คลองฉะไกรน้อย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

คลองฉะไกรน้อย หรือ คลองประตูชัย[1] เป็นแนวคลองขุดโบราณบนเกาะเมืองในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เชื่อมบึงพระรามทางทิศเหนือกับแม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศใต้ ถือเป็นเส้นทางหลักในการคมนาคมระหว่างเกาะเมืองไปสู่นอกเกาะเมือง แต่ปัจจุบันคลองฉะไกรน้อยตื้นเขินเกือบหมดแล้ว

ประวัติ[แก้]

คลองฉะไกรน้อยเป็นคลองที่เริ่มต้นมาตั้งแต่บึงพระรามที่ตั้งอยู่บริเวณกลางเกาะเมืองทะลุออกแม่น้ำเจ้าพระยาในแนวเหนือใต้ ขนานไปกับคลองฉะไกรใหญ่ที่อยู่ทางตะวันตก แต่คลองฉะไกรน้อยขุดขึ้นเมื่อใดไม่เป็นที่ปรากฏแต่คาดว่าน่าจะขุดขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นกรุงศรีอยุธยา เนื่องจากโบราณสถานบางแห่งที่ตั้งและหันลงสู่คลองฉะไกรน้อยมีสถาปัตยกรรมที่จัดอยู่กลุ่มอยุธยาตอนต้น ดังเช่นวัดสิงหารามภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา[2][3] คลองฉะไกรน้อยทำหน้าที่ในการชักน้ำเข้าไปหล่อเลี้ยงบึงพระรามมิให้เหือดแห้ง[2] เมื่อใดที่บึงพระรามมีน้ำมากเกินไปคลองฉะไกรน้อยก็ทำหน้าที่เป็นทางระบายน้ำออกแม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศใต้ อันแสดงให้เห็นถึงความสามารถในระบบการจัดการน้ำของชาวกรุงศรีอยุธยา[4] ตัวคลองมีขนาดไม่กว้างนัก[5] คลองสามารถเชื่อมต่อกับคลองฉะไกรใหญ่ผ่านทางคลองป่ามอทางทิศตะวันตก และคลองประตูเทพหมีผ่านทางคลองวัดฉัตรทันทางทิศตะวันออก[4]

ยังมีการสันนิษฐานว่าคลองฉะไกรน้อยอาจเคยใช้เป็นเส้นทางต้อนรับราชทูตจากราชสำนักฝรั่งเศสที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช[6] และบริเวณคลองฉะไกรน้อยในอดีตนี้ยังเป็นที่ตั้งของบ้านป่าตอง อันเป็นที่ตั้งของนิวาสถานเดิมของสมเด็จพระเพทราชา พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ที่ภายหลังทรงยกนิวาสถานเดิมของพระองค์เป็นวัดในพระพุทธศาสนานั่นคือวัดบรมพุทธาราม ที่เสมือนวัดประจำราชวงศ์บ้านพลูหลวง[7]

ปัจจุบันคลองฉะไกรน้อยตื้นเขินไปเกือบหมดแล้ว หลงเหลือเพียงลำคลองบางส่วนเท่านั้นบริเวณวัดบรมพุทธาราม วัดสิงหาราม วัดสวนหลวงค้างคาว[2] และสะพานบ้านดินสอที่ตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา[8] และได้มีแนวคิดในการฟื้นฟูคลองฉะไกรน้อยเพื่อให้เกาะเมืองพระนครศรีอยุธยากลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. พันทิพา มาลา และอดิศร สุพรธรรม (2553). ประวัติความเป็นมาของโบราณสถานภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา (PDF). พระนครศรีอยุธยา: สถาบันอยุธยาศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา. p. 100. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-07-27. สืบค้นเมื่อ 2019-07-27.
  2. 2.0 2.1 2.2 กำพล จำปาพันธ์. อยุธยา จากสังคมเมืองท่านานาชาติ สู่มรดกโลก. นนทบุรี : มิวเซียมเพรส, 2559. หน้า 26
  3. วิสุทธิ์ ภิญโญวาณิชกะ (19 กรกฎาคม 2551). "วัดสิงหาราม อารามร้าง". wisut.net. สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. 4.0 4.1 4.2 ณัฐดนัย ใหม่ซ้อน (8 พฤศจิกายน 2558). "อยุธยา (อยู่) กับน้ำ ฟื้นคูคลองเมืองมรดกโลก". อิศรา. สืบค้นเมื่อ 18 มีนาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. Prapaporn Taengpun (28 สิงหาคม 2558). "ภูมินามวิทยาพระนครศรีอยุธยา". อยุธยาศึกษา. สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  6. กิตติ โล่ห์เพชรัตน์. มรดกอยุธยา. กรุงเทพฯ : ก้าวแรก, 2557, หน้า 219-220
  7. "'นักปวศ.' ชื่นชมอยุธยาฟื้นฟูมะขามยักษ์ 300 ปีที่วัดบรมพุทธาราม เผยเป็น "บ้านเดิม" พระเพทราชา". มติชนออนไลน์. 10 พฤศจิกายน 2559. สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  8. "สะพานข้ามคลองฉะไกรน้อย". ศูนย์ข้อมูลกลาง กระทรวงวัฒนธรรม. 25 กันยายน 2555. สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)