เจตจำนงเสรี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แผนภาพแสดงจุดยืนทางปรัชญาต่อปัญหาเรื่องเจตจำนงเสรีและนิยัตินิยม

เจตจำนงเสรี (อังกฤษ: free will) หมายถึงความสามารถในการเลือกกระทำสิ่งหนึ่งจากการกระทำต่างๆ ที่เป็นไปได้ โดยที่ไม่ถูกบังคับ

ปัญหาเรื่องเจตจำนงเสรี เป็นหนึ่งในข้อถกเถียงหลักในอภิปรัชญา โดยเราอาจแบ่งจุดยืนต่อปัญหาดังกล่าวเป็น 2 ฝ่าย คือ 1. ฝ่ายที่เชื่อว่าการกระทำของเราล้วนถูกกำหนดโดยเหตุปัจจัย ซึ่งก็คือแนวคิดแบบนิยัตินิยม (determinism) 2. ฝ่ายที่เชื่อเราสามารถเลือกกระทำโดยเป็นอิสระจากเหตุปัจจัย ซึ่งก็คือแนวคิดแบบเสรีนิยมเชิงอภิปรัชญา (metaphysical libertarianism)

แนวคิดแบบนิยัตินิยมมักจะใช้การอ้างเหตุผลจากความสัมพันธ์เชิงสาเหตุ (causation) เพื่อปฏิเสธการมีอยู่ของเจตจำนงเสรี โดยจากกรอบคิดแบบวิทยาศาสตร์แล้ว เหตุการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่างถูกกำหนดจากเหตุปัจจัยในอดีตและกฎธรรมชาติ[1] ในขณะที่แนวคิดแบบเสรีนิยมเชิงอภิปรัชญาพยายามที่จะปฏิเสธแนวคิดนิยัตินิยมเชิงสาเหตุ โดยอาจอ้างเหตุผลว่ามนุษย์มีสภาวะจิต (mental state) ที่เป็นอิสระจากความสัมพันธ์เชิงสาเหตุ เราอาจคิดใคร่ครวญผ่านเหตุผลจากนั้นจึงตัดสินใจว่าจะทำอะไร การมีสภาวะจิตดังกล่าวจึงเป็นการกำหนดตัดสินตัวเราเอง ซึ่งก่อให้เกิดการกระทำที่เกิดขึ้นจากเจตจำนงเสรีได้[2]

นอกจากข้อถกเถียงดังกล่าว จุดยืนที่สนับสนุนเจตจำนงเสรียังอาจสร้างข้อถกเถียงเพิ่มเติม โดยเสนอว่า แม้แนวคิดนิยัตินิยมเชิงสาเหตุจะเป็นจริง แต่แนวคิดดังกล่าวก็ไม่ได้ขัดแย้งกับการมีอยู่ของเจตจำนงเสรี การอ้างเหตุผลในรูปแบบดังกล่าวเป็นจุดยืนแบบเข้ากันได้ (compatibilism) โดยจุดยืนดังกล่าวอาจให้เหตุผลว่า แนวคิดแบบนิยัตินิยมเป็นเงื่อนไขจำเป็นสำหรับการมีอยู่ของเจตจำนงเสรีด้วยซ้ำ เช่น ในกรณีที่เราจะเลือกทำอะไรบางอย่าง การที่เราเลือกกระทำสิ่งหนึ่งมากกว่าอีกสิ่งหนึ่ง เราก็ต้องอาศัยความจริงที่ว่า การเลือกที่แตกต่างกันถูกกำหนดไว้แล้วว่าจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน (เช่น เรากินยาลดไข้ เพราะยาลดไข้เป็นเหตุที่ทำให้ไข้ของเราลดลง) ในแง่นี้ แนวคิดนิยัตินิยมและเจตจำนงเสรีจึงเป็นแนวคิดที่เข้ากันได้ และไม่ได้ขัดแย้งกันจริง ผู้ที่สนับสนุนจุดยืนดังกล่าวอาจมีทฤษฎีอธิบายที่แตกต่างกัน เช่น บางคนให้นิยามว่าเจตจำนงเสรีคือการที่การตัดสินใจในอดีตเป็นการตัดสินใจที่สามารถเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่นได้โดยไม่มีปัจจัยทางกายภาพมาขัดขวาง บางคนเสนอว่าเจตจำนงเสรีเป็นสมรรถภาพทางจิตใจ (psychological capacity) เช่น เป็นความสามารถในการชี้นำพฤติกรรมของตนเองด้วยเหตุผล

ประเด็นถกเถียงเรื่องเจตจำนงเสรีถือเป็นประเด็นที่เชื่อมโยงไปสู่คำถามอื่นๆ ในทางจริยศาสตร์และในปรัชญาสังคม เช่น หากมีใครทำสิ่งที่ผิดศีลธรรม เราจำเป็นจะต้องระบุให้ได้ก่อนว่าการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นจากเจตจำนงเสรีหรือไม่ ซึ่งหากการกระทำดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นจากเจตจำนงเสรี การกระทำดังกล่าวก็ย่อมมีความผิดน้อยลง หรือหากมีบุคคลมีอาการทางจิตที่ขัดขวางการมีเจตจำนงเสรี (เช่น โรคจิตเภท) บุคคลดังกล่าวก็ไม่สามารถที่จะมีความรับผิดชอบทางศีลธรรมได้

อ้างอิง[แก้]

  1. Kevin Timpe. Free Will. https://iep.utm.edu/freewill "Causal determinism (hereafter, simply “determinism”) is the thesis that the course of the future is entirely determined by the conjunction of the past and the laws of nature."
  2. Timothy O'Connor. Free Will. 2018. https://plato.stanford.edu/entries/freewill/ "While event-causal libertarianism admits of different species, at the heart of this view is the idea that self-determining an action requires, at minimum, that the agent cause the action and that an agent’s causing his action is wholly reducible to mental states and other events involving the agent nondeviantly causing his action."

อ่านเพิ่ม[แก้]

  • Dennett, Daniel C. (2003). Freedom Evolves. New York: Viking Press ISBN 0-670-03186-0
  • Gazzaniga, M. & Steven, M.S. (2004) Free Will in the 21st Century: A Discussion of Neuroscience and Law, in Garland, B. (ed.) Goodenough, O.R. (2004). "Responsibility and punishment". Philosophical Transactions of the Royal Society: Biological Sciences. 359 (1451): 1805–1809. doi:10.1098/rstb.2004.1548.
  • Harnad, Stevan (2009) The Explanatory Gap PhilPapers
  • Harnad, Stevan (2001). "No Easy Way Out". The Sciences. 41 (2): 36–42.
  • Harnad, Stevan (1982). "Consciousness: An Afterthought". Cognition and Brain Theory. 5: 29–47.
  • Harris, Sam. 2012. Free Will. Free Press. ISBN 978-1451683400
  • Kane, Robert (1998). The Significance of Free Will. New York: Oxford University Press ISBN 0-19-512656-4
  • Libet, Benjamin; Anthony Freeman; and Keith Sutherland, eds. (1999). The Volitional Brain: Towards a Neuroscience of Free Will. Exeter, UK: Imprint Academic. Collected essays by scientists and philosophers.
  • Schopenhauer, Arthur (1839). On the Freedom of the Will., Oxford: Basil Blackwell ISBN 0-631-14552-4.
  • Van Inwagen, Peter (1986). An Essay on Free Will. New York: Oxford University Press ISBN 0-19-824924-1.
  • Velmans, Max (2003) How Could Conscious Experiences Affect Brains? Exeter: Imprint Academic ISBN 0-907845-39-8.
  • Wegner, D. (2002). The Illusion of Conscious Will. Cambridge: Bradford Books
  • Williams, Clifford (1980). Free Will and Determinism: A Dialogue. Indianapolis: Hackett Publishing Company
  • John Baer, James C. Kaufman, Roy F. Baumeister (2008). Are We Free? Psychology and Free Will. Oxford University Press, New York ISBN 0-19-518963-9