ผลต่างระหว่างรุ่นของ "เศรษฐกิจตลาดแบบสังคมนิยม"

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เนื้อหาที่ลบ เนื้อหาที่เพิ่ม
潘国豪 (คุย | ส่วนร่วม)
สร้างใหม่
(ไม่แตกต่าง)

รุ่นแก้ไขเมื่อ 23:01, 30 กรกฎาคม 2565

เศรษฐกิจตลาดแบบสังคมนิยม เป็นระบบเศรษฐกิจ และตัวแบบการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่ประกาศใช้ในสาธารณรัฐประชาชนจีน. ตัวระบบ เป็นเศรษฐกิจตลาดที่ใช้กรรมสิทธิ์สาธารณะอย่างกว้างขวาง และมีรัฐวิสาหกิจถือครองสัดส่วนใหญ่ในระบบเศรษฐกิจ. คำศัพท์ “เศรษฐกิจตลาดแบบสังคมนิยม” เริ่มใช้โดยเจียงเจ๋อหมิน ในช่วงการประชุมสมัชชาแห่งชาติครั้งที่ 14 ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน (พคจ.) ในปี 1992 เพื่ออธิบายถึงเป้าหมายของการปฏิรูปเศรษฐกิจของจีน. ต้นแบบของการปฏิรูปเศรษฐกิจของจีน ริเริ่มขึ้นในปี 1978 เพื่อเป็นการบูรณาการจีนไปสู่เศรษฐกิจแบบโลกาภิวัฒน์, เศรษฐกิจตลาดแบบสังคมนิยมเป็นตัวแทนที่แสดงถึงการพัฒนาสังคมนิยมใน “ระดับต้น”. นักวิจารณ์บางสายกล่าวถึงระบบเศรษฐกิจแบบนี้ ว่าเป็นเพียง “ทุนนิยมโดยรัฐ” รูปแบบหนึ่ง, ในขณะที่อีกสายกล่าวว่าระบบดังกล่าวถือเป็นแบบฉบับแห่งการวิวัฒน์ของลัทธิมาร์กซ์, มีความสอดคล้องกับลัทธิมาร์กซ์-เลนิน และมีความคล้ายคลึงกับนโยบายเศรษฐกิจใหม่ของสหภาพโซเวียต, เป็นการปรับตัวให้สามารถดำรงอยู่ร่วมกันกับระบบทุนนิยมที่ครอบคลุมไปทั่วโลก.

รายละเอียด

การปฏิรูปไปสู่รูปแบบเศรษฐกิจตลาดแบบสังคมนิยม เป็นหนึ่งในพื้นฐานของหลักวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ของลัทธิมาร์กซ์. ช่วงปลายทศวรรษ 1970, เติ้งเสี่ยวผิง ผู้นำสูงสุดในขณะนั้น และบรรดาผู้นำอื่นๆ ของ พคจ. ปัดตกแนวคิดเดิมของหลักความคิดเหมาเจ๋อตง ที่เพียงมุ่งเน้นพลังขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจด้วยการเมืองและวัฒนธรรม โดย พคจ. ริเริ่มให้ความสำคัญต่อการพัฒนาที่มุ่งเน้นไปที่พลังการผลิตทางวัตถุ ในฐานะที่เป็นความจำเป็นขั้นพื้นฐานต่อความก้าวหน้าทางสังคมในรูปแบบสังคมนิยม. นโยบายที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันนี้ของจีน บวกกับมุมมองของลัทธิมาร์กซ์แบบดั้งเดิม – ที่กล่าวว่าเศรษฐกิจสังคมนิยมแบบวางแผนที่พัฒนาเต็มรูปแบบนั้น จะเกิดขึ้นจริงได้ก็ต่อเมื่อเศรษฐกิจแบบตลาดได้รีดเค้นบทบาททางประวัติศาสตร์ของตัวเอง และแปลงรูปตัวเองไปสู่เศรษฐกิจแบบวางแผนตามลำดับ – ประกอบกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ทำให้การวางแผนเศรษฐกิจเป็นไปได้ จึงทำให้ความสัมพันธ์เชิงตลาดมีความจำเป็นน้อยลง.[1]

พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนมองเศรษฐกิจตลาดแบบสังคมนิยมในฐานะที่เป็นระยะเริ่มแรกของการพัฒนาลัทธิสังคมนิยม (ระยะแรกนี้ อาจเรียกว่า “ระยะเบื้องต้น” หรือ “ระยะอุ่นเครื่อง” ของลัทธิสังคมนิยม), โดยกรรมสิทธิ์สาธารณะดำรงอยู่เคียงกันกับลักษณะกรรมสิทธิ์นอกสาธารณะอื่นๆ. พคจ. ให้เหตุผลว่า แม้จะมีการดำรงอยู่ร่วมกันของนายทุนเอกชน วิสาหกิจสาธารณะ และวิสาหกิจรวมหมู่, จีนก็มิได้เป็นประเทศทุนนิยม เนื่องจากพรรคยังเป็นผู้ควบคุมทิศทางของประเทศ, โดยยังยึดกุมเส้นทางการพัฒนาในรูปแบบสังคมนิยมไว้ได้. [1] นักทฤษฎีที่เสนอรูปแบบทางเศรษฐกิจนี้ ได้แยกตัวแบบทางเศรษฐกิจชนิดนี้ออกจากสังคมนิยมตลาด โดยกล่าวว่านักสังคมนิยมตลาดมีความเชื่อว่าเศรษฐกิจแบบวางแผนนั้นไม่สามารถสร้างให้เป็นจริงได้, ไม่เป็นที่ปรารถนา, หรือไม่มีประสิทธิภาพ เพราะฉะนั้นจึงมองตลาดในรูปที่เป็นส่วนสำคัญของลัทธิสังคมนิยม ในขณะที่นักทฤษฎีสายเศรษฐกิจตลาดแบบสังคมนิยม มองว่าการใช้ระบบตลาดเป็นเพียงระยะชั่วคราวก่อนจะมีการพัฒนาเศรษฐกิจแบบวางแผนเต็มรูปแบบ.

ชุยจือหยวน ทำการศึกษาพื้นฐานทางทฤษฎีของเศรษฐกิจตลาดแบบสังคมนิยม ย้อนหลังไปถึงตัวแบบสังคมนิยมเสรี ของเจมส์ มีดส์ ที่ว่า รัฐมีฐานะเป็นผู้อ้างสิทธิ์ในผลกำไรของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งดำเนินการเป็นเอกเทศจากการบริหารของรัฐ.

ความเป็นมา

หลังจากช่วงนโยบายก้าวกระโดด (ปี 1958-1961) และการขับไล่แก๊งสี่คนลงจากอำนาจในปี 1976, เติ้งเสี่ยวผิง (ผู้นำสูงสุด ปี 1978 ถึง 1989) กลับมามุ่งเน้นเรื่องการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน และมองหาระบบที่เข้ากันได้กับเงื่อนไขเฉพาะแบบจีน. อย่างไรก็ดี, แม้จะต้องดำเนินงานดังกล่าว เติ้งเสี่ยวผิงยังคงยึดมั่นในตัวแบบของลัทธิเลนิน ว่าด้วยการควบคุมทางการเมืองจากส่วนกลาง และแนวคิดการปกครองรัฐโดยพรรคเดียว.

เจียงเจ๋อหมิน เป็นผู้ริเริ่มใช้คำศัพท์ “เศรษฐกิจตลาดแบบสังคมนิยม” ในปี 1992” เจียงได้ทดสอบแนวคิดดังกล่าว เพื่อที่จีนจะสามารถเรียนรู้จากประเทศทุนนิยมได้ โดยที่ไม่ต้องอธิบายเสริมว่า การปฏิรูปนั้นเป็น “สังคมนิยม” หรือ “ทุนนิยม” กันแน่. โดยก่อนหน้านั้นเจียงได้รับความเห็นชอบการใช้คำศัพท์นี้จากเติ้งเสี่ยวผิงล่วงหน้าแล้ว. [2] นโยบายโด๋ยเม้ย ในสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ก็เป็นการปรับใช้แนวคิดนี้เช่นกัน. หลังจากที่เริ่มดำเนินการปฏิรูป ระบบเศรษฐกิจรูปแบบนี้ก็ได้เข้าแทนที่เศรษฐกิจวางแผนจากส่วนกลางในสาธารณรัฐประชาชนจีน, และได้เห็นการเติบโตของ GDP ในระดับสูงในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา. ในตัวแบบเศรษฐกิจนี้ วิสาหกิจของเอกชนได้กลายเป็นองค์ประกอบหลักของระบบเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับรัฐวิสาหกิจจากส่วนกลาง ตลอดจนวิสาหกิจแบบรวมหมู่ แบบตำบล และแบบหมู่บ้าน.

การแปลงรูปไปสู่เศรษฐกิจตลาดแบบสังคมนิยม เริ่มในปี 1978 เมื่อเติ้งเสี่ยวผิงประกาศนโยบายว่าด้วยสังคมนิยมแบบอัตลักษณ์จีน. การปฏิรูประยะแรกเริ่มด้วยการปรับลดภาคการเกษตรจากระบบรวมหมู่ และเปิดประเทศเพื่อรับเงินลงทุนจากต่างชาติในช่วงปลายทศวรรษ 1970 และต้นทศวรรษ 1980 ที่ภายหลังนำไปสู่การปฏิรูปอย่างกว้างขวางและครอบคลุม, รวมถึงการแปลงรูปให้เป็นบรรษัทของวิสาหกิจภาครัฐ, บางส่วนแปลงรูปให้เป็นเอกชน, ปลดข้อจำกัดด้านการค้าและราคา และรื้อระบบ “ชามข้าวเหล็ก” ที่ถือเป็นคติเก่าว่าด้วยความมั่นคงในการจ้างงานในช่วงปลายทศวรรษ 1990. ด้วยการปฏิรูปของเติ้งเสี่ยวผิง, GDP ของจีนพุ่งทะยานจาก 1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 1.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2004, คิดเป็นอัตราการเติบโตร้อยละ 9.4 ต่อปี.

การวิเคราะห์

นักวิจารณ์และนักวิชาการหลายสายมองระบบเศรษฐกิจของจีนว่าเป็นเพียงทุนนิยมโดยรัฐรูปแบบหนึ่ง, โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการปฏิรูปอุตสาหกรรมระหว่างทศวรรษที่ 1980 และ 1990, โดยสังเกตว่าแม้เศรษฐกิจของจีนยังคงมีเศรษฐกิจภาครัฐขนาดใหญ่, รัฐวิสาหกิจบางส่วนกลับมีรูปแบบการดำเนินงานเหมือนกับบริษัทเอกชน และเก็บผลกำไรอยู่กับตัว โดยมิได้ปันส่วนดังกล่าวไปสู่ภาครัฐ เพื่อให้รัฐนำไปทำประโยชน์ให้กับประชาชนโดยรวม. ตัวแบบเศรษฐกิจนี้ยังเป็นที่มาของคำถาม ถึงความสมเหตุสมผลของการมีกรรมสิทธิ์สาธารณะที่มากเกินไป ตลอดจนความเข้ากันของนิยามของระบบที่มีต่อความเป็น “สังคมนิยม”, และนำไปสู่ความกังวลและการถกเถียงกัน ว่าด้วยการจัดสรรผลกำไรของรัฐ.

อย่างไรก็ดี, นับตั้งแต่ปี 2017 ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ, รัฐบาลกลางเริ่มส่งเสริมให้รัฐวิสาหกิจจ่ายเงินปันผลให้กับรัฐ. นโยบายปฏิรูปนอกจากนี้ ยังมีการโอนถ่ายสินทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจไปสู่กองทุนประกันสังคม เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่งบเงินบำนาญ, ตลอดจนรัฐบาลระดับเมืองของเซินเจิ้น ยังได้เสนอให้รัฐวิสาหกิจให้การอัดฉีดในรูปแบบเงินปันผลทางสังคมกับประชาชน.

นักเศรษฐศาสตร์ชาวจีน ชุยจือหยวน ให้ทัศนะถึงตัวแบบของเจมส์ มีดส์ ว่าด้วยสังคมนิยมเสรี ว่ามีความคล้ายคลึงกับเศรษฐกิจตลาดแบบสังคมนิยมของจีน และสามารถนำไปพิสูจน์ความสมเหตุสมผลของตัวแบบของจีนได้. ตัวแบบสังคมนิยมตลาดของมีดส์ กล่าวถึงกรรมสิทธิ์สาธารณะในวิสาหกิจ ที่มีการบริหารงานเป็นเอกเทศ – ในขณะที่รัฐเป็นเพียงผู้อ้างสิทธิในกำไรที่ได้จากผลประกอบการของวิสาหกิจ, แต่มิได้มีสิทธิควบคุมการบริหารหรือการดำเนินงานในวิสาหกิจ. ข้อได้เปรียบของตัวแบบนี้คือ รัฐมีแหล่งรายได้นอกเหนือจากรูปแบบภาษีและหนี้เงินกู้ค้างชำระ, ทำให้สามารถลดภาระด้านภาษีเงินได้ให้กับบุคคลธรรมดาและภาคเอกชน ในขณะเดียวกันก็สามารถส่งเสริมความเท่าเทียมได้ด้วย. ชุย ชี้ว่าประสบการณ์ของฉงชิ่ง มีลักษณะที่รัฐวิสาหกิจระดับเมืองช่วยให้ภาครัฐสามารถแบกรับค่าใช้จ่ายด้านสังคมที่สูงได้ ควบคู่ไปกับภาษีระดับต่ำ โดยยังมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับสูงโดยรวม นั้น ถือเป็นข้อพิสูจน์ของตัวแบบเศรษฐกิจตลาดแบบสังคมนิยม. ตัวแบบฉงชิ่งมีการใช้กำไรจากรัฐวิสาหกิจไปอุดหนุนบริการสาธารณะ (รวมถึงการจัดหาที่อยู่อาศัย), เป็นแหล่งรายได้หลักของการคลังสาธารณะ และยังทำให้ฉงชิ่งสามารถลดอัตราภาษีนิติบุคคล (15% เทียบกับอัตราภาษีนิติบุคคลระดับประเทศที่ 33%) เพื่อจูงใจการลงทุนจากต่างชาติอีกด้วย.[2]

เปรียบเทียบ สังคมนิยมตลาด และทุนนิยม

นักทฤษฎีสายเศรษฐกิจตลาดแบบสังคมนิยม เทียบตัวแบบเศรษฐกิจนี้กับนโยบายเศรษฐกิจใหม่ แห่งยุคทศวรรษ 1920 ของสหภาพโซเวียต ที่นำเสนอการปฏิรูปเชิงตลาดหลากหลายรูปแบบ ในขณะที่ยังรักษาไว้ซึ่งระบบกรรมสิทธิ์ของรัฐ ว่าด้วยเศรษฐกิจที่มีการสั่งการจากมุมสูง. พบว่าการปฏิรูปมีความชอบธรรม ด้วยความเชื่อที่ว่า การปรับเปลี่ยนเงื่อนไขเป็นความจำเป็นในการออกยุทธศาสตร์ใหม่ๆ สำหรับการพัฒนาสังคมนิยม.

จากข้อมูลของ หลี่หรงหรง, ในปี 2003 ประธานกรรมาธิการตรวจสอบและบริหารสินทรัพย์ของรัฐ ภายใต้คณะรัฐมนตรี, กล่าวว่าระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมของจีน ได้รับการค้ำจุนด้วยบทบาทพื้นฐานของวิสาหกิจแบบสาธารณะ

กรรมสิทธิ์สาธารณะ, ในฐานะที่เป็นรากฐานของระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม เป็นพลังขั้นพื้นฐานของรัฐที่จะนำพาและส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และเป็นหลักประกันการมีผลสัมฤทธิ์ในประโยชน์สุขขั้นพื้นฐาน และความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันของประชาชนส่วนใหญ่... เศรษฐกิจรูปแบบกรรมสิทธิ์ของรัฐเข้ามามีอิทธิพลต่อการค้าที่สำคัญ มีความใกล้ชิดต่อเส้นชีวิตทางเศรษฐกิจในพื้นที่สำคัญ และของประเทศ, มีการเตรียมพร้อม, ชี้ทาง และนำพาการพัฒนาด้านเศรษฐ-สังคมในทุกมิติ. อิทธิพลและสมรรถภาพของรัฐวิสาหกิจเติบโตขึ้นเป็นลำดับ. เศรษฐกิจของรัฐวิสาหกิจมีบทบาทที่ไม่สามารถทดแทนได้ในการขับเคลื่อนความทันสมัยของสังคมนิยมในจีน.

ในอดีต, แม้วิสาหกิจส่วนใหญ่เป็นของภาครัฐ, แต่วิสาหกิจก็ยังมีการเก็บผลกำไรไว้กับตัว อีกทั้งมีการจ่ายเงินเดือนอัตราสูงให้กับบรรดาผู้จัดการขององค์กร แทนที่จะปันส่วนกลับไปสู่ประชาชน. อย่างไรก็ดี สถานะดังกล่าวมิได้เป็นเช่นนั้นอีกต่อไป, ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญต่อต้านคอร์รัปชั่นของสีจิ้นผิง, ผู้บริหารของรัฐวิสาหกิจต้องเผชิญกับการลดเงินเดือนกว่า 50%, บทบาทการกำกับดูแลของพรรคคอมมิวนิสต์ที่มีอยู่เหนือรัฐวิสาหกิจ ได้รับการรับรองโดยชอบด้วยกฎหมาย [20] และสภาตัวแทนคนงานและพนักงาน, ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของระบบประชาธิปไตยในสถานประกอบการ ได้กลับมามีสถานะเดิมอีกครั้ง เสมือนยุคทศวรรษที่ 1980, รัฐวิสาหกิจมีหน้าที่โดยกฏหมายที่จะต้องรับรองสภานี้ในสถานประกอบการ และกว่า 80% ของวิสาหกิจจดทะเบียนในจีนมีสภานี้ด้วยเช่นกัน, รวมถึงบริษัทภาคเอกชนบางแห่งด้วย. แมกซ์เซนส์ พอลิน นักรัฐศาสตร์การเมืองชาวแคนาดา กล่าวในผลการวิจัยทางวิชาการแห่งปี 2021 ว่า:[3]

วิถีการผลิตของจีนยุคใหม่, นับตั้งแต่ปี 1990, ดำเนินรอยตามตรรกะคล้ายกับสหภาพโซเวียตยุคที่มีการใช้นโยบายเศรษฐกิจใหม่. ตามประสบการณ์ของนโยบายเศรษฐกิจใหม่, งานวิจัยของเราพบว่า ไม่ควรจะไปเข้าใจว่ายุทธศาสตร์การพัฒนาของจีนนั้นเอนเอียงไปทางตัวแบบเสรีนิยมใหม่. ตามจริงแล้วมันคือการวิวัฒนาการอันเป็นต้นฉบับของลัทธิมาร์กซ์, ซึ่งสอดคล้องกับลัทธิมาร์กซ์-เลนิน แบบดั้งเดิม, เป็นการปรับตัวให้สามารถดำรงอยู่ร่วมกันกับระบบทุนนิยมที่ครอบคลุมไปทั่วโลก.[3]

ลักษณะเฉพาะ

วิสาหกิจ และประเภทของกรรมสิทธิ์

กรรมสิทธิ์สาธารณะภายใต้เศรษฐกิจตลาดแบบสังคมนิยม ประกอบด้วยสินทรัพย์ของรัฐ, วิสาหกิจรวมหมู่, และวิสาหกิจที่ภาคสาธารณะถือครองหุ้นตามสัดส่วน. ทั้งนี้รูปแบบกรรมสิทธิ์สาธารณะที่หลากหลายมีบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจตลาดแบบสังคมนิยม ควบคู่ไปกับสัดส่วนเศรษฐกิจจากภาคเอกชน และวิสาหกิจข้ามชาติ.[1]

ตัวอย่างบางรูปแบบของวิสาหกิจของภาครัฐในจีน:

  • รัฐวิสาหกิจ: วิสาหกิจการพาณิชย์ จัดตั้งโดยรัฐบาลกลางหรือรัฐบาลท้องถิ่น, โดยบรรดาผู้จัดการได้รับแต่งตั้งจากรัฐบาล และองค์กรการปกครองอื่น. วิสาหกิจประเภทนี้เจาะจงเฉพาะองค์กรที่รัฐบริหารและเป็นเจ้าของทั้งหมด. รัฐวิสาหกิจโดยมากมิได้เป็นของรัฐบาลกลาง. รัฐวิสาหกิจที่เป็นของรัฐบาลกลางถือเป็นหน่วยงานย่อยของกรรมาธิการตรวจสอบและบริหารสินทรัพย์ของรัฐ (SASAC).
  • รัฐวิสาหกิจโฮลดิ้ง: เป็นวิสาหกิจมหาชนที่รัฐถือหุ้น, หรือรัฐควบคุม, ที่รัฐถือครองหุ้นส่วนใหญ่ หรือมีส่วนควบคุมการดำเนินงาน, ดังนั้นจึงสามารถใช้อิทธิพลเข้าไปบริหารจัดการในองค์กร. วิสาหกิจประเภทนี้รวมถึงองค์ที่ได้รับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDA).
  • รัฐวิสาหกิจร่วมทุน

เศรษฐกิจภาครัฐ

เศรษฐกิจตลาดแบบสังคมนิยม ประกอบด้วยรัฐวิสาหกิจหลากหลายประเภท ที่เป็นตัวแทนรูปแบบของกรรมสิทธิ์สาธารณะ. นับตั้งแต่การปฏิรูปแห่งปี 1978, ทศวรรษ 1980 ระหว่างการปฏิรูปอุตสาหกรรม รัฐวิสาหกิจมีการแปลงรูปเป็นบรรษัท และเปลี่ยนเป็นบรรษัทร่วมทุนตามลำดับ โดยรัฐยังเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด หรือเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในนั้น. ล่วงถึงทศวรรษ 2000, รัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่ในภาคเศรษฐกิจนอกยุทธศาสตร์ กลายเป็นกิจการมหาชนในตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้และฮ่องกง และบางส่วนปรับตัวเป็นวิสาหกิจที่มีโครงสร้างกรรมสิทธิ์แบบผสม โดยรัฐบาลกลางและหน่วยงานรัฐอื่นๆ - รวมถึงธนาคารของรัฐ, รัฐวิสาหกิจรายอื่น, รัฐบาลระดับมณฑลและท้องถิ่น – ถือกรรมสิทธิ์ในหุ้นในระดับต่างๆ กัน ควบคู่ไปกับผู้ถือหุ้นเอกชนและต่างชาติ. ยังให้เกิดผลลัพธ์ที่ปรากฏเป็นรูปแบบการกระจายตัวของกรรมสิทธิ์สาธารณะ. สิ่งนี้ทำให้การคำนวณขนาดและขอบเขตที่แท้จริงของเศรษฐกิจภาครัฐมีความยากลำบาก, โดยเฉพาะเมื่อรัฐวิสาหกิจที่มีโครงสร้างกรรมสิทธิ์แบบผสมต้องอยู่ในสมการคำนวณ. ในปี 2013, เศรษฐกิจภาครัฐนับเป็น 30% ของจำนวนวิสาหกิจทั้งหมดในจีน, แต่มีสินทรัพย์กว่า 55%, รายได้กว่า 45% และผลกำไรกว่า 40%.

ปี 1996, จีนดำเนินการปฏิรูปอุตสาหกรรมด้วยหลากหลายนโยบาย โดยรวมเรียกว่า “เก็บส่วนที่ใหญ่, ปล่อยส่วนที่เล็ก”. การปฏิรูปเหล่านี้ทำให้มีการปิดรัฐวิสาหกิจที่ไม่มีกำไร, ควบรวมวิสาหกิจขนาดเล็กเข้าด้วยกัน และแปลงรูปวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมส่วนอื่นๆ. รัฐวิสาหกิจของรัฐบาลกลางปรับเปลี่ยนเป็นบริษัทร่วมทุน โดยเล็งที่จะกระจายอำนาจไปสู่เหล่าผู้จัดการของรัฐวิสาหกิจเหล่านั้น. รัฐวิสาหกิจทุกระดับมีการปรับจุดโฟกัสหลักไปสู่การทำกำไร และสละภารกิจด้านสวัสดิการสังคมที่ให้บริการสังคมและประโยชน์แก่คนงาน อันเป็นที่รู้จักว่าระบบ “ชามข้าวเหล็ก”. กรรมาธิการตรวจสอบและบริหารสินทรัพย์ของรัฐ (SASAC) ก่อตั้งขึ้นในปี 2003 เพื่อดูแลการบริหารงานของรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ของส่วนกลางเหล่านี้.

รัฐวิสาหกิจยุคใหม่มีการดำเนินงานที่แตกต่างกันอย่างมากเมื่อเทียบกับยุคทศวรรษ 1990. วิสาหกิจดังกล่าวมีขนาดใหญ่กว่ามาก แต่มีจำนวนน้อยกว่า, ประกอบไปด้วยวิสาหกิจภายใต้คลัสเตอร์ที่รัฐบาลกลางเรียกว่า “ภาคเศรษฐกิจยุทธศาสตร์” ซึ่งรวมถึงการธนาคาร, การเงิน, เหมืองแร่, พลังงาน, การขนส่ง, โทรคมนาคม และการสาธารณูปโภค. โดยเปรียบเทียบแล้วนั้น, วิสาหกิจระดับมณฑลและระดับเมืองนับพัน ดำเนินการอยู่ในเกือบทุกอุตสาหกรรม รวมถึงอุตสาหกรรมสารสนเทศ และ การออกแบบและผลิตยานยนต์. การปฏิรูปเศรษฐกิจภาครัฐยังเป็นการดำเนินที่ต่อเนื่องในปัจจุบัน. ณ ปี 2017, พรรคคอมมิวนิสต์ได้ปฏิเสธที่จะโอบรับและปรับใช้ตัวแบบเทมาเส็กของสิงคโปร์สำหรับกิจการรัฐวิสาหกิจของจีน, ด้วยว่ารัฐวิสาหกิจภายใต้ตัวแบบดังกล่าวดำเนินกิจการพาณิชย์เพื่อแสวงหากำไรสูงสุดเพียงอย่างเดียว. โดยเฉพาะอย่างยิ่งแล้ว, จีนรักษาไว้ซึ่งรัฐวิสาหกิจของส่วนกลางเพื่อแสวงหาผลสัมฤทธิ์ทางนโยบายอุตสาหกรรม ตลอดจนสนองนโยบายของชาติ. ด้วยเหตุดังกล่าว การปฏิรูปในช่วงหลังจึงตั้งวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความสามารถในการทำกำไร และเพื่อปลดหนี้, รัฐบาลได้มีรายงานว่าผลกำไรของรัฐวิสาหกิจของส่วนกลาง เพิ่มขึ้นกว่า 15.2% ในปี 2017.

แม้ว่าจะมีผลกำไรเพิ่มขึ้น, รัฐวิสาหกิจของจีนหลายแห่งก็ยังไม่ได้จ่ายเงินปันผลเข้ารัฐ, เป็นเหตุให้นักวิเคราะห์หลายฝ่ายตั้งคำถามถึงตรรกะของการมีกรรมสิทธิ์สาธารณะตั้งแต่แรก.[4] ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งในการปฏิรูปต่อเนื่องของ SASAC, รัฐวิสาหกิจถูกเรียกร้องและต้องให้ความร่วมมือให้ปันผลกำไรในสัดส่วนที่สูงขึ้นเข้ารัฐ, โดยมีการโอนถ่ายสินทรัพย์ของรัฐบางรายการไปสู่กองทุนประกันสังคม เพื่ออุดหนุนเงินบำนาญให้แก่ประชากรผู้สูงวัยของจีน. นี่เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการปฏิรูปด้านกว้าง ที่จะปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจภาครัฐ ให้กลายเป็นแหล่งการคลังของภาคสาธารณะ. อีกส่วนหนึ่งของการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจที่ประกาศโดย SASAC ในปี 2015 มีอยู่ว่า รัฐวิสาหกิจต่างๆ จะถูกปรับหมวดหมู่ให้เป็นกิจการพาณิชย์ หรือกิจการบริการสาธารณะ, โดยหมวดหมู่แรกจะต้องให้ความร่วมมือในการจัดสรรเงินปันผลในสัดส่วนที่สูงกว่าเดิม. การชำระเงินปันผลดังกล่าวตั้งให้เพิ่มขึ้นจาก 5-15% เป็น 30% ภายในปี 2020.

เศรษฐกิจภาคเอกชน

วิสาหกิจเอกชน ได้รับการยอมรับว่าเป็นองค์ประกอบหนึ่งของเศรษฐกิจตลาดแบบสังคมนิยม เคียงกันกับรัฐวิสาหกิจ, วิสาหกิจรวมหมู่, และวิสาหกิจเอกเทศอื่นๆ. เศรษฐกิจภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญมากขึ้นเรื่อยมา ตั้งแต่มีการประการกฏหมายบริษัทจำกัดในปี 2014. เส้นแบ่งระหว่างรัฐวิสาหกิจและวิสาหกิจเอกชนเริ่มพร่ามัวขึ้นเรื่อยๆ ในจีน โดยบริษัทมหาชนจำนวนมากมีเจ้าของที่มาจากภาครัฐและนอกภาครัฐ.  นอกจากนั้นแล้ว, บริษัทเอกชนที่ทำกิจการในอุตสาหกรรมที่มีการตั้งเป้าหมายการเติบโต มักได้รับเงินกู้พิเศษ หรือสิทธิพิเศษจากภาครัฐ ในขณะที่รัฐวิสาหกิจนอกยุทธศาสตร์กลับอยู่นอกเกณฑ์ที่จะได้รับเงินอุดหนุน. ยกตัวอย่างเช่น, บริษัท ZTE Corporation เป็นวิสาหกิจที่ภาครัฐเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ถูกบังคับให้พึ่งพาแหล่งเงินทุนจากตลาดทุน ในขณะที่คู่แข่งผู้ที่เป็นวิสาหกิจเอกชน Huawei ถูกมองว่าเป็น “แชมเปี้ยนระดับชาติ” ดังนั้นจึงได้รับเงินช่วยเหลือจำนวนมากจากธนาคารของรัฐ. เช่นเดียวกับกิจการรัฐวิสาหกิจ, วิสาหกิจเอกชนถูกคาดหวังให้ปฏิบัติตามนโยบายของรัฐ และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของพรรคคอมมิวนิสต์, อันเป็นการบ่งบอกว่าความแตกต่างระหว่างวิสาหกิจของรัฐและเอกชนนั้น ไม่มีนัยยะสำคัญต่อการทำความเข้าใจในตัวแบบเศรษฐกิจของจีน. ณ ปี 2015, พัฒนาการของการกำกับดูแลและการบริหารโดยตรงจากรัฐ (ทั้งในเศรษฐกิจภาครัฐและภาคเอกชน) มีอำนาจเหนือส่วนต่างๆ ของระบบเศรษฐกิจของจีน และมีบทบาทสำคัญที่มากกว่าการเป็นเพียงผู้มีกรรมสิทธิ์ของสินทรัพย์สาธารณะ.[4]

ขณะที่เศรษฐกิจภาคเอกชนได้รับการยินยอมให้มีบทบาทในเศรษฐกิจตลาดแบบสังคมนิยม และมีการขยายตัวทั้งในด้านขนาดและขอบเขตเป็นอย่างมากนับตั้งแต่ทศวรรษ 1990, ภาคเอกชนก็มิได้ครองอำนาจเหนือเศรษฐกิจของจีน. ขนาดที่แท้จริงของเศรษฐกิจภาคเอกชนเป็นเรื่องที่ประเมินได้ยาก ส่วนหนึ่งเพราะวิสาหกิจเอกชนอาจถือหุ้นส่วนน้อยในวิสาหกิจของรัฐ และเนื่องจากมาตรฐานการจัดประเภทที่ใช้แยกประเภทวิสาหกิจที่แตกต่างกัน. ยกตัวอย่างเช่น ไตรมาสแรกของปี 2016 สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนรายงานระดับการลงทุนคงที่โดยภาคเอกชนที่ 35%, และโดยวิสาหกิจของรัฐที่ 27%, สัดส่วนที่เหลืออยู่เป็นของกองทุนของรัฐที่ถือครองหุ้นในบริษัทต่างๆ แบบมิได้เป็นเจ้าของทั้งหมด.[5]

การวางแผนเศรษฐกิจ

ช่วงต้นทศวรรษ 1990, การวางแผนเศรษฐกิจแบบสหภาพโซเวียตถูกแทนที่ด้วยระบบตลาด และกลายเป็นกำลังขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจตลาดแบบสังคมนิยม, ผ่านการแปลงรูปจากกรรมาธิการวางแผนของรัฐ ไปเป็นกรรมาธิการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติในปี 2003. การวางแผนแบบชี้นำและนโยบายอุตสาหกรรม เข้าแทนที่การวางแผนแบบดุลยวัตถุ และมีบทบาทสำคัญในการนำพาเศรษฐกิจแบบตลาดของทั้งภาครัฐและเอกชน. ระบบการวางแผนมีอยู่ 3 ระดับ, โดยแต่ละระดับใช้กลไกการวางแผนต่างๆ กัน.

การวางแผนภาคบังคับจำกัดเฉพาะรัฐวิสาหกิจที่ดำเนินการในภาคเศรษฐกิจยุทธศาสตร์, รวมถึงการพัฒนาแผนการวิจัย, การศึกษา, และโครงสร้างพื้นฐาน. การวางแผนภาคบังคับมีการร่างโครงของผลสัมฤทธิ์เป้าหมาย และอุปทานของวัตถุดิบ ตลอดจนทรัพยากรทางการเงินที่จำเป็น. การวางแผนแบบสัญญา จะกำหนดวัตถุประสงค์และวิธีการที่จะทำให้เป้าหมายเหล่านั้นประสบผลสำเร็จ จากนั้นจึงเจรจากับบรรดาวิสาหกิจและรัฐบาลท้องถิ่น เพื่อระบุวัตถุประสงค์ที่มีรายละเอียด ตลอดจนวิธีการจัดสรรทรัพยากรไปสู่ภาคเศรษฐกิจเป้าหมาย. การวางแผนแบบชี้นำ ดำเนินกิจการภายใต้กรอบการวางแผนระดับต่ำสุด, โดยรัฐบาลเพียงตีกรอบเป้าหมายทางอุตสาหกรรม จากนั้นจะใช้กลไกของตลาด (มาตรการยกเว้นภาษี, เงินอุดหนุน, และเงินกู้ธนาคารพิเศษ) เพื่อกระตุ้นให้บรรดาวิสาหกิจในอุตสาหกรรมเป้าหมายบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้

ดูเพิ่มเติม

แหล่งข้อมูลอื่น

  1. 1.0 1.1 อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ :0
  2. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ :2
  3. 3.0 3.1 อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ :1
  4. 4.0 4.1 อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ :3
  5. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ :4