เอ็นร้อยหวาย
เอ็นร้อยหวาย | |
---|---|
เอ็นร้อยหวายยึดกล้ามเนื้อแกสตรอคนีเมียส และกล้ามเนื้อโซเลียส | |
รายละเอียด | |
ที่ตั้ง | ด้านหลังขาส่วนล่าง |
ตัวระบุ | |
ภาษาละติน | tendo calcaneus, tendo Achillis |
MeSH | D000125 |
TA98 | A04.7.02.048 |
TA2 | 2662 |
FMA | 51061 |
อภิธานศัพท์กายวิภาคศาสตร์ |
เอ็นร้อยหวาย (อังกฤษ: Achilles tendon, heel cord) หรือ เอ็นส้นเท้า (calcaneal tendon) เป็นเอ็นกล้ามเนื้อด้านหลังขาส่วนล่าง เอ็นร้อยหวายเป็นเอ็นกล้ามเนื้อที่หนาที่สุดในร่างกายมนุษย์[1][2][3][4][5][6][7] ทำหน้าที่ยึดกล้ามเนื้อแพลนทาริส กล้ามเนื้อแกสตรอคนีเมียส (น่อง) และกล้ามเนื้อโซเลียสเข้ากับกระดูกส้นเท้า เอ็นร้อยหวายทำงานร่วมกับกล้ามเนื้อเหล่านี้ในการเหยียดข้อเท้า (plantar flexion) และการงอเข่า (ไม่รวมกล้ามเนื้อโซเลียส)
ความผิดปกติของเอ็นร้อยหวายรวมถึงเอ็นร้อยหวายอักเสบ เอ็นร้อยหวายเสื่อม เอ็นร้อยหวายฉีกขาด หรือมีคอเลสเตอรอลสะสมจนเป็นกระเหลืองที่ผิวหนัง
คำว่า Achilles tendon ปรากฏในค.ศ. 1693 ตามชื่ออคิลลีส วีรบุรุษในเทพปกรณัมกรีก[8]
โครงสร้าง
[แก้]เอ็นร้อยหวายเชื่อมกล้ามเนื้อเข้ากับกระดูกเช่นเดียวกับเอ็นกล้ามเนื้ออื่น ๆ มีตำแหน่งอยู่ที่ด้านหลังขาส่วนล่าง เอ็นร้อยหวายเชื่อมกล้ามเนื้อแกสตรอคนีเมียสและกล้ามเนื้อโซเลียสเข้ากับปุ่มกระดูกส้นเท้า[9] โดยมีจุดเริ่มใกล้ส่วนกลางของน่อง ก่อนจะสอดเข้าส่วนกลางหลังกระดูกส้นเท้า และมีส่วนปลายล่างของเอ็นที่แผ่ออก
เอ็นร้อยหวายคลุมด้วยพังผืดและผิวหนัง มองเห็นได้ชัดที่ด้านหลังกระดูกขาส่วนล่าง บริเวณที่เป็นช่องว่างประกอบด้วยเนื้อเยื่อเกี่ยวพันชนิดโปร่งบางและเนื้อเยื่อไขมัน มีถุงน้ำไขข้อ (synovial bursa) วางตัวระหว่างเอ็นกับส่วนบนของกระดูกส้นเท้า เอ็นร้อยหวายเป็นเอ็นกล้ามเนื้อที่หนาที่สุดในร่างกายมนุษย์[10] สามารถรองรับความเค้นภาระ (load stress) ได้ 3.9 เท่าของน้ำหนักตัวขณะเดิน และ 7.7 เท่าของน้ำหนักตัวขณะวิ่ง[11]
หน้าที่
[แก้]เอ็นร้อยหวายทำงานร่วมกับกล้ามเนื้อแกสตรอคนีเมียสและกล้ามเนื้อโซเลียสในการเหยียดข้อเท้าผ่านเส้นประสาททิเบียล[12] นอกจากนี้เอ็นร้อยหวายและกล้ามเนื้อแกสตรอคนีเมียสยังทำงานร่วมกับกล้ามเนื้ออื่น เช่น แฮมสตริง กล้ามเนื้อไบเซ็ปส์ ฟีเมอริส และกล้ามเนื้อป็อปลิเทียสในการงอเข่า
เนื่องจากเส้นใยเอ็นร้อยหวายขดเป็นเกลียวประมาณ 90 องศา เส้นใยจากกล้ามเนื้อแกสตรอคนีเมียสจึงโน้มไปยึดกับส่วนนอกของกระดูก ขณะที่เส้นใยจากกล้ามเนื้อโซเลียสเอนไปยึดใกล้กับแนวกลางของกระดูก[10]
ที่มา
[แก้]ฟิลิป เวอร์เฮเยน นักกายวิภาคศาสตร์ชาวเฟลมิชบันทึกถึงเอ็นร้อยหวายในชื่อ "the cord of Achilles" ในตำรา Corporis Humani Anatomia (ค.ศ. 1693)[13][14] โดยอิงจากตำนานของอคิลลีส วีรบุรุษที่เมื่อครั้งยังเป็นทารกถูกธิทีส ผู้เป็นมารดาจุ่มในแม่น้ำสติกซ์เพื่อให้ร่างกายแข็งแกร่ง แต่ส้นเท้าไม่ได้สัมผัสน้ำ จึงกลายเป็นจุดอ่อนที่ทำให้เขาถูกสังหารในสงครามกรุงทรอย อย่างไรก็ตามฮิปพอคราทีส แพทย์ชาวกรีก กล่าวถึงเอ็นร้อยหวายเป็นครั้งแรกในชื่อ "tendo magnus" (เอ็นใหญ่) และนักกายวิภาคศาสตร์ก่อนเวอร์เฮเยนเรียกเอ็นนี้ว่า "เอ็นฮิปพอคราทีส" (chorda Hippocratis)[14]
เอ็นร้อยหวายรู้จักอีกชื่อคือเอ็นส้นเท้า (calcaneal tendon) ซึ่งเป็นชื่อที่บรรยายในเชิงวิทยาศาสตร์ โดยคำว่า calcaneal มาจาก calcaneus ที่หมายถึงกระดูกส้นเท้า[15]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Doral MN, Alam M, Bozkurt M, Turhan E, Atay OA, Dönmez G, Maffulli N (May 2010). "Functional anatomy of the Achilles tendon". Knee Surg Sports Traumatol Arthrosc. 18 (5): 638–43. doi:10.1007/s00167-010-1083-7. PMID 20182867. S2CID 24159374.
- ↑ Louise Spilsbury; Richard Spilsbury (2017-07-15). The Science of the Skeleton and Muscles. Gareth Stevens Publishing LLLP. pp. 32–. ISBN 978-1-5382-0699-7.
- ↑ Tobias Gibson Richardson (1854). Elements of human anatomy: general, descriptive, and practical. Lippincott, Grambo, and Co. pp. 441–.
- ↑ E. Dalton McGlamry; Alan S. Banks (2001-06-01). McGlamry's comprehensive textbook of foot and ankle surgery. Lippincott Williams & Wilkins. ISBN 978-0-683-30471-8.
- ↑ Gerard Thorne; Phil Embleton (1997). Robert Kennedy's Musclemag International Encyclopedia of Bodybuilding: The Ultimate A-Z Book on Muscle Building!. Musclemag International. ISBN 978-1-55210-001-1.
- ↑ Robert Schleip; Thomas W. Findley; Leon Chaitow; Peter Huijing (2013-02-26). Fascia: The Tensional Network of the Human Body: The science and clinical applications in manual and movement therapy. Elsevier Health Sciences. pp. 218–. ISBN 978-0-7020-5228-6.
- ↑ Carol Ballard (2003-06-27). Muscles. Heinemann Library. ISBN 978-1-4034-3300-8.
- ↑ Taylor, Robert B. (2017). The Amazing Language of Medicine: Understanding Medical Terms and Their Backstories (ภาษาอังกฤษ). Springer. p. 2. ISBN 9783319503288.
- ↑ Ort, Bruce Ian Bogart, Victoria (2007). Elsevier's integrated anatomy and embryology. Philadelphia, Pa.: Elsevier Saunders. p. 225. ISBN 978-1-4160-3165-9.
- ↑ 10.0 10.1 Standring S, Borley NR, บ.ก. (2008). Gray's anatomy : the anatomical basis of clinical practice. Amis A, Bull A, Gupte CM (40th ed.). London: Churchill Livingstone. p. 1451. ISBN 978-0-8089-2371-8.
- ↑ Giddings, VL; Beaupré, GS; Whalen, RT; Carter, DR (2000). "Calcaneal loading during walking and running". Medicine and Science in Sports and Exercise. 32 (3): 627–34. CiteSeerX 10.1.1.482.4683. doi:10.1097/00005768-200003000-00012. PMID 10731005.
- ↑ Drake, Richard L.; Vogl, Wayne; Tibbitts, Adam W.M. Mitchell; illustrations by Richard; Richardson, Paul (2005). Gray's anatomy for students. Philadelphia: Elsevier/Churchill Livingstone. p. 546. ISBN 978-0-8089-2306-0.
- ↑ Veheyen, Philip (1693), Corporis humani anatomia, Leuven: Aegidium Denique, p. 269, สืบค้นเมื่อ 12 Mar 2018,
Vocatum passim chorda Achillis, & ab Hippocrate tendo magnus. (Appendix, caput XII. De musculis pedii et antipedii, p. 269)
- ↑ 14.0 14.1 Klenerman, L. (April 2007). "The early history of tendo Achillis and its rupture". The Journal of Bone and Joint Surgery. British Volume. 89-B (4): 545–547. doi:10.1302/0301-620X.89B4.18978. PMID 17463129.
- ↑ "Definition of "calcaneal"". Merriam-Webster. สืบค้นเมื่อ August 25, 2021.