แผนชลีเฟิน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จอมพล อัลเฟรท ฟ็อน ชลีเฟิน

แผนชลีเฟิน (เยอรมัน: Schlieffen-Plan) เป็นแผนปฏิบัติการทางทหารของจักรวรรดิเยอรมัน ร่างขึ้นโดยจอมพล อัลเฟรท ฟ็อน ชลีเฟิน หัวหน้าคณะเสนาธิการใหญ่ของกองทัพเยอรมัน แผนนี้ได้รับการออกแบบให้เยอรมนีได้รับชัยชนะในศึกสองด้าน[1] (แนวรบด้านตะวันตกและด้านตะวันออก)

ตั้งแต่ปี 1897 ชลีเฟินเริ่มคิดแผนรุกตีฝรั่งเศสโดยการยกทัพผ่านประเทศเบลเยียมและเนเธอร์แลนด์ แทนที่จะบุกเข้าจากชายแดนฝรั่งเศสโดยตรง การร่างแผนในช่วงแรกเขาประสบกับปัญหาว่าเยอรมนีคงไม่สามารถพิชิตฝรั่งเศสได้เร็วพอที่จะโยกย้ายกำลังทหารไปรับศึกด้านรัสเซีย (ซึ่งเป็นมิตรกับฝรั่งเศส) เยอรมนีเสี่ยงจะต้องรับศึกสองด้านพร้อมกัน

ในปี 1905 ชลีเฟินประเมินว่ากองทัพรัสเซียมีความสามารถเคลื่อนกำลังทหารภายใน 28 วัน ซึ่งหมายความว่ากองทัพเยอรมันต้องบุกเอาชนะฝรั่งเศสภายในสามสัปดาห์ เพื่อที่จะมีเวลาย้ายกำลังไปรับศึกด้านตะวันออก ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ไม่สามารถบรรลุภายใต้สภาวะการณ์ในเวลานั้น อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้คลี่คลายลงเมื่อรัสเซียพ่ายแพ้อย่างไม่มีใครคาดฝันในสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่นเมื่อปีเดียวกัน ทุกคนประเมินแสนยานุภาพของรัสเซียไว้สูงเกิน เขามองว่ากองทัพรัสเซียไม่อาจฟื้นกำลังในเวลาอันสั้น เยอรมนีไม่จำเป็นต้องวางกำลังทหารจำนวนมากไว้ที่ด้านตะวันออก

ชลีเฟินประเมินว่ากองทัพรัสเซียซึ่งสูญเสียแสนยานุภาพในสงครามกับญี่ปุ่น จะต้องใช้เวลาอย่างน้อยหกสัปดาห์ในการยกทัพมาถึงชายแดนด้านตะวันออกของเยอรมนี[2] ระหว่างนั้น เยอรมนีมีเวลาเพียงพอที่จะกรีธาทัพผ่านประเทศเป็นกลางอย่างเนเธอร์แลนด์และเบลเยียม และบุกเข้าฝรั่งเศสจากชายแดนด้านเหนือลงไปถึงกรุงปารีส (แทนที่จะบุกเข้าจากชายแดนฝรั่งเศส-เยอรมนีโดยตรงซึ่งเต็มไปด้วยป้อมปราการแข็งแกร่งของฝรั่งเศส) แล้วจึงปิดล้อมและทำลายกองทัพฝรั่งเศส เขาคาดว่าทั้งหมดนี้จะใช้เวลาไม่เกิน 45 วัน[2] เมื่อพิชิตฝรั่งเศสได้แล้ว เยอรมนีจะรุดเร่งขนส่งกำลังทหารไปที่แนวรบด้านตะวันออกผ่านทางเครือข่ายรถไฟเพื่อต้านกองทัพรัสเซีย

จอมพลชลีเฟินเกษียณราชการในต้นปี 1906 ผู้ดำรงตำแหน่งและรับแผนการนี้ต่อจากเขาคือพลเอกอาวุโส เฮ็ลมูท ฟ็อน ม็อลท์เคอ คนเล็ก เขาปรับปรุงแผนชลีเฟินหลายจุด ทั้งการลดขนาดกำลังรบที่ใช้โจมตี เลือกบุกผ่านเบลเยียมอย่างเดียว เป็นต้น ม็อลท์เคอตั้งชื่อแผนใหม่ว่า แผน 17 (Plan XVII.) และนำไปใช้จริงในยุทธการที่แม่น้ำมาร์นครั้งที่หนึ่ง (กันยายน 1914) แต่ยุทธการครั้งนั้นประสบความล้มเหลว นักประวัติศาสตร์มองว่าม็อลท์เคอเข้าไปก้าวก่ายแผนต้นฉบับมากเกินไป

หลังเยอรมนีแพ้สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง นายทหารระดับสูงในกองทัพและนักประวัติศาสตร์ที่หอสมุดแห่งชาติลงความเห็นตรงกันว่า ความพ่ายแพ้ที่แม่น้ำมาร์นไม่ได้เกิดจากการคาดการณ์ทางยุทธศาสตร์ผิดพลาด แต่เกิดความผิดคลาดในแผนของม็อลท์เคอเอง

อ้างอิง[แก้]

  1. Raymond Limbach. Schlieffen Plan Britanica
  2. 2.0 2.1 Amanda Onion. Was Germany Doomed in World War I by the Schlieffen Plan? 3 MAY 2018