ฮิเดโยะ โนงูจิ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ฮิเดโยะ โนงูจิ
野口英世
ฮิเดโยะ โนงูจิ
เกิด09 พฤศจิกายน ค.ศ. 1876(1876-11-09)
อินาวาชิโระ จังหวัดฟูกูชิมะ จักรวรรดิญี่ปุ่น
เสียชีวิตพฤษภาคม 21, 1928(1928-05-21) (51 ปี)
อักกรา โกลด์โคสต์ จักรวรรดิอังกฤษ
สัญชาติญี่ปุ่น
มีชื่อเสียงจากซิฟิลิส
Treponema pallidum
อาชีพทางวิทยาศาสตร์
สาขาวิทยาแบคทีเรีย
ฮิเดโยะ โนงูจิ
ชื่อภาษาญี่ปุ่น
คันจิ野口 英世
ฮิรางานะのぐち ひでお
การถอดเสียง
โรมาจิNoguchi Hideyo
ฮิเดโยะ โนงูจิ และมารดา

ฮิเดโยะ โนงูจิ (ญี่ปุ่น: 野口英世โรมาจิNoguchi Hideyo; 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2419 – 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2471) นักวิทยาแบคทีเรียชาวญี่ปุ่น ผู้สามารถเพาะเชื้อก่อโรคซิฟิลิส ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตสาขาแพทยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเกียวโต ในปี 2454 และสาขาวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโตเกียวในปี 2457 และรัฐบาลญี่ปุ่นได้ออกธนบัตรแบบหนึ่งพันเยนชุดใหม่โดยมีรูปเหมือนของเขาอยู่ที่ด้านหน้าธนบัตรในปี 2547

ฮิเดโยะ โนงูจิบนธนบัตรหนึ่งพันเยนซึ่งออกใช้เมื่อปี พ.ศ. 2547

ชีวิตวัยเยาว์[แก้]

โนงูจิเกิดมาในครอบครัวชาวนาฐานะยากจนที่เมืองอินาวาชิโระ จังหวัดฟูกูชิมะ เดิมเคยใช้ชื่อตามที่บิดามารดาตั้งให้ว่า เซซากุ โนงูจิ (ญี่ปุ่น: 野口清作โรมาจิNoguchi Seisaku) ตอนอายุประมาณ 1 ขวบครึ่ง เขาได้พลัดตกลงไปในเตาหลุม ทำให้มือซ้ายถูกไฟลวกอย่างรุนแรงจนไม่สามารถใช้การได้ เมื่อเข้าเรียนชั้นประถมในโรงเรียนประถมมิตสึวะ โนงูจิจึงต้องอดทนกับการถูกเพื่อนๆ กลั่นแกล้งและล้อเลียนเรื่องมือซ้ายทุกวัน แต่เขาก็ตั้งใจเล่าเรียนจนสามารถสอบได้คะแนนสูงสุดของชั้น และได้เข้าเรียนต่อในชั้นประถมปลายอินาวาชิโระด้วยความช่วยเหลือจากคุณครูซากาเอะ โคบายาชิ (ญี่ปุ่น: 小林 栄โรมาจิKobayashi Sakae) ในปี 2432

จากนั้นในปี 2434 คุณครูโคบายาชิและเพื่อนร่วมชั้นของโนงูจิก็ช่วยกันเรี่ยไรเงินเป็นค่าผ่าตัดรักษามือซ้ายให้กับโนงูจิ โดยผู้ที่ทำการผ่าตัดให้เขาคือคานาเอะ วาตานาเบะ (ญี่ปุ่น: 渡部 鼎โรมาจิWatanabe Kanae) นายแพทย์ที่สำเร็จการศึกษาจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งจากการผ่าตัดในครั้งนี้ ทำให้โนงูจิรู้สึกชื่นชมในอาชีพแพทย์ และตัดสินใจว่าในอนาคตจะประกอบอาชีพเป็นแพทย์เพื่อช่วยเหลือผู้คนยากไร้ที่เจ็บไข้ได้ป่วย

การทำงาน[แก้]

เมื่อเรียนจบชั้นประถมปลายในปี 2436 โนงูจิก็เดินทางไปที่เมืองไอซูวากามัตสึ และขอร้องให้คานาเอะ วาตานาเบะรับเขาไว้ทำงานที่โรงพยาบาลไกโย โดยระหว่างที่ทำงานอยู่ที่โรงพยาบาล โนงูจิได้ศึกษาวิชาแพทย์ อีกทั้งยังหัดเรียนภาษาเยอรมัน อังกฤษ ฝรั่งเศสด้วยตัวเองควบคู่ไปด้วย

ทว่าในปี 2439 เนื่องจากไม่มีเงินทุนเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย โนงูจิจึงเดินทางเข้าโตเกียว มาหาโมริโนซูเกะ ชิวากิ (ญี่ปุ่น: 血脇守之助โรมาจิChiwaki Morinosuke) ทันตแพทย์จากโรงเรียนทันตแพทย์ทากายามะ (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยทันตแพทย์โตเกียว) ที่เคยได้พบกันที่โรงพยาบาลไกโย ชิวากิช่วยให้โนงูจิได้เข้าศึกษาวิชาแพทย์ที่โรงเรียนกวดวิชาไซเซ เพื่อเข้ารับการทดสอบความรู้ทางด้านแพทยศาสตร์ภาคแรก ซึ่งโนงูจิสามารถสอบผ่านโดยทำคะแนนได้เป็นอันดับที่ 1 และต่อมาในปีเดียวกัน โนงูจิก็ผ่านการทดสอบในภาคหลัง เขาจึงได้เป็นแพทย์อย่างเต็มตัวในขณะที่มีอายุเพียงแค่ 20 ปีเท่านั้น

ปี 2440 โนงูจิทำงานเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่โรงเรียนทันตแพทย์ทากายามะ ต่อมาก็เข้าทำงานเป็นผู้ช่วยที่โรงพยาบาลจุนเท็นโด แต่ทำได้ไม่นานก็ได้ไปทำงานที่สถาบันวิจัยโรคระบาดของชิบาซาบูโร คิตาซาโตะซึ่งเป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยนักวิจัยชั้นหัวกะทิจากมหาวิทยาลัยโตเกียวเตโกกุ (มหาวิทยาลัยโตเกียวในปัจจุบัน) ทำให้โนงูจิผู้ไม่ได้เรียนจบจากมหาวิทยาลัยไม่ได้รับการยอมรับและถูกปฏิบัติอย่างเย็นชาจากเพื่อนร่วมสถาบัน แต่ระหว่างที่ทำงานอยู่ที่นั่น เขาก็ได้มีโอกาสทำหน้าที่เป็นล่ามให้กับไซมอน เฟลกซ์เนอร์ ศาสตราจารย์ทางด้านพยาธิวิทยา แห่งมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ซึ่งเดินทางมาดูงานที่ญี่ปุ่น เฟลกซ์เนอร์รู้สึกถูกใจในตัวโนงูจิ และได้ชักชวนให้เขาไปที่สหรัฐอเมริกาหากมีโอกาส

เปลี่ยนชื่อ ไปอเมริกา[แก้]

ปี 2441 โนงูจิได้ทราบข่าวว่าภรรยาของซากาเอะ โคบายาชิ คุณครูผู้มีพระคุณได้ล้มป่วย เขาจึงรีบกลับไปยังบ้านเกิด ซึ่งในระหว่างรอดูอาการนั้น โนงูจิมีโอกาสได้อ่านนิยายเรื่อง “จิตใจนักเรียนในยุคปัจจุบัน” (当世書生気質) ที่ประพันธ์โดย โชโย สึโบอูจิ และได้พบว่า เซซากุ โนโนงูจิ (ญี่ปุ่น: 野々口精作โรมาจิNonoguchi Seisaku) ตัวเอกในนิยายเรื่องนี้มีชื่อที่คล้ายคลึงกับเขามาก ทว่ากลับเป็นคนชอบเที่ยวเตร่และไม่เอาการเอางาน โนงูจิรู้สึกทนไม่ได้ที่ชื่อของเขาไปคล้ายกับตัวละครตัวนี้ ซากาเอะ โคบายาชิ ครูผู้มีพระคุณในสมัยเด็กจึงได้ตั้งชื่อใหม่ให้กับเขาว่า ฮิเดโยะ ซึ่งมีความหมายตรงตัวว่า ผู้เก่งกล้าของโลก

หลังจากนั้นไม่นาน โนงูจิก็ถูกส่งไปทำงานที่ด่านกักกันโรค เมืองท่าโยโกฮามะ และได้ตรวจพบตรวจเชื้อกาฬโรคในเลือดของผู้ป่วย ทำให้ชื่อเสียงของโนงูจิเริ่มเป็นที่รู้จักของผู้คน และจากผลงานในครั้งนี้ โนงูจิจึงได้ถูกรับเลือกให้เป็น 1 ในคณะแพทย์จากนานาประเทศ เดินทางไปยังประเทศจีน เพื่อยับยั้งกาฬโรคที่กำลังระบาดอย่างหนัก เมื่อกลับมาญี่ปุ่นในปี 2443 โนงูจิก็ตัดสินใจที่จะเดินทางไปสหรัฐอเมริกา

ที่นั่น โนกุจิได้รับมอบหมายจาก ดร.เฟลกซ์เนอร์ ให้ศึกษาวิจัยเรื่องพิษงู และเขาก็สามารถวิจัยพิษงูออกมาเป็นผลสำเร็จภายในระยะเวลาเพียง 1 ปี หลังจากนั้นชื่อของโนกุจิก็เป็นที่ยอมรับไปทั่วสหรัฐอเมริกาและในระดับโลก โนกุจิยังคงศึกษาวิชาการแพทย์อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะด้านระบาดวิทยา โดยในปี 2454 เขาประสบความสำเร็จในการเพาะเชื้อ Spirochete ของโรคซิฟิลิศได้เป็นคนแรกของโลก

ปี 2461 โนกุจิเดินทางไปยังเอกวาดอร์ และพบกับเชื้อโรคไข้เหลือง (Yellow Fever) จึงได้ศึกษาวิจัยและพัฒนายารักษาโรคนี้จนสำเร็จ แต่แล้วในปี 2470 โรคไข้เหลืองก็ระบาดไปทั่วทั้งทวีปแอฟริกาอีกครั้งและรุนแรงกว่าเดิม ยารักษาโรคก็ใช้ไม่ได้ผล ทำให้โนกุจิต้องเดินทางไปทวีปแอฟริกาเพื่อวิจัยให้แน่ชัดว่าเพราะเหตุใด แม้ว่าก่อนเดินทางจะมีคนคัดค้านเพราะเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยก็ตาม หลังจากเดินทางมาที่ทวีปแอฟริกา โนกุจิก็พบว่าโรคไข้เหลืองที่กำลังระบาดนั้นเป็นเชื้อโรคคนละตัวกับครั้งก่อน เขาจึงเริ่มลงมือค้นคว้าวิจัยอย่างหนักจนกระทั่งตัวเองได้รับเชื้อไข้เหลืองไปด้วย และเสียชีวิตในเวลาต่อมาด้วยโรคดังกล่าว ในปี 2471 ที่เมืองอักกรา (Accra) ประเทศกานา

บรรณานุกรม[แก้]

ภาษาไทย[แก้]

  • คุณหมอนักสู้ โนกุจิ ฮิเดโยะ, มาซาโอะ บาบะ (ผู้แต่ง) , พรอนงค์ นิยมค้า (ผู้แปล) , สำนักพิมพ์ ส.ส.ท. เยาวชน, 2542

ภาษาญี่ปุ่น[แก้]

ภาษาอังกฤษ[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]