ข้ามไปเนื้อหา

แมรีเซเลสต์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาพวาดเรือแมรีเซเลสต์ขณะที่ยังใช้ชื่อว่า แอมะซอน เมื่อปี ค.ศ. 1861 โดยจิตรกรไม่ปรากฏนาม

แมรีเซเลสต์ (อังกฤษ: Mary Celeste; หรือสะกดผิดเป็น Marie Celeste[1]) เป็นเรือใบลำหนึ่งที่เป็นปริศนาและกลายเป็นเรื่องเล่าลือว่าเป็นเรือผีสิงเช่นเดียวกับฟลายอิงดัตช์แมนอันโด่งดัง หรืออาร์เอ็มเอสควีนแมรี[2]

แมรีเซเลสต์ เป็นเรือใบสองเสาความสูงของเสากระโดง 100 ฟุต สัญชาติอเมริกัน แล่นออกจากท่าเรือในนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เพื่อไปสู่เมืองเจนัว ในอิตาลี เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ. 1872 โดยมีกัปตันชื่อ เบนจามิน บริกก์ พร้อมด้วยภรรยา ซาราห์ และโซเฟีย บุตรสาวซึ่งเป็นเพียงเด็กเล็กอายุ 2 ขวบ และมีผู้โดยสารซึ่งเป็นลูกเรือรวมทั้งหมด 11 คน

แมรีเซเลสต์กลายเป็นเรือร้างไม่มีผู้โดยสารและลอยอยู่กลางทะเล จนกระทั่งเรือเดอีกราเซีย เรือบรรทุกสินค้าสัญชาติอังกฤษมาเจอเข้า ที่บริเวณใกล้กับหมู่เกาะอะโซร์ส ของโปรตุเกส ในบ่ายของวันที่ 5 ธันวาคม ปีเดียวกัน โดยขณะที่เจอเป็นเรือร้างไม่มีผู้โดยสาร ใบเรือที่สูงสุดฉีกขาดลง แต่สภาพทุกอย่างบนเรือยังดีอยู่ โต๊ะอาหารของกัปตันยังพบร่องรอยไข่ลวกกระเทาะเปลือกทิ้งไว้โดยไม่ตักรับประทาน ขนมปังและจานซุปยังวางอยู่บนโต๊ะ ไปป์ถูกวางไว้รอจุดไฟ รองเท้าบูตถูกวางทิ้งทั้งที่ยังขัดค้างไว้อยู่ สมุดโน้ตของซาราห์ ภรรยาของกัปตันเปิดคาเหมือนยังเขียนค้างอยู่ แต่ก็ยังมีข้าวของหลายอย่างกระจุยกระจายเหมือนถูกรื้อค้น เช่นเดียวกับปูมเรือ โดยวันสุดท้ายที่มีการบันทึกคือวันที่ 25 พฤศจิกายน หรือประมาณ 10 วันมาแล้ว โดยระบุว่าตำแหน่งที่เรืออยู่นั้นห่างจากจุดที่เจอถึงเกือบ 100 ไมล์

เดวิด มอร์เฮาส์ กัปตันเรือเดอีกราเซียได้ลากจูงแมรีเซเลสต์เข้าสู่ท่า และอ้างว่าตนต้องได้รับส่วนแบ่งจากการเป็นผู้ค้นพบ จนกลายเป็นการไต่สวนของอัยการท้องถิ่น มีความเชื่อมากมายเกี่ยวกับการหายตัวไปของกัปตันและครอบครัวรวมถึงผู้โดยสารทั้งหมด เพราะอัยการผู้เป็นหัวหน้าของการไต่สวนคดีนี้ไม่เชื่อคำกล่าวอ้างของกัปตันมอร์เฮาส์ โดยเชื่อว่ากัปตันบริกก์อาจจะร่วมมือกับกัปตันมอร์เฮาส์เพื่อต้องการเงินประกัน จึงสร้างเรื่องขึ้นมา

โดยเรือแมรีเซเลสต์ มีการกล่าวว่าเป็นเรืออาถรรพ์หรือต้องคำสาป มีอุปสรรคและหายนะนานัปการตั้งแต่เริ่มสร้างในปี ค.ศ. 1860 โดยใช้ชื่อแต่แรกเริ่มว่า "แอมะซอน" กล่าวกันว่า เรือไม่ยอมแล่นหลังจากถูกปล่อยลงน้ำแล้วถึง 3 วัน รวมถึงเมื่อแล่นออกไปแล้ว กัปตันก็ป่วยหนักจนลูกเรือต้องนำพาตัวเขากลับขึ้นฝั่ง เป็นต้น[3][2]

มีคำกล่าวอ้างของพยานคนหนึ่งชื่อ เจ. ฮาบาคัค เจฟสัน ซึ่งอ้างว่า เพราะผู้โดยสารคนหนึ่งเป็นโรคจิต และได้คลุ้มคลั่งอาละวาดขึ้นมาและได้ฆ่าคนบนเรือทั้งหมด เพราะมีหลักฐานชิ้นหนึ่งที่ค้นพบคือ มีดประจำตัวของกัปตันบริกก์ที่พบมีคราบเลือดติดอยู่และมีสิ่งที่คล้ายคราบเลือดติดกับกราบเรืออยู่ด้วย ซึ่งคำกล่าวอ้างของพยานผู้นี้ได้ก่อให้เกิดเป็นความสนใจขึ้นมา และกลายเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจให้กับอาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์ ในวัยหนุ่ม นำไปแต่งเป็นนวนิยายที่โด่งดังมีชื่อเสียงขึ้นมา คือ เชอร์ล็อก โฮมส์[2] [3]

มีทฤษฎีมากมายเกี่ยวกับการหายตัวไปของลูกเรือ ทั้งถูกสัตว์ประหลาดใต้ทะเลจู่โจม หรือถูกโจรสลัดปล้นและได้สังหารทุกคนทิ้งทะเลหมด แต่ข้อสันนิษฐานที่เป็นไปได้มากที่สุด คือ เรือแมรีเซเลสต์นั้นบรรทุกแอลกอฮอล์จำนวนมากในถังไม้ แม้สภาพของถังบรรจุเหล่านั้นจะยังมีสภาพดีอยู่ แต่ทว่าการสืบสวนของคดีนี้พบว่ามีบางถังมีร่องรอยฉีกขาด เป็นไปได้ว่าเรือเจอกับสภาพอากาศที่แปรปรวน ทำให้แอลกอฮอล์ระเหยออกมา ซึ่งมีสภาพเป็นสารพิษ ทำให้ไม่มีอากาศหายใจและเกิดภาพหลอน ทุกคนจึงหลบไปอยู่ห้องใต้ท้องเรือ จนกระทั่งตัดสินใจสละเรือลงเรือบด หมายจะให้แอลกอฮอล์ระเหยไปให้หมดโดยผูกเชือกไว้กับเรือแมรีเซเลสต์ แต่ปรากฏว่า สภาพอากาศไม่ดีขึ้นและเรือแมรีเซเลสต์ก็ยังคงแล่นต่อไปโดยไม่มีผู้บังคับ จนในที่สุดเชือกได้ขาดลง ทั้งหมดจึงต้องลอยคว้างอยู่กลางทะเล และคงเสียชีวิตทั้งหมดจากการขาดอาหาร[2]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Mary Celeste". Oxford Dictionaries. Oxford University Press: (accessdate=November 10, 2015. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-11-19. สืบค้นเมื่อ 2016-07-26.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 Is It Real? (TV Series 2005– ) ที่อินเทอร์เน็ตมูวีเดตาเบส แก้ไขสิ่งนี้ที่วิกิสนเทศ
  3. 3.0 3.1 Fay, Charles Edey (1988). The Story of the Mary Celeste. New York: Dover Publications. ISBN 978-0-486-25730-3. Revised edition of book originally published by Peabody Museum, Salem, Massachusetts in 1942.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]