การล้อมไทร์ (ค.ศ. 1187)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การล้อมไทร์ (ค.ศ. 1187)
ส่วนหนึ่งของ สงครามครูเสด

ภาพสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 15 แสดงการสู้รบระหว่างนักรบครูเสดกับทัพมุสลิม ภาพนี้เป็นส่วนหนึ่งของ Les Passages d’Outremer โดยเซบาสเตียง มาเมโรต์
วันที่12 พฤศจิกายน ค.ศ. 1187–1 มกราคม ค.ศ. 1188
สถานที่
ผล นักรบครูเสดชนะ
คู่สงคราม
นักรบครูเสด ราชวงศ์อัยยูบิด
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
คอนราดแห่งมงแฟรา
ซันโช มาร์ติน
ศอลาฮุดดีน
อับด์ อัล-ซะลาม อัล-มักรีบี
อับด์ อัล-มอห์เซน
อัล-ฟาริส เบดรัน
กำลัง
ทหารไม่ทราบจำนวน
เรือรบ 17 ลำ
ทหารไม่ทราบจำนวน
เรือรบ 10 ลำ
ความสูญเสีย
น้อย หนัก

การล้อมไทร์ (อังกฤษ: Siege of Tyre) เป็นการสู้รบระหว่างฝ่ายนักรบครูเสดกับมุสลิมราชวงศ์อัยยูบิด (Ayyubid) ที่เมืองไทร์ เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 12 พฤศจิกายน ค.ศ. 11871 มกราคม ค.ศ. 1188

หลังยุทธการฮัททินในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1187 พื้นที่ส่วนใหญ่ของดินแดนศักดิ์สิทธิ์รวมถึงเยรูซาเลมตกอยู่ใต้อำนาจของศอลาฮุดดีน นักรบครูเสดบางส่วนได้หนีไปที่เมืองไทร์ ซึ่งเป็นเมืองชายฝั่งเลแวนต์ที่ฝ่ายคริสต์ปกครองอยู่ ในขั้นแรกเรจินัลด์แห่งไซดอน (Reginald of Sidon) ตกลงจะให้เมืองนี้ยอมจำนนแก่ศอลาฮุดดีน แต่ต่อมาคอนราดแห่งมงแฟรา (Conrad of Montferrat) ได้ยกทัพมาที่เมืองนี้และประกาศจะไม่ยอมจำนน เรจินัลด์จึงถอนตัวจากเมือง ส่วนคอนราดสร้างปราการและคูเมืองต่าง ๆ ไว้รอรับศึกกับทัพมุสลิม ทัพมุสลิมบางส่วนมาถึงเมืองนี้ในวันที่ 12 พฤศจิกายน ค.ศ. 1187 ก่อนทั้งหมดจะตามมาในอีก 13 วันต่อมา[1]

การสู้รบเป็นไปอย่างรุนแรง ทัพมุสลิมใช้เครื่องทุ่นแรงช่วยในการทลายกำแพงเมือง ส่วนทัพครูเสดตอบโต้ด้วยกองเรือที่มีพลธนู พลหน้าไม้และเครื่องยิงหิน ศอลาฮุดดีนพยายามหาวิธีตีเมืองนี้แต่ไม่สำเร็จและต้องพบกับการโจมตีของทัพครูเสดที่นำโดยซันโช มาร์ติน (Sancho Martin)[2] อัศวินชาวสเปนผู้มีฉายาว่า "อัศวินเขียว" (เรียกตามสีชุดเกราะ)[3] ความกล้าหาญและฝีมือของมาร์ตินเป็นที่ยอมรับจากทั้งฝ่ายนักรบครูเสดและนักรบมุสลิม รวมถึงศอลาฮุดดีนที่เสนอทรัพย์สินให้หากเขายอมเปลี่ยนฝ่ายและหันมานับถือศาสนาอิสลาม แต่มาร์ตินปฏิเสธและยังคงนำทัพออกรบกับทัพมุสลิม[3]

หลังการสู้รบอย่างยาวนาน ศอลาฮุดดีนคิดว่าหนทางเดียวที่จะยึดเมืองนี้ได้คือทางทะเล เขาจึงสั่งกองเรือ 10 ลำจากแอฟริกาเหนือ ในช่วงแรกกองเรือมุสลิมได้เปรียบในการรบ แต่ระหว่างคืนวันที่ 29–30 ธันวาคม กองเรือครูเสดได้โจมตีเรือรบมุสลิม 5 ลำ ส่วนที่เหลือถูกสั่งให้ถอนกำลัง ศอลาฮุดดีนสั่งให้ทัพมุสลิมโจมตีเมืองอีกครั้งแต่ก็ล้มเหลว สูญเสียกำลังพลไปมากมาย[3] เขาจึงปรึกษากับผู้นำคนอื่น ๆ และประเมินสถานการณ์ก่อนจะสั่งถอยทัพไปที่เมืองเอเคอร์ การล้อมสิ้นสุดลงในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1188[1]

ยุทธการครั้งนี้ช่วยเพิ่มขวัญกำลังใจของนักรบครูเสดและมีผลต่อสงครามครูเสดครั้งที่ 3 ในเวลาต่อมา แต่สำหรับศอลาฮุดดีน ยุทธการครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงจุดอ่อนของกองทัพหากต้องต่อสู้เป็นเวลายาวนาน[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 Nicholson p.81-82
  2. Folda p.28
  3. 3.0 3.1 3.2 Payne p.280-282
  4. Lane-Poole p.241-243