ความจริงครึ่งเดียว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ความจริงครึ่งเดียว เป็นถ้อยแถลงที่ฉ้อฉลประเภทหนึ่งซึ่งมีองค์ประกอบบางอย่างเป็นความจริง ถ้อยแถลงนั้นอาจเป็นความจริงเพียงบางส่วน หรือโดยรวมแล้วอาจเป็นความจริง แต่เป็นความจริงบางส่วนจากความจริงทั้งหมด หรืออาจใช้องค์ประกอบบางอย่างที่ฉ้อฉล เช่น ใช้เครื่องหมายวรรคตอนไม่เหมาะสม หรือใช้ความหมายสองแง่สองง่าม โดยเฉพาะเมื่อมีเจตนาหลอกลวง หลบเลี่ยง ตำหนิ หรือบิดเบือนความจริงนั้น[1]

ความมุ่งประสงค์[แก้]

ความมุ่งประสงค์และ/หรือผลสืบเนื่องของความจริงครึ่งเดียวก็คือ เพื่อสร้างบางสิ่งบางอย่างที่เป็นความเชื่ออย่างเดียวจริง ๆ ให้ดูเหมือนว่าเป็นความรู้ หรือเป็นคำแถลงที่สมจริงแทนความจริงทั้งมวล หรืออาจเป็นได้ว่าเพื่อชักนำไปสู่ข้อสรุปอย่างผิด ๆ การที่ใครคนหนึ่งจะรู้ว่าประพจน์ที่ให้มาเป็นจริงหรือไม่ คนนั้นต้องไม่เพียงแค่เชื่อในประพจน์อันเป็นจริงที่เกี่ยวข้อง แต่เขายังต้องมีเหตุผลที่ดีมาสนับสนุนด้วย ตามทฤษฎีความเชื่อที่มีเหตุผลสนับสนุนว่าจริง (justified true belief) ของความรู้ ความจริงครึ่งเดียวฉ้อฉลผู้รับสารโดยนำเสนอบางสิ่งบางอย่างที่น่าเชื่อถือ และใช้มุมมองต่าง ๆ ของคำแถลงที่แสดงให้เห็นได้ว่าเป็นจริงในฐานะเหตุผลที่ดี เพื่อให้เชื่อว่าคำแถลงนั้นเป็นจริงโดยครบถ้วนบริบูรณ์ หรือว่าคำแถลงนั้นเป็นตัวแทนของความจริงทั้งมวล บุคคลที่ถูกฉ้อฉลโดยความจริงครึ่งเดียว จะพิจารณาประพจน์ว่าเป็นความรู้และปฏิบัติตนตามนั้น

ตัวอย่าง[แก้]

  • "คุณไม่ควรเชื่อใจปีเตอร์ที่จะฝากลูกของคุณให้เขาดูแล วันก่อนฉันเห็นปีเตอร์ทุบตีเด็กคนหนึ่งด้วยมือเปล่า" ในตัวอย่างนี้คำแถลงก็อาจจะเป็นจริง แต่ปีเตอร์อาจจะทุบตีที่หลังของเด็กก็เพราะว่าเด็กกำลังสำลัก
  • "ผมเป็นคนขับรถที่ดีจริง ๆ ในสามสิบปีที่ผ่านมา ผมได้ใบสั่งความเร็วเกินกำหนดเพียงสี่ครั้งเท่านั้น" คำแถลงเป็นจริง แต่ไม่เกี่ยวข้องหากผู้พูดเพิ่งจะเริ่มขับรถเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
  • หลังจากถูกโบกให้จอดเพราะขับรถขณะเมาสุรา คนขับรถที่มึนเมาพูดคละละเลือนว่า "ผมดวดเบียร์แค่สองเท่านั้นเอง" คนขับรถอาจจะดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างอื่นนอกจากเบียร์อีกก็ได้ และภาชนะบรรจุเบียร์อาจจะใหญ่กว่ากระป๋อง ขวด หรือแก้วขนาดปกติทั่วไปก็ได้
  • นิทานคลาสสิกอย่างเรื่องตาบอดคลำช้าง คนตาบอดแต่ละคนลูบคลำส่วนต่าง ๆ ของช้าง แล้วได้ผลสรุปว่าช้างมีรูปร่างอย่างไรแตกต่างกัน ในขณะที่ประสบการณ์เรื่องช้างของแต่ละคนเหมือนกัน แต่ก็ไม่มีใครเข้าใจอย่างสมบูรณ์ถึงธรรมชาติของสัตว์นี้ คนหนึ่งลูบคลำที่หางและเชื่อว่าช้างมีรูปร่างยาวและผอม อีกคนหนึ่งลูกคลำที่ท้องและเชื่อว่าช้างมีรูปร่างกลมและใหญ่ เป็นต้น
  • "ทวิวิภาคเท็จ" (false dichotomy) คือเหตุผลวิบัติรูปนัยของทวิบถเท็จ (false dilemma) ซึ่งอาจรู้จักในชื่อ ทางเลือกเท็จ (false choice), ทวิบถปลอมแปลง (falsified dilemma), เหตุผลวิบัติแห่งนิรมัชฌิม (fallacy of the excluded middle), ความคิดเรื่องดำกับขาว (black and white thinking), สหสัมพัทธ์เท็จ (false correlative), เหตุผลวิบัติแบบไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง (either/or fallacy) และการแยกสองง่าม (bifurcation) เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ที่ทำให้ตัวเลือกที่เป็นไปได้ มีเพียงคำแถลงทางเลือกเพียงสองทางเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงมีตัวเลือกอย่างอื่นอีกหนึ่งทางขึ้นไป แต่ไม่ได้นำมาพิจารณาหรือนำเสนอให้ผู้รับฟังทราบ

การเมือง[แก้]

ความจริงครึ่งเดียวบางรูปแบบเป็นส่วนหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของการเมืองในประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน ชื่อเสียงของผู้สมัครเพื่อดำรงตำแหน่งทางการเมืองอาจเกิดความเสียหายอย่างไม่สามารถแก้ไขได้หากพวกเขาถูกเปิดโปงในเรื่องที่โกหก ดังนั้นรูปแบบของภาษาที่ซับซ้อนจึงได้วิวัฒนาการขึ้นเพื่อลดโอกาสของการเกิดสิ่งนี้ ถ้ายังไม่มีใครพูดอะไร พวกเขาก็ไม่สามารถถูกกล่าวหาว่าโกหก ด้วยเหตุนี้การเมืองจึงเป็นโลกที่คาดว่าจะพบความจริงครึ่งเดียวต่าง ๆ และคำแถลงทางการเมืองก็ไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับตามค่าหน้าค่าตา [2]

วิลเลียม แซไฟร์ (William Safire) ได้นิยามความจริงครึ่งเดียวตามความมุ่งหมายทางการเมืองไว้ว่า "คำแถลงที่แม่นยำเพียงพอต่อความจำเป็นในการอธิบาย และการอธิบายที่ยาวกว่านั้น ดูเหมือนเป็นปฏิกิริยาของความเชื่ออีกครึ่งต่อสาธารณชนมากกว่า" [3]

อ้างอิง[แก้]

  1. Merriam Webster Definition of Half-truth, August 1, 2007
  2. Crystal, David (2003). The Cambridge Encyclopedia of the English Language. Cambridge University Press. p. 378.
  3. William Safire (1968). The New Language of Politics: An Anecdotal Dictionary of Catchwords, Slogans, and Political Usage. Random House.