตัวปลอม

พระมเหสีหลายพระองค์ของรัสเซียส่วนใหญ่ล้วนผ่านพิธีดูตัวเจ้าสาว (คล้ายพิธีประชันความงามกันระหว่างสตรี ซึ่งประเพณีนี้รัสเซียรับมาจากจักรวรรดิไบแซนไทน์) เหล่าสตรีสูงศักดิ์ และสิริโฉมงดงาม แต่ยากจนจำนวนหลายร้อยคน ได้เดินทางมารวมกันจากทั่วทุกภูมิภาคของรัสเซีย และพระเจ้าซาร์จะทรงเลือกผูที่ทรงเห็นว่างดงามที่สุด ในกรณ๊นี้ถือว่าเป็นกีดกันรัสเซียจากการเสกสมรสระหว่างราชวงศ์ต่างๆในยุโรป แต่สามารถป้องกันความสัมพันธ์จากสายโลหิตเดียวกันและความเสื่อมสภาพของเชื้อสายได้ และยังป้องกันอิทธิพลทางการเมืองของเจ้าหญิงชาวต่างชาติ (ซึ่งนับถือคาทอลิก หรือ โปรแตสแตนต์) พระมเหสีชาวต่างชาติในช่วงยุคนี้มีเพียงพระองค์เดียวคือ (ไม่นับรวมซารีนามารีนา มนิสเชค) มารีเยีย เตมรีอูคอฟนา ซึ่งเป็นเจ้าหญิงมาจากแถบคอเคเซียน ที่เปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ นิกายออร์ทอดอกซ์

นักเขียนชาวรัสเซีย ชื่อ อีวาน ซาเบลิน ได้เขียนหนังสือ The Domestic Life of Russian Tsaritsas ในปีค.ศ. 1872 ซึ่งได้อธิบายเรื่องราวของซารีนาไว้

บัลแกเรีย[แก้]

ซารีนามาเรีย พาลาอีโอโลกินา คานตาคูเซเนแห่งบัลแกเรีย

บัลแกเรียมีตำแหน่งซารีนา ในฐานะพระมเหสีในพระเจ้าซาร์แห่งบัลแกเรีย ซารีนาของบัลแกเรียสามารถย้อนไปได้ถึงในช่วงสมัยกลาง ซึ่งบัลแกเรียดำรงสถานะเป็น จักรวรรดิบัลแกเรียตั้งแต่ ค.ศ. 681 - 1018 และครั้งที่ 2 ในปีค.ศ. 1185 - 1396 และราชอาณาจักรบัลแกเรีย ในปีค.ศ. 1908 - 1946 เรื่องราวของซารีนาแห่งบัลแกเรียมีความคลุมเคลือ เมื่อเทียบกับรัสเซีย ซารีนาแห่งบัลแกเรียมีความเกี่ยวเนื่องกับการเสกสมรสระหว่างราชวงศ์ จากราชวงศ์ต่างในยุโรป เป็นส่วนใหญ่ และมักจะมีการใช้ตำแหน่ง "ซารีนา" ควบคู่กับ "จักรพรรดินี" เช่น จักรพรรดินีมาเรีย พาลาอีโอโลกินา คานตาคูเซเน หรือ ซารีนามาเรีย พาลาอีโอโลกินา คานตาคูเซเน เป็นเจ้าหญิงจากจักรวรรดิไบแซนไทน์ ซึ่งอภิเษกสมรสกับซาร์คอนสแตนติน ตีห์แห่งบัลแกเรีย ซารีนามาเรีย พาลาอีโอโลกินากุมอำนาจทางการเมืองรัชสมัยของพระสวามีและพระโอรส และนำบัลแกเรียเข้าไปในกิจการการเมืองของจักรวรรดิไบแซนไทน์ จึงทำให้อิทธิพลของต่างชาติมีสูงในราชสำนักบัลแกเรีย และต้องประสบกับการก่อกบฎ พระโอรสจึงสูญเสียราชบัลลังก์ไปจากการช่วงชิงบัลลังก์

จักรวรรดิบัลแกเรียได้ล่มสลาย ตำแหน่งซารีนาจึงยุติไปด้วยและเกิดขึ้นอีกครั้งในยุคราชอาณาจักรบัลแกเรียสมัยใหม่ เจ้าหญิงเอเลนอร์ รอสแห่งคอสทริกส์ พระมเหสีองค์ที่สองในพระเจ้าซาร์เฟอร์ดินานด์ที่ 1 แห่งบัลแกเรีย ซึ่งทั้งสองพระองค์ล้วนเป็นชาวเยอรมัน ได้ขึ้นดำรงตำแหน่ง "ซารีนาแห่งบัลแกเรีย" พระองค์แรกในราชอาณาจักรบัลแกเรียสมัยใหม่ ค.ศ. 1908 ซึ่งตำแหน่งซารีนาในสมัยนี้ ไม่ได้ผูกติดกับยศ "จักรพรรดินี" ดังเช่นในสมัยกลาง แต่เชื่อมโยงกับ "สมเด็จพระราชินี" ตามราชอาณาจักรสมัยใหม่ในคาบสมุทรบอลข่าน ซารีนาแห่งบัลแกเรียพระองค์สุดท้ายคือ เจ้าหญิงโจวันนาแห่งอิตาลี พระมเหสีในพระเจ้าซาร์บอริสที่ 3 แห่งบัลแกเรีย ก่อนที่ราชอาณาจักรบัลแกเรียจะสิ้นสุดลงจากการปฏิวัติคอมมิวนิสต์ในปีค.ศ. 1946 รัชสมัยพระเจ้าซาร์ซีโมนที่ 2 แห่งบัลแกเรีย พระโอรส

เซอร์เบีย[แก้]

ซารีนาพระองค์แรกแห่งเซอร์เบีย คือ เฮเลนาแห่งบัลแกเรีย พระราชธิดาในซาร์อีวาน อเล็กซานเดอร์แห่งบัลแกเรีย และเป็นพระมเหสีในซาร์สเตฟาน อูรอสที่ 4 ดูซังแห่งเซอร์เบีย พระนางทรงดำรงเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งเซอร์เบีย และจักรพรรดินีแห่งเซอร์เบียตามลำดับ ในปีค.ศ. 1346 จนกระทั่งซาร์ดูซังสวรรคตกระทันหันในปีค.ศ. 1355 และซารีนาองค์สุดท้ายของเซอร์เบียคือ ซารีนาอนา บาซารับ ธิดาตระกูลบาซารับ ตระกูลขุนนางจากวัลลาเซีย อนาอภิเษกสมรสกับพระราชโอรสของซาร์ดูซัง คือ ซาร์สเตฟาน อูรอสที่ 5 แห่งเซอร์เบีย ในช่วงปีค.ศ. 1356 - 1360 และพระองค์ปกครองเซอร์เบียจนกระทั่งจักรวรรดิล่มสลายในปีค.ศ. 1371

ราชอาณาจักรเซอร์เบียยุคใหม่ได้ก่อตั้งขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 19 แต่ไม่ได้ปรากฏว่ามีการใช้คำว่า "ซารีนา" อีกต่อไป หากแต่มีการใช้คำว่า "สมเด็จพระราชินีแห่งเซอร์เบีย" แทน

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "tsarina", Oxford English Dictionary (2nd ed.), 1989
  2. มี "ซารีนา" หลายพระองค์ครองราชย์ในรัสเซียช่วงศตวรรษที่ 18 ได้แก่ จักรพรรดินีเยกาเจรีนาที่ 1 (ครองราชย์ 1725–27), จักรพรรดินีแอนนา (1730–40), จักรพรรดินีเยลิซาเวตา (1741–62), และ จักรพรรดินีเยกาเจรีนาที่ 2 มหาราชินี (1762–96)