เมลิเซนเดอแห่งเยรูซาเลม
เมลิเซนเดอ | |
---|---|
ภาพพิธีราชาภิเษกของเมลิเซนเดอ วาดในคริสต์ศตวรรษที่ 13 | |
สมเด็จพระราชินีนาถแห่งเยรูซาเลม | |
ครองราชย์ | ค.ศ. 1131–1153 |
รัชกาลก่อนหน้า | พระเจ้าบอลด์วินที่ 2 แห่งเยรูซาเลม |
รัชกาลถัดไป | พระเจ้าบอลด์วินที่ 3 แห่งเยรูซาเลม |
สิ้นพระชนม์ | 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1161 (55-56 พรรษา) |
พระสวามี | พระเจ้าฟูลก์แห่งเยรูซาเลม |
พระบุตร | พระเจ้าบอลด์วินที่ 3 แห่งเยรูซาเลม พระเจ้าอมาลริคที่ 1 แห่งเยรูซาเลม |
พระบิดา | พระเจ้าบอลด์วินที่ 2 แห่งเยรูซาเลม |
พระมารดา | มอร์เฟียแห่งมาลาเทีย |
เมลิเซนเดอแห่งเยรูซาเลม (อังกฤษ: Melisende of Jerusalem) เป็นพระธิดาของพระเจ้าบอลด์วินที่ 2 กษัตริย์นักรบครูเสดแห่งเยรูซาเลม เมลิเซนเดอขึ้นครองบัลลังก์ต่อจากพระบิดาเป็นกษัตริยา ปกครองเยรูซาเลมยาวนานกว่า 20 ปี ตั้งแต่ ค.ศ. 1131 ถึง ค.ศ. 1153
วัยเยาว์
[แก้]เมลิเซนเดอสมภพเมื่อปี ค.ศ. 1105 ในเคาน์ตีอิเดซา (ปัจจุบันอยู่ในประเทศตุรกี) รัฐครูเสดที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1098 โดยทรงเป็นบุตรสาวของบอลด์วินแห่งบูลอญ เคานต์แห่งอิเดซากับมอร์เฟียแห่งมาลาเทีย ธิดาขุนนางอาร์เมเนียผู้ปกครองนครมาลาเทียและเป็นขุนนางศักดินาของบอลด์วิน
มอร์เฟียเป็นเพื่อนคู่คิดทางการเมืองของบอลด์วิน ทั้งคู่มีบุตรด้วยกัน 4 คน เป็นผู้หญิงล้วน ได้แก่ เมลิเซนเดอ, อาลิซ (เจ้าหญิงแห่งแอนติออก), ฮอดิเอร์นา (เคาน์เตสแห่งตริโปลี) และโยเวตา (พระอธิการิณีแห่งบีตาเนีย)
ในปี ค.ศ. 1118 บอลด์วินขึ้นเป็นพระเจ้าบอลด์วินที่ 2 แห่งเยรูซาเลม เหล่าขุนนางแนะนำให้พระองค์ทิ้งมอร์เฟียเนื่องจากนางมีแต่พระธิดา พระองค์เป็นกษัตริย์ ควรอภิเษกสมรสเพื่อสร้างผลประโยชน์ทางการเมืองและควรมีพระโอรส ทว่าพระเจ้าบอลด์วินที่ 2 ไม่ยอมทิ้งพระมเหสีและได้เลี้ยงดูเมลิเซนเดอ พระธิดาคนโตมาอย่างทายาท พระนางถูกเรียกว่า “พระธิดาของกษัตริย์และทายาทแห่งราชอาณาจักรเยรูซาเลม” ในปี ค.ศ. 1128 เมลิเซนเดอถูกประกาศเป็นผู้สืบมรดกอย่างเป็นทางการ
ฟูลก์แห่งอ็องฌู
[แก้]พระเจ้าบอลด์วินหันไปผูกมิตรกับฝรั่งเศส พระองค์มองหาสามีที่เหมาะสม ผู้ที่จะช่วยค้ำจุนตำแหน่งกษัตริยาให้พระธิดา พระเจ้าหลุยส์ที่ 6 แห่งฝรั่งเศสได้แนะนำฟูลก์ที่ 5 เคานต์แห่งอ็องฌูและเมนให้ พระเจ้าบอลด์วินจับพระธิดาสมรสกับฟูลก์แห่งอ็องฌูในปี ค.ศ. 1129 ฟูลก์มีอายุมากกว่าเมลิเซนเดอถึง 16 ปีและมีลูกติด คือ จูฟเฟรย์แห่งอ็องฌู ฟูลก์ได้ยกอ็องฌูให้แก่บุตรชาย เพื่อให้จูฟเฟรย์มีหน้ามีตาพอที่จะสมรสกับมาทิลดาแห่งอังกฤษ พระราชธิดาและทายาทของพระเจ้าเฮนรีที่ 1 แห่งอังกฤษ
หลังสมรสฟูลก์แสดงออกว่าต้องการยึดตำแหน่งกษัตริยาในอนาคตของเมลิเซนเดอและให้พระนางได้เป็นเพียงพระราชินีคู่สมรส ในปี ค.ศ. 1130 เมลิเซนเดอให้กำเนิดพระโอรสซึ่งใช้ชื่อเดียวกับพระอัยกา คือ บอลด์วิน พระเจ้าบอลด์วินที่ 2 ได้ทำพิธีราชาภิเษกให้พระธิดา, พระชามาดา และพระนัดดาได้ปกครองเยรูซาเลมร่วมกัน โดยให้สิทธิขาดในการเลี้ยงดูพระโอรสแก่เมลิเซนเดอ ซึ่งเป็นการลดทอนอิทธิพลของฟูลก์
กษัตริยาแห่งเยรูซาเลม
[แก้]การปกครองร่วมกับพระเจ้าฟูลก์
[แก้]หลังพระเจ้าบอลด์วินที่ 2 สวรรคตไปในวันที่ 21 สิงหาคม ค.ศ. 1131 พระราชินีเมลิเซนเดอได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ร่วมกับพระเจ้าฟูลก์ พระสวามีผู้คอยงัดอำนาจทางการเมืองกับพระนาง พระเจ้าฟูลก์พยายามทำลายอำนาจชื่อเสียงด้วยการกล่าวหาว่าพระนางคบชู้กับอูก เลอ พวีเซ ลูกพี่ลูกน้องของพระนาง เพื่อบั่นทอนอำนาจทางการเมืองของพระราชินีเมลิเซนเดอ แต่ไม่มีใครเชื่อ อูเตอคูร์หรือสภาศักดินาแห่งราชอาณาจักรเยรูซาเลมเลือกสนับสนุนพระราชินี
ความขัดแย้งระหว่างกษัตริย์กับกษัตริยาตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดเป็นสงครามในปี ค.ศ. 1134 พระราชินีเมลิเซนเดอปราบฝ่ายพระสวามีได้ในปี ค.ศ. 1135 ต่อมาทั้งคู่คืนดีกันและมีพระโอรสด้วยกันอีกคน คือ อมาลริค ในปี ค.ศ. 1136 พระราชินีเมลิเซนเดอกับพระเจ้าฟูลก์ปกครองบ้านเมืองร่วมกันต่อไปจนกระทั่งในปี ค.ศ. 1143 พระเจ้าฟูลก์ประสบอุบัติเหตุระหว่างล่าสัตว์จนสวรรคต พระโอรสคนโต คือ พระเจ้าบอลด์วินที่ 3 จึงได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ร่วมกับพระมารดา แต่เนื่องจากพระโอรสยังเป็นผู้เยาว์ พระราชินีเมลิเซนเดอจึงควบตำแหน่งเป็นทั้งกษัตริย์ร่วมและผู้สำเร็จราชการในพระโอรส พระนางจึงมีอำนาจสิทธิขาดในการบริหารบ้านเมืองแต่เพียงผู้เดียว
การปกครองร่วมกับพระเจ้าบอลด์วินที่ 3
[แก้]พระราชินีเมลิเซเดกับพระเจ้าบอลด์วินที่ 3 มีความสัมพันธ์ที่ซับซ้อน พระนางสนิทกับพระโอรสทั้งสอง แต่ไม่ยอมให้อำนาจสิทธิขาดใดๆ แก่พระโอรส พระนางบริหารบ้านเมืองแต่เพียงผู้เดียวตั้งแต่ ค.ศ. 1131 จนถึง ค.ศ. 1153 โดยมีฐานอำนาจอยู่ในตอนกลางและตอนใต้ของประเทศ ระหว่างนั้นพระเจ้าบอลด์วินที่ 3 เติบโตเป็นผู้บัญชาการทหารมากฝีมือ แต่พระราชินีเมลิเซนเดอยังไม่ยอมแบ่งอำนาจใดๆ ให้ ทำให้เกิดความตึงเครียดระหว่างพระมารดากับพระโอรส
ในปี ค.ศ. 1150 พระเจ้าบอลด์วินที่ 3 ต้องการบริหารบ้านเมืองอย่างเต็มตัว อูเตอคูร์จึงแก้ไขปัญหาอย่างประนีประนอมด้วยการแบ่งราชอาณาจักรออกเป็นสองส่วน คือ ส่วนเหนือและส่วนใต้ พระเจ้าบอลด์วินได้ปกครองราชอาณาจักรส่วนเหนือซึ่งมีนครเอเคอร์และนครไทร์ ส่วนพระราชินีเมลิเซนเดอได้ปกครองเป็นกษัตริยาของราชอาณาจักรส่วนใต้ซึ่งมีนครนาบลัสและนครเยรูซาเลม
พระเจ้าบอลด์วินยังไม่พอใจกับข้อสรุปนี้ พระองค์จึงนำทัพบุกเยรูซาเลมในปี ค.ศ. 1152 สุดท้ายคริสตจักรเข้ามาช่วยไกล่เกลี่ยจนทั้งสองฝ่ายสงบศึกกันได้ พระราชินีเมลิเซนเดอเหลือเพียงนครนาบลัสและถูกลดอำนาจเป็นเพียงขุนนางท้องถิ่น แม้โดยภาพรวมจะพ่ายแพ้แต่พระนางยังคงมีอิทธิพล สองแม่ลูกคืนดีกัน พระเจ้าบอลด์วินที่ 3 วางใจให้พระมารดาเป็นผู้สำเร็จราชการในยามที่พระองค์ออกทำศึกแย่งชิงแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์
การสิ้นพระชนม์
[แก้]ในปี ค.ศ. 1161 พระนางเมลิเซนเดอเส้นเลือดในสมองแตกจนทำให้ความจำบกพร่อง พระนางสิ้นพระชนม์ในวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 1161 วิลเลียมแห่งไทร์ผู้อยู่ร่วมยุคเดียวกันกล่าวถึงพระนางว่าเป็นหญิงฉลาด เปี่ยมไปด้วยประสบการณ์ในการบริหารกิจการบ้านเมือง อยู่เหนือข้อจำกัดทางเพศ และทำหน้าที่สำคัญได้อย่างไร้ข้อกังขา
พระเจ้าบอลด์วินที่ 3 พระโอรสของพระองค์สวรรคตในอีกสองปีต่อมา คือ ปี ค.ศ. 1163 อมาลริค พระโอรสคนเล็กของพระนางเมลิเซนเดอได้สืบทอดบัลลังก์ต่อไป