กระเจี๊ยบ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก กระเจี๊ยบเขียว)
กระเจี๊ยบ
ต้นและฝักกระเจี๊ยบที่กำลังเจริญเติบโตในฮ่องกง
ฝักกระเจี๊ยบผ่าตามยาว
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
ไม่ได้จัดลำดับ: Angiosperms
ไม่ได้จัดลำดับ: Eudicots
ไม่ได้จัดลำดับ: Rosids
อันดับ: Malvales
วงศ์: Malvaceae
สกุล: Abelmoschus
สปีชีส์: A.  esculentus
ชื่อทวินาม
Abelmoschus esculentus
(L.) Moench
Map showing worldwide okra production
ผลผลิตกระเจี๊ยบทั่วโลก
ชื่อพ้อง[1]
  • Abelmoschus bammia Webb
  • Abelmoschus longifolius (Willd.) Kostel.
  • Abelmoschus officinalis (DC.) Endl.
  • Abelmoschus praecox Sickenb.
  • Abelmoschus tuberculatus Pal & Singh
  • Hibiscus esculentus L.
  • Hibiscus hispidissimus A.Chev. nom. illeg.
  • Hibiscus longifolius Willd.
  • Hibiscus praecox Forssk.

กระเจี๊ยบ[2] เป็นพืชล้มลุกอายุหลายปี เจริญเติบโตได้ดีในเขตอากาศกึ่งร้อน คือมีอุณหภูมิระหว่าง 18–35 องศาโดยประมาณ เป็นพืชที่สามารถนำมาเป็นสมุนไพรได้ เพราะมีสรรพคุณทางยาที่ช่วยรักษาเกี่ยวกับโรคกระเพาะอาหาร

ในประเทศอินเดียเรียกกระเจี๊ยบว่า ภิณฑี (ฮินดี: भिण्डी) ส่วนประเทศในตะวันออกกลางเรียกว่า บามียะฮ์ (อาหรับ: بامية) ส่วนในประเทศไทยนั้นเรียกแตกต่างกันไปตามภูมิภาค ภาคกลางเรียกกระเจี๊ยบเขียว กระเจี๊ยบมอญ มะเขือทวาย มะเขือมอญ ภาคเหนือเรียกมะเขือพม่า มะเขือมื่น มะเขือมอญ มะเขือละโว้ มะเขือลื่น ถิ่นกำเนิดของกระเจี๊ยบยังเป็นที่ถกเถียงระหว่างบริเวณแอฟริกาตะวันตก, เอธิโอเปีย และเอเชียใต้

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์[แก้]

ตามลำต้นกระเจี๊ยบมีขนหยาบและมีความสูงประมาณ 1–2 เมตร ใบเป็นใบเดี่ยว คล้ายฝ่ามือเรียงสลับกัน และมีขนหยาบ ดอกมีสีเหลือง ที่โคนกลีบด้านในมีสีม่วงออกแดง ออกตามซอกใบ ก้านชูเรณูรวมกันเป็นลักษณะคล้ายหลอด ฝักคล้ายนิ้วมือผู้หญิง ตามฝักมีขนอ่อน ๆ ทั่วฝัก มีสันเป็นเหลี่ยมตามยาว 5 เหลี่ยม ฝักกระเจี๊ยบมีทรงยาวสีเขียว ฝักอ่อนมีรสชาติหวาน กรอบอร่อย ส่วนฝักแก่จะมีเนื้อเหนียว

แหล่งเพาะปลูก[แก้]

ในประเทศไทยนั้นพื้นที่ที่มีการปลูกกระเจี๊ยบมากส่วนใหญ่อยู่ในภาคกลาง มีหลายจังหวัด ได้แก่ นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี สุพรรณบุรี สมุทรสาคร พิจิตร กาญจนบุรี ราชบุรี ระยอง และนครนายก

การใช้ประโยชน์[แก้]

ชาวมอญนิยมใช้กระเจี๊ยบทำแกงส้ม ในอินเดียนำไปทำอาหารได้หลายชนิด เช่น แกงกระเจี๊ยบ ผัดกระเจี๊ยบใส่เครื่องเทศ เมือกในกระเจี๊ยบเป็นสารประเภทกัม (gum) และเพกทิน เมล็ดแก่นำไปทำเมล็ดกาแฟเทียมโดยนำไปคั่ว บดแล้วนำมาชงแทนกาแฟ นิยมดื่มในชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกาที่อยู่ทางตอนใต้ของสหรัฐ ทางตะวันออกกลางนำไปแต่งกลิ่นกาแฟ[3]

สรรพคุณทางยา[แก้]

กระเจี๊ยบเป็นพืชที่มีคุณสมบัติในการช่วยรักษาโรคกระเพาะอาหารและลำไส้[4] เพราะในฝักกระเจี๊ยบนั้นมีสารเมือกพวกเพกทิน, เมือก (mucilage) ซึ่งเกิดจากสารประกอบ acetylated acidic polysaccharide และกรดกาแลกทูโรนิก (galactulonic acid)[5] และกัมช่วยเคลือบแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ไม่ให้ลุกลาม รักษาความดันให้เป็นปกติ เป็นยาบำรุงสมอง มีสรรพคุณเป็นยาระบาย

อ้างอิง[แก้]

  1. "The Plant List: A Working List of All Plant Species". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-02-07. สืบค้นเมื่อ 3 October 2014.
  2. ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2556, หน้า 25.
  3. นิดดา หงษ์วิวัฒน์. กระเจี๊ยบเขียว กระเจี๊ยบมอญ. ครัว. ปีที่ 18 ฉบับที่ 200 สิงหาคม 2554 หน้า 18 - 26
  4. สมุนไพรรักษาโรคกระเพาะ
  5. (คมชัดลึก)