รูด็อล์ฟ ดีเซิล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
รูด็อล์ฟ ดีเซิล
ดีเซิล ป. ค.ศ. 1900
เกิดRudolf Christian Karl Diesel
18 มีนาคม ค.ศ. 1858(1858-03-18)
ปารีส, จักรวรรดิฝรั่งเศสที่สอง
เสียชีวิต29 กันยายน ค.ศ. 1913(1913-09-29) (55 ปี)
ช่องแคบอังกฤษ
สาเหตุเสียชีวิตไม่ทราบ; เป็นไปได้ทั้งถูกฆ่า (อรรถาธิบาย) หรือฆ่าตัวตาย (ชีวประวัติ)
สุสานทะเลเหนือ
สัญชาติเยอรมัน
อาชีพวิศวกร, นักประดิษฐ์, ผู้ประกอบการ
นายจ้างSulzer, Linde, MAN AG, Deutz
มีชื่อเสียงจากผู้คิดค้นเครื่องยนต์ดีเซล
คู่สมรสMartha Flasche
บุตร3
บุพการีElise Diesel, Theodor Diesel
รางวัลElliott Cresson Medal (1901)
ลายมือชื่อ
รูด็อล์ฟ ดีเซิล เมื่อ ค.ศ. 1883

รูด็อล์ฟ คริสทีอัน คาร์ล ดีเซิล (เยอรมัน: Rudolf Christian Karl Diesel; 18 มีนาคม ค.ศ. 1858 – 30 กันยายน ค.ศ. 1913) เป็นชาวเยอรมันคนแรกที่นำเครื่องจักรดีเซลแรงอัดสูงมาใช้ ดีเซิลเริ่มพัฒนาเครื่องจักรเป็นชื่อของตนเอง ในปี ค.ศ. 1892 และได้รับสิทธิบัตรเครื่องยนต์สันดาปภายในที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงชนิดใหม่ ซึ่งเป็นการจุดระเบิดโดยความร้อนจากการอัดอากาศในโมเลกุลมีความหนาแน่นขึ้นในกระบอกสูบ เมื่อโฝเลกุลถูกบีบอัดก็จะเกิดพลังงานความร้อนขึ้น และฉัดน้ำมันเพื่อให้เกิดการสันดาป โดยไม่ใช้ประกายไฟหรือหัวเทียน เครื่องยนต์ดีเซลต้นแบบสร้างเสร็จในปี ค.ศ. 1897 ได้รับความสนใจจากทั่วโลก ภายหลังมีการตั้งโรงงานผลิตเครื่องยนต์ที่เมืองเอาคส์บวร์ค ซึ่งมีการปรับปรุงในการออกแบบและมีการนำโลหะผสมที่น้ำหนักเบามาช่วยแก้ไขข้อบกพร่องอีกด้วย

ประวัติ[แก้]

รูด็อล์ฟ ดีเซิล เกิดเมื่อวันที่ 18 มีนาคม ค.ศ. 1858 ในกรุงปารีส ฝรั่งเศส พ่อแม่ของเขาย้ายมาจากเยอรมนี เขาเกิดมาในครอบครัวที่มีฐานะจึงได้รับการศึกษาที่ดี เขาได้เข้ามาศึกษาที่ประเทศอังกฤษ และในระดับอุดมศึกษาเขาได้ศึกษาต่อที่โรงเรียนอาชีวศึกษาที่เมืองเอาคส์บวร์ค และราชวิทยาลัยเทคนิคบาวาเรียแห่งมิวนิก สาขาวิศวกรรมศาสตร์[1]

หลังจากจบการศึกษาจากราชวิทยาลัยเทคนิคบาวาเรียแห่งมิวนิก ดีเซิลได้เดินทางกลับบ้านเกิดที่กรุงปารีส และได้เข้าทำงานในโรงงานประกอบเครื่องทำน้ำแข็งของศาสตราจารย์คาร์ล ฟ็อน ลินเดอ ซึ่งเป็นอาจารย์ของเขาเองที่วิทยาลัย การทำงานในโรงงานแห่งนี้ ดีเซิลต้องทำงานในหลายตำแหน่งหน้าที่ ได้แก่ ตัวแทนซื้อขาย คนคุมงาน ประดิษฐ์ซ่อมเครื่องกล ผู้อำนวยการและที่ปรึกษา ต่อมาเมื่อลินเดอเปิดโรงงานประกอบเครื่องทำน้ำแข็งขึ้นในเมืองมิวนิก ดีเซิลได้ขอลินเดอย้ายไปทำงานที่นั่น

ในระหว่างนี้เอง ดีเซิลได้ศึกษาเกี่ยวกับเครื่องจักร และสามารถประดิษฐ์เครื่องยนต์ที่ใช้ก๊าซแอมโมเนียแทนการใช้พลังงานไอน้ำได้ และเครื่องยนต์ที่อาศัยหลักการสันดาป แต่ผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้กับเขามากที่สุดก็คือ เครื่องยนต์แบบใช้อากาศอัด แต่เครื่องยนต์ชนิดใหม่ที่ดีเซิลได้ประดิษฐ์ขึ้นก็ยังมีข้อเสียอยู่ที่ผนังกระบอกสูบไม่แข็งแรงพอที่จะต่อความดันอากาศสูง ๆ ได้ ดังนั้นเขาจึงหันมาปรับปรุงการประดิษฐ์กระบอกสูบ เครื่องยนต์ของดีเซิลประสบความสำเร็จในปี ค.ศ. 1897 โดยเขาได้ใช้เวลาในการค้นคว้านานถึง 5 ปี ดีเซิลได้ตั้งชื่อเครื่องยนต์ตามชื่อของเขาว่า "ดีเซิล" (ดีเซล) ตามคำแนะนำของภรรยา

สิทธิบัตรเครื่องยนต์ดีเซล

ต่อมาในเดือนตุลาคมปีเดียวกันนั้นเอง ดีเซิลได้ตั้งบริษัทขึ้นเพื่อผลิตเครื่องยนต์ดีเซลออกจำหน่าย โดยตั้งชื่อบริษัทแห่งนี้ว่า ไรซิงเกอร์ไมเยอร์ และรูด็อล์ฟ ดีเซิล บริษัทของเขาได้ดำเนินกิจการไปได้ด้วยดี นอกจากนี้เขายังได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยอีกหลายแห่ง แต่ในไม่ช้าดีเซิลก็ต้องพบกับความเดือดร้อนแสนสาหัส เนื่องจากในขณะนั้นกฎหมายเรื่องสิทธิบัตร ยังมีความละหลวมอยู่มาก ทำให้ดีเซิลต้องเสียเงินทองเป็นจำนวนมากในการฟ้องร้องเพื่อเรียกร้องในสิทธิบัตรเครื่องยนต์ของเขา อีกทั้งสุขภาพของเขายังเสื่อมโทรมลงเรื่อย ๆ เพราะความเหน็ดเหนื่อยทั้งทางกายและทางใจจากการต่อสู้ในเรื่องสิทธิบัตร และต่อมาบริษัทของเขาก็ต้องประสบกับภาวะการขาดทุนอย่างรุนแรง

ในช่วงบั้นปลายชีวิตของดีเซิล เขาท้อแท้ใจอย่างมากเพราะสิ่งที่เขาทุ่มเทอย่างหนักมาตลอดระยะเวลาต้องล้มเหลวลงอย่างไม่เป็นท่า ดังนั้นในปี ค.ศ. 1913 เขาได้เดินทางไปยังประเทศอังกฤษและไม่ได้เดินทางกลับมาอีกเลย ซึ่งภายหลังมีข่าวว่าเขาได้หายไปในช่องแคบอังกฤษ แม้ว่าดีเซิลจะเสียชีวิตไปแล้ว แต่สิ่งที่เขาได้ทิ้งไว้สร้างคุณประโยชน์ให้กับนักประดิษฐ์รุ่นหลังเป็นอย่างมากก็คือ เครื่องยนต์ดีเซล ที่มีประสิทธิภาพในการใช้งาน[2]

อ้างอิง[แก้]

  1. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-04-18. สืบค้นเมื่อ 2008-07-05.
  2. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-09. สืบค้นเมื่อ 2009-01-15.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]