ข้ามไปเนื้อหา

เอปตาเซีย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เอปตาเซีย
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Cnidaria
ชั้น: Anthozoa
อันดับ: Actiniaria
วงศ์: Aiptasiidae
สกุล: Aiptasia
Gosse, 1858[1]
ชนิด[2]
17 ชนิด

เอปตาเซีย หรือ ดอกไม้ทะเลแก้ว หรือ แอนนีโมนแก้ว (อังกฤษ: Glass anemones, Glassrose anemones, Rock anemones) เป็นสัตว์ทะเลไม่มีกระดูกสันหลังจำพวกดอกไม้ทะเลสกุลหนึ่ง ใช้ชื่อสกุลว่า Aiptasia

จากการสำรวจเมื่อปี ค.ศ. 1831 พบว่าเอปตาเซียมีจำนวนทั้งหมด 17 ชนิด โดยสามารถพบได้ทั่วไปในทะเลเขตร้อนและกึ่งเขตร้อนทั่วไป จำนวนชนิดของเอปตาเซียส่วนใหญ่จะกระจายอยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติกและทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ขณะที่ด้านมหาสมุทรแปซิฟิกมี 2 ชนิด คือ Aiptasia californica และ A. pulchella ที่พบได้เฉพาะในมหาสมุทรแห่งนี้

เอปตาเซียมีลักษณะทางกายวิภาค คือ มีรูปร่างคล้ายต้นปาล์ม เจริญเป็นตัวเดี่ยว ๆ หรืออาจพบเจริญเป็นกลุ่ม แต่จะไม่มีเนื้อเยื่อเชื่อมถึงกันเหมือนกับปะการัง เนื้อเยื่อทั้งตัวของเอปตาเซียเรียกว่า โพลิป ซึ่งในโพลิปจะประกอบด้วย

  • แว่นปาก (Oral disc) มีลักษณะเป็นวงกลม โดยจุดศูนย์กลางจะมีช่องปากเปิดเข้าไปในช่องว่างภายในลำตัว มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตรเมื่อโตเต็มที่
  • หนวด (Tentacles) เรียงเป็นวงกลมโดยรอบแว่นปาก มีขนาดเล็กยาว และปลายแหลมไม่แตกแขนงเรียงตัวรอบนอกของแว่นปาก ในบางชนิดจะมีกว่า 100 เส้น โดยแต่ละหนวดจะมีเซลล์เข็มพิษกระจายอยู่บนหนวด ใช้เพื่อป้องกันตัวและจับเหยื่อเป็นอาหาร ซึ่งถ้าโดนแทงแล้วจะเกิดอาการเจ็บปวด ในสัตว์น้ำขนาดเล็กถึงกับตายได้
  • ลำตัว (Body) เป็นโพรงมีช่องว่างในลำตัว มีเนื้อเยื่อ 2 ชั้น ระหว่างเนื้อเยื่อทั้งสองมีลักษณะเป็นวุ้น มีความสูงประมาณ 5 เซนติเมตร เมื่อเจริญเต็มที่
  • ฐาน (Basal disc) เป็นเนื้อเยื่อมีลักษณะยืดหยุ่นได้ ใช้ในการเคลื่อนที่และยึดเกาะกับที่ต่าง ๆ

เอปตาเซียกินอาหารโดยใช้หนวดจับแพลงก์ตอนที่ลอยอยู่ในกระแสน้ำเข้าปาก นอกจากนี้แล้วยังได้รับสารอาหารจากสาหร่ายเซลล์เดียวที่เรียกว่า "ซูแซนเทลลี" ที่อาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อของเอปตาเซีย โดยสาหร่ายซูแซนเทลลีจะใช้ของเสียที่เกิดจากกระบวนการภายในเซลล์ของเอปตาเซียเองและจากสารอินทรีย์ที่ละลายอยู่ในน้ำ เมื่อสาหร่ายซูแซนเทลลีมีกระบวนการสังเคราะห์แสงเพื่อสร้างอาหารและเพิ่มจำนวน เอปตาเซียจะได้รับสารอาหารที่สาหร่ายสร้างขึ้นด้วย

เอปตาเซียสามารถสืบพันธุ์ได้ทั้งแบบอาศัยเพศและไม่อาศัยเพศได้ การสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศมีความใกล้เคียงกับดอกไม้ทะเล คือสามารถปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ออกไปในน้ำ เมื่อเกิดการปฏิสนธิขึ้นมาก็พัฒนาเป็นตัวอ่อนในระยะพลานูลา เป็นระยะที่ตัวอ่อนจะว่ายน้ำอย่างอิสระเมื่อลงเกาะไปบนพื้นผิวที่เหมาะสม จึงจะเริ่มพัฒนาเซลล์เป็นโพลิปขนาดเล็กขึ้นมา โดยในขั้นนี้จะยังไม่มีสาหร่ายซูแซนเทลลีในเนื้อเยื่อ ในบางชนิด เอปตาเซียจะปล่อยเซลล์สืบพันธุ์เฉพาะเพศผู้ออกไปในน้ำ โดยเข้าไปปฏิสนธิกับเซลล์สืบพันธุ์เพศเมียภายในเอปตาเซียตัวอื่นก่อนแล้วจึงพัฒนาเป็นตัวอ่อนระยะพลานูลา โดยได้รับสารอาหารจากเอปตาเซียเมื่อมีสภาวะที่เหมาะสม เช่น แสงสว่างหรือสารอาหารที่สูง หรือมีการกระทบทางกายภาพ เช่น มีการฉีกขาดของเนื้อเยื่อที่เกิดขึ้นเอง ตัวอ่อนเหล่านี้จะถูกปล่อยออกไปในน้ำเพื่อหาที่ลงเกาะและพัฒนาเป็นเอปตาเซียตัวเต็มวัยต่อไป

ขณะที่การสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ เอปตาเซียจะใช้วิธีการฉีกของเนื้อเยื่อบริเวณขอบฐาน โดยเซลล์เนื้อเยื่อส่วนนี้จะมีการพัฒนาอย่างช้า ๆ ภายใน 1-2 สัปดาห์ เมื่อมีการพัฒนาเกิดปาก และหนวดขนาดเล็ก ๆ แล้ว จึงเริ่มหาอาหารเลี้ยงตัวเอง เอปตาเซียที่เกิดใหม่จะมีการเคลื่อนที่แพร่กระจายไปยังที่อื่น ๆ นอกจากนี้แล้ว เอปตาเซียที่เกิดขึ้นใหม่จะไม่ถูกพ่อแม่ใช้เข็มพิษแทงตัวอ่อนที่เกิดใหม่จากตัวเอง การสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศนี้ เกิดจากการกระตุ้นโดยปัจจัยทางธรรมชาติ เช่น น้ำมีคุณภาพไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิต หรือมีออกซิเจนละลายในน้ำต่ำ เป็นต้น

ในการเลี้ยงปลาทะเลเป็นปลาสวยงาม เอปตาเซียจะถือว่าเป็นส่วนเกินที่ไม่เกิดประโยชน์ ซ้ำยังจะทำร้ายปลาหรือสัตว์น้ำที่เลี้ยงไว้ด้วย เอปตาเซียส่วนมากจะติดมากับหินเป็นหรือสาหร่ายที่ใช้ประดับตู้ เป็นต้น ซึ่งผู้เลี้ยงจะต้องกำจัดทิ้งโดยวิธีการต่าง ๆ ทั้งใช้สารจากธรรมชาติและสารเคมี [2]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Gosse P. H. (1858). Ann. Mag. nat. Hist. (3)1: 416.
  2. 2.0 2.1 โบกมือลา...เอปตาเซีย Bye bye Aiptasia หน้า 122-128, คอลัมน์ Blue Planet โดย ชนะ เทศคง. นิตยสาร Aquarium Biz ปีที่ 2 ฉบับที่ 29: พฤศจิกายน 2012

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Aiptasia ที่วิกิสปีชีส์