เควี 62
เควี 62 (KV62) | ||
---|---|---|
ที่ไว้พระศพทุตอังค์อามุน (Tutankhamun) | ||
| ||
ตำแหน่ง | หุบผากษัตริย์ฝั่งตะวันออก | |
วันพบ | 4 พฤศจิกายน 1922 | |
ผู้พบ |
| |
จิตรกรรม | ||
ก่อนหน้า เควี 61 |
ถัดไป เควี 63 |
เควี 62 (อังกฤษ: KV62) เป็นชื่อสุสานในหุบผากษัตริย์ (Valley of the Kings) ประเทศอียิปต์ ที่ไว้พระศพของทุตอังค์อามุน (Tutankhamun) และมีชื่อเสียงเพราะทรัพย์สมบัติที่พบข้างใน[1]
ในปี 1922 เฮาเวิร์ด คาร์เตอร์ (Howard Carter) พบสุสานนี้อยู่ในหุบผาซึ่งมีซากบ้านเรือนคนงานที่สร้างขึ้นในสมัยอาณาจักรใหม่ปกคลุมอยู่ นี้เป็นเหตุผลที่สุสานรอดพ้นจากการระดมขุดกรุอย่างร้ายแรงที่สุดในช่วงนั้น เมื่อพบสุสานแล้ว ปรากฏว่า ภายในมีข้าวของเรียงไว้ระเกะระกะ คาร์เตอร์ได้ถ่ายภาพพวงมาลัยพวงหนึ่งไว้ซึ่งพอแตะแล้วก็สลายเป็นผงธุลีไป การขนทรัพย์สินออกจากสุสานใช้เวลา 8 ปี เนื่องจากสภาพของสุสานเอง และความประสงค์ของคาร์เตอร์ที่จะบันทึกข้อมูลไว้ให้ละเอียดที่สุด ทรัพย์สินดังกล่าวขนไปไว้ที่พิพิธภัณฑ์อียิปต์ในกรุงไคโร
หลังฝังพระศพแล้วไม่นาน ขโมยขึ้นสุสานนี้อย่างน้อย 2 ครั้ง พระทวารบานนอกสุดของห้องไว้พระศพนั้นถูกเปิดทิ้งไว้และมิได้ลั่นดาล มีการประเมินว่า ร้อยละ 60 ของอัญมณีในพระคลังของสุสานถูกลักพาออกไป
การพบ
[แก้]ในปี 1907 คณะสำรวจของทีโอดอร์ เอ็ม. เดวิส (Theodore M. Davis) ได้ขุดสุสานขนาดย่อมแห่งหนึ่งซึ่งมีเครื่องสุกำศพจารึกพระนามทุตอังค์อามุน เดวิสจึงสันนิษฐานว่า สุสานดังกล่าวเป็นที่ไว้พระศพทุตอังค์อามุนอย่างสมบูรณ์ และสั่งให้ขุดค้น ก่อนจะพบสุสานของโฮเร็มเฮ็บ (Horemheb) ต่อมาในปี 1912 เขาเขียนหนังสือชื่อ เดอะทูมส์ออฟฮาร์มฮาบีแอนด์ทูอาทังค์อามานู (The Tombs of Harmhabi and Touatânkhamanou) ซึ่งพรรณนารายละเอียดเกี่ยวกับการค้นพบสุสานทั้งสองเอาไว้ ในตอนท้ายหนังสือ เขาเขียนว่า "ผมเกรงว่า สุสานกษัตริย์จะเหี้ยนเสียแล้ว"[2] แต่ภายหลัง ข้อสันนิษฐานของเดวิสเกี่ยวกับสุสานของทุตอังค์อามุนนั้นได้รับการพิสูจน์ว่า ไม่ถูกต้อง
ในช่วงเดียวกันนั้นเอง จอร์จ เฮอร์เบิร์ต เอิร์ลที่ 5 แห่งคาร์นาร์วอน (George Herbert, 5th Earl of Carnarvon) หรือมักเรียกกันว่า "ลอร์ดคาร์นาร์วอน" (Lord Carnarvon) สั่งให้เฮาเวิร์ด คาร์เตอร์ นักวิทยาการอียิปต์ชาวอังกฤษ ไปสำรวจหุบผากษัตริย์ คณะของคาร์เตอร์จ้างคนพื้นที่ช่วยกันขุดค้นบริเวณซึ่งต่อมาคือสุสานเควี 62 แห่งนี้ คณะของคาร์เตอร์ทำงานกันอย่างระแวงระวัง ที่สุดก็พบประตูอุโมงค์มีบันไดทอดยาวลงไป คาร์เตอร์จึงมีจดหมายแจ้งลอร์ดคาร์นาร์วอนทราบ และลอร์ดคาร์นาร์วอนเดินทางมาถึงภายในหนึ่งสัปดาห์ คาร์เตอร์สั่งให้รื้อทางเข้าและเข้าสู่อุโมงค์ผ่านเฉลียงที่ขโมยเคยรื้อเอาไว้ จากนั้น คาร์เตอร์พบประตูบานหนึ่ง เขาจึงเจาะรูรูหนึ่งลงบนประตู แล้วจุดไม้ขีด ไม้ขีดติด แสดงว่า ภายในอุโมงค์มีออกซิเจน เขาจึงเข้าไปภายใน พบห้องห้องหนึ่ง ปรากฏว่า ห้องนั้นโล่ง แต่คาร์เตอร์เชื่อว่า ห้องดังกล่าวสร้างไว้ลวง และต้องมีห้องลับอยู่แถวนั้นอีก เขาจึงสำรวจกำแพงไปรอบ ๆ และพบห้องลับเช่นว่าซึ่งแล้วไปด้วยสมบัติพัสถาน ครั้นวันที่ 4 พฤศจิกายน 1992 คาร์เตอร์จึงพบที่ไว้พระศพทุตอังค์อามุนอยู่ใกล้กับทางเข้าสุสานของแรเมซีสที่ 6 (Ramesses VI) นับแต่นั้น อาณาบริเวณดังกล่าวจึงได้รับการขนานนามว่า "เควี 62" เมื่อพบสุสานทุตอังค์อามุนแล้ว คาร์เตอร์ก็รีบแจ้งลอร์ดคาร์นาร์วอน และวันที่ 26 พฤศจิกายน 1922 ลอร์ดคาร์นาร์วอนกับคาร์เตอร์ก็ได้เป็นสองบุคคลแรกที่เข้าไปในสุสานหลังกาลเวลาผ่านไปราว 3,000 ปี
คาร์เตอร์ใช้เวลาขุดสำรวจอย่างพิถีพิถันอยู่หลายสัปดาห์ กระทั่งวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 1923 เขาได้เปิดห้องไว้พระศพชั้นใน และได้เห็นหีบพระศพเป็นบุคคลแรก เฮนรี วอลแลม มอร์ตัน (Henry Vollam Morton) นักข่าวคนเดียวที่ได้อยู่ในพื้นที่ จึงถ่ายทอดเหตุการณ์เหล่านี้สู่สาธารณชนต่อไป
การตรวจสอบ
[แก้]บันไดขั้นแรกเข้าสู่สุสานนั้นพบเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 1922[3] วันที่ 5 พฤศจิกายน 1922 จึงพบทางบันไดอย่างสมบูรณ์ ครั้นสื้นเดือนพฤศจิกายน 1992 จึงสามารถเข้าสู่ห้องเล็ก (antechamber) และพบห้องเสริม (annex) ตลอดจนห้องไว้พระศพ และพระคลัง ตามลำดับ สุสานได้รับการเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 29 พฤศจิกายน 1922 และมีการแถลงข่าวครั้งแรกในวันที่ 30 พฤศจิกายน 1922 ต่อมาวันที่ 27 ธันวาคม 1922 จึงมีการนำข้าวของออกจากสุสานเป็นชิ้นแรก[4]
วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 1923 เปิดห้องไว้พระศพ[5] ครั้นวันที่ 5 เมษายน 1923 ลอร์ดคาร์นาร์วอนตาย
วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 1924 เปิดฝาหีบพระศพซึ่งทำจากแกรนิต[6] แต่ในเดือนเมษายร 1924 คาร์เตอร์เกิดหมางใจกับกรมโบราณคดี (Antiquities Service) จึงทิ้งงานสำรวจกลับไปสหรัฐอเมริกา
ลุเดือนมกราคม 1925 คาร์เตอร์ได้รับแต่งตั้งให้สำรวจสุสานนี้อีกครั้ง วันที่ 13 ตุลาคม 1925 เขาจึงเปิดฝาหีบพระศพชั้นแรก ครั้นวันที่ 23 ตุลาคม 1925 เขาเปิดฝาหีบชั้นที่สอง และวันที่ 28 ตุลาคม 1925 เขาและคณะได้เปิดฝาหีบพระศพชั้นสุดท้าย เผยให้เห็นพระศพ วันที่ 11 พฤศจิกายน 1925 จึงเริ่มตรวจสอบพระศพกัน
ส่วนงานด้านสำรวจพระคลังนั้นเริ่มขึ้น ณ วันที่ 24 ตุลาคม 1926 จากนั้นในระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม 1927 ถึงวันที่ 15 ธันวาคม 1927 จึงมีการขนข้าวของออกจากห้องเสริมจนหมดเพื่อตรวจสอบห้อง ครั้นวันที่ 10 พฤสจิกายน 1930 อันเป็นเวลาราว 8 ปีหลังพบสุสาน ของชิ้นสุดท้ายจึงได้รับการนำออกจากสุสาน[7]
ภาพรวมของสุสาน
[แก้]เมื่อพิเคราะห์ลักษณะการออกแบบแล้ว ปรากฏว่า สุสานนี้เดิมทีประสงค์ให้เอกชนใช้ มิใช่สำหรับเจ้าขุนมูลนาย[8] ในระหว่างขุดค้นได้พบพยานหลักฐานสนับสนุนข้อสันนิษฐานว่า สุสานดังกล่าวได้รับการปรับปรุงให้เจ้าใช้[9] นี้อาจสอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ว่า มีแต่ผนังห้องไว้พระศพที่ได้รับการตกแต่ง ต่างจากสุสานหลวงทั่วไปที่เขียนผนังทุกแห่งเป็นเนื้อเรื่องจากคัมภีร์มรณะ (Book of the Dead)[9]
ผัง
[แก้]แผนที่สุสาน | ||
---|---|---|
|
บันได
[แก้]บันไดมี 16 ขั้น ทอดลงจากพื้นขนาดย่อมที่ยกขึ้น นำไปสู่พระทวารบานที่ 1 ซึ่งใช้ปูนฉาบผนึกไว้ แต่พระทวารนี้เคยถูกขโมยทำลายลงมาแล้วอย่างน้อย 2 ครั้งในสมัยโบราณ
ฉนวน
[แก้]เมื่อเข้าพระทวารบานที่ 1 มาแล้ว พบฉนวนเป็นทางยาวไปสู่พระทวารบานที่ 2 ซึ่งผนึกไว้เช่นกัน เมื่อเข้าพระทวารบานนี้ไปแล้วเป็นห้องห้องหนึ่งซึ่งคาร์เตอร์เรียก "ห้องเล็ก" เดิมทีใช้เก็บของเหลือและของใช้จากพระราชพิธีพระศพ แต่เมื่อถูกขโมยขึ้น จึงมีการย้ายข้าวของดังกล่าวไปไว้ที่สุสานหมายเลขเควี 54 เป็นเหตุให้ห้องเล็กนี้ร้างไป
ห้องเล็ก
[แก้]ห้องเล็กเป็นห้องที่ไม่ได้รับการตกแต่งเลย และเมื่อค้นพบก็ปรากฏว่า อยู่ในสภาพ "จงใจให้ยุ่งเหยิง" ข้าวของภายในมีประมาณ 700 ชิ้น ในจำนวนนี้เป็นตั่งพระศพ 3 หลัง กับจานรูปทาวาเร็ต (Tawaret) เทวีช้างน้ำ รูปแฮทอร์ (Hathor) เทวีปศุสัตว์ และรูปสิงสาราสัตว์ ทรัพย์สินที่โดดเด่นที่สุดในห้องนี้ คือ ชิ้นส่วนราชรถซึ่งวางซ้อน ๆ กันไว้ เชื่อว่า เป็นราชรถศึก ราชรถสำหรับออกป่าล่าสัตว์ หรือราชรถสำหรับเข้ากระบวนแห่ ข้าวของส่วนใหญ่ในจำนวน 700 ชิ้นนี้ล้วนทำจากทอง
ห้องไว้พระศพ
[แก้]การตกแต่ง
[แก้]ห้องไว้พระศพเป็นห้องเดียวในสุสานที่ได้รับการตกแต่งโดยเขียนจิตรกรรมฝาผนังเป็นเหตุการณ์ที่ไอ (Ay) อุปราช เป็นประธานในพิธีเบิกปากพระศพ แทนพระโอรส ถึงแม้ว่าไอจะสูงวัยกว่าทุตอังค์อามุนมาก ในห้องยังมีรูปนัต (Nut) เทพีท้องฟ้า อยู่บนผนังทางเหนือ มีรูปชั่วโมงแรกในนรกอยู่บนผนังทางตะวันตก มีคาถาจากคัมภีร์มรณะอยู่บนผนังตะวันออก และมีรูปเทพยดาต่าง ๆ เป็นเครื่องแทนทุตอังค์อามุนอยู่บนผนังทางใต้ เทพยดาเหล่านั้นที่ปรากฏมีอานูบิส (Anubis), ไอซิส (Isis) และฮาทอร์ ส่วนที่เหลือชำรุดทั้งสิ้น บนผนังทางเหนือมีรูปทุตอังค์อามุนทรงพระดำเนินสู่นรกภูมิพร้อมพระวิญญาณของพระองค์ โดยมีโอไซริส (Osiris) คอยรับเสด็จอยู่ด้วย[10]
สมบัติบางอย่างในห้องนี้ปรากฏว่า แตกต่างจากธรรมเนียมในการแสดงภาพลักษณ์พระเจ้าแผ่นดินอย่างแจ้งชัด เช่น พระสุบรรณบัฏซึ่งปรกติควรจารึกพระนามพระเจ้าแผ่นดินกลับปรากฏรอยขูดขีดแก้ไข ราวกับว่า นำของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ก่อนกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งก็ปรากฏบ่อยครั้ง แต่ทรัพย์สินอื่น ๆ นั้นยากจะอธิบาย เช่น หีบพระศพชั้นกลางและโถพระกุญชะทำเป็นรูปใบหน้าบุคคลซึ่งอายุมากกว่าทุตอังค์อามุน ทั้งมีใบหน้าตอบกว่าพระองค์ด้วย มีการเสนอทฤษฎีว่า ข้าวของดังกล่าวเดิมทีแล้วเตรียมไว้สำหรับสเมงค์คาเร (Smenkhkare) ผู้เสวยราชย์ก่อนทุตอังค์อามุน[11]
ข้าวของ
[แก้]ในห้องมีกุฏิไม้ปิดทองตั้งล้อมหีบพระศพไว้ 4 ชั้น กุฏิชั้นแรกสุดมีขนาด 5.08 x 3.28 x 2.75 เมตร และมีความหนา 32 มิลลิเมตร จึงเกือบเต็มห้องซึ่งมีขนาด 60 x 30 เซนติเมตร ภายนอกกุฏิดังกล่าวมีพาย 11 เล่มสำหรับ "เรือสุริยะ" (solar boat) และมีพานเครื่องหอม กับตะเกียงประดับรูปเทพฮาพี (Hapi)
กุฏิชั้นในสุดยาว 2.90 เมตร กว้าง 1.48 เมตร ที่ผนังวาดรูปกระบวนแห่พระศพ ที่เพดานวาดรูปเทพีนัตกางปีกโอบหีบพระศพไว้
สำหรับหีบพระศพนั้นทำจากหินแกรนิต ฝาหีบและมุมหีบสลักจากหินหลากสี น่าเชื่อว่า หีบนี้เดิมทีสลักไว้สำหรับบุคคลอื่น แต่ได้รับการปรับปรุงให้เป็นหีบพระศพทุตอังค์อามุน ส่วนเจ้าของเดิมจะเป็นผู้ใดนั้นไม่ปรากฏอีก[10] ที่แต่ละมุมของหีบนั้นทำเป็นรูปเทวดาต่าง ๆ คอยพิทักษ์พระศพไว้ คือ ไอซิส, เน็ปทิส (Nephthys), เซอร์เก็ต (Serket) และเนท (Neith)
ในหีบมีหีบย่อยอีกสามชั้น สองชั้นแรกทำจากไม้ปิดทอง ชั้นในสุดทำจากทองแท้หนัก 110.4 กิโลกรัม[12] พระศพนั้นอยู่ในหีบทองคำดังกล่าว ตัวพระศพสวมหน้ากากทองคำ ทองพระกร และเครื่องสุกำอื่น ๆ หน้ากากนั้นทำจากทองฝังอัญมนีต่าง ๆ คือ เขี้ยวหนุมาน (quartz), หยกแดง (carnelian), ออบซีเดียน (obsidian), ลาพิสลาซูไล (lapis lazuli), เครื่องเคลือบ (faience) และแก้ว รวมน้ำหนัก 11 กิโลกรัม[13]
พระคลัง
[แก้]พระคลังอยู่ถัดจากห้องไว้พระศพ ทางเข้าไม่ได้ทำเครื่องปิดกั้นไว้ ภายในมีข้าวของมากกว่า 5,000 ชิ้น ส่วนใหญ่เป็นของใช้ในพระราชพิธีพระศพและศาสนกิจ ของชิ้นใหญ่ที่สุด 2 ชิ้น คือ หีบไว้โถพระกุญชะ กับรูปปั้นเทพอานูบิส ข้าวของอื่น ๆ ได้แก่ กุฏิจำนวนมากซึ่งใส่พระรูปปั้นปิดทองและรูปปั้นเทพยดาปิดทองเอาไว้ ตลอดจนเรือจำลอง และราชรถอีก 2 หลัง เป็นต้น ในห้องยังพบศพทารกหญิงอีก 2 รายซึ่งเชื่อว่า เป็นพระราชธิดาของทุตอังค์อามุน และถึงแก่พระชนม์ในพระครรภ์[14]
ห้องเสริม
[แก้]ห้องเสริมไว้สำหรับตุนน้ำมัน เครื่องหอม กำยาน อาหาร และสุราบาน ห้องนี้เป็นห้องสุดท้ายที่ขนข้าวของออกไป การขนย้ายดังกล่าวดำเนินขึ้นในระหว่างปลายเดือนตุลาคม 1927 ถึงฤดูใบไม้ผลิของปี 1928 แม้เป็นห้องเล็ก แต่ก็มีของมากกว่า 2,000 ชิ้น จัดกลุ่มได้ราว 280 กลุ่ม
ระเบียงภาพ
[แก้]-
กุฏิชั้นนอก
-
เฮาเวิร์ด คาร์เตอร์ (คุกเข่า) และคณะ เปิดกุฏิชั้นนอก
-
จิตรกรรมแสดงภาพไอ อุปราช (ขวา) เป็นประธานในพิธีเบิกปากพระศพ (ซ้าย)
-
พนักพระเก้าอี้ทำเป็นรูปทุตอังค์อามุน กับอังค์เอสเอ็นอามุน (Ankhesenamun) ซึ่งเป็นทั้งพระเชษฐภคินีและพระมเหสี
-
พระเก้าอี้
-
โถซึ่งไว้พระอันตะ พระอามาศัย พระยกนะ และพระกุญชะ ที่คว้านออกจากพระองค์และหมักเกลือเนตรอน (Natron) แล้วตามลำดับ
-
หีบไว้โถพระกุญชะ
-
ฝาโถพระกุญชะ
-
หีบพระศพหนึ่งในหลาย ๆ ชั้น
-
หน้ากากพระศพ
-
ตั่งไว้พระศพ ทำจากไม้ปิดทอง
-
ที่รองพระเศียร ทำเป็นรูปเทพชู (Shu) แบกฟ้า
-
พระวีชนี
-
ทับทรวง
-
ตลับหมากเซเน็ต (Senet)
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Tutankhamun". University College London. สืบค้นเมื่อ 2007-06-10.
- ↑ Davis, Theodore M. (2001). The Tombs of Harmhabi and Touatânkhamanou. London: Duckworth Publishing. ISBN 0-7156-3072-5.
- ↑ "Howard Carter's diaries (October 28 to December 30, 1922)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-06-30. สืบค้นเมื่อ 2007-06-04.
- ↑ "A. C. Mace's personal diary of the first excavation season (December 27, 1922 to May 13, 1923)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-06-30. สืบค้นเมื่อ 2007-06-04.
- ↑ "Howard Carter's diaries (January 1 to May 31, 1923)". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-04-07. สืบค้นเมื่อ 2007-06-04.
- ↑ "Howard Carter's diaries (October 3, 1923 to February 11, 1924)". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-04-07. สืบค้นเมื่อ 2007-06-04.
- ↑ "Howard Carter's diaries (September 24 to November 10, 1930)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-06-30. สืบค้นเมื่อ 2007-06-04.
- ↑ "KV 62 (Tutankhamen)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-12-12. สืบค้นเมื่อ 2007-06-10.
- ↑ 9.0 9.1 Reeves & Wilkinson (1996) p.124
- ↑ 10.0 10.1 "KV 62 (Tutankhamen): Burial chamber J". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-27. สืบค้นเมื่อ 2007-06-10.
- ↑ Reeves, Nicholas C. (1990-10-01). The Complete Tutankhamun: The King, the Tomb, the Royal Treasure. Thames & Hudson.
- ↑ "Note concerning the 3rd Coffin". สืบค้นเมื่อ 2007-06-10.[ลิงก์เสีย]
- ↑ Alessandro Bongioanni & Maria Croce (ed.), The Treasures of Ancient Egypt: From the Egyptian Museum in Cairo, Universe Publishing, a division of Ruzzoli Publications Inc., 2003. p.310
- ↑ Howard Carter, "The Tomb of Tutankhamen", 1972 ed, Barrie & Jenkins, p189, ISBN 0-214-65428-1
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ เควี 62
- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ขุมสมบัติทุตอังค์อามุน
- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ พระศพทุตอังค์อามุน
- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ หน้ากากพระศพทุตอังค์อามุน