จิตตปัญญาศึกษา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ศาสตราจารย์ประเวศ วะสี ได้ให้แนวคิดเรื่องจิตตปัญญาศึกษาว่า จิตตปัญญาศึกษา คือ การศึกษาที่ทำให้เข้าใจด้านในของตัวเอง รู้ตัว เข้าถึงความจริง ทำให้เปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับโลกและผู้อื่น เกิดความเป็นอิสระ ความสุข ปัญญา และความรักอันไพศาลต่อเพื่อนมนุษย์และสรรพสิ่ง หรืออีกนัยหนึ่ง เกิดความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ โดยเน้นการศึกษาจากการปฏิบัติ เช่น จากการทำงานศิลปะ โยคะ ความเป็นชุมชน การเป็นอาสาสมัครเพื่อสังคม สุนทรียสนทนา การเรียนรู้จากธรรมชาติ และจิตตภาวนา เป็นต้น

ที่มาของจิตตปัญญาศึกษา[แก้]

ด้วยข้อจำกัดของการศึกษา และการเรียนรู้ ทั้งวิชาความรู้มาตรฐาน และวิชาความรู้ชั้นสูง ที่มุ่งเน้นการเรียนรู้เรื่องต่างๆ อันเป็นเรื่องนอกตัว แม้มีความจำเป็น แต่เมื่อขาดการเรียนรู้เรื่องในตัวก็ขาดความสมบูรณ์ในตัวเอง เอียงข้าง แยกส่วน จนมิอาจเชื่อมโยงกับความเป็นจริง เกิดความบีบคั้น ทั้งในตัวเองและระหว่างกันในสังคม เป็นต้นเหตุของปัญหาต่างๆ ในสังคมจนเกิดวิกฤติ กุญแจแห่งอนาคตของมนุษยชาติจึงอยู่ที่การเรียนรู้เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน (Transformative Learning) ทั้งในตัวเอง (Personal Transformation) เชิงองค์กร (Organizational Transformation) และสังคม (Social Transformation) การเคลื่อนไหว ด้านการศึกษาตามแนวทางจิตตปัญญาศึกษาจึงก่อตัวขึ้น โดยภาคีเครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา อันเป็นการรวมตัวอย่างไม่เป็นทางการของกลุ่มผู้ที่สนใจในการเข้าร่วมหารือ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนงานด้านนี้ขึ้นในสังคมไทย สมาชิกในเครือข่ายดังกล่าว อาทิ เครือข่ายผู้ทรงคุณวุฒิ พระไพศาล วิสาโล นายแพทย์ประเวศ วะสี ศาสตราจารย์สุมน อมรวิวัฒน์ และจากที่อื่น ๆ ทั้งที่เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันอาศรมศิลป์ เสมสิกขาลัย สถาบันการศึกษาสัตยาไส สถาบันขวัญเมือง ศูนย์คุณธรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เสถียรธรรมสถาน และมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ จากหลากหลายสาขาวิชา เช่น วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ แพทย์ วิศวกรรม การศึกษา ศาสนา สิ่งแวดล้อม ธุรกิจ เป็นต้น จะพัฒนาตัวเองเป็นวิทยากร และอาจารย์ผู้สอนในหลักสูตรปริญญาโท และปริญญาเอก เพื่อสร้างผู้เชี่ยวชาญขึ้นไว้ในสังคมไทย จำนวนมากขึ้นๆ และเป็นกำลังสำคัญที่จะทำให้การศึกษาตามแนวทางจิตตปัญญาศึกษาเกิดขึ้น เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาทั่วไปในหลักสูตรการศึกษาทุกประเภทและทุกระดับ

อ้างอิง[แก้]

http://www.ce.mahidol.ac.th