ข้ามไปเนื้อหา

วัดส้ม (จังหวัดพระนครศรีอยุธยา)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดส้ม
แผนที่
ที่ตั้งตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ประเภทวัดร้าง
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดส้ม เป็นโบราณสถานประเภทวัดร้างที่ตั้งอยู่ติดกับคลองท่อ (คลองฉะไกรใหญ่) ทางด้านทิศตะวันตกในตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ไม่ปรากฏหลักฐานทางด้านเอกสารเกี่ยวกับประวัติการสร้างวัดส้ม แต่จากรูปแบบทางสถาปัตยกรรมและลวดลายทางศิลปกรรมของปรางค์ เชื่อว่าเป็นศิลปะอยุธยาตอนต้น ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 18 ถึงราวปลายพุทธศตวรรษที่ 19 ซึ่งเก่ากว่าปรางค์องค์อื่นในสมัยอยุธยาตอนต้น เช่น พระปรางค์องค์เล็กที่วัดมหาธาตุ (พ.ศ. 1917) และวัดราชบูรณะ (พ.ศ. 1967) เล็กน้อย[1]

ปรางค์เป็นปรางค์ก่ออิฐขนาดย่อมตั้งอยู่บนฐานเตี้ย เครื่องประดับชั้นหลังคาได้กลายรูปเป็นกลีบขนุนอย่างสมบูรณ์ มีลวดลายปูนปั้นลายบัวหงายประดับที่ฐาน ส่วนบนสุดของฐานเป็นลายลูกประคํา ในส่วนกลีบขนุน ที่ริมของกลีบทําเป็นโครงกรอบประดับด้วยลายลูกประคํา และลายใบไม้ม้วน ขนาบโครงลายลูกประคําไว้อีกชั้นหนึ่ง[2] มีการทำลายทับหลัง อีกทั้งลายปูนปั้นต่าง ๆ มีทั้งลายรูปเรขาคณิต สัตว์ในนิทานโบราณ รวมทั้งลายราหูอมจันทร์ ล้วนเป็นลายที่วิวัฒนาการมาจากศิลปะเขมรในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18[3]

อ้างอิง

[แก้]
  1. กรมศิลปากร. "วัดส้ม" ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 8 มกราคม 2566. เข้าถึงจาก http://gis.finearts.go.th/fineart/
  2. สรศักดิ์ จันทร์วัฒนกุล. "การกลายรูปจากอาคารจำลอง-นาคปัก- บรรพแถลงของปราสาทในศิลปะขอมมาเป็นกลีบขนุนของปรางค์ในศิลปะไทย" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร. p. 37.
  3. เศรษฐเนตร มั่นในจริง. "วัดส้ม". อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา.