ข้ามไปเนื้อหา

อะเลคซันดร์ อุลยานอฟ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อะเลคซันดร์ อุลยานอฟ
เกิด12 เมษายน [ตามปฎิทินเก่า: 31 มีนาคม] 1866
นิจนีนอฟโกรอด, เขตผู้ว่าการนิจนีนอฟโกรอด, จักรวรรดิรัสเซีย
เสียชีวิต20 พฤษภาคม [ตามปฎิทินเก่า: 8 พฤษภาคม] 1887 (21 ปี)
ชลิสเซลบูร์ก, จักรวรรดิรัสเซีย
สาเหตุเสียชีวิตประหารชีวิตโดยการแขวนคอ
อาชีพนักปฏิวัติสังคมนิยม นักเคลื่อนไหวทางการเมือง นักศึกษา
บิดามารดา
ญาติ
ครอบครัวอุลยานอฟ ค.ศ. 1879 (อะเลคซันดร์ยืนอยู่ตรงกลาง วลาดีมีร์นั่งทางด้านขวา)

อะเลคซันดร์ อิลลิช อุลยานอฟ (รัสเซีย: Алекса́ндр Ильи́ч Улья́нов, อักษรโรมัน: Aleksandr Ilyich Ulyanov 12 เมษายน [ตามปฎิทินเก่า: 31 มีนาคม] 1866 – 20 พฤษภาคม [ตามปฎิทินเก่า: 8 พฤษภาคม] 1887[1]) เป็นนักปฏิวัติและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวรัสเซีย เขาเป็นพี่ชายของวลาดีมีร์ เลนิน ผู้ก่อตั้งสหภาพโซเวียต

ชีวิตช่วงต้น

[แก้]

อุลยานอฟเกิดที่เมืองนิจนีนอฟโกรอด เขาเป็นลูกคนที่สองและเป็นลูกชายคนโตของอีลียา นีโคลาเยวิช อุลยานอฟ และ มารีเยีย อะเลคซันดรอฟนา อุลยาโนวา เขาเป็นที่รู้จักในนามซาชาซึ่งเป็นชื่อเรียกย่อของชื่ออะเลคซันดร์[2] เขาสำเร็จการศึกษาด้วยเกียรตินิยมจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาคลาสสิกแห่งซิมบีร์สค์ ใน ค.ศ. 1883 และต่อมาได้เข้าเรียนที่ราชวิทยาลัยเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก ซึ่งเขาได้ศึกษาวิชาเอกวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ และได้รับปริญญาด้านสัตววิทยา ขณะอยู่ที่มหาวิทยาลัย เขาเข้าร่วมการประชุมและการเดินขบวนที่ผิดกฎหมาย โดยมักจะแจกใบปลิวและกล่าวสุนทรพจน์แก่นักศึกษาและคนงาน

การปฏิวัติ

[แก้]

ใน ค.ศ. 1886 เขาได้เข้าเป็นสมาชิกของ "ฝ่ายก่อการร้าย" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพรรค นารอดนายาวอลยา (เจตจำนงของประชาชน) เขาเป็นหนึ่งในผู้เขียนนโยบายของพรรค นโยบายนี้ยอมรับชนชั้นแรงงานว่าเป็น "แกนกลางของพรรคสังคมนิยม" ซึ่งยืนยันถึงความคิดริเริ่มของนักปฏิวัติในการต่อสู้กับระบอบเผด็จการผ่านการก่อการร้าย

ความพยายามลอบปลงพระชนม์จักรพรรดิอะเลคซันดร์ที่ 3

[แก้]

อุลยานอฟและสหายของเขาสมคบคิดที่จะลอบปลงพระชนม์จักรพรรดิอะเลคซันดร์ที่ 3 แห่งรัสเซีย ในวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 1887 (ปฏิทินจูเลียน) ซึ่งเป็นวันครบรอบ 6 ปีการลอบปลงพระชนม์จักรพรรดิอะเลคซันดร์ที่ 2 สมาชิกพรรค 3 คนถูกจับกุมในถนนเนฟสกีพรอสเพกต์ โดยถือระเบิดทำมือที่เต็มไปด้วยไดนาไมต์และเม็ดตะกั่วที่เป็นพิษด้วยสตริกนีน ตำรวจต้องสงสัยว่าเมื่อจักรพรรดิอะเลคซันดร์ที่ 3 เสด็จเยือนโบสถ์เนื่องในวันครบรอบการลอบปลงพระชนม์พระราชบิดาของพระองค์ ผู้วางแผนจะขว้างระเบิดเข้าไปในรถม้าของจักรพรรดิ ความพยายามนี้เรียกว่า "ครั้งแรกที่สองของเดือนมีนาคม" (The Second First of March)[3]

อุลยานอฟซึ่งทำหน้าที่เป็นทั้งนักอุดมการณ์หลักของกลุ่มและคนทำระเบิดถูกจับในเวลาต่อมา ในศาล อุลยานอฟกล่าวสุนทรพจน์การเมือง ในตอนแรกผู้สมรู้ร่วมคิดถูกตัดสินประหารชีวิต แต่มีห้าคนได้รับพระราชทานอภัยโทษโดยจักรพรรดิอะเลคซันดร์ที่ 3 อุลยานอฟไม่ได้อยู่ในกลุ่มผู้ที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษ เขาและสหายทั้งสี่ของเขา ได้แก่ ปาโฮมี อันเดรวัชกิน, วาซีลี เจเนียราลอฟ, วาซีลี โอซีปานอฟ และปิออตร์ เชวีเรฟ ถูกประหารชีวิตโดยการแขวนคอที่เมืองชลิสเซลบูร์กในวันที่ 8 พฤษภาคม[4]

การประหารชีวิตอะเลคซันดร์ทำให้ วลาดีมีร์ อิลลิช อุลยานอฟ (วลาดีมีร์ เลนิน) น้องชายของเขา ไล่ตามการต่อสู้เพื่อการปฏิวัติของรัสเซียอย่างแรงกล้ายิ่งขึ้น วลาดีมีร์มีบทบาททางการเมืองอยู่แล้วก่อนที่พี่ชายของเขาจะถูกจับกุม วลาดีมีร์ชื่นชมพี่ชายของเขา แม้กระนั้น เขาค่อนข้างไม่ใส่ใจทัศนคติทางการเมืองของพี่ชาย ครั้งหนึ่งเขาเคยกล่าวไว้ว่า "ไม่ พี่ชายของฉันจะไม่ทำการปฏิวัติ ฉันคิดว่าในตอนนั้น นักปฏิวัติไม่สามารถให้เวลามากนักในการศึกษาเรื่องหนอนได้" เลนินยังจำได้ว่าครอบครัวของเขาถูกรังเกียจจากกลุ่มเสรีนิยมในซิมบีร์สค์หลังจากพี่ชายของเขาถูกจับกุม[5]

มรดก

[แก้]
แผ่นจารึกอนุสรณ์ถึงอะเลคซันดร์ อุลยานอฟในป้อม: ป้อมโอเรเชียค ชลิสเซลบูร์ก เขตคีรอฟสกี แคว้นเลนินกราด

ดาวเคราะห์น้อยดวงหนึ่งชื่อ 2112 อุลยานอฟ ถูกค้นพบใน ค.ศ. 1972 โดยตามารา มีไฮลอฟนา สมีร์โนวา และตั้งชื่อตามเขา[6][7]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Clark, Ronald (1988). Lenin. New York U.a. p. 15.
  2. "Lenin's Brother: An Interview with Philip Pomper".
  3. Mark Aleksandrovich Aldanov (1922). Lenin. New York: E. P. Dutton. p. 4.
  4. Philip Pomper (2010). Lenin's Brother: The Origins of the October Revolution. New York: W. W. Norton & Company. ISBN 978-0-393-07079-8.
  5. Nadezhda Krupskaya (1933). "St. Petersburg, 1893–1898". Reminiscences of Lenin. Vol. 1. แปลโดย Bernard Isaacs. สืบค้นเมื่อ 2018-12-20.
  6. Schmadel, Lutz D. (2003). Dictionary of Minor Planet Names (5th ed.). New York: Springer Verlag. pp. 171. ISBN 3-540-00238-3.
  7. "Lenin". Spartacus Educational (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2018-08-01.