ข้ามไปเนื้อหา

ร่มร่อน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ร่มร่อน (อังกฤษ: Paragliding) เป็นอากาศยานเบาพิเศษประเภทหนึ่ง สามารถเคลื่อนที่ได้โดยพลังงานจลน์ ซึ่งเกิดจากแรงดึงดูดของโลก กระทำต่อปีก (Airfoils) ทำให้ร่มร่อนสามารถเคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้ไกล โดยอาศัยแรงยก (aerodynamic force) ที่เกิดขึ้นต่อร่มร่อน เมื่อมีอากาศไหลผ่านปีก

ร่มร่อนสามารถลอยสูงขึ้นไปได้ด้วยปัจจัยสองประการคือ

  1. ลอยขึ้นไปกับมวลอากาศร้อนซึ่งเคลื่อนที่ขึ้น เช่น ลมร้อน (thermal soaring)
  2. ลอยขึ้นไปกับ กระแสอากาศที่พุ่งขึ้นอันเนื่องจากมีมวลอากาศเคลื่อนที่ปะทะสิ่งกีดขวาง เช่น ลมที่พัดมาปะทะแนวสันเขาแล้วพัดขึ้นข้ามเขา ร่มร่อนสามารถอาศัยลมบนแนวสันเขาที่ยกตัวขึ้นนี้ ล่องลอยไปตามแนวสันเขาได้ตามความยาวของแนวสันเขา (ridge soaring)

ประวัติ

[แก้]

ในราวกลางปี 1980 ที่ประเทศอังกฤษ นาย John Harbot และนาย Andrew Crowley ได้พบว่าร่มทรงสี่เหลี่ยมสามารถลอยออกไปได้เองหากมีขนาดใหญ่ จากนั้นพวกเขาจึงทำการทดลองบินออกจากที่ลาดบนเขาด้วยตัวเองเป็นผลสำเร็จ และเหตุการณ์ในครั้งนั้นได้ก่อให้เกิดการพัฒนาตามมา จนกลายมาเป็นร่มร่อนรูปร่างหน้าตาอย่างในปัจจุบันที่เห็น และเริ่มแพร่หลายไปในหลายประเทศในยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย

โครงสร้าง

[แก้]

ร่มร่อนประกอบด้วย

  • ปีก (canopy) มีรูปทรงลิ่มอากาศ (airfoils) เพื่อก่อให้เกิดแรงยกเมื่อมีอากาศไหลผ่าน ตัวปีกจะถูกแบ่งเป็นห้องหลายห้องมีรูระบายอากาศทะลุถึงกันทุกห้อง มีคุณสมบัติที่สำคัญคือ ต้องมีรูปทรงที่คงที่ ไม่ต้องการความยืดหยุ่น ผลิตจากไนลอน แดครอน และโพลีเอสเตอร์ ที่ผ่านการเคลือบผิวเพื่อให้ลื่นลม และอากาศไม่สามารถผ่านทะลุเนื้อผ้าได้
  • สายร่ม แบ่งออกเป็นส่วนคือ สายพยุง (suspension line) และสายเบรก (break line) ภายในจะเป็นเคฟล่า ถูกห่อหุ้มด้วยเส้นใยโพลีเอสเตอร์ มีคุณสมบัติคือ สายพยุงต้องไม่สามารถยืดหยุ่นได้ แต่สายเบรกที่ต่อกับมือจับ (toggle) สามารถยืดหยุ่นได้
  • ไรเซอร์ (Riser) คือแถบผ้าที่ต่อจากส่วนปลายสุดของสายพยุง แล้วมารวมกันไว้ที่ rapid ring ปลายของไรเซอร์จะต่อเข้ากับ คาราบินเนอร์ (karabiner) ก่อนต่อเข้ากับที่นั่งนักบิน
  • ที่นั่งนักบิน (harness) จะถูกออกแบบมาให้นั่งได้สบาย มีอุปกรณ์ป้องกันการกระแทกหลัง ก้น และด้านข้าง

อุปกรณ์ความปลอดภัย

[แก้]
  • รองเท้า ที่สำคัญต้องห่อหุ้มขึ้นมาเลยข้อเท้า และมีแถบเฝือกอ่อนด้านข้างสองด้านเพื่อป้องกันข้อเท้าพลิก
  • หมวกนิรภัย จะต้องมีการระบายอากาศที่ดี ที่บริเวณหูจะต้องเปิดช่องเพื่อให้นักบินสามารถรับฟังเสียงลมได้
  • ถุงมือ เพื่อป้องกันความหนาวเย็น
  • แว่นกันแดด เพื่อป้องกันสายตาจากรังสีอุลตราไวโอเลต

ร่มร่อนในประเทศไทย

[แก้]

ในประเทศไทย ร่มร่อนได้เข้ามาเผยแพร่เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2537 โดยนายสุวัจน์ หาญณรงค์ นำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่น นำเข้ามาบินเป็นครั้งแรกที่อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง

สถานที่บินร่มร่อนในประเทศไทย

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]