ข้ามไปเนื้อหา

เซติ@โฮม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เซติ@โฮม (อังกฤษ: SETI@home หรือ Search for Extra-Terrestrial Intelligence at home) เป็นโครงการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ที่ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตในการค้นหาสัญญาณจากต่างดาว (Search for Extra-Terrestrial Intelligence - SETI - เซติ - โครงการที่รับการส่งเสริมจากคาร์ล เซแกน ในทศวรรษ 1960)

โครงการเซติ@โฮม ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ เริ่มเผยแพร่สู่สาธารณะเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2542 โดยในระยะแรกเป็นโปรแกรมสกรีนเซฟเวอร์ จะทำงานเมื่อเครื่องคอมพิวเตอร์ไม่มีการใช้งานอื่น

ภาพถ่ายดาวเทียมของกล้องโทรทรรศน์วิทยุอาเรซีโบ กล้องโทรทรรศน์เดี่ยวขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

โครงการเซติ@โฮม วิเคราะห์สัญญาณที่บันทึกจากกล้องโทรทรรศน์วิทยุ หอดูดาวอาเรซีโบ ที่เมืองอาเรซีโบ เปอร์โตริโก ซึ่งเฝ้าฟังสัญญาณจากท้องฟ้าในช่วง declination -2 ถึง 38 องศา กินพื้นที่ประมาณ 25% ของท้องฟ้า ข้อมูลถูกบันทึกลงบนเทป DLT ขนาด 35 GB และขนส่งไปที่ห้องวิจัยที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เพื่อแบ่งเป็นส่วนย่อย ๆ เรียกว่า workunit เป็นช่วงสัญญาณความยาว 107 วินาที เพื่อส่งให้เครื่องคอมพิวเตอร์ของอาสาสมัครจากทั่วโลกประมวลผล

เซติ@โฮมได้รับการสนับสนุนจากผู้ใช้ทั่วไป มีจำนวนผู้ร่วมโครงการถึง 5.2 ล้านคน ได้รับการบันทึกในกินเนสบุ๊ค (Guinness Book of World Records) ว่าเป็นโครงการ distributed computing ที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน ด้วยจำนวนผู้ใช้ที่ยังทำการอยู่ในปัจจุบันประมาณ 3 แสนเครื่อง (5 ธ.ค. 49) โครงการนี้สามารถประมวลผลได้ 257 TeraFLOPS[1] เปรียบเทียบกับ Blue Gene ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่เร็วที่สุดในโลกของไอบีเอ็ม สามารถคำนวณได้ 280 TFLOPS

ภาพหน้าจอของเซติ@โฮมเวอร์ชันเก่า

อ้างอิง

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]